โดย... ภาคภูมิ ป้องภัย
ในห้วงนี้ คอลัมนิสต์มีชื่อและนักวิชาการหลายคนเขียนสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ภาษีทรัพย์สิน) พร้อมเร่งรัดให้รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่างกฎหมายสำคัญให้สำเร็จก่อนมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง
นี่ถ้าทีมข่าวทีวีช่อง 3, 5, 7 และ 9 รวมถึงผู้ประกาศข่าวคนดังช่วยกันอีกทาง ไม่มุ่ง "เล่าข่าว" หรือตีข่าวให้ "ดราม่า" เป็นหลัก จะช่วยกดดันกระทรวงการคลังไม่กล้ายื้อร่างไว้นานเป็นปี เหมือนยุคพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล (2552-2553) และเหมือนเช่นขณะนี้
ดูเอาเถอะ..ร่างเสร็จสมบูรณ์แล้ว สมหมาย ภาษี รมว.คลัง ไม่พูดสักคำว่า จะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อไหร่ มีแต่คำพูดฟังแล้วทะแม่งๆ พิกล
"การเก็บภาษีมรดกและภาษีที่ดินฯ ต้องมีการพิจารณาให้รอบคอบและรอบด้าน เนื่องจากภาษีมรดกมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณามาก เพราะอาจทำให้เกิดผลดีและผลเสีย"
จากนั้น รมว.ยกตัวอย่างเรื่องความเป็นธรรม และเรื่องการจัดเก็บซ้ำซ้อนกัน เช่น มีคนได้รับมรดกเป็นที่ดินมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่มีเงินก็ต้องขายที่ดินมาจ่ายภาษี หรือเจ้าของที่ดินเสียภาษีที่ดินจนวันตาย พอให้ลูกเป็นมรดก ลูกก็ต้องเสียภาษีอีก ฯลฯ
ก่อนตบท้ายว่า "ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะเสร็จตามกรอบเวลาที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายมาหรือไม่"
ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมคุณสมหมายไปให้ความสำคัญกับภาษีมรดกมากมายขนาดนั้น มิหนำซ้ำยังนำทั้งสองตัวมายึดโยงกันอย่างแยกไม่ออก ยกตัวอย่างหยุมหยิมมาอ้างเป็นความรอบคอบ ยกประเด็นทางเทคนิคเล็กน้อยซึ่งมันปรับแก้ได้ ให้มาเป็นสาระหลัก ก่อนคิดเองว่าอาจเสร็จไม่ทันสั่ง
ผมถามท่านหน่อยเถอะ ในเมืองไทยวันนี้ ยังมีอยู่เหรอ ทายาทเจ้าของที่ดินมรดกมูลค่าเกิน 50 ล้าน แต่ไม่มีเงินเสียภาษี 5 ล้าน เออ..ถึงไม่มีเงินจริงๆ แบ่งขายสักเสี้ยวหาเงินจ่ายไม่ได้หรือ
แล้วเอาเข้าจริงๆ ที่ดินมูลค่าตามราคาประเมินเกิน 50 ล้านนั้น ถ้าไม่อยู่ในทำเลทอง ก็ต้องมีนับร้อยนับพันไร่ละครับ ลำพังชาวบ้านทั่วไปจะเอาปัญญาที่ไหนไปซื้อสะสม ถึงชาวบ้านรุ่นก่อนเคยมีเยอะ ป่านนี้แจกจ่ายลูกหลานและขายทำทุนหมดแล้ว ทุกวันนี้ที่ดินจำนวนมหาศาลตกอยู่ในกรรมสิทธิ์ของนักธุรกิจ นายทุน เศรษฐี ข้าราชการร่ำรวย และนักการเมืองเท่านั้น
คงมีแต่คุณสมหมายมากน้ำใจ อยากให้ความเป็นธรรมกับคนถือครองที่ดินมูลค่าขนาดนั้น
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สื่อมวลชน นักวิชาการ และกูรูด้านภาษีพยายามสนับสนุนร่างภาษีที่ดินฯ ผู้คนส่วนใหญ่เรียกร้องแต่ภาษีที่ดินฯทั้งนั้น ไม่มีใครต้องการภาษีมรดกเลย แล้วจู่ๆ เจ้าตัวนี้ก็ถูกโยนเข้ามาอย่างน่าประหลาดใจ
ผู้บริหารคลังพยายามพูดถึงแต่ภาษีมรดก โดยไม่อธิบายรายละเอียดเลยว่าทำไมต้องเร่งรัดก่อนภาษีที่ดินฯ มันสำคัญกว่าอย่างไร
ทำไมไม่เร่งผลักดันร่างที่คนทั้งประเทศต้องการ ร่างที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว เคยผ่านกฤษฎีกามาแล้ว สร้างรายได้มากกว่า เป็นธรรมกว่า แก้ปัญหาเหลื่อมล้ำได้ตรงจุดกว่า
ต่างกับภาษีมรดก ไม่มีใครพูดถึงเลยก่อนหน้านี้ ไม่จำเป็นเร่งด่วนอะไร สร้างรายได้น้อยกว่ามาก ร่างยังไม่สมบูรณ์ มีรายละเอียดต้องปรับแก้เยอะ
ล่าสุด ม.ร.ว.ปรีดิยากร เทวกุล รองนายกฯบอกว่า จะเสนอร่างภาษีมรดกเข้า ครม.และ สนช.ก่อนภาษีที่ดินฯ ยิ่งเห็นอาการส่อเตะถ่วงร่างภาษีที่ดินฯชัดเจนขึ้น
พฤติการณ์แบบนี้ ทำให้ผมนึกถึงครั้งกระทรวงมหาดไทยสร้างร่าง พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัดขึ้นมากลบกระแสเรียกร้องให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดที่พร้อม แล้วก็ทำสำเร็จเสียด้วย
คราวนี้เป็นคิวของกลุ่มข้าราชการเกษียณแต่มีอำนาจกลุ่มหนึ่ง พยายามเล่นแร่แปรธาตุนโยบาย คสช. และสับขาหลอกสังคม
ยิ่งพวกเขาลากร่างภาษีที่ดินฯออกไปได้เรื่อยๆ จนรัฐบาลชั่วคราวสิ้นสุดอำนาจ กลุ่มที่ได้ประโยชน์ก็คือคนระดับบนทั้งสิ้น
ที่มา : มติชน วันที่ 23 ก.ย. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.