โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร
โดยปกตินักเศรษฐศาสตร์ไม่สนใจนวนิยาย แต่ พิเก็ตตี้ นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศสที่โด่งดังมากจากหนังสือเรื่อง Capital หรือ ทุน ที่ขายได้ 80,000 เล่มในไม่กี่เดือน เขาเอาเรื่องมรดกกับการหาคู่ในนวนิยายของ บัลซัค เจน ออสเต็น และ เฮนรี่ เจมส์ มาสนับสนุนข้อเสนอในหนังสือของเขาที่ว่า ความต่างด้านทรัพย์สินหรือทุนเป็นตัวกำหนดความไม่เท่าเทียมที่สำคัญยิ่ง ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
สมมติฐานหลักของเขาในหนังสือ "ทุน" คือ ในสังคมซึ่งผลตอบแทนจากทรัพย์สินหรือ "ทุน" สูงกว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม (GDP growth rate) ความไม่เท่าเทียมด้านทรัพย์สินจะสูง และเมื่อรายได้จากทุนถูกลงทุนซ้ำต่อไป ทุนก็จะผลิตซ้ำตนเองในอัตราสูงกว่าผลผลิตหรือรายได้รวมของสังคม ผู้ประกอบการธุรกิจ ในท้ายที่สุดก็จะผันตัวเองเป็นผู้หารายได้จากทรัพย์สิน และความไม่เท่าเทียมก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นและแข็งตัว นอกจากว่าจะมีวิกฤตความขัดแย้งรุนแรงจนเกิดเป็นสงคราม
ผู้ที่อ่านนวนิยายของเจน ออสเต็น และบัลซัค นักเขียนยอดนิยมที่อังกฤษและฝรั่งเศส ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 จะพบว่าตัวเอกหนุ่มๆ สาวๆ ในเรื่องไม่ได้ทำงานอะไรเลย แต่จะมีบทสนทนาว่าด้วยรายได้ของตัวเอง หรือของคู่หมั้นคู่หมายอยู่เสมอ พิเก็ตตี้ศึกษาและพบว่ารายได้ของพวกเขาเหล่านี้ มาจากทรัพย์สินซึ่งในสมัยนั้นก็คือ ที่ดินเป็นหลัก
นวนิยายของบัล ซัค เรื่อง "คุณพ่อ กอริโอ้" ขายสปาเกตตีจนร่ำรวย (สมัยนโปเลียน) แล้วเอาเงินกำไรที่ออมมาไปลงทุนในสินทรัพย์ เพื่อเป็นมรดกให้ลูกสาวได้คู่แต่งงานเป็นชายมีสถานะสูง แม้ว่าในท้ายที่สุดลูกสาวจะอกตัญญูและทิ้งให้พ่ออดตาย เปรียบเทียบกับตัวละครชายอีกคน หนุ่มรัชติแยค เขาไม่มีทรัพย์สินแต่มักใหญ่ใฝ่สูง เริ่มแรกตั้งใจจะร่ำเรียนหารายได้โดยมีอาชีพทนาย แต่ต่อมาตระหนักว่าถึงจะร่ำเรียนสำเร็จ ก็จะไม่สามารถมีรายได้มากพอที่ทำให้มีชีวิตในสังคมเทียมบ่าเทียมไหล่กับคน ฐานะดีอื่นๆ ได้ นอกเสียจากจะได้แต่งกับทายาทสาวมรดกมหาศาล ซึ่งจะทำให้เขามีรายได้ต่อปีอย่างน้อยคิดเป็น 50 ถึง 100 เท่าของรายได้เฉลี่ยของบรรดาชาวฝรั่งเศสทั่วไปในขณะนั้น
นวนิยายของ เจน ออสเต็น เรื่อง Sense and Sensibility มาเรียนบอกว่า เธอจำเป็นต้องมีรายได้ต่อปีอย่างน้อย 2,000 ปอนด์ ซึ่งพิเก็ตตี้ใช้ทักษะความเป็นนักเศรษฐศาสตร์คำนวณได้ว่าเป็น 60 เท่าของรายได้เฉลี่ยของคนอังกฤษในขณะนั้น โดยเธอคิดว่านั่นเป็นระดับรายได้เพียงเพื่อให้เธออยู่ได้แบบพอสมฐานะ ระดับกลางๆ ไม่หรูหรา โอ่อ่าแต่อย่างใด
