สัดส่วนหนี้ครัวเรือน ณ สิ้นไตรมาส 3 ที่ผ่านมาซึ่งขยับขึ้นไปอยู่ที่ 83.5 % ต่อจีดีพี ได้ก่อให้เกิดกระแสความกังวลต่อปัญหาจาก สัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ยิ่งเกิดกรณี"ป้าสังเวียน"เผาตัวหลังหมดทางออกเคลียร์ปัญหาหนี้สิน ที่ถูกนำมาผูกโยงเข้ากับปัญหาหนี้ครัวเรือน ทำให้ กระแสหนี้ครัวเรือนถูกยกเป็นวาระสังคมในทันที
ตามรายงานข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี แม้จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายในช่วง 5 ปี จากสิ้นปี 2553 ที่อยู่ในระดับ 63% มาเป็น 81.5% เมื่อสิ้นปี 2556 และ 83.5% ณ สิ้นไตรมาส 3/2557 (ตารางประกอบ ) แต่สัญญาณที่สะท้อนผ่านเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนของสถาบันการเงินในช่วงที่ผ่านมา กลับเพิ่มในอัตราชะลอลงจากที่เคยเป็นตัวเลข 2 หลัก มาเป็นเลขหลักเดียว
การกู้ยืมของครัวเรือนที่ชะลอลงนั่นเองที่แบงก์ชาตินำมาสนับสนุนความเชื่อที่ว่า "หนี้ครัวเรือนยังไม่อันตราย" ทั้งนี้ข้อมูลแบงก์ชาติระบุว่า เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนไตรมาส 2 /2557 ที่ยอดคงค้าง 10.03 ล้านล้านบาท ขยายเพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีที่ก่อนหน้า 8.1% เทียบกับสิ้นปี 2556 ที่ยอดคงค้าง 9.79 ล้านบ้านบาท เพิ่มจากสิ้นปี 2555ที่ 11.4 % ( ผลจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของแบงก์พาณิชย์ที่มีสัดส่วนถึง 27.4%ของหนี้ครัวเรือนลดลงต่อเนื่องโดยหดตัว (-1.2%) ในไตรมาส 2/2557 เทียบไตรมาส 1/2557 ขยายเพียง 2.5% )
แม้แบงก์ชาติมีมุมมองต่อหนี้ครัวเรือนที่ค่อนข้างผ่อนคลาย และนักเศรษฐกิจหลายคนเห็นพ้อง แต่นักเศรษฐศาสตร์อีกไม่น้อยกลับมีมุมมองที่ต่างออกไปพวกเขาเชื่อว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นกำลังส่งสัญญาณบางประการ
*หนี้ครัวเรือน"อันตราย
ในกลุ่มที่มองว่าหนี้ครัวเรือนของไทยกำลังพาเศรษฐกิจเข้าจุดอับจนมีเหตุผลดังนี้ สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (บจก.)หรือเครดิตบูโร กล่าวว่า อุปสรรคสำคัญของเศรษฐกิจไทย คือการที่ครัวเรือนมีภาระหนี้สินระดับสูงในสัดส่วน ถึง83.5% ต่อจีดีพี ใกล้เคียงกับประเทศพัฒนา (เฉลี่ยที่ 85%) และเทียบกับภูมิภาคในขณะนี้ ถือว่าหนี้ครัวเรือนไทยขยายตัวในอัตราเร่งสูงสุด จนเป็นข้อจำกัดทำให้ไทยไม่สามารถดำเนินนโยบายกระตุ้นการบริโภคได้เหมือนในอดีต
เช่นเดียวกับ เชาวน์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการบจก.ศูนย์วิจัยกสิกรไทย นักเศรษฐศาสตร์รายนี้ มองว่า แนวโน้มหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับน่าห่วงแล้ว "แรงส่งหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มเฉลี่ยถึงปีละ 1% และคาดว่าสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 85% ในขณะที่เทียบระดับดอกเบี้ยในปัจจุบันและแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวไม่มาก ประกอบกับเมื่อดูไส้ในของภาระหนี้ ต่อเงินออมอยู่ที่ 35-40% ถือว่าระดับหนี้ในปัจจุบันสูง และแม้ระยะสั้น จะยังไม่เป็นปัญหา แต่ระยะยาวหากครัวเรือนมีเงินออมลดน้อยลงหรือติดลบ และดอกเบี้ยเข้าสู่ช่วงขาขึ้นในปีหน้า จะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาระหนี้ครัวเรือนให้สูงขึ้นอีก โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากสุดก็คือ ผู้มีรายได้น้อย/เกษตรกร
ส่วน ดร. เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ บมจ.ธนาคารทหารไทย เป็นอีกคนที่กังวลกับปัญหาหนี้ครัวเรือนเขาคาดการณ์ว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือน แม้จะเริ่มทรงตัวแต่ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม เขาให้น้ำหนักต่อการบริโภคสินค้าคงทนที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และอ้างถึงผลสำรวจหนี้ครัวเรือนปีนี้ที่เพิ่มขึ้นถึง 16.1 % สูงสุดในรอบ 9 ปี โดยหนี้สินเฉลี่ยเพิ่มจาก 188,000 บาทต่อครัวเรือนในปี 2556 เป็น 219,000 บาทต่อครัวเรือนในปัจจุบัน พร้อมกันนั้น ดร.เบญจรงค์ ยังยกสัดส่วนหนี้นอกระบบที่มีสัดส่วนถึง 49% ของหนี้รวมเป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อปัญหาหนี้ครัวเรือน
