คอลัมน์ สามัญสำนึก เมตตา ทับทิม
รัฐบาลคุณประยุทธ์เข้ามาบริหารประเทศ พักนี้นโยบายที่มักจะได้ยินบ่อยมาก ๆ อีกเรื่องหนึ่งก็คือ "ที่ดิน"
ไม่ว่าจะเป็นการจัดระเบียบชายหาด นั่นก็เป็นปฏิบัติการคืนความสุขให้กับนักท่องเที่ยว เพราะมีผู้ประกอบการรายจิ๊บรายจ้อยถือโอกาสทำมาหากินบนที่ดินสาธารณะ
ปฏิบัติการรื้อ-รุก-ไล่ที่ผู้บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ก็เป็นความพยายามคืนความถูกต้องชอบธรรมให้กับที่ดินของรัฐ
ที่ดินในมุมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็น "ต้นทุน" สำคัญอันหนึ่งในการพัฒนาโครงการ เช่น ทำเลแถวสุขุมวิทตอนต้น ราคาปาเข้าไปตารางวาละ 1 ล้านบาทมาหลายปีแล้ว
ฟัง ๆ ดูน้ำหนักคล้ายกับว่าที่ดินเป็นของมีค่า แต่ในทางกลับกัน ที่ดินก็กลายเป็น "ทุกขลาภ" ได้เหมือนกัน เราลองมาดูในมุมของเกษตรกรกันบ้าง ดีไหม
เริ่มจากปูพื้นฐานก่อนว่าที่ดินทั้งหมดในประเทศไทย ตัวเลขกลม ๆ คือมีประมาณ 320 ล้านไร่ ประเภทที่ดินแยกตามต้นสังกัดมี 4 หน่วยงาน คือ ป่าสงวนแห่งชาติ 144 ล้านไร่ รองลงมา กรมที่ดิน 130 ล้านไร่ รองลงมาอยู่ที่ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สำนักงาน ส.ป.ก.) 34 ล้านไร่ และที่ราชพัสดุอีกเกือบ 10 ล้านไร่
ที่ดินที่จั่วหัวว่าเป็นทุกขลาภเพราะได้ข้อมูลจากกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน หรือ Local Action Links (Local Act) เอ็นจีโอที่เกาะติดเรื่องที่ดินกับสิทธิทำกินของผู้ยากไร้มาตั้งแต่โบราณกาล
ล่าสุด กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดนร่วมมือกับศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย "ดร.เขมรัฐ เถลิงศรี" ผู้อำนวยการศูนย์ฯ เปิดผลงานวิจัยหัวข้อยาว ๆ "นโยบายภาครัฐและบทบาทของสถาบันการเงินต่อการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรรายย่อย"
สรุปสาระสำคัญว่า การถูกยึดที่ดินของเกษตรกรรายย่อยเกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับกลไกแก้ปัญหาหนี้ของรัฐงานนี้จำเลยไม่ใช่ใครที่ไหน เบ็ดเสร็จมี 3 องค์กรด้วยกัน เริ่มจาก "ธ.ก.ส.-ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร" รายที่ 2 "กฟก.-กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร" รายสุดท้าย "กชก.-กองทุนหมุนเวียนเพื่อการช่วยเหลือกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน"
ที่มาที่ไปเป็นเพราะ ธ.ก.ส.เป็นแหล่งเงินกู้หลักของเกษตรกร เมื่อมีการนำที่ดินมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ ขั้นตอนต่อมาก็คือการผ่อนชำระหนี้ค่างวด จนกระทั่งมาถึงขั้นตอนเกษตรกรไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ตามงวด
โดยจะพบว่ามีเกษตรกรเป็นลูกหนี้ ธ.ก.ส. จำนวน 5,473,804 ครัวเรือน หรือคิดเป็น 95% ของครัวเรือนเกษตรกร
ก่อนอื่นต้องบอกข้อมูลด้วยว่า แม้จำนวนหนี้ของเกษตรกรรายย่อยที่ถูกฟ้องคดี ไปจนถึงขั้นตอนบังคับคดีของ ธ.ก.ส.จะมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับขนาดของลูกหนี้ในภาพรวม แต่ประเด็นอยู่ที่ถ้ารัฐปล่อยให้มีการบังคับคดี (ภาษาชาวบ้านคือยึดทรัพย์) พวกเขาจะต้องสูญเสียเครื่องมือทำมาหากินที่สำคัญที่สุด ซึ่งก็คือที่ดินนั่นเอง
แน่นอนว่ารัฐก็มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรอยู่แล้ว ผ่านบทบาท 2 กองทุนหลักคือ "กฟก.-กชก." แต่ประเมินจากกลไก 2 กองทุนนี้มีขีดความสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้น้อยมากจริง ๆ ยกตัวอย่าง "กองทุน กฟก." เมื่อดูจากตัวเลขผลงาน ณ เดือนกันยายน 2555 สามารถช่วยเหลือเกษตรกรซื้อหนี้จากสถาบันการเงินได้เพียง 20,451 ราย คิดเป็น 4% ของผู้ต้องการความช่วยเหลือ 490,653 ราย
ข้อเสนอหลักของเอ็นจีโอผสมกับนักวิชาการท่านบอกว่า รัฐบาลและสถาบันการเงินควรทบทวนเรื่องการนำที่ดินเกษตรกรมาเป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันเงินกู้ เพราะมีแนวโน้มสูงที่จะทำให้เกษตรกรสูญเสียที่ดิน
วันนี้โจทย์ชีวิตของเกษตรกรรายย่อยคนหนึ่ง อาจจะพัฒนาเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศเพื่อปฏิรูปลดความเหลื่อมล้ำในสังคมก็ได้...ใครจะไปรู้ ?
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 26 ก.ย. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.