โดย : ดร.โสภณ พรโชคชัย
ตอนนี้คหบดีหรือแม้แต่คน "มีทองเท่าหนวดกุ้ง นอนสะดุ้งจนเรือนไหว" ต่างเครียดและเป็นห่วง
ว่าหากรัฐบาลออกกฎหมายภาษีที่ดินและภาษีมรดกออกมานั้น จะต้องเสียภาษีมากขึ้นหรือไม่ จะทำไงดี จะรีบโอนให้ลูกดีไหม เรามาทำความเข้าใจเรื่องนี้กันสักหน่อย
พอดีบ้านเรายังไม่มีภาษีนี้ ผมจึงขออนุญาตยกตัวอย่างเมืองนอกเมืองนาที่เขามีระบบภาษีนี้ จะได้เห็นได้ชัดเจนว่าภาษีนี้ดีต่อทุกฝ่าย ยิ่งให้ยิ่งได้ ช่วยพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาประชาธิปไตยและพัฒนาชาติได้อย่างไร
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ช่วยเพิ่มอุปทานที่ดินให้กับการพัฒนาที่ดินเพื่อให้ผู้ซื้อบ้านและนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์สามารถหาซื้อทรัพย์สินในราคาที่ไม่แพง และช่วยป้องกันไม่ให้เมืองบุกรุกสู่เขตชนบท ที่สำคัญทำให้มีเงินไปพัฒนาท้องถิ่นได้มากมาย ประเทศที่เจริญจึงมีสาธารณูปโภคที่ดีกว่าไทย ภาษีนี้เก็บมาเพื่อใช้พัฒนาท้องถิ่นโดยตรง และเมื่อท้องถิ่นได้รับการพัฒนา มูลค่าทรัพย์สินของเราก็จะยิ่งเพิ่มพูน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ยิ่งเก็บภาษีได้มากเท่าไหร่ ท้องถิ่นนั้นๆ ยิ่งเจริญ มูลค่าทรัพย์สินยิ่งเพิ่มพูน
แต่บางท่านเกรงว่าในกรณีประเทศไทย ท้องถิ่นอาจจะโกงกิน อย่างไรก็ตามในปัจจุบันท้องถิ่นได้เงินจากรัฐบาลกลาง 90% จึงไม่รู้สึกเป็นเจ้าของ จึงมักมีการโกงกินกันทั่วไป แต่ถ้ารายได้หลักมาจากการจัดเก็บในท้องถิ่น แรกๆ นักการเมืองท้องถิ่นก็ยังอาจจะโกง แต่ประชาชนในท้องถิ่นก็จะเริ่มตรวจสอบมากขึ้นเพราะภาษีเป็นภาษีจากตนเองโดยตรง การโกงก็จะลดลง ระบอบประชาธิปไตยก็จะเข้มแข็ง รัฐบาลจึงควรให้ประชาชนได้เรียนรู้
ที่เวียดนามที่ผมเคยไปเป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลังที่ฮานอย ปรากฏว่าผมได้นำเสนอการจัดทำ Roadmap การพัฒนาวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินเพื่อการซื้อขาย การจัดเก็บภาษีและอื่นๆ ปรากฏว่าไม่กี่ปีหลังจากที่ผมเสร็จภารกิจที่นั่น เดี๋ยวนี้เขาก็มีระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแล้ว โดยเริ่มต้นเก็บไม่มากนัก แต่เก็บอย่างทั่วถึงและจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อให้ค่อยๆ เข้ารูปเข้ารอย แต่ประเด็นสำคัญก็คือ เขาเริ่มต้นอย่างรวดเร็วและจริงจัง
ที่กัมพูชา ประเทศที่เจริญน้อยกว่าเราซึ่งผมก็เคยไปช่วยงานในโครงการของกระทรวงการคลังที่กรมพนมเปญ ก็ริเริ่มใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแล้ว โดยการนี้กัมพูชามี แนวคิดที่จะมีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2550 แต่ไม่ผ่านสภาในปีดังกล่าว จนเมื่อช่วงสิ้นปี 2552 หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2551 แล้ว สภาผู้แทนราษฎรกัมพูชาก็ ผ่านพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ออกมา โดยนำมาใช้จริงในปี 2554
