‘ชุมชนบ่อแก้ว’ ภาพแทนของหลายชุมชนซึ่งกำลังถูกหน่วยงานรัฐปิดป้ายไล่รื้อ ทางเลือกของพวกเขาคือจำนนต่อชะตาชีวิต หรือจะยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิการทำกิน เพราะหากถูกไล่อีกครา พวกเขาอาจไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่ทำกินอีกต่อไป
ตะวันทำหน้าที่แผ่ความร้อนมาตลอดวัน ยันใกล้จะสิ้นแสงทิ้งตัวลงลับขอบโลก มองออกไปไกลจนสุดเนินลาดเชิงเขา บรรยากาศโชยมาเตะต้องกายอย่างเย็นเฉียบ ความรู้สึกดูเหมือนจะถูกผสมไปด้วยความเงียบ อ้างว้าง ช่างเป็นช่วงที่มองดูเยือกเย็น หม่นหมอง เหมือนดั่งชีวิตคนเรา... ที่เขาว่าคำนวณอย่างไรก็ไม่เท่าฟ้าลิขิต เรื่องนี้จริงแท้แค่ไหนไม่ประจักษ์
หากจะกล่าวเฉพาะบางมุมในชีวิตของคนที่นี่ ด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์ของพวกเขา เปรียบเสมือนเป็นเชื้อไฟที่โหมพัด ให้ชีวิตของพวกเขาไม่เคยมอดดับไปตามอุปสรรค ไม่เคยละทิ้งผืนดินทำกินที่ถูกความไม่เป็นธรรมฉวยโอกาสประกาศเขตป่าฯ แล้วขับไล่พวกเขาออกไป พวกเขาจึงทั้งรักและหวงแหนที่จะอยู่ และต่อสู้ให้ที่ทำกินของพวกเขากลับคืนมาสู่อ้อมกอดอันอบอุ่น เหมือนดังที่เคยเป็น
“จะให้ทำอย่างไรได้ ยายไม่มีที่ดินทำกิน เขามาไล่เราออกไป บอกว่าเป็นพื้นที่ป่า มาขู่ว่าหากไม่ออกจะถูกจับดำเนินคดีติดคุกนะ เขาบอกพวกยายแบบนั้น ยายขบคิดมาตลอดว่า บุกรุกที่ไหน ทำกินในพื้นที่มาตั้งแต่เด็กยันเป็นสาวมีครอบครัว แต่กลับมาถูกขับไล่ ต้องมาช่วยกันประคองหอบลูกน้อยไปหารับจ้าง บางครั้งก่อนนอนในค่ำบางคืน น้ำตาไหลพรากออกมาโดยไม่รู้ตัว แม้ในขณะที่มือยังจับจอบก้มตัวลงผสมปูน คราบน้ำตายังเกาะปนกับเหงื่อไคลบนสองแก้ม ด้วยความอาวรณ์ถึงผืนดินที่เคยทำกิน” นางตัน เดชบำรุง แม่เฒ่าร่างเล็กทรวดทรงบอบบาง วัย 69 ปี บอกเล่า
ริ้วรอยบนใบหน้าเหี่ยวย่นไปตามวัย เปล่งเสียงแหบห้าวฟังดูมีพลัง เล่าถึงความย้อนถึงความหลังที่มักจู่โจมหวนกลับมาให้ระลึกถึงผืนดินทำกินที่ถูกยึดไปกว่า 50 ไร่ ขณะที่ยังสาวๆ เรี่ยวแรงยังพอมี ยังพอไหวที่จะเร่ร่อนไปหารับจ้าง แม้สมัยนั้นความสะดวกในการเดินทางยังลำบาก แต่จำทนต้องสู้ดิ้นรนหิ้วลูกน้อยไปเป็นแรงงานก่อสร้างถึงกรุงเทพฯ
ก่อนนั้นทุกวันโลกของพวกเขามีแต่ความสุข ครั้งเมื่อชีวิตยังคงผูกพันอาศัยหากินอยู่กับป่า อยู่ร่วมกับต้นไม้ อาศัยเก็บผลหมากรากไม้ หาเก็บเห็ด หน่อไม้ เด็ดยอดกระถินตำลึงริมรั้ว เคยเผื่อแผ่ เกื้อกุลกัน แต่กว่า 40 ปีมาแล้ว เป็นเรื่องน่าเศร้าใจ หลังจากที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ยึดที่ของพวกเขาไปปลูกป่ายูคาลิปตัส เมื่อปี 2521 ส่งผลให้หลายครอบครัวต้องถูกอพยพออกจากพื้นที่ทำกิน บ้างไปอาศัยอยู่กับญาติ บางครอบครัวแตกสลาย กลายเป็นแรงงานรับจ้าง เพราะไม่มีที่ดินทำกิน
ท่ามกลางปัญหา อุปสรรค ที่พวกเขาไม่ได้เป็นผู้สร้างขึ้นมา มันคือความไม่ชอบธรรม ที่เบียดขับให้พวกเขากลายเป็นคนตกขอบของแผ่นดิน