*แค่อยู่ในระดับเฝ้าระวัง
คราวนี้มาดูมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ที่เห็นพ้องกับแบงก์ชาติที่ว่า หนี้ครัวเรือน ยังไม่กลัวดูบ้าง ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ และธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน ) (บมจ.) เป็นหนึ่งในผู้มีมุมองเช่นนั้น เขาเชื่อว่า หนี้ครัวเรือนจะทำให้การบริโภคฟื้นตัวในระยะยาวในช่วง 2-3 ปีข้างหน้านี้ ฟื้นตัวไม่เต็มที่ แต่ไม่ถึงขั้นเป็นความเสี่ยงต่อสถาบันการเงิน โดยอ้างว่าภาระหนี้ครัวเรือนปัจจุบันกระจุกตัวในกลุ่มคนชั้นกลางซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ และสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ของครัวเรือนไทยปัจจุบันอยู่ที่ 27 % ซึ่งยังไกลจากสัดส่วนเสี่ยงคือ 40 % ต่อรายได้
" สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ภาคครัวเรือนปัจจุบันยังไม่น่ากังวลมากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยไม่ได้เติบโตแย่เหมือนกรณียุโรปที่ถดถอยโตต่ำกว่า 1% ขณะที่เศรษฐกิจไทยปีหน้ามีโอกาสเติบโต 4% แต่ความเสี่ยงระยะยาวก็คือเรื่องของการบริโภคที่อาจฟื้นไม่ได้เต็มที่นัก"
ด้าน อุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส บมจ.ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เป็นนักเศรษฐศาสตร์อีกคนที่มองว่า หนี้ครัวเรือนยังไม่ถึงจุดเสี่ยง เธอให้เหตุผลว่า สถิติครัวเรือนในประเทศไทยปี 2556 ที่มีจำนวน 20.2 ล้านครัวเรือน มีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนละ 25,194 บาท มีรายจ่ายเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 19,061 บาท เทียบรายได้ต่อรายจ่ายสัดส่วนอยู่ที่ 75.7% อย่างไรก็ดี จำนวนครัวเรือนที่มีหนี้มีประมาณ 53.8% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งปรับลดจากปี 2555 ที่มีสัดส่วนประมาณ 60%
เหตุผลอีกข้อของ อุสราคือ สัดส่วนสินทรัพย์ของครัวเรือนต่อหนี้ ยังอยู่ในระดับสูง โดยในปี 2556 ครัวเรือนเฉลี่ยจะมีหนี้ต่อจีดีพี 82% แต่มีสินทรัพย์ต่อจีดีพีสูงถึง 120%
ทั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อว่า หนี้ครัวเรือนยังไม่เป็นระเบิดเวลาของเศรษฐกิจไทย เพราะ การก่อหนี้ของครัวเรือนหลังปี 2556 เป็นต้นมา ส่วนใหญ่เป็นระยะยาวคือ 5-10 ปี ต่างจากช่วงก่อนปี 2555 ที่อายุหนี้จะสั้นกว่ามีกำหนดชำระคืนภายใน 1-3 ปี อีกทั้งหนี้ส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะล็อกต้นทุนอิงดอกเบี้ยคงที่ อาทิ กลุ่มหนี้เช่าซื้อ หรือที่อยู่อาศัย ดังนั้นแม้อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น แต่ข้อกังวลน้อยกว่าอดีตมาก
*ประสานเตือนอย่ากังวล
ด้าน ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ได้ออกโรงเตือนให้ประชาชนอย่ากังวลกับปัญหานี้ครัวเรือนจนเกินเหตุเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เขาอ้างว่าการหดตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกมีผลให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น แต่ถ้าปีหน้าเศรษฐกิจเติบโตตามที่แบงก์ชาติคาด (4.8%) สัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะลดลงเอง
มุมมองว่าด้วย"หนี้ครัวเรือน"ที่แตกต่างกันออกไปเป็นเรื่องปกติของการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจเพราะแต่ละคนแต่ละสำนักย่อมมีความเชื่อ เฉพาะตัว แต่ที่ชวนสับสนอย่างสุดๆคือ ขณะที่นักธุรกิจหลายรายเชื่อว่ายอดขายที่หดหายไปในช่วงนี้เป็นผลจาก"หนี้ครัวเรือน"ที่ดูดกำลังซื้อไป แต่ ผู้ว่าการแบงก์ชาติกลับออกมาส่งสัญญาณว่า อย่างกังวลกับหนี้ครัวเรือนเกินเหตุเพราะจะส่งผลต่อการจับจ่ายของประชาชน ส่วนคำตอบไหนจะเป็นคำตอบสุดท้าย คงต้องยกหน้าที่ให้ อนาคต ช่วยหาคำตอบให้ที
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 21 ต.ค. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.