ที่สหรัฐนวนิยาย Washington Square ของ Henry James (พิมพ์ปี ค.ศ.1880 หรือ พ.ศ.2423) พล็อตเรื่องสำคัญคือ นางเอกถูกถอนหมั้นในท้ายที่สุด หลังจากคู่หมั้นพบว่า มรดกสินทรัพย์ที่พ่อเธอจะมอบให้เมื่อแต่งงาน จะสร้างรายได้กับเธอและเขาเพียง 20 เท่าของรายได้เฉลี่ยของชาวอเมริกันในขณะนั้นเท่านั้น โดยเขาจีบเธอเพราะคาดหวังว่าจะได้ถึง 60 เท่า
พิเก็ตตี้จึงสรุปว่า สำหรับสังคมยุโรป คริสต์ศตวรรษที่ 19 การจะอยู่อย่างมีหน้ามีตาและมีศักดิ์ศรี จะต้องมีทรัพย์สินมากหรือไม่ก็ต้องตกถังข้าวสาร ได้แต่งกับทายาทมรดกมหาศาลเท่านั้น
พิเก็ตตี้แสดงให้เห็นระดับการ กระจุกตัวของทรัพย์สินในสังคมยุโรปก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ว่าสูงมากๆ เพราะกลุ่มคนรวยสุดร้อยละ 10 มีทรัพย์สินรวมกันคิดเป็นร้อยละ 90 ของมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมด สัดส่วนนี้ลดลงมาเหลือร้อยละ 35 เมื่อปี 2553 หลังจากยุโรปผ่านสงครามโลกครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 และระบบรัฐสวัสดิการ ที่มีการเก็บภาษีรายได้ ภาษีมรดก และภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้าด้วย
ที่ สหรัฐไม่ได้แสดงข้อมูลคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่ในปี 2553 กลุ่มรวยสุดร้อยละ 10 มีทรัพย์สินรวมกัน คิดเป็นร้อยละ 70 ของทั้งหมด ซึ่งนับว่าเป็นการกระจุกตัวที่สูงมากของโลกสมัยปัจจุบัน
สำหรับเมือง ไทย ตัวเลขการถือครองที่ดินโฉนดของกลุ่มคนรวยสุดร้อยละ 10 ในปี 2555 คิดเป็นร้อยละ 60 ของที่ดินโฉนดทั้งหมดในประเทศ (ดวงมณี เลาวกุล
ใน สู่สังคมไทยเสมอหน้า, บรรณาธิการ ผาสุก พงษ์ไพจิตร สำนักพิมพ์มติชน 2557) ซึ่งไม่กระจุกตัวสูงเท่ากับยุโรปในอดีต แต่ก็อยู่ในระดับสูงพอๆ กับสหรัฐ ณ ปัจจุบัน และสูงกว่ายุโรปในปัจจุบันมาก (ยุโรปร้อยละ 35 โดยเฉลี่ย)
และ เมืองไทยก็มีนวนิยายและละครโทรทัศน์หลายเรื่องที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชาย หนุ่มธรรมดาๆ แย่งกันได้ใจของสาวทายาทเศรษฐี หรือเรื่องของหญิงสาวธรรมดาๆ
ตบ ตีกันเพราะแย่งแฟนลูกคนรวย บ้านทรายทองเป็นตัวอย่างคลาสสิก มีเนื้อหาหลักว่า นางเอกสาวสวยที่สิ้นไร้ไม้ตอก จะได้แต่งกับชายกลางทายาทตระกูลเก่า และครอบครองอัครสถานบ้านทรายทองด้วยกันหรือไม่? คล้ายๆ กับธีมนวนิยายของบัลซัค และเจน ออสเต็น
และถ้าใครมีโอกาสไปงานแต่งของครอบครัวไฮโซที่โรงแรมหรู อาจจะพบว่าเราไม่ต่างจากสมัยของเจน ออสเต็น หรือสมัยของบัลซัคเลยก็ได้
ที่มา : มติชน วันที่ 31 ต.ค. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.