เสียงเรียกร้องสิทธิของผู้ได้รับผลกระทบกว่า 200 คอบครัว ต้องดิ้นรนต่อสู้ กระทั่งทวงคืนผืนทำดินเดิม กลับคืนมาได้ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 และจัดตั้งหมู่บ้าน ชื่อ “ชุมชนบ่อแก้ว”
กว่า 5 ปี แล้วชาวบ้านที่ได้ร่วมกันพลิกฟื้นทั้งชีวิตและผืนดิน มาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งในวันครบรอบ 3 ปีบ่อแก้ว ได้ร่วมกันประกาศเป็นหมู่บ้านเกษตรกรรมอินทรีย์ ทำการผลิตปลูกผักต่างๆ ทั้ง กล้วย ตะไคร้ งา ถั่วแดง ข้าวโพด และอีกหลายชนิด เพื่อให้คนในชุมชนสามารถพึ่งตนเองในระดับครอบครัวได้ โดยไม่ต้องพึ่งแหล่งอาหารจากภายนอก มีบางรายที่นำไปขายเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัว มาจนถึงวันนี้
“เดี๋ยวนี้มันเกิดความเศร้าใจขึ้นมาอีกครั้ง ป่าไม้มันเข้ามาติดป้ายประกาศไล่ให้พวกเรารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งพืชผลทั้งหมดออกไปภายใน 30 วัน อีกแล้ว” แม่เฒ่าบอกเล่าสถานการณ์
ภายใต้ชายคาแคบๆ อ้อมแขนของยายยังคงโอบกอดหลานน้อยไว้แน่น ราวกับว่าเป็นสมบัติอันมีค่าชิ้นสุดท้ายเทียบเท่ากับผืนดิน สายตาของยายทอดมองขึ้นไปบนฟ้าที่มืดครึ้มอย่างเศร้าสร้อย ไม่กี่อึดอัดใจ ยายหวนนึกถึงชีวิตลูก และหลานๆ อันเป็นสุดที่รัก เป็นลมหายใจ เป็นแม้กระทั่งชีวิตของแก...
น้ำเสียแม่เฒ่าขาดห้วงไปชั่วขณะ ก่อนเอ่ยความในที่อัดอั้นตันใจ น้ำตาเอ่อไหลลงมาตามแก้มที่เหี่ยวย่น ขณะที่ชี้นิ้วนำสายตาให้เหลียวมองไปตามภาพของแผ่นป้ายปิดประกาศขนาดใหญ่ที่ตั้งตระหง่านอยู่ทางเข้าชุมชนบ้านบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ
ในวันที่โลกดูเหมือนแคบลงไปด้วยความสะดวกในเส้นทาง ตามมาด้วยระบบการสื่อสาร ทั้งเทคโนโลยีต่างๆ ได้แทรกเข้าไปในทุกมุมของโลก ทว่าความทุกข์ยากของชาวบ้าน กลับถูกปิดกั้นจากข้อกฎหมาย จากภาระอันหนักหน่วงที่รัฐบาลหลายยุคสั่งสมมาให้ชาวบ้านแบกรับ จากวันเป็นเดือน จากเดือนเคลื่อนไปเป็นปี
อย่างไรก็ตาม ระหว่างทางในการร่วมกันแก้ไขปัญหา ผืนแผนดินที่ตั้งชุมชนบ่อแก้วได้ผ่านการพิสูจน์สิทธิ์จากหลายหน่วยงาน จนเป็นที่ยอมรับและมีมติร่วมกันมาหลายครั้งว่า สวนป่าคอนสารทับที่ทำกินชาวบ้าน
แต่สถานการณ์ครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้น เสมือนยิ่งเป็นการกดทับความทุกข์ยากของพวกเขาให้หนักหน่วงขึ้นกว่าเดิม ด้วยว่าทางเจ้าหน้าที่ได้เข้าทำการปิดประกาศ โดยเนื้อหาระบุว่า อาศัยอำนาจคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า และคำสั่งของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ที่ 64/2557 ลงวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 25557 เรื่องการเข้าไปบุกรุกยึดถือครอบครองในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม บริเวณป่าคอนสาร ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เป็นการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14 ฐานยึดถือครอบครองทำประโยชน์อยู่หรืออาศัยในที่ดิน ก่นสร้าง แผ้วถาง...
