ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2557 หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตีได้มีมติออก 5 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์ วิจารณ์กันอยู่นานนับสัปดาห์ หนึ่งในนั้นคือการอนุมัติเงินอัดฉีดชาวนาจำนวน 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการแจกให้เงินชาวนาไร่ละพัน มากที่สุดไม่เกิน 15,000 บาท หรือไม่เกิน 15 ไร่
โดยให้เฉพาะชาวนาที่ขึ้นทะเบียนไว้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2557 หลังการประชุมแก้ไขปัญหายางพารา นายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกมาเผยว่าจะมีการจ่ายเงินเพื่ออุดหนุนปัจจัยการผลิตให้กับเกษตรกรที่ปลูกยางพาราเช่นกัน
สิ่งเหล่านี้ถูกพูดถึงและตั้งคำถามในว่า มาตรการลักษณะนี้เพียงเป็นนโยบายประชานิยมอย่างที่หลายรัฐบาลทำมาหรือไม่ หรือนี่เป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนของชาวนาที่ถูกต้องและเพียงพอแล้ว
ประชาไทสัมภาษณ์ความคิดเห็นของชาวนา ต่อกรณีการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ “แจกเงินชาวนาไร่ละพัน” ของรัฐบาลประยุทธ ได้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่า เป็นแนวทางที่ดีในระยะสั้น ทว่าการทำเพียงเท่านี้อาจจะไม่ทำให้มาตรฐานชีวิตชาวนาดีขึ้น
วิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ปัจจุบันทำนาทั้งหมด 35 ไร่ในจังหวัดอยุธยา กล่าวว่า เขาทำนามานานตั้งแต่จำความได้ เคยผ่านช่วงเวลาที่ราคาข้าวกับราคาทองเท่ากัน จวบปัจจุบันทั้งสองสิ่งราคาต่างกันลับ
“ชาวนาหลายคนเขาก็ดีใจที่รัฐบาลแจกเงินตรงนี้มาช่วยเหลือพวกเรา แต่ถ้าถามว่าเพียงพอหรือยัง ผมคิดว่ายังไม่พอ”
แม้ชาวนาหลายคนจะมองว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นนโยบายที่ดี แต่วิเชียรชี้ให้เห็นว่า ถ้าลองคำนวณดูจริงๆ การแจกเงินไร่ละพันบาทไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก เพราะถ้าคำนวณรายได้จากการขายข้าว บวกกับเงินอัดฉีดไร่ละพัน แล้วหักลบต้นทุนทั้งหมด ชาวนาก็จะเหลือเงินไม่มาก ดีสุดก็เพียงแค่ใช้เป็นเงินสำหรับเตรียมหน้าดินและซื้อเมล็ดพันธุ์ที่จะนำมาปลูกข้าวต่อไปเท่านั้น
วิเชียร ให้ข้อมูลว่า ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่าน เขาขายข้าวได้เพียงตันละ 6,200 – 6,500 บาท โดยมีต้นทุนต่อไร่ประมาณ ไร่ละ 5,000 – 5,500 บาท ขณะที่ที่นา 1 ไร่สามารถเก็บเกี่ยวผลิตได้เพียง 60 – 70 ถัง นั่นเป็นเหตุที่ทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น เพราะกว่าจะได้ข้าวหนึ่งตันต้องทำนาถึงเกือบสองไร่ วิเชียรกล่าวว่า สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ชาวนาไทยยังยากจนอยู่คือ การขาดระบบชลประทานที่ทั่วถึง ที่นาจำนวนมากอยู่ห่างจากคลองชลประทาน ทำให้ต้องใช้เครื่องวิดน้ำหลายต่อ คือ วิดน้ำจากคลองชลประทานเข้าคลองย่อย แล้วต้องวิดน้ำจากคลองย่อยเข้าที่นาอีกครั้ง นั่นเป็นเหตุที่ทำให้ต้นทุนในการผลิตเพิ่มสูง ประกอบกับภัยธรรมชาติ บางปีน้ำท่วม บางปีน้ำแล้ง ชาวนาบางคนลงทุนทำนาไปยังไม่ทันได้ผลผลิตแต่ขาดทุนเสียก่อนก็มี
