โดย...ดร.สืบวงศ์ กาฬวงศ์
ปรัชญาที่ส่งเสริมให้บุคคลพึ่งพาตนเองเป็นรากฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืนจะหยั่งรากลึกในสังคมไทยอย่างไร เมื่อนโยบายของรัฐบาลสอนให้ประชาชนรู้ว่าหากต้องการอะไรก็ให้เรียกร้องและปิดถนน การทำให้ประชาชนกลายเป็นเพียงลูกค้าที่รัฐต้องให้บริการ จะสร้างปัญหาให้กับสังคมโดยรวมแบบไม่รู้จบ ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าอยากเห็นการสร้างลูกค้าหรือการสร้างพลเมือง
ราคาสินค้าการเกษตรที่ผันผวนไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในปัจจุบัน ปัญหานี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอดีต ราคายางพารา ราคาข้าว ราคามันสัมปะหลัง ลำไย เคยตกต่ำมาก่อนแต่ก็ไม่ใคร่ที่จะนิยมปิดถนน ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้เข้ามาช่วยเหลือบรรเทาปัญหาและรัฐบาลก็ให้ความช่วยเหลือตลอดมา กลายเป็นการสร้างการเรียนรู้และนิสัยในการจัดการกับปัญหาจากการพึ่งพาตนเอง มาเป็นเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเรื่องนี้กลายเป็นสาเหตุประการหนึ่ง ซึ่งทำให้ทุกรัฐบาลต้องเผชิญกับการดูแลสังคมที่อ่อนแอ
โดยหลักการแล้วรัฐเป็นที่รวมกันของคนจำนวนมาก รัฐจึงมีหน้าที่ทำให้สังคมน่าอยู่ มีความสงบสุข แต่รัฐบาลทำเรื่องนี้อย่างไร สำหรับรัฐบาลที่มีความเชื่อว่าประชาชนมีโอกาสและความสามารถไม่เท่ากันก็จะเข้าไปดำเนินการกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการผลิตเสียเอง แต่สำหรับรัฐที่มีความเชื่อว่าประชาชนทุกคนอาจมีความสามารถไม่เท่ากัน บทบาทของรัฐคือการสร้างความเท่าเทียมกันในโอกาส รัฐไม่จำเป็นต้องเข้ามาดำเนินการในการผลิตหรือแทรกแซงเศรษฐกิจ เพียงแต่กำกับกติการการแข่งขันให้เป็นธรรมก็เพียงพอ ในส่วนที่ยังไม่สามารถเข้าแข่งขันได้ก็ค่อยเข้าไปให้ความช่วยเหลือ
จะเกิดอะไรขึ้นหากรัฐบาลที่มาจากประชาชน เลือกที่จะดูแลและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ทั้งที่เขารู้ว่าเรื่องนี้พวกเขาจะต้องดูแลตนเองและควรดูแลตนเอง คำตอบก็คือประชาชนจะเริ่มไม่รอบคอบในการดูแลตนเอง เพราะเรียนรู้แล้วว่าอย่างไรเสียรัฐบาลก็เขามาช่วย บ่อยเข้ามากเข้าก็เลยนำความหวังเกือบทั้งหมดไปฝากไว้กับการดูแลของรัฐบาล
นโยบายของรัฐบาลคือ สิ่งที่บอกว่ารัฐบาลมีความเชื่ออย่างไร และจะดูแลประชาชนอย่างไร โครงการช่วยเหลือชาวนา ด้วยการอุดหนุนเงินให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท โดยอุดหนุนไม่เกินรายละ 15 ไร่ ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่ ตอบได้ว่าแน่นอนต้องดีขึ้น เพราะรายได้ที่เพิ่มขึ้นย่อมทำให้เกษตรกรสามารถมีกำลังในการจับจ่ายสิ่งจำเป็นในชีวิต เงินโอนให้ไม่มีใครไม่ชอบ แล้วปัญหาอยู่ตรงไหน
ปัญหาอยู่ที่รัฐกำลังสร้างนิสัยให้ประชาชนกลายเป็นลูกค้า ซึ่งในระบอบประชาชาธิปไตยที่ประชาชนมีสิทธิในการเลือกตัวแทน ลูกค้าจะเรียกร้องอย่างไม่จบสิ้น เพื่อต้องการให้รัฐบาลบริการอย่างถึงที่สุด ซึ่งในความเป็นจริงทุกรัฐบาลมีข้อจำกัดด้านทรัพยากร อย่างยิ่งการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อนโยบายด้านหนึ่ง ก็หมายถึงเสียโอกาสในการใช้จ่ายงบประมาณในนโยบายอีกหลายด้าน รัฐบาลจึงไม่มีศักยภาพจริงๆ ในการทำตามข้อเรียกร้อง นโยบายภายใต้อำนาจของลูกค้าที่มีจำนวนมาก นโยบายจะเป็นเพียงการเจรจาต่อรองและการให้เพื่อลดความไม่พึงพอใจเฉพาะหน้า
นิสัยประชาชนเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ตลอดจน 15 ปีของการพัฒนา ภายหลังจากรัฐบาลเริ่มมีนโยบายช่วยเหลือประชาชนในรูปแบบต่างๆ อย่างไม่สมดุล ให้ทั้งที่ไม่ได้มีความจำเป็น เน้นที่ผลความพึงพอใจ แต่ไม่ได้บอกว่าต้นทุนของนโยบายเหล่านี้คืออะไร วันนี้นโยบายในตระกลูประชานิยมได้สร้างนิสัยให้สังคมเข้าสู่วิกฤติหลายประการ
ตัวอย่างสถานการณ์นี้เกิดขึ้นในองค์กรปกครองท้องถิ่นเกือบทุกแห่ง ทั้งที่ประชาชนเป็นจุดเน้นและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของการพัฒนา แต่โครงการของท้องถิ่นก็ได้รับแรงกดดันจากนิสัยการรอรับและบริการอย่างที่ไม่ต้องกระดิกตัว การจัดกิจกรรมงานวันลอยกระทงที่ผ่านมา ซึ่งแต่เดิมในวันที่ประชาชนเป็นพลเมือง ต่างคนต่างออกแรงช่วยกัน มากบ้างน้อยบ้างเพื่อจัดงานของส่วนรวมเพราะมันเป็นความรับผิดชอบของทุกคนในหมู่บ้าน แต่งานลอยกระทงในทุกวันนี้องค์กรปกครองท้องถิ่นต้องใช้จ่ายงบประมาณเพื่อจ้าง และซื้อทุกอย่าง เพียงเพราะประชาชนเข้าใจว่าท้องถิ่นจัดสรรงบประมาณไว้แล้ว มีงบประมาณก็ให้นำมาใช้อย่าให้ประชาชนต้องมาลำบากยกของทำกับข้าว ทุกอย่างในงานประเพณีเรียกว่าต้องจ้างกัน
สังคมควรประกอบด้วยพลเมืองที่เป็นกำลังของสังคม ที่มีความรับผิดชอบและหน้าที่ต่อสังคม ควรตระหนักว่ารัฐบาลที่ประชาชนเลือกเข้าไปทำหน้าที่มีข้อจำกัดด้านทรัพยากร งบประมาณที่กระจายเม็ดเงินลงมาพัฒนา เงินเหล่านั้นไม่สามารถพิมพ์ได้ตามอำเภอใจ ในขณะที่ภารกิจอื่นของรัฐก็มีอยู่เต็มบ่า เป็นเรื่องที่เห็นจะไม่สมควร
นโยบายของรัฐบาลที่ฉลาดคิดและมีปัญญาต้องไม่สร้างนิสัยลูกค้าแบบรอรับบริการ แต่ต้องสร้างพลเมืองที่มีความคิดและมีความสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา การปฏิรูปประเทศในมิติต่างๆ จึงต้องออกแบบให้มีความรอบคอบมากกว่าเป็นเพียงการแก้ไขปัญหา แต่ยังต้องพิจารณากันต่อไปถึงผลลัพธ์ของนโยบายปฏิรูปที่จะส่งผลต่อการสร้างพลเมืองที่เข้มแข็ง
สังคมไทยผ่านนโยบายมาหลายรูปแบบ ประสบการณ์บอกกับทุกคนว่านโยบายที่มีประโยชน์ที่สุดไม่ใช่นโยบายที่แก้ไขปัญหาได้ดีที่สุด แต่กลับเป็นนโยบายที่สามารถสร้างความรับผิดชอบให้กับประชาชนในฐานะพลเมือง ในการดูแลจัดการกับปัญหาเหล่านั้นได้ด้วยตนเองต่างหาก ที่ทำให้การแก้ไขปัญหามีความยั่งยืน เนื่องจากปัญหาในสังคมมีลักษณะเหมือนฝุ่นที่จะก่อตัวและเกิดขึ้นอยู่ควบคู่กับสังคมไปอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่เงื่อนไขและสาเหตุอาจเปลี่ยนไป วันนี้รัฐบาลอาจจะทำให้ปัญหาและความไม่พึงพอใจของประชาชนหมดไปได้ แต่อนาคตปัญหานี้จะเกิดขึ้นมาอีก ในทางตรงกันข้ามการดึงประชาชนเข้ามาทำงานร่วมกับรัฐในฐานะพลเมืองที่มีหน้าที่ต้องให้กับสังคมด้วย จะสร้างหลักประกันว่าปัญหาในอนาคตจะถูกลดทอนหรือจัดการโดยกลไกการควบคุมทางสังคม จนปัญหานั้นรัฐบาลไม่จำเป็นต้องมาแก้ไข
การปฏิรูปเป็นนโยบาย หากปฏิรูปเพียงเพื่อสร้างมาตรการนโยบาย เพียงเพื่อประกาศใช้ เพียงเพื่อต้องการสร้างกรอบการทำงาน แต่ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจจริงเข้าไปมีส่วนร่วม การปฏิรูปรอบนี้เชื่อได้ว่าจะต้องมีปฏิรูปกันอีกหลายรอบ
ที่มา : บ้านเมือง วันที่ 10 พ.ย. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.