เส้นทางวิบาก...ในการคลอดกฎหมายสักฉบับ
เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดิน–ป่าไม้ ทรัพยากรอย่างเป็นธรรม เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน บนพื้นฐานแนวคิดเรื่อง “สิทธิร่วม” หรือ “Collective Rights”…ในการบริหารจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติ
โดยเป็นสิทธิพื้นฐานในลักษณะ “สิทธิเชิงซ้อน” ในการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งแต่ละบทเรียนล้วนเป็นเรื่องที่ต้องศึกษา เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาวบ้านในด้านกฎหมายที่ไปไม่ถึงฝั่งฝันต้องซ้ำรอยอีก
การถอดบทเรียนประวัติศาสตร์กฎหมายที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ที่อีกด้านหนึ่งนั้นเป็นสวัสดิการชีวิตของคนยากจน คนชายขอบและผู้ด้อยโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในชุมชนชนบทเป็นงานใหญ่
ประเทศไทยเคยมีการผลักดันยกร่างกฎหมายป่าชุมชน ในชื่อ “ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน” มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 แต่กลับไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา โดยครั้งหลังสุดได้เสนอผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อปี 2550 แต่ก็ถูกสมาชิกสภานิติบัญญัติจำนวนหนึ่งร่วมกันลงชื่อยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เนื้อหาในกฎหมายขัดต่อบทบัญญัติเรื่องสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญหรือไม่
เนื่องจากคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายจำนวนหนึ่งนำโดยข้าราชการฝ่ายกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้เสนอให้ตัดสิทธิชุมชนในการจัดป่าชุมชนซึ่งอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ออกไปและสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบ
ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยออกมาในปี 2553 ว่า...ร่างกฎหมายป่าชุมชนผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติฯโดยมิชอบ เนื่องจากจำนวนสมาชิกไม่ครบองค์ประชุมตามที่กำหนด ร่างกฎหมายป่าชุมชนจึงตกไป โดยมิได้มีการพิจารณาวินิจฉัยว่าเนื้อหากฎหมายตามที่กลุ่มคนจนต้องการนั้นขัดกับบทบัญญัติหรือเปล่า
“กฎหมายเพื่อคนจน...ต้องเคลื่อนด้วยวาระพิเศษช่วงนี้เท่านั้น เคลื่อนด้วยสภาของนักการเมืองปกติก็ไม่มีทางเป็นไปได้ แม้เอ็นจีโอของไทยส่วนหนึ่งรังเกียจการรัฐประหาร แต่สิ่งที่ตัวเองอยากได้ ถามว่า...จะเกิดในสภาเลือกตั้งปกติไหม...?”
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) บอกอีกว่า ผลประโยชน์ก็เพื่อประชาชนส่วนใหญ่ไม่ใช่ของคุณ...แต่เป็นของชาวนา...ของเกษตรกรส่วนใหญ่ ถ้าจะสำเร็จได้ในจังหวะนี้ก็ควรคว้าโอกาสไว้ กฎหมายทั้ง 4 ฉบับนี้จะเป็นชุดใหญ่เพื่อเกษตรกรและคนยากจน
ถึงวันนี้ โครงการเวทีภาคีพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Forum) ได้สรุปแนวคิดต่างๆจากการศึกษาวิจัยและจัดทำข้อเสนอแนวทางการจัดการทรัพยากรที่ดินของ 11หน่วยงาน/องค์กรที่ได้ดำเนินการมาล่วงหน้านับ 10 ปี มีมาตรการต่างๆที่หลากหลายรวม 6 ด้าน 58 มาตรการ...
ในที่สุดได้ผ่านการสังเคราะห์จากสมัชชาปฏิรูประดับชาติ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติโดยสอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 11 มาเป็นชุด (ร่าง) พ.ร.บ.เพื่อคนจน 4 ฉบับ ได้แก่ 1.(ร่าง) พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิ ชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร พ.ศ..... 2. (ร่าง) พ.ร.บ.ธนาคาร ที่ดิน พ.ศ.....3.(ร่าง) พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า พ.ศ....4.(ร่าง) พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม พ.ศ.......