ขณะเดียวกันราคาปุ๋ยเคมี หรือสารเคมีที่จำเป็นต้องใช้ก็ปรับราคาสูงขึ้น ยิ่งข้าวราคาดี ราคาปุ๋ยราคาสารเคมีก็ขึ้นตาม
“หลังจากการรัฐประหารไม่นาน ทางคสช. ก็ได้เชิญตัวแทนชาวนากลุ่มต่างๆ เข้าพบ เพื่อร่วมหาแนวทางในการลดต้นทุนต่างๆ แต่ตอนนี้ก็ยังไม่เห็นว่ามีการลดราคาปุ๋ย สารเคมี หรือเมล็ดพันธุ์ลงเลย…ถ้าเป็นไปได้ผมก็อยากให้เขาแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงๆ จังๆ” วิเชียรกล่าว
อย่างไรก็ตามเขามองว่า รัฐควรให้ความช่วยเหลือชาวนาให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะตอนนี้ชาวนาเป็นกลุ่มอาชีพที่มีโอกาสขาดทุนสูงมาก โดยที่ผ่านมาสองรัฐบาล คือรัฐบาลอภิสิทธิ์ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้มีนโยบายที่ให้ความช่วยเหลือชาวนามาโดยตลอด ในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ได้มีการทำโครงการประกันราคาข้าว ส่วนในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีโครงการจำนำข้าว
อุดม สวัสดี ชาวนา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐมเล่าว่า ตอนนี้ตัวเองทำนาอยู่ทั้งหมด 80 ไร่ โดยเป็นที่นาของตัวเองเพียงแค่ 10 ไร่ นอกนั้นเป็นที่ดินที่เช่าจากผู้อื่นโดยมีค่าเช่าที่ดินปีละ 3,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ปรับขึ้นในช่วงนโยบายจำนำข้าว และหลังจากโครงการจำนำข้าวล้มลง ก็ไม่ได้มีการปรับลดลงมา
“แจกเงินชาวนาไร่ละพัน ก็ทำให้เราค่อยยังชั่วอยู่บ้าง เพราะว่าตอนนี้ราคาข้าวตกลงมาอยู่ที่ประมาณ 8,200 บาทต่อหนึ่งตันซึ่งเป็นราคาตลาด แต่ว่าเวลาเราขายข้าวเราขายข้าวสด (ขายหลังจากการเก็บไม่ได้ตากข้าวก่อน) ทำให้ความชื้นมากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ ราคาก็ต้องปรับลดลงมาเฉลี่ยเหลือประมาณ 6,000 – 7,000 บาท”
อุดมให้ข้อมูลว่า ต้นทุนในการทำนาหนึ่งไร่อยู่ที่ประมาณ 5,000 บาท ซึ่งนี่ถือว่าเป็นการประหยัดต้นทุนอย่างมากที่สุดแล้ว คือมีการลดปริมาณปุ๋ย ลดปริมาณสารเคมีที่จะใช้ในการทำนาหนึ่งไร่ ขณะเดียวกันการควบคุมต้นทุนก็เป็นเหตุให้ปริมาณข้าวที่ได้น้อยลงไปด้วย อุดมย้ำว่าต้นทุน 5,000 บาทนี้ไม่ได้รวมค่าเช่าที่ดินและค่าใช้จ่ายจิปาถะ เช่นค่าน้ำมันสำหรับการวิดน้ำเข้านา ซึ่งก็ประสบปัญหาเดียวกันกับชาวนาหลายคน คือมีความจำเป็นต้องวิดน้ำเข้านาหลายต่อ เพราะไม่มีระบบชลประทานที่เอื้อหนุนต่อการประกอบอาชีพ