กรณีนี้ชี้ให้เห็นว่ากัมพูชามี ความรวดเร็วในการกำหนดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกว่าไทยเป็นอย่างยิ่ง ในกรณีของไทย มีการนำเสนอไว้ตั้งแต่ยุค “ประชาธิปไตยเต็มใบ” พ.ศ. 2518 มีการยกร่างใหม่และแก้ไขเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันและยังไม่อาจทราบแน่ชัดว่าจะ มีพระราชบัญญัติฉบับนี้เมื่อใด ข้อสังวรในที่นี้ก็คือ ระบบราชการของไทยอาจมีประสิทธิภาพต่ำกว่ากัมพูชา และคงมีผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองและมีที่ดินมากมายที่ไม่ต้องการให้มีภาษี ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะเข้าใจผิดว่าภาษีนี้จะเป็นภาระ ทั้งที่ภาษีนี้จะช่วยพัฒนาท้องถิ่น ทำให้ทรัพย์สินที่ผู้ครอบครองไว้กลับมีมูลค่าเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าเดิม
ทีนี้มาดูกรณีประเทศมหาอำนาจที่เจริญกว่าเราบ้าง ในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในจังหวัดลอสแองเจลิส โดยปกติจัดเก็บในอัตรา 1% ของราคาประเมินทางราชการ (Assessed Value) ซึ่งมักจะต่ำกว่าราคาซื้อขายจริงในท้องตลาด ปกติในจังหวัดต่างๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา จะมีการประเมินค่าทรัพย์สินใหม่ทุกแปลงทุกปี แต่ที่จังหวัดนี้ แม้มีการปรับเปลี่ยนราคาใหม่ทุกปี ณ วันที่ 1 มกราคม แต่จะปรับให้เป็นราคาตลาดเฉพาะแปลงที่มีการซื้อขายใหม่ หรือแปลงที่มีการก่อสร้างอาคารใหม่ หรือแปลงจัดสรร เป็นต้น สำหรับอาคารเดิม จะไม่มีการประเมินใหม่ แต่มีราคาฐานเดิมที่เคยประเมินไว้ และให้ปรับราคาเพิ่มไม่เกิน 2% ในแต่ละปี
ลอสแองเจลิสยังได้พัฒนาระบบแผนที่สารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS : Geographical Information System) มากว่า 18 ปีแล้ว โดยมีการปรับปรุงระบบแผนที่ต่างๆ ให้ทันสมัยอยู่เสมอ โดยบางส่วนก็ซื้อข้อมูล และระบบปฏิบัติการของภาคเอกชนมาสนับสนุน แต่ระบบแผนที่นี้เป็นระบบแผนที่ที่ใช้ร่วมกันทุกหน่วยงานในจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ การไฟฟ้า การประปา หน่วยป้องกันอัคคีภัย ฯลฯ โดยนำข้อมูลมาใช้ร่วมกันและแบ่งกันไป การที่หน่วยงานต่างๆ ร่วมมือกันนั้น จึงทำให้ต้นทุนลดลงและแผนที่ได้รับการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ แตกต่างจากกรณีประเทศไทยที่แต่ละหน่วยงานต่างตั้งงบประมาณ GIS เอง และไม่ประสานงานกัน ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณทางด้านนี้เป็นอันมาก
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมากก็คือ ตำแหน่ง หัวหน้าสำนักงานประเมินค่าทรัพย์สินเพื่อการเสียภาษี (Assessor) ประจำจังหวัด (County) ลอสแองเจลิส เป็นตำแหน่งทางการเมืองจากการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น จะสังเกตได้ว่าผู้บริหารจังหวัดหลายๆ ฝ่ายมาจากการเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม กรณีนี้แตกต่างจากประเทศไทยที่มีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น เช่น ตำแหน่งนายกเทศมนตรี หรือนายก อบต. ส่วนตำแหน่งสูงสุดในฝ่ายต่างๆ เป็นของข้าราชการประจำ ดังนั้นผู้แทนของประชาชนจึงไม่สามารถควบคุมองคาพยพขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นได้จริง
