โดย... ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์
นักเศรษฐศาสตร์ ไม่เห็นพ้องกัน ทั้งในเรื่องใหญ่ๆ และเรื่องเล็กๆ แต่ก็มีหลายเรื่องที่นักเศรษฐศาสตร์เห็นพ้องต้องกัน เช่น ไม่เห็นด้วยกับการจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในราคาและวิธีการที่บ้าบิ่น โดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริง เรื่องภาษีมรดก โดยอาชีพความเป็นนักเศรษฐศาสตร์ย่อมอยู่ในฐานะนักวิชาการหรือปัญญาชน ที่จะให้ความเห็นได้อย่างน่าเชื่อถือแต่ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานไหนทำการสำรวจความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์อย่างเป็นระบบ ที่ผู้เขียนรับรู้ก็มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย จะแสดงความเห็นต่อสาธารณชนแต่ฝ่ายเห็นด้วยที่ยังเงียบอยู่และผู้เขียนรู้จัก แต่ยังไม่ได้พูดกับสาธารณชนก็มีจำนวนไม่น้อย
Keynes เชื่อว่าความคิดของนักเศรษฐศาสตร์มีอิทธิพลต่อโลกต่อนักการเมือง แต่ผู้เขียนคิดว่าความคิดของนักเศรษฐศาสตร์ที่มีอิทธิพลต่อสังคมใดสังคมหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่งขึ้นอยู่กับบริบทของสังคมและประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นๆ ความคิดหรือทฤษฎีที่เคยเป็นที่นิยมและก็เสื่อมความนิยมในเวลาต่อมา
ความคิดจำนวนมากไม่เหมาะกับยุคสมัยแต่ความคิดทฤษฎีก็ดำรงอยู่ไม่หายสาบสูญ ดูตัวอย่างการมองบทบาทของภาษีในระบบเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านความคิดเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา
แทบไม่น่าเชื่อว่าอเมริกาที่ทุกวันนี้เป็นสังคมที่ไม่อยากเห็นการมีรัฐบาลที่ใหญ่โตเชื่อในพลังของตลาดและปัจเจกชน คนอเมริกันไม่อยากเห็นรัฐบาลเก็บภาษีสูงจะเป็นประเทศที่ครั้งหนึ่งเป็นผู้นำนวัตกรรมในการเก็บภาษีเงินได้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในอัตราที่สูงมากๆ ถึงกว่าร้อยละ 88 ในปี ค.ศ.1944 และเป็นระบบอัตราภาษีก้าวหน้าที่สูงกว่าประเทศในยุโรปด้วยซ้ำ อัตราภาษีก้าวหน้าของรัฐบาลกลางที่เริ่มในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดี Roosevelt ดำรงอยู่เรื่อยมาเกือบ 50 ปี โดยมีอัตราสูงสุดที่ร้อยละ 81 ในช่วงปี ค.ศ.1932-1980 แล้วมาเปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือหลังจากนั้นจนถึงปัจจุบันตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี Reagan รวมทั้งประธานาธิบดี Bush ที่อัตราก้าวหน้าสูงสุดของภาษีเงินได้ลดลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 30-40 เมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้วจากการให้ความสำคัญเรื่องความเหลื่อมล้ำโดยการเมืองฝ่ายซ้ายหรือก้าวหน้าพรรคเดโมแครตมาเป็นการเมืองของฝ่ายขวาหรืออนุรักษ์โดยพรรครีพับลิกันที่ถูกครอบงำโดยชนชั้นมั่งมีและภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่ไม่ต้องการแบกรับภาระภาษีหรือโอนรายได้ไปให้กลุ่มคนจนหรือคนชั้นกลางระดับล่าง