นายนิด ต่อทุน วัย 68 ปี ประธานโฉนดชุมชนบ้านบ่อแก้ว เล่าว่า เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2557 ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังติดป้ายไปทั่วหมู่บ้าน ชาวบ้านได้เข้าไปสอบถามถึงที่มา ซึ่งเจ้าหน้าที่ป่าไม้อ้างแต่ว่าได้รับคำสั่งจากจังหวัดชัยภูมิ
“ความทุกข์ยากที่รัฐบาลโยนมาให้นั้นก็สุดจะหนักหน่วงอยู่แล้ว ผืนดินทำกินถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม และให้อุตสาหกรรมป่าไม้ได้รับสัมปทานนำต้นยูคาฯ มาปลูกทับพื้นที่ ขับไล่พวกเราออกไป พร้อมใช้กระบวนการทางยุติธรรมมาดำเนินคดี แจ้งข้อกล่าวหาบุกรุก แผ้วผางฯ วันนี้กลับมาอ้างคำสั่งไล่รื้อ ทั้งที่พื้นที่ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบมาแล้ว” เสียงห้าวๆ ก้องกังวาน จากชายใบหน้าคมสัน ริ้วรอยบนใบหน้าแสดงถึงประสบการณ์ชีวิตอันโชกโชนเอ่ย
ผู้เฒ่าที่ฟ้าลิขิตให้ผ่านปัญหาชีวิตมานับครั้งไม่ถ้วน นับจากสูญเสียที่ทำกินไปกว่า 30 ไร่ ได้นำการต่อสู้เรียกร้องเคียงบ่าไหล่กับพี่น้องที่ทุกข์ยากมาโดยตลอด กระทั่งได้นำขบวนคนทุกข์ยึดพื้นที่กลับคืนมาได้ นอกจากมติที่ได้รับจากทุกคะแนนเสียงที่มอบหน้าที่ให้เป็นประธานโฉนดชุมชนบ้านบ่อแก้วแล้ว สิ่งที่ติดตัวเขามากระทั่งอยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลฎีกา คือ ตำแหน่ง ‘จำเลยที่ 1’ จากจำนวนทั้งหมด 31 คน ในคดีบุกรุกป่า
ประธานโฉนดชุมชน เล่าว่า ทุกช่วงของเวลาที่ผ่านมานั้น พวกเขาได้สรุปบทเรียนเกี่ยวกับการปลูกสร้างสวนป่าของหน่วยงานรัฐว่าไม่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของเกษตรกรอย่างพวกเขา เมื่อกลับเข้ามาทวงดินทำกินคืนมาแล้ว จึงได้ร่วมกันพลิกฟื้นผืนดินเพื่อให้เกิดความยั่งยืน พร้อมทั้งได้พัฒนาที่อยู่อาศัย ควบคู่ไปกับพัฒนาชีวิต และจัดการบริหารที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน
“แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้น พี่น้องของเราย่อมหวาดผวา กลัว รู้สึกไม่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิตไปบ้าง แต่เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ เพราะทุกวันนี้ในหลายชุมชนทั่วประเทศกำลังถูกหน่วยงานของรัฐปิดป้ายไล่รื้อ รวมทั้งพื้นที่ชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย สมาชิกของพวกเราที่เหลือไม่กี่วันจะครบกำหนดตามป้ายคำสั่งที่ป่าไม้นำมาปิดประกาศแล้ว ฉะนั้นทางเลือกของพวกเราคือ จะยืนหยัด ต่อสู้ เพื่อให้ข้ามผ่านไปบนทางที่ถูกต้อง เพื่อความเป็นธรรม เพราะที่ผ่านมาพี่น้องเราถูกปิดกั้นสิทธิในการถือครองที่ดินทำกินมาโดยตลอด หากถูกไล่ออกไปอีกครานี้ พวกเราจะไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่ทำกินกันอีก” นายนิดกล่าว