ส่วนในในนครแคลการี (Calgary) แคนาดา ทรัพย์สินในนครแห่งนี้ประกอบด้วยอสังหาริมทรัพย์ 413,000 รายการและสังหาริมทรัพย์ 27,000 รายการ รวมมูลค่าตลาดของทรัพย์สินเป็นเงิน 242 พันล้านดอลลาร์ (8 ล้านล้านบาท) ภาษีที่เก็บได้เป็นเงินประมาณ 1.3-1.4 พันล้านดอลลาร์ (45,000 ล้านบาท) หรือเป็นการเสียภาษีเฉลี่ยประมาณ 0.56% โดยในรายละเอียดนั้นที่อยู่อาศัยเสียภาษีปีละประมาณ 0.4% ของมูลค่าตลาด ส่วนอสังหาริมทรัพย์อื่น เสียภาษีในอัตรา 1.1%
ตามกฎหมายในแคนาดาและประเทศพัฒนาแล้วจำนวนมาก มีหลักการสำคัญสองประการคือ ประการแรก ทางราชการมีอำนาจที่จะเรียกรับข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินของประชาชน และประชาชนมีหน้าที่ที่จะเปิดเผยข้อมูลนั้นเพื่อการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน และประการที่สอง ผู้ครอบครองทรัพย์สินจะเสียสิทธิในการอุทธรณ์หากไม่เปิดเผยข้อมูลเพียงพอในกรณีที่การประเมินนั้นทำให้ผู้ครอบครองต้องเสียภาษีมากขึ้น
ในทุกวันนี้ ดูเหมือนประเทศไทยเกลียดและกลัวการเสียภาษีเหลือเกิน จึงมีการหลบเลี่ยงภาษีกันเสมอ ไม่เฉพาะแต่ประชาชนทั่วไป แม้แต่เจ้าที่ดินรายใหญ่ก็ไม่ยอมเสียภาษี จึงเห็นได้ว่าภาษีทรัพย์สินไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย ความจริงเราควรมีระบบภาษีทรัพย์สิน ซึ่งก็คือ แต่ละปี ทุกคนมีหน้าที่เสียภาษี เช่นประมาณ 1% ของมูลค่าทรัพย์สินจริงๆ ไม่ใช่ราคาประเมินของทางราชการที่มักจะต่ำกว่าความเป็นจริง เช่น ถ้าเรามีบ้านราคา 1 ล้านบาท เราต้องเสียภาษี 10,000 บาทให้กับท้องที่ของเรา เช่น เทศบาล อบต. ท้องที่ก็จะนำเงินจำนวนนี้ไปพัฒนาถนนหนทาง หรือสถานศึกษาเพื่อให้ท้องถิ่นเจริญ
หากภาษีที่เก็บได้ใช้ในท้องถิ่นเป็นหลัก เงินที่จะส่งไปส่วนกลางก็จะน้อยลง โอกาสที่นักการเมืองและข้าราชการประจำส่วนกลางจะโกงจึงมีน้อยลง การที่ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการเสียภาษีและบริหารภาษีของตนเอง คนในท้องถิ่นที่เสียภาษีก็คงจะจับตาดูการใช้จ่ายเงินของพวกตนมากขึ้น โอกาสการโกงก็จะน้อยลง คนดีๆ ในท้องถิ่นก็จะสนใจมาทำงานการเมืองเพื่อท้องถิ่นมากขึ้น
ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริงก็จะเริ่มต้นด้วยการทำให้การเมืองท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง โดยประชาชนมีส่วนร่วม รูปแบบที่เป็นรูปธรรมของการมีส่วนร่วมที่แท้ก็คือการมีส่วนร่วมในการเสียภาษีเพื่อมาพัฒนาท้องถิ่นนั่นเอง ไม่ใช่การร่วมในเชิงรูปแบบหรือการร่วมแบบพูดเพ้อเจ้อเรื่อยเปื่อยในลักษณะ “สามวาสองศอก” ขององค์กรท้องถิ่นหรือองค์กรภาคประชาชนต่างๆ ในประเทศไทย
ผมขออนุญาตประชาสัมพันธ์ส่งท้ายสักนิดครับ ขณะนี้มีการจัดประกวดสุนทรพจน์ (2557) ชิงโล่รางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างช่วยพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาประชาธิปไตย พัฒนาชาติ” ผมเป็นประธานจัดประกวดเองครับ ดูรายละเอียดที่http://goo.gl/RU6x0f นะครับ
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 5 ก.ย. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.