นพ.พลเดช บอกว่า เรื่องกองทุนยุติธรรม ขณะนี้เป็นแค่ระเบียบกระทรวงยุติธรรม...มีเงินกองทุนจำนวนไม่มาก ในข้อเสนอนี้ให้ยกระดับขึ้นเป็น พ.ร.บ. และมีเงินกองทุนที่ใหญ่ขึ้น มีภารกิจช่วยเหลือคนยากจนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมกว้างขวางขึ้น รวมทั้งประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากคดีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย
“กฎหมายทั้ง 4 ฉบับนี้มีความจำเป็นและเชื่อมโยงกัน แต่ถ้าได้อย่างใดอย่างหนึ่งก็ยังดี ว่ากันตามความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันเป็นแพ็กเกจ ภาษีที่ดินก้าวหน้า...จากภาษีตรงนี้ก็ได้เงินมาเอาไปใช้ทำธนาคารที่ดิน ใช้ซื้อที่ดินที่เจ้าของปล่อยทิ้งรกร้างว่างเปล่า เอามาจัดสรรให้ประชาชนใช้ประโยชน์
...แล้วที่ดินที่ธนาคารมีเงินไปซื้อก็ให้ใช้สิทธิตามแนวนโยบายด้านโฉนดชุมชน ถ้าหากว่าชาวบ้านมีปัญหาฟ้องร้องเรื่องที่ดินต่างๆ
ก็มีกองทุนยุติธรรมช่วยดูแล”
นี่คือมาตรการทางนโยบายที่กลั่นมาแล้ว เป็นกฎหมาย 4ฉบับที่คนยากจนต้องการ ส่วนอื่นๆนั้นยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการที่ดินซึ่งกรมที่ดิน กรมป่าไม้ และกรมต่างๆเสนอและค้างอยู่ในท่อกระบวนการนิติบัญญัติ ยังมีอีก 6 ฉบับ น่าสนใจว่าเป็นคนละอันกับกฎหมาย 4ฉบับนี้
นั่นก็หมายความว่าเรื่องที่ดินมีกฎหมายอย่างน้อย 10 ฉบับแล้วที่จะกลาย เป็นภารกิจที่ต้องนำเข้าสู่ สนช. อยากจะพูดว่า...ควรให้ความสำคัญกับ กฎหมาย 4 ฉบับของภาคประชาชนก่อน ส่วนของราชการนั้นมองดูแล้วอาจจะ ไม่ค่อยเกี่ยวกับประชาชนเท่าไร ส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย...
“เอื้อให้ราชการมีอำนาจมากขึ้น คือ...เอาราชการเป็นตัวตั้ง”
เวทีภาคีพัฒนาประเทศไทยพิจารณาแล้วเห็นว่าชุดข้อเสนอ(ร่าง)พ.ร.บ. เพื่อคนจนทั้ง 4 ฉบับมีความเหมาะสมเพียงพอที่จะเป็นจุดตั้งต้นการปฏิรูประบบการจัดการที่ดินและทรัพยากรของประเทศ เพื่อแก้ความยากจน...ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเกษตรกรในชนบทได้
ปัญหาการถือครองที่ดินโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์เป็นเรื่องสำคัญ...ที่ดินเหล่านี้ถูกปล่อยทิ้งไว้ให้รกร้างว่างเปล่าซึ่งเกิดจากการซื้อขายที่ดินเพื่อเก็งกำไรและการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ หากนำมาใช้เพิ่มมูลค่าจากภาคเกษตรก็ช่วยเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
ข้อมูลการออกเอกสารสิทธิทั่วประเทศปี 2555 พบว่ามีการออกเอกสารสิทธิ 33,082,303 แปลง แบ่งเป็นโฉนดที่ดิน 28,478,046แปลง,น.ส.
3 ก. 3,391,523 แปลง, น.ส.3 1,076,223 แปลง, ใบจอง 139,511แปลง
หากจำแนกตามขนาดการถือครองจะเห็นว่า...ผู้ถือครองที่ดินน้อยกว่า 1 ไร่ มีสัดส่วนจำนวนมากถึง 50.17% และผู้ถือครองที่ดินระหว่าง 1–5 ไร่ มีสัดส่วน 21.9%
นั่นคือผู้ถือครองที่ดิน 27.07% เป็นผู้ที่มีที่ดินไม่เกิน 5 ไร่เท่านั้น ในขณะที่ผู้ถือครองที่ดินตั้งแต่ 50 ไร่ขึ้นไปมีสัดส่วนเพียง 1.33%
โดยสรุป...สัดส่วนการถือครองที่ดินของนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา กลุ่มที่มีที่ดินมากที่สุด 20% แรกถือครองที่ดินต่างจากกลุ่มที่มีที่ดินน้อยสุดถึง 600 กว่าเท่า...โดยผู้ที่ถือครองที่ดินสูงสุดมีที่ดินในครอบครองถึง 630,000 ไร่...หากนำสัดส่วนการถือครองที่ดินของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลมาหาค่าเฉลี่ยยังพบตัวเลขกลุ่มผู้ที่ถือครองมากสุด 10% ถือครองที่ดินถึง 80% ของที่ดินมีโฉนดทั้งหมด
ส่วนประชาชนกลุ่มที่เหลืออีก 90% กลับถือครองที่ดินเพียง 20% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินเป็นอย่างมาก
ถึงวันนี้ ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการจัดการที่ดินเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม จากหน่วยงานต่างๆโดยสรุปเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ จัดระบบการบริหารจัดการที่ดินใหม่แบบรวมศูนย์ ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับที่ดินไม่ให้มีความซ้ำซ้อน พัฒนาระบบข้อมูลที่ดินให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และให้มีกฎหมายยุติธรรม...เยียวยา
มาตรการปฏิรูปการใช้ที่ดินจะได้ผลเป็นรูปธรรมลดความเหลื่อมล้ำ ได้กี่มากน้อย...คนส่วนใหญ่ของประเทศต้องตั้งตารอ...ลุ้นอย่ากะพริบตา
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 16 ก.ย. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.