ศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน เป็นอีกหนึ่งผลงานของกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ประสบความสำเร็จด้วยดีมาโดยตลอด เห็นได้จากผลสัมฤทธิ์ที่ได้ทำให้ชุมชนสามารถผลิตเมล็ดข้าว กระจายเมล็ดพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพไปสู่เกษตรกร และชุมชนได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังนำไปจำหน่ายในชุมชนใกล้เคียง หรือจังหวัดอื่นๆ ได้แล้วในขณะนี้ โครงการดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จให้ชาวนาไทยได้ยกระดับคุณภาพชีวิตได้อย่างยั่งยืน
ปัจจุบันมีศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนกระจายอยู่ทั่วประเทศ ครอบคลุม 66 จังหวัด สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวได้เป็นอย่างดี ระบบการดูแลนาข้าวทำได้ง่ายขึ้น หลังมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทันสมัยมาช่วยในกระบวนการผลิต ปัจจุบันได้มีการอบรมเกษตรกรผ่านโรงเรียนชาวนา เพิ่มความรู้ในการผลิตให้สูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งปราชญ์ชาวนา ให้ทำหน้าที่เป็นแม่ทัพในการรับข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐ และนำไปถ่ายทอดสู่ชาวนารายอื่นๆ ในพื้นที่ต่อไป
นายชาญพิทยา ฉิมพาลี อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ปัจจุบันได้กำหนดให้ชุมชนมีการรวมกลุ่มชาวนา 20 ราย ให้ทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว 200 ไร่ เป็นจุดสาธิตเทคโนโลยีผลิตข้าวที่ถูกต้องและเหมาะสม ตั้งเป้าให้ผลิตเมล็ดให้ได้ 50 ตัน/ปี ซึ่งขณะนี้มีศูนย์ทั้งหมด 2,000 ศูนย์ทั่วประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลางอีสาน และเหนือ แผนงานก่อนทำแปลงข้าวจะต้องเตรียมสถานที่ตั้งและอุปกรณ์ผลิตเมล็ดข้าวให้เป็นพื้นที่กว้างพอสมควรใช้เป็นแหล่งรวบรวมและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งจะให้ชุมชน เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการในศูนย์ฯ
โดยขั้นตอนแรก กรมการข้าวจะเข้าไปคัดเลือกพื้นที่และเกษตรกรก่อน ซึ่งมีวิธีการคัดเลือกดังนี้ 1.พิจารณาลงในพื้นที่ตำบล อันเป็นที่ตั้งของศูนย์ฯ นำร่องเป็นที่แรก เพื่อจะให้สนับสนุนกิจกรรมศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล 2. จะต้องเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวที่สำคัญมีพื้นที่แปลงใหญ่ 3,000-4,000 ไร่ ติดต่อกัน ถ้าอยู่ในบริเวณขอบเขตตำบลเดียวกันจะช่วยให้เป้าหมายชัดเจนขึ้น 3. ความเหมาะสมทางด้านพื้นที่ เช่น จะต้องมีสภาพดิน และน้ำดีพอสมควร ไม่เป็นพื้นที่แห้งแล้ง หรือประสบอุทกภัยบ่อย 4. ชุมชนและเกษตรกรต้องมีความเข้มแข็งพร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการ เข้าใจหลักการ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย ของกรมการข้าว อย่างชัดเจน และ 5. ตัวแทนชุมชนหรือเกษตรกร จะต้องมีการสรรหาพื้นที่ที่จะใช้เป็นจุดตั้งศูนย์ฯ ให้มีบริเวณกว้างขวางพอที่จะเป็นการรวบรวมผลผลิตได้ สามารถเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ ตลอดจนเป็นสถานที่จัดประชุมบริหารจัดการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวให้กับเกษตรกรเป้าหมายได้
นอกจากนี้ จะมีการสาธิตให้เกษตรกรผลิตข้าวให้ได้ตามมาตรฐานเกษตรดีที่เหมาะสม หรือ GAP เพื่อให้เพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น คุณภาพดีขึ้นเป็นที่ต้องการของตลาด ที่สำคัญเน้นให้ลดต้นทุนการผลิต ใช้เครื่องจักรมาทดแทนแรงงานคน แก้ไขการขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรกรรม ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้มีการผลิตปุ๋ยใช้เองในชุมชน
นายธนันท์ หาญเกริกไกร นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กรมการข้าว กล่าวว่า กำลังเดินหน้าส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวแบบประณีต ด้วยการใช้เครื่องดำนา แทนการใช้แรงงานคนหว่าน ข้อดีของการใช้เครื่องจักร คือ ต้นข้าวที่ออกมาจะเป็นระเบียบเรียบร้อยง่ายต่อการดูแลรักษา ที่สำคัญสูญเสียเมล็ดพันธุ์น้อยกว่า สำหรับการจัดทำแปลงเมล็ดพันธุ์ข้าวมีแนวทางปฏิบัติ คือ ควรตรวจสอบแหล่งน้ำก่อนว่ามีสารปนเปื้อนจากโรงงานอุตสาหกรรมหรือไม่ จัดทำข้อมูลพื้นที่เพาะปลูก สายพันธุ์ข้าว ย้อนหลัง 3 ปี รวมถึงแนะนำให้เกษตรกรใช้สารเคมีที่มีอนุญาตที่ถูกต้องขึ้นทะเบียนตามกรมวิชาการเกษตร การฉีดพ่นจะต้องมิดชิดไม่กระทบกับชุมชน และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการกำจัดของเสียและวัสดุเหลือใช้ เช่น เศษพืช เศษฟาง ต้องฝังหรือแยกทิ้งเท่านั้น ให้เกษตรกรมีการจัดระเบียบการเก็บอุปกรณ์ เพื่อความปลอดภัย ง่ายต่อการใช้งาน หมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ตลอดเวลา มีการบันทึกปัจจัยการผลิตอยู่เสมอ เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง
นายธนันท์ กล่าวอีกว่า ช่องทางการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว จะนำไปจำหน่ายในจังหวัดอื่นๆ แลกเปลี่ยนสายพันธุ์ของแต่ละจังหวัด รวมถึงในอนาคตจะส่งไปยังต่างประเทศ จากการสำรวจพบว่าเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มาจากศูนย์จะขายได้ราคาดีกว่าทั่วไป 20% หรือมากกว่า 8,000 บาท/เกวียน ทำให้ชาวนามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสามารถดูแลตัวเองได้แบบยั่งยืน ในอนาคตหากมีการส่งออกเมล็ดพันธุ์ไปต่างมากขึ้น จะต้องมีการทำห้องแล็บกลางของประเทศ เพื่อส่งเมล็ดพันธุ์จากทั่วประเทศมาตรวจได้ง่ายก่อนการส่งออก
ทั้งหมดนี่คือ ผลงานชิ้นโบแดง นับว่าเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จที่ศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนทำได้อย่างภาคภูมิใจ สามารถยกระดับคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวไทยและชาวนาให้สูงขึ้น ต้องจับตาดูว่าในอนาคตวงการข้าวไทยจะไปได้ไกลแค่ไหน
ที่มา : แนวหน้า วันที่ 8 ส.ค. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.