ทำไมจึงมีนักเศรษฐศาสตร์ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะเก็บภาษีมรดก เราจะตัดประเด็นเรื่องการที่นักเศรษฐศาสตร์อาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนออกไป เพราะเป็นเรื่องที่ง่ายเกินไปที่จะไปกล่าวหากันว่าตัวเองไม่เห็นด้วยเพราะมีผลประโยชน์ส่วนตัวคืออยู่ในข่ายที่อาจจะต้องเสียภาษี
เราจะสมมุติว่านักเศรษฐศาสตร์คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้งโดยชั่งน้ำหนักระหว่างผลได้ผลเสีย
ในอดีตมีนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากเชื่อว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำในระยะยาวไม่ใช่ปัญหาพื้นฐานที่อันตราย เขาเหล่านี้เชื่อว่าเมื่อเวลาผ่านไปโอกาสที่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเปิดโอกาสให้ทุกคนมีโอกาสพัฒนาทุนมนุษย์และเข้าถึงแหล่งทุนสามารถไต่เต้าเขยิบฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมตราบใดที่เศรษฐกิจเติบโตได้ความยากจนหมดไป ความไม่เท่าเทียมกันที่สูงขึ้นในระยะแรกๆ จะลดลงโดยอัตโนมัติ เดิมนักเศรษฐศาสตร์มักคิดว่าความเหลื่อมล้ำเป็นสิ่งจำเป็นในการกระตุ้นการเจริญเติบโตเพราะต้องมีคนกลุ่มหนึ่งมีศักยภาพในการออมและลงทุน ถ้ารัฐไปแทรกแซงบิดเบือนแรงจูงใจเศรษฐกิจจะเติบโตได้ยากจึงเกิดกระแสโลกอยู่ช่วงหนึ่งที่รัฐจะเก็บภาษีในอัตราต่ำไม่อยากแตะหรือสร้างภาระให้คนรวย
ในความเป็นจริงข้อมูลเชิงประจักษ์กลับพบว่าความไม่เท่าเทียมกันที่ลดลงจะดีต่อความเจริญเติบโตเมื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศมีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจ มีพลังซื้อ และอำนาจทางเศรษฐกิจ ความไม่เท่าเทียมกันยังเป็นที่มาของความอ่อนแอของสังคมในทุกเรื่องในระยะยาวเป็นอันตรายมากต่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในสังคม ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความไว้วางใจ ความสุข สุขภาวะของคนในสังคม ประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำเพราะรัฐบาลดูแลเรื่องโครงสร้างภาษีและการใช้จ่ายเพื่อสังคม คุณภาพของสังคมและความสุขของคนในสังคมจะสูงกว่าประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง เช่น กรณีของสหรัฐอเมริกาในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ชัดเจนว่าความเหลื่อมล้ำมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด
ความเหลื่อมล้ำในแต่ละประเทศทุนนิยมหรือรายได้สูงทั้งโลก ความเหลื่อมล้ำในรายได้และทรัพย์สินสูงขึ้นอย่างน่ากลัวดูเป็นเรื่องปกติแล้วดังที่พบทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยที่พบว่าร้อยละ 10 ของประชากรที่มีฐานะดีครองสินทรัพย์ทุกอย่างถึงร้อยละ 70 หรือสูงกว่านั้น คำถามมีว่านักเศรษฐศาสตร์ที่คัดค้านภาษีมรดกหรือภาษีอะไรก็ตามที่จะลดความเหลื่อมล้ำเป็นกลุ่มคนที่ไม่เห็นว่าความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาที่สังคมต้องแก้ไขใช่หรือไม่
