โดย สุพจน์ เอี้ยงกุญชร
เรื่องข้าว เรื่องชาวนากลับมาเป็นเรื่องร้อนแรงขึ้นมาอีกหลังจากที่เงียบหายไปนาน ภายหลังจากที่ คสช.เข้ามาแก้ปัญหาหนี้ชาวนาจากโครงการรับจำนำข้าวได้สำเร็จ แต่เมื่อรัฐบาล ฯพณฯ พลเอกประยุทธ์มีนโยบายจะแจกเงินให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท โดยให้ไม่เกินรายละ 15,000 บาท ประกอบกับคำพูดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ที่มีแนวคิดจะใช้เงินจ้างคนทำนาให้เลิกอาชีพชาวนา เรื่องข้าว เรื่องชาวนาจึงกลับมาร้อนแรงขึ้นอีกในทันที
เรื่องการแจกเงินให้ชาวนาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับรากหญ้านั้น ไม่ว่าจะพูดหรือจะอธิบายอย่างไรก็ดูเหมือนจะไม่ต่างไปจากโครงการประชานิยมในอดีต แม้ชาวนาจะได้รับเงินไปเต็มๆ โดยไม่มีการรั่วไหลเหมือนในอดีตเพราะได้เตรียมมาตรการป้องกันไว้อย่างดีแล้ว แต่ทราบกันบ้างหรือไม่ว่า ชาวนานั้นไม่ได้ยากจนไปหมดทุกราย (แม้มีจำนวนไม่มากแต่ก็มี) และชาวนาที่ไม่มีที่ทำกิน (เช่าที่ทำนา) จะได้รับเงินนี้อย่างไร แล้วจะแยกแยะกันได้อย่างไรระหว่างเจ้าของที่นากับคนเช่า
ที่ทำนาสุดท้ายก็คงไม่ต่างจากนโยบายรถยนต์คันแรกคือ คนจนจริงๆ ไม่ได้ประโยชน์อะไรเท่าที่ควร แต่คนรวยคนมีเงินได้อานิสงส์ไปด้วยเต็มๆ แบบส้มหล่นนั่นเอง
การแจกเงินชาวนามันคงไม่ได้ช่วยให้อาชีพชาวนาเข้มแข็งมั่นคงขึ้นแต่อย่างใด พอเงินหมดก็จบกันไป ดังที่หลายๆ ท่านพูดว่า เหมือนแจกขนมหรือยาแก้ปวด เพราะมันไม่ได้แก้ปัญหาที่สาเหตุ นั่นคือความยากจนของชาวนา หากรัฐบาลเอาเงินจำนวนนี้มาช่วยเหลือชาวนาในรูปแบบอื่นๆ มันน่าจะเป็นประโยชน์ต่อชาวนาและคุ้มค่ากับเม็ดเงินมากกว่า เช่น ชดเชยความเสียหายจากภัยแล้งที่กำลังจะมาถึงในเร็ววันนี้ อุดหนุนต้นทุนการผลิต (ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าเมล็ดพันธุ์ และอื่นๆ) หรืออุดหนุนกิจกรรมในการหารายได้หรือทำอาชีพเสริมอื่นๆ เป็นต้น การใช้เงินอย่างนี้ต่างหากที่จะเกิดประโยชน์ต่อชาวนาอย่างแท้จริง
แต่เรื่องที่ดูจะร้อนแรงยิ่งกว่าเรื่องแจกเงินชาวนาก็คือ คำพูดของนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ที่มีแนวคิดจะใช้เงินจ้างให้เลิกทำอาชีพชาวนา ซึ่งไม่ทราบว่าท่านมีเงื่อนไขอะไรอื่นบ้างหรือเปล่า หากเป็นคำพูดของรัฐมนตรีท่านอื่นๆ ก็คงไม่กระไรนัก
แต่เพราะนี่เป็นคำพูดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ที่ควรจะรู้ควรจะเข้าใจถึงอาชีพเกษตรกรดีในทุกๆ มิติ) หลายฝ่ายจึงออกมาวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในแง่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทั้งในแง่ของความเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้
ก่อนอื่นต้องขอบอกว่า การจ้างให้เลิกทำอาชีพชาวนานั้น มันมีผลกระทบต่อสังคมไทยมากกว่าอาชีพอื่นในหลายมิติ มันไม่เหมือนอาชีพรับจ้างหรือค้าขายเล็กๆ น้อยๆ เพราะอาชีพชาวนานั้นนับเป็นรากเหง้าในวิถีชีวิตของคนไทย (แม้อาชีพชาวนาจะไม่ใช่อาชีพของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน)
ดังนั้น การเลิกอาชีพนี้จึงไม่ควรต้องซื้อต้องจ้าง แต่มันจะต้องเลิกอย่างค่อยเป็นค่อยไปของมันเองตามสภาพ เช่น ทำไม่ไหว ไม่มีคนช่วยสืบสาน สามารถทำอย่างอื่นที่ดีกว่าแทนได้ หรือไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป (คนไทยเลิกกินข้าวเป็นอาหารหลัก) เป็นต้น หากมีการจ้างให้เลิกอาชีพชาวนาเกิดขึ้น เท่ากับเป็นการผลักดันให้ชาวนาเลิกอาชีพนี้ในทางอ้อม ผลกระทบที่ตามมาทั้งในด้านมิติทางวัฒนธรรม สังคม และเศรษฐกิจของสังคมไทยในอนาคต ใครจะรับผิดชอบ
