ส่งออกข้าวเข้าสู่ยุควิกฤติ พาดหัวหน้าเศรษฐกิจของ สยามรัฐ ว่าไว้อย่างนั้นนี่เป็นการประเมินของหอการค้าไทยว่า การส่งออกข้าวของไทยสิบปีจากนี้ไป จะมีความเสี่ยงในกรแข่งขันสูง เพราะรา คาแข่งแย่งส่วนแบ่งตลาด ต้นทุนสู้ไม่ได้ อยู่ในภาวะถดถอยหากไม่ปฏิรูปทั้งระบบ มูลค่าการส่งออกจะหายไปแปดหมื่นเจ็ดพันล้านบาท จึงเสนอให้สมาคมชาวนา สมาคมโรงสี สมาคมผู้ส่งออก ต้องผนึกกำลังกันบริหาร ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ
หากประเทศไทยยังคงผลิตข้าวในรูปแบบปัจจุบัน ไม่มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต ทั้งวิธีการปลูก พื้นที่เพาะปลูก พัฒนาพันธุ์ข้าว แหล่งน้ำใช้ในการเพาะปลูกให้เหมาะสม ผลผลิตต่อไร่ของไทยยังคงเฉลี่ยอยู่ที่ 450 กก.ต่อไร่ ราคาข้าวและต้นทุนที่ยังสูง รวมถึงไม่มีการทำตลาดที่ดี เชื่อว่าความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง ข้าวไทยจะแข่งขันในตลาดโลกได้ลำบากขึ้น และมูลค่าส่งออกในช่วงสิบปีจะหายไปประมาณ 87,500 ล้านบาท
ข้างต้นนี้เป็นข้อวิตกของคนชั้นบนคนชั้นบนย่อมมองมหภาค เน้นมูลค่าการส่งออก เน้นต้นทุน-กำไร การแข่งขันกับข้าวจากประเทศอื่น ๆ ฯลฯทิศทางการปรับเปลี่ยน ก็คงจะเน้นการทำฟาร์มขนาดใหญ่ ลดต้นทุนการผลิต พัฒนาพันธุ์ข้าว ทำโซนนิ่งการเพาะปลูกข้าว ฯ เกษตรกรรายใหญ่ ๆ หรือนายทุนเกษตร
แต่สำหรับเกษตรกรรายย่อยแล้ว การปลูกข้าว ยังเป็นทั้งการผลิตเพื่อเลี้ยงชีพและเป็นวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมของพวกเขาอยู่ แน่นอนว่าในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงเป็นโลกาภิวัตน์นี้ พวกเขาต้องปรับตัว เปลี่ยนแนวคิดด้วยเช่นกัน แต่ยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกรรายย่อยนั้น แตกต่างจากยุทธศาสตร์ของคนชั้นบน อย่างเช่น หอการค้า สมาคมโรงสี สมาคมผู้ส่งออกข้าว รวมถึงรัฐบาลด้วย
เกษตรกรรายย่อยที่มีที่ดินทำกินไม่มาก ไม่เหมาะที่จะปรับการผลิตให้เป็นอุตสาหกรรมการเกษตร ไม่เหมาะที่จะเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ทำนาอย่างเดียว ปลูกนาปีและนาปรังอยู่เท่านั้น สาเหตุเพราะราคาสินค้าพืชผลเกษตรจะถูกกดต่ำเสมอ และการพึ่งรายได้จากสินค้าประเภทเดียวมีความเสี่ยงสูง เกษตรกรรายใหญ่และนายทุนเกษตรจะปรับตัวเปลี่ยนแปลงกันอย่างไร เราไม่ค่อยห่วง เพราะกลุ่มนี้มีศักยภาพในการเข้าถึงข้อมูลความรู้ และทุน
ที่เราห่วงและเสนอให้ภาครัฐพิจารณาช่วยเหลือให้มากคือเกษตรกรรายย่อย เกษตรรายย่อยจะต้องปรับเปลี่ยนการผลิต จากการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว ไปทำไร่นาสวนผสมและเลี้ยงสัตว์ผสมผสาน เรียนรู้หลักเศรษฐกิจพอเพียง แล้วประยุกต์ปรับตามสภาพแวดล้อมรู้ธรรมของตนเอง
การโซนนิ่งนั้น ถ้าทำได้จริง ก็ต้องอนุญาตให้เกษตรรายย่อยเพาะปลูกข้าวสำหรับกินเองรัฐควรช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยด้วยการช่วยขุดบ่อขุดสระให้เขา แจกพันธุ์สัตว์น้ำ เป็ด ไก่ ฯลฯ ทำอย่างไรให้เกษตรกรรายย่อยมีฐานะเศรษฐกิจดีขึ้นในอดีต ข้าวไทยขายได้มากมายในตลาดโลก
แต่ชาวนาไทยกลับยากจนลงมาก ในอนาคตข้าวไทยจะขายในตลาดโลกได้มากได้น้อย ชาวนารายย่อยก็คงจะยังยากจนอยู่นั่นแหละทิศทางที่จะสร้างชีวิตให้ชาวนารายย่อย เกษตรกรรายย่อย ก็คือเลิกระบบเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว หันมาทำไร่นาสวนผสมเลี้ยงสัตว์
ที่มา : สยามรัฐ วันที่ 24 ก.ย. 2557