เป็นไปได้ว่านักเศรษฐศาสตร์เห็นความสำคัญของความเหลื่อมล้ำและอยากให้มีการแก้ไข แต่ไม่คิดว่าการเก็บภาษีมรดกเป็นกลไกที่มีประสิทธิผลเมื่อเทียบกับวิธีการอื่น เช่น จะทำรายได้ให้รัฐน้อยหรือจะเจอปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษี เราต้องยอมรับความจริงในกรณีของนักเศรษฐศาสตร์ไทยว่า นักเศรษฐศาสตร์ไทยมีความรู้ความเข้าใจทั้งทฤษฎีและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำในความมั่งคั่ง (หรือความเป็นเจ้าของทุน หรือทรัพย์สิน) น้อยมากและความรู้ความเข้าใจเรื่องของมรดก
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาเรื่องข้อมูล แต่ส่วนสำคัญเป็นเพราะนักเศรษฐศาสตร์ไปให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นๆ มากกว่า เราจึงไม่มีผลงานวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำของทรัพย์สินและบทบาทของมรดก ตัวอย่างเช่น การที่สถาบันอนาคตไทยศึกษาแสดงข้อกังขาหรือไม่เห็นด้วยกับภาษีมรดก โดยเพียงไปหยิบหรือดูจำนวนประเทศที่มีการเก็บภาษีมรดกเพียงสิบกว่าประเทศและที่เคยเก็บก็เลิกไปเป็นตัวอย่างของการทำงานที่มีลักษณะผิวเผินฉาบฉวย เพราะผู้วิจัยขาดความรู้และวิวัฒนาการของแต่ละสังคมในอดีตและทิศทางในอนาคต
เขาลืมไปว่า เพราะเรามีวิสัยทัศน์ของเราเองในด้านความเหลื่อมล้ำ ประเทศเราหรือแต่ละสังคมสามารถออกแบบโครงสร้างภาษีที่เหมาะสมสำหรับอนาคตของสังคมเราโดยที่เราไม่ละเลยองค์ความรู้ที่เป็นสากลหรือระดับโลก
นักเศรษฐศาสตร์ที่ยังมีข้อกังขาเรื่องการจะเก็บภาษีมรดกของไทยลืมที่จะพิจารณาองค์ประกอบและประเด็นอื่นๆ ที่สำคัญรวมทั้งเสนอทางเลือกอื่นๆ หรือนโยบายเสริม ถ้าต้องการเห็นประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำที่ดีขึ้นในระยะยาว องค์ประกอบที่สำคัญๆ นี้มีอะไรบ้าง
ประการแรกความมั่งคั่งที่มาจากการเป็นเจ้าของในทรัพย์สินมีความเหลื่อมล้ำมากกว่าความเหลื่อมล้ำที่มาจากรายได้ จากการทำงานของแรงงาน การเก็บภาษีเงินได้ในอัตราก้าวหน้าอย่างเดียวหรือมองอัตราสูงสุดจึงไม่เพียงพอ โครงสร้างทั้งระบบของภาษีต้องมองภาระภาษีที่แท้จริงทั้งระบบ ซึ่งเท่าที่รู้ระบบของเราในแง่รายได้ยังเป็นระบบที่อัตราค่อนข้างคงที่ต่อรายได้ (Proportional) หรือเป็นอัตราก้าวหน้าที่น้อยหรืออ่อนมากไม่มีผลมากต่อการลดการเหลื่อมล้ำ งานวิจัยของ Piketty และคณะพบว่าในกรณีของฝรั่งเศสการเก็บภาษีจากฐานความมั่งคั่งและภาษีกองมรดกมีผลอย่างมากต่อโครงสร้างอัตราก้าวหน้าทั้งระบบ ทั้งๆ ที่ฝรั่งเศสไม่ได้เก็บภาษีเงินได้สำหรับผู้มีรายได้สูงมากมายกว่าอเมริกา
เราต้องไม่ลืมว่ารายได้จากทรัพย์สินในรูปของดอกเบี้ย ค่าเช่า เงินปันผล เป็นรายได้ที่ไม่ได้เกิดจากแรงงานในประเทศที่เจริญแล้วและกำลังพัฒนาควรต้องมีการเก็บภาษีในส่วนนี้อย่างทั่วถึงถ้าเป็นไปได้ในอัตราก้าวหน้าหลายประเทศโดยเฉพาะฝรั่งเศส เมื่อรัฐบาลสังคมนิยมครองอำนาจมีอิทธิพลต่อโครงสร้างภาษี เช่น ปัจจุบันมีการเก็บภาษีความมั่งคั่ง (หักหนี้ทางการเงิน) เสริมด้วยภาษีกองมรดกและการให้ (ที่เก็บในอัตรก้าวหน้าสูงถึงร้อยละ 20) เช่น ในอัตราร้อยละ 1.8 สำหรับทรัพย์สินที่สูงเริ่มตั้งแต่ประมาณ 600 ล้านบาท