จริงอยู่ที่ชาวนาส่วนใหญ่ยากจนและยิ่งทำยิ่งขาดทุน แต่ตราบใดที่ชาวนายังยืนหยัดทำนาอยู่ ใช่ว่าชาวนาจะไม่มีโอกาสลืมตาอ้าปาก ขอเพียงให้ผู้ที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลืออย่างถูกที่ถูกเวลา ชาวนายังมีทางเลือกทางรอดอีกหลายทาง เช่น การเปลี่ยนแปลงพื้นที่แปลงนาบางส่วนเพื่อปลูกพืชอื่นหรือทำอย่างอื่น (เพื่อลดการขาดทุน) การลดพื้นที่ทำนาเพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำหรือเพื่อเน้นประสิทธิภาพในการผลิต (เพิ่มผลกำไรต่อไร่) และการเปลี่ยนวิธีการทำนาตามสถานการณ์ของตลาดแทนที่จะปลูกเอาแต่ข้าวแบบเดิมๆ ก็อาจปลูกเอาน้ำนมข้าวหรือทำชาใบข้าว ปลูกข้าวอินทรีย์ ข้าวกล่ำ ข้าวญี่ปุ่น หรือข้าวแปลกใหม่อื่นๆ เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่ชาวนาควรได้รับความช่วยเหลือ เพราะความช่วยเหลือเหล่านี้จะทำให้ชาวนายืนหยัดในอาชีพนี้ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ แทบทุกปีจะมีประกาศเตือนจากภาครัฐให้ชาวนาลดพื้นที่ทำนาปรังเนื่องจากมีน้ำต้นทุนน้อย (ดูจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนใหญ่ๆ) หรือให้ชาวนาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยทดแทน ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้องในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพในสภาวะที่มีปริมาณน้ำจำกัด แต่การที่ภาครัฐไม่ได้ให้ความช่วยเหลือใดๆ โดยตรงกับชาวนา ได้แต่ประกาศเตือนซ้ำแล้วซ้ำอีก
แล้วจะมีชาวนาเจ้าใดรายใดเป็นผู้เสียสละลดพื้นที่ทำนาปรังลง มาตรการนี้จึงไม่ค่อยได้ผล ชาวนาส่วนใหญ่ยังคงเสี่ยงทำกันต่อไป (โดยหวังให้เทวดาช่วย) เมื่อชาวนาต่างคนต่างทำ พอเข้าสู่ภาวะวิกฤต (น้ำไม่มี ฝนไม่มา) ชาวนาไม่ได้ผลผลิตและน้ำที่ใช้ไปก็สูญเปล่าไปทั้งหมด (แทนที่จะได้ผลตอบแทนบางส่วน) ทั้งนี้เพราะไม่มีใครออกมารับรองชาวนาได้ว่า รายได้ที่ขาดหายไปจากการลดพื้นที่ทำนาปรังนั้นจะทำอย่างไร ใครจะช่วย
กรณีหันไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนนาปรังก็เช่นกัน ชาวนาที่ไม่เคยปลูกพืชอื่นมาก่อนจะกล้าเสี่ยงทำหรือ เพราะปลูกแล้วเกิดเสียหายหรือขายไม่ได้จะทำอย่างไร คำถามเหล่านี้ต่างหากที่ภาครัฐจะต้องเข้าไปช่วยเหลือและให้ความมั่นใจแก่ชาวนา เช่น รับประกันความเสียหายหากปฏิบัติตามคำแนะนำของภาครัฐแล้วไม่เป็นผล หรือชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากการลดพื้นที่ทำนาปรัง หรือชดเชยส่วนต่างหากพืชที่ปลูกทำรายได้ต่ำกว่าการทำนาปรัง เป็นต้น
อาชีพชาวนาไม่ได้สิ้นไร้หนทางอย่างที่บางท่านคิด เพียงแต่ชาวนาส่วนใหญ่ยังถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนรอบข้าง (ทั้งพ่อค้า นายทุน และนักการเมือง) และยังขาดโอกาสได้รับความช่วยเหลือในแนวทางที่ถูกที่ควรจากทางราชการ ซ้ำบางครั้งชาวนายังถูกมอมเมาด้วยนโยบายประชานิยมจากนักการเมืองจนเสพติดกลายเป็นเครื่องมือในทางการเมืองไปอีกด้วย
อาชีพชาวนาต้องใช้ทักษะเฉพาะตัว ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถทำอาชีพนี้ได้ อาชีพชาวนายังเป็นที่ต้องการสำหรับสังคมไทย ชาวนายังสามารถยืนหยัดอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีชาวนาตัวอย่างมากมายที่ยืนหยัดอยู่ได้อย่างมีหน้ามีตาในสังคม อาชีพชาวนาจึงไม่จำเป็นต้องซื้อต้องขาย
ที่มา : มติชน วันที่ 21 ต.ค. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.