จากป่ายูคาฯ มาจนถึงผลผลิตที่พวกเขาร่วมกันพลิกฟื้นกลับคืนมาบริการจัดการในรูปแบบการสร้างชุมชนเกษตรกรรมอินทรีย์ ถือเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้สังคม ดังนั้นพวกเขาจะรักษาผืนดินไว้ให้มีความมั่งคง และยั่งยืน สืบทอดไปสู่ลูกหลาน นี่คือคำมั่นของเกษตรกรนักสู้
แสงแรกที่จับขอบฟ้า จนค่อยๆกระจ่างขึ้น เสมือนเป็นสัญญาณแห่งการเริ่มต้นของทุกชีวิตที่นี่ ให้ตื่นขึ้นมาขยับจังหวะชีวิตในทุกๆ วัน โดยเฉพาะนับจากที่มีแผ่นป้ายปิดประกาศขับไล่ พวกเขาต้องเดินทางไปยื่นหนังสือต่อหน่วยงานต่างๆ ทั้งต่อนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิฯ รวมทั้ง พล.ต.มารุต ลิ้มเจริญ ผู้อำนวยการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดชัยภูมิ (ผบ.กกล.รส.จว.ชัยภูมิ) เพื่อแจ้งข้อเท็จจริงแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ถือเป็นการเดินทางไปขอความเห็นใจจากผู้มีอำนาจเพื่อคืนความสุขให้ประชาชน คืนสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดิน โดยหนังสือที่ยื่นมีข้อเรียกร้อง คือ 1.ให้ยกเลิกประกาศจังหวัดชัยภูมิ เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้และบุกรุกพื้นที่ป่าจังหวัดชัยภูมิ และ 2.ให้พิจารณามาตรการและแนวทางการคุ้มครองสิทธิในที่ดินและทรัพย์สินของชาวบ้านที่เดือดร้อน เพื่อให้เกิดความปกติสุขในการดำเนินชีวิต จนกว่าจะมีกระบวนการในการแก้ไขปัญหาในทางนโยบายต่อไป
อากาศเริ่มเย็นเฉียบ แรงลมยังคงพัดมาไม่แปรเปลี่ยน การเดินทางเพื่อร้องเรียนของผู้ได้รับผลกระทบ ดำเนินการผ่านความเหนื่อยล้ามาตลอดวัน ยันตะวันเริ่มคล้อยลงใกล้ทาบกับทิวเขาเบื้องหน้าอันยาวไกล ฝูงนกโผบินกลับคืนสู่รัง ไม่ต่างกับชีวิตของคนทำมาหากิน แสงจากเตาไฟในชุมชนบ่อแก้วกำลังถูกติดขึ้นมา บ่งบอกถึงเวลาที่กำลังเข้าสู่การประกอบอาหาร ทีละเตา สองเตา ตามทุกครัวเรือน
แม้ยามราตรีนี้ แสงไฟจากคนบ่อแก้ว จะค่อยๆ ดับไป ทีละดวง สองดวง จนความมืดดำเข้ามาปกคลุมในชุมชนอย่างเต็มที่ แต่ชีวิตของคนที่นี่ไม่เคยมอดดับไปตามอุปสรรค พวกเขามีหัวใจที่เสมือนเป็นเชื้อไฟที่โหมพัด ที่ต้องลุกขึ้นมากำหนดชีวิตตนเอง และก้าวข้ามไปสู่ความถูกต้อง เป็นธรรม
เพื่อรักษาผืนดินทำกินไว้ให้คงอยู่บนอ้อมกอดอันอบอุ่นของพวกเขา และเพื่อลูกหลานสืบไปจนตลอดชีวิต...
ที่มา : ประชาไท วันที่ 1 ก.ย. 2557