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ต้องมองภาษีมรดกเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใหญ่ในอนาคต ภาษีมรดกไม่ควรเก็บในอัตราคงที่ร้อยละ 10 โดยเริ่มต้นที่ 50 ล้านบาท (ต้องเก็บภาษีการให้ในอัตราก้าวหน้า) ขณะนี้ประเทศไทยมีชนชั้นกลางที่มีฐานะดีจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ น้องชายของ พล.อ.ประยุทธ์ที่มีเงินฝากธนาคารเกือบ 50 ล้านบาท หรือสินทรัพย์รวม 70-80 ล้านบาท ผู้เขียนคิดว่ารูปแบบของฝรั่งเศสน่าศึกษาเป็นตัวอย่าง ผู้เขียนอยากเห็นการเก็บภาษีมรดกให้อัตราก้าวหน้าตั้งแต่ประมาณร้อยละ 3 ไปถึงร้อยละ 20 เริ่มต้นจากมรดกที่ 10 ล้านบาท รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ควรเป็นผู้นำในการปฏิรูปโครงสร้างภาษีสำหรับอนาคตมองยาวไป 30 ถึง 100 ปีข้างหน้า โดยบูรณาการผลตอบแทนและการถือครองทรัพย์สินทุกประเภทตั้งแต่ที่ดิน โรงเรือน ภาษีเงินได้ของบริษัทที่จะมีผลต่อกำไรสะสมและราคาหุ้น เงินปันผล กำไรจากความแตกต่างของมูลค่าหุ้น หรือ capital gain ให้มีภาระด้านภาษีอย่างยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำเหมือนแรงงานที่เสียภาษี เราไม่ควรเอาแบบอย่างที่ไม่ดีของอเมริกา ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เลวดังที่นาย Warren Buffet บอกว่า เขามีภาระภาษีที่แท้จริงต่ำกว่าเลขานุการของเขา
เราควรจะกลัวว่าเงินทุนจะไหลออกเพราะภาระภาษีหรือไม่มีใครเข้ามาลงทุนในประเทศเราหรือไม่ ในประเด็นนี้โลกตะวันตกภายใต้การนำของสหรัฐและองค์กรที่สหรัฐมีอิทธิพลโดยเฉพาะไอเอ็มเอฟ (IMF) พยายามล้างสมองประเทศโลกที่สามให้ตอบสนองต่อบรรษัทข้ามชาติทางการค้าและการเงินของสหรัฐ นักเศรษฐศาสตร์ที่รู้จริงในเรื่องนี้ต้องไม่ลืมประวัติศาสตร์ของประเทศตะวันตก
ประเทศในเอเชียที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเลือกที่จะใช้ยุทธศาสตร์ในการเปิดประเทศของตนทั้งทางด้านการค้าและเงินทุนที่เป็นตัวของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องถูกอเมริกาหลอก เราสามารถออกแบบนโยบายให้เหมาะกับผลประโยชน์ของประเทศเรา โดยคำนึงถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของเรา
ประการที่สอง นักเศรษฐศาสตรจะต้องเข้าใจว่าความมั่งคั่งของแต่ละคนถ้าไม่มาจากการทำงานด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเองก็ต้องมาจากการได้มรดก องค์ความรู้ที่มีคุณค่ามหาศาลทั้งในอดีตและการคาดการณ์ในอนาคตที่ได้จากงานวิจัยของ Piketty และคณะ พบว่าแม้สังคมสมัยใหม่การลงทุนในทุนมนุษย์มีความสำคัญ ความมั่งคั่งที่เกิดจากมรดกในระยะยาวจะสูงถึงร้อยละ 15-25 ของรายได้ประชาชาติหรือสูงกว่านี้ถ้าคิดเป็นรายได้บุคคลหลังหักภาษี เพราะฉะนั้นถ้าเทียบกับการออมของครัวเรือนต่อรายได้ของประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยย่อมชี้ให้เห็นว่าบทบาทของมรดก (รวมถึงการให้ระหว่างที่มีชีวิต) มีความสำคัญมหาศาลทั้งในอดีตและในอนาคต
นอกเหนือจากปัจจัยอื่นๆ ที่จำเป็นที่สังคมจำเป็นต้องสร้างเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เราไม่สามารถตัดภาษีมรดกออกไปจากสมการนี้ได้ แม้มันจะไม่ใช่ยาวิเศษขนานเดียว
ที่มา : มติชน วันที่ 24 ต.ค. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.