“เราอยากให้รัฐบาลกำหนดราคาขั้นต่ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เพราะจะทำให้เรารู้ว่าจะต้องลงทุนมากน้อยเพียงใด แล้วจะได้กำไรเท่าไร สิ่งที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ค่อนข้างลำบากในการคาดเดาราคาตลาด”
ขณะเดียวกันอุดมได้เล่าย้อนกลับไปในช่วงที่ คสช. ได้ออกมาตรการลดต้นทุนเกษตรกร ซึ่งได้มีการประกาศให้ผู้ผลิตปุ๋ยเคมี หรือสารเคมีที่ใช้ในการเกษตรลดราคาสินค้าลง พร้อมขอให้เจ้าของที่ดินลดราคาค่าเช่าลง ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกลับไม่ได้เป็นไปตามคำประกาศของรัฐบาล แม้จะมีการปรับลดราคาลงในบางร้านของผู้ค้ารายใหญ่ในตัวเมือง แต่ในร้านค้าเล็กๆ กลับไม่ได้มีการปรับลดราคาลง โดยให้เหตุผลว่ารับซื้อสินค้ามาในราคาแพงจะให้ลดราคาทันทีไม่ได้ ในส่วนของเจ้าของที่ดินบางรายก็ไม่ได้มีการปรับลดราคาค่าเช่าให้กับเกษตรกร ทั้งยังขู่ว่า หากรู้ว่าเกษตรกรคนไหนไปร้องเรียนจะไม่ให้เช่าที่ดินอีก
ทรงพิศ โกสาทอง เกษตรกรอายุ 62 ปี ชาวบ้านอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ได้ทราบเรื่องนโยบายช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท จากการบอกผ่านมาทางผู้ใหญ่บ้านซึ่งแจ้งว่ารัฐบาลจะช่วยเหลือชาวนา โดยส่วนตัวก็เห็นว่าดี เพราะได้ทราบมาว่ามีการยกเลิกเงินช่วยคนชราไปแล้ว
“ป้ามีที่นา 12 ไร่ ก็จะได้รับเงิน 12,000 บาท ถือว่าได้ช่วยแบ่งค่าใช้จ่ายไปได้บ้าง เพราะการทำนา 1 ไร่ เฉลี่ยแล้วใช้ปุ๋ยประมาณไร่ละ 2,000 บาท เรียกว่าแบ่งเบาภาระไปได้บ้าง”
อย่างไรก็ตามทรงพิศ อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือมากกว่านี้ และอยากให้มีโครงการรับจำนำข้าวต่อไป เพราะราคาจะได้ไม่ขึ้นอยู่กับเจ้าของโรงสี ที่ผ่านมาก่อนหน้าโครงการจำนำ โรงสีบางแห่งมีการกดราคามาก
ยังเป็นโจทย์ที่ท้าทายว่าจะจัดการกับนโยบายข้าวและพืชผลการเกษตรอย่างไร แต่อย่างไรก็ดี ไม่กี่วันมานี้ พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ชี้ให้เห็นแนวโน้มสำคัญผ่านการแสดงความเห็นต่อข้อเรียกร้องที่ดูเหมือน 'ไม่เคยพอ' ของชาวนา ผ่านสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2557 ที่ผ่านมาว่า
“อย่า เรียกร้องกันมาก แล้วจะเอาเงินที่ไหน งบประมาณแผ่นดินมีเท่าไร เก็บภาษีรายได้รัฐเก็บได้เท่าไร ขาดทุนเท่าไรแล้ว ปีหน้าจะเก็บได้หรือไม่ก็ไม่รู้ พอบอกจะขึ้นภาษีก็ร้องโอ๊ยว่าไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ แต่ไอ้นี่จะเอาเยอะ แล้วจะเอาเงินจากตรงไหนวะ แจกคูปองได้มั้ย อีกหน่อยก็แจกคูปองให้หมดแล้วกัน”
ที่มา : ประชาไท วันที่ 16 ต.ค. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.