ชาวสวนลำไยกำลังเดือดร้อน ราคาลำไยตกต่ำความจริงก็เป็นที่รับรู้กันว่า เกือบทุกปีชาวสวนผลไม้จะประสบปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำในฤดูที่ผลผลิตออกมามาก หน้าลำไย ลำไยก็ถูกกดราคา หน้าเงาะ เงาะก็ถูกกดราคา ส่วนพืชไร่ก็มีปัญหาทำนองเดียวกัน ไม่เว้นแม้แต่ ข้าว
ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ เกษตรกรเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือนั้น เกิดขึ้นเป็นประจำมาครึ่งศตวรรษแล้ว บางปีกลุ่มเกษตรกรที่เพาะปลูกพืชบางชนิดก็ต้องชุมนุมเรียกร้อง ล้อมศาลากลางบ้าง ปิดถนนบ้าง รัฐบาลทุกรัฐบาลก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปคล้าย ๆ กัน คือหาเงินมาใช้จ่ายช่วยเหลือเกษตรกรบรรเทาความเดือดร้อนได้ส่วนหนึ่ง เปรียบเทียบให้เห็นชัดก็คือ เกษตรกรป่วยไข้ไปหาหมอคือ รัฐ หมอก็จ่ายยาแก้ไข้แก้ปวดให้หนึ่งชุด แต่เกษตรกรป่วยด้วยโรคอะไร ต้องรักษาอย่างไร หมอกลับไม่รู้
ถ้าประเทศไทยยังมีรัฐบาลอย่างที่เคยเป็นมาห้าสิบปี คนไทยก็จะต้องรับหน้าที่จ่ายเงินช่วยเหลือเรื่องราคาพืชผลตกต่ำไปตลอดปีหนึ่ง ๆ ประเทศต้องหาเงินมาจ่ายช่วยเหลือเรื่องราคาพืชผลตกต่ำกันกี่มากเพียงใด รัฐ ไทยแก้ปัญหาราคาพืชผลเกษตรกรรมตกต่ำ มากี่ล้านล้านบาทแล้ว มีอะไรดีขึ้นบ้าง
การแก้ปัญหาลำไยล้นตลาด รัฐพยายามทำมาหลายสิบปี ทำมาหลายวิธี เรื่องที่กำลังพูดกัน เช่น การจัดหาเครื่องอบลำไยให้ชาวบ้าน รัฐก็เคยทำมาแล้ว แต่มันไม่ได้แก้ที่รากเห้าปัญหาฝ่ายนักเศรษฐศาสตร์มักจะมองว่า เหตุผลต้นตอที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ก็คือมีผลผลิตออกมามากเกินความต้องการของตลาดเฉพาะหน้า ทั้งข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน พืชไร่ พืชผัก และไม้ผล ไม้ยืนต้น สำหรับไม้ผลยังแบ่งออกเป็นชนิดต่างๆ ทั้ง เงาะ มังคุด ทุเรียน ลองกอง และลำไย เป็นต้น ผลไม้เหล่านี้มักจะมีช่วงการเก็บเกี่ยวพร้อม ๆ กัน ส่งผลให้ราคาตกต่ำเป็นประจำ
นักวิชาการได้เสนอหลายวิธีในการแก้ไขปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ โดยมุ่งเน้นการตลาดหรือด้านความต้องการของผู้บริโภค (อุปสงค์) และการวางแผนด้านการผลิต (อุปทาน) การวางแผนด้านการผลิตนั้น รัฐคิดจะกำหนดพื้นที่เพาะปลูก เรียกกันอย่างเคยชินว่า โซนนิ่ง แต่มันทำสำเร็จยาก เพราะบ้านเมืองนี้เป็นแดนเสรี บังคับกันไม่ได้ การจำกัดพื้นที่เพาะปลูกไม่อาจจะบังคับ ห้ามปรามกันได้ หากจะทำก็ต้องมีมาตรการจูงใจ ทดแทนการบังคับ เช่น รัฐบาลจะต้องมีวิธีการยกระดับราคาพืชผลให้ได้ตามที่ประกาศไว้ โดยมีผลเฉพาะพื้นที่ส่งเสริมเท่านั้น นอกพื้นที่ดังกล่าวทางราชการจะไม่รับผิดชอบเรื่องราคา
แต่ก็อาจจะมีพืชผลชนิดดังกล่าวจากพื้นที่ต่าง ๆ ไหลเข้ามาสู่เขตส่งเสริมมากมาย ดังนั้นนอกจากจะกำหนดพื้นที่ปลูกแล้ว ยังต้องกำหนดเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกอีกด้วยโดยรัฐบาลจะต้องอาศัยองค์กรเกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกรในพื้นที่นั้น ๆ รับผิดชอบ แต่ปัญหาหนักก็คือยังมีองค์กรเกษตรและ สถาบันเกษตรกรที่เข้มแข็งน้อย เกษตรกรรายย่อยขาดพลัง ไม่ค่อยมีการรวมตัวกัน
ปัญหารากเหง้าเรื่องราคาพืชผลการเกษตรนั้นเกิดจากด้านลบของเศรษฐกิจทุนนิยม ระบบ ทุนนิยม นับตั้งแต่ ยุคสะสมทุน มาจนถึง ยุคโลกาภิวัตน์ ล้วนแล้วแต่ขูดรีดภาคเกษตรกรรม ดูดกินน้ำเลี้ยงจากภาคเกษตรกรรม แต่มิได้ยกระดับฐานะเศรษฐกิจของเกษตรกรเท่าที่ควร นี่คือจุดบอดอันร้ายแรงของระบบทุนนิยมโลก
เศรษฐกิจทุนนิยมไทยเป็นส่วนหนึ่งในระบบโลก การแก้ปัญหาสินค้าเกษตรกรรมราคาต่ำจึงยากมาก เพราะตลาดสินค้าเกษตรกรรมถูกกำหนด ถูกครอบงำโดยอภิทุนข้ามชาติ จะหวังให้องค์กรเกษตรและสถาบันเกษตรกรภาคประชาชนในไทยแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรกรรม คงไม่สำเร็จ ถ้าไม่มีการปฏิรูป ทุนนิยมโลก โดยหันมาให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรมอย่างจริงจังมากขึ้น จัดสรรแบ่งปันรายได้ให้ถึงมือผู้ผลิตคือเกษตรกรอย่างเป็นธรรมมากขึ้น ข้อเสนอนี้แม้จะยากเย็นแสนเข็ญ แต่เราก็ขอบันทึกไว้เป็นประวัตศาสตร์
ที่มา : สยามรัฐ วันที่ 14 ส.ค. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.