เรื่องโดย กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ภาพถ่ายโดย ราชพล เหรียญศิริ
สนทนากับ 2 หัวเรือใหญ่ของวิสาหกิจชุมชนบ้านโฉนดชุมชน คลองโยง-ลานตากฟ้า กลุ่มชาวนาในพื้นที่นครปฐมที่กลับไปสู่การปลูกข้าวแบบลดต้นทุน ไม่ใช้สารเคมี และต้องการพึ่งพาตนเองเป็นหลักมากกว่าโครงการรับจำนำข้าวที่พังครืนไม่เป็นท่า ถึงพวกเขาจะล้มลุกคลุกคลานบ้างประสานักธุรกิจมือใหม่ แต่ก็เอาตัวรอดมาได้ พยายามขยายเครือข่ายอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่ปฏิเสธความเป็นจริงในโลกทุนนิยม ไม่โรแมนติกเกินไป แต่ยั่งยืน
กล่าวได้ว่านโยบายจำนำข้าวของอดีตรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เป็นนโยบายที่เรียกคะแนนได้เป็นกอบเป็นกำ สร้างวิวาทะทางสังคมอย่างเข้มข้น และถึงตอนนี้ก็เป็นนโยบายที่สร้างความเสียหายทั้งในด้านเม็ดเงิน ตลาด และคุณภาพของข้าวไทยอย่างรุนแรง การยกระดับราคาข้าวและช่วยให้ชาวนาลืมตาอ้าปากเป็นความมุ่งหวังของรัฐบาลที่อายุสั้นเกินคาด
TCIJ เดินทางสู่จังหวัดนครปฐมเพื่อสนทนากับ นันทา ประสารวงษ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน บ้านโฉนดชุมชน คลองโยง-ลานตากฟ้า และ ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ใช้ชีวิตอีกภาคหนึ่งเป็นชาวนาและริเริ่มเชิญชวนชาวนาคนอื่นให้หันมาปลูกข้าวแบบไม่ใช่สารเคมี ภายหลังน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 จนทำให้ชื่อ ‘ข้าวคลองโยง’ ค่อยๆ ติดหูคนกินข้าวอย่างช้าๆ
ข้าวคลองโยงล้มลุกคลุกคลานไปตามประสาวิสาหกิจชุมชนที่พยายามสร้างทางเลือกในการผลิตข้าว พวกเขาปฏิเสธการเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว ขณะเดียวกันก็ไม่ยอมรับภาพความโรแมนติกที่ใครที่เลือกทำเกษตรทางเลือกมักถูกแปะป้ายและแดกดัน พวกเขารู้ตั้งแต่โครงการรับจำนำข้าวเริ่มต้นใหม่ๆ ว่าสักวันมันจะต้องพังครืน พร้อมกับยอมรับความเป็นจริงของชีวิตในโลกทุนนิยมว่าไม่โรแมนติกเหมือนที่ปราชญ์ชาวบ้านหลายคนพยายามจะกล่อม
แต่พวกเขาพยายามสร้างทางเลือกที่ยั่งยืนและลดการพึ่งพาผู้อื่นโดยเหยียบยืนอยู่บนความจริง ในแง่ของความสำเร็จ พวกเขากำลังพิสูจน์ให้เห็น...
TCIJ: วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
นันทา: เราเริ่มทำขึ้นมาเอง หลังน้ำท่วมปี 2554 อาจารย์ประภาสกลับมารณรงค์ในพื้นที่ มันเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะน้ำท่วมมันก็พาตะกอนดินมาด้วย นาหรือสวนในละแวกนี้เขาทำโดยที่ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี อาจารย์ก็เลยหันมารณรงค์ให้เป็นจุดเริ่มต้นย้อนกลับไปตอนยี่สิบสามสิบปีที่แล้วที่เราทำนาโดยไม่ใช้สารเคมี
นันทา ประสารวงษ์
ตอนแรกอาจารย์เริ่มจากที่ห้าไร่ ต่อมาก็มีน้องของอาจารย์เพิ่มอีกห้าเป็นสิบไร่ จากต้นปี 2555 ถึงตอนนี้เรามีพื้นที่ประมาณ 70 ไร่ อยู่ภายใต้โฉนดชุมชน ซึ่งมีเนื้อที่ 1,800 ไร่ มีเกษตรกร 2,000 กว่าราย แต่การบริหารจัดการที่จะให้เขาเข้าสู่ระบบปลอดสารหรือระบบอินทรีย์ค่อนข้างยุ่งยาก เราจึงคุยกันว่าจะใช้วิธีซอยย่อยลงไปให้เกิดกลุ่มเล็กๆ ดีหรือไม่ โดยดูว่าเกษตรกรส่วนไหนพร้อมก็ทำ ก็เกิดกลุ่มหลายกลุ่มที่เขาพยายามก่อร่างสร้างตัว เพราะการทำอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเกษตรกรรวมตัวกันขึ้นมาเอง ความยั่งยืนมันเกิด แต่ถ้าเกิดจากการที่รัฐบาลหรือหน่วยงานมาทำ ความยั่งยืนมันไปไม่ได้ เพราะถ้ารัฐถอยกลับไป มันก็จบ กลายเป็นอนุเสาวรีย์
ผลผลิตเราตอนนี้มีข้าวอยู่ 3 สายพันธุ์ ข้าวหอมปทุมหรือปทุมเทพ ข้าวหอมนิล และข้าวหอมนครชัยศรี ซึ่งเพิ่งเริ่มทำเมื่อปลายปีที่แล้วเป็นฤดูกาลแรก เป็นข้าวพื้นเมืองของทุ่งนี้ หายจากทุ่งนี้ไปประมาณสี่สิบกว่าปี
TCIJ: ที่ว่าแบ่งซอยเป็นกลุ่มเล็กๆ แล้วตอนนี้มีอยู่กี่กลุ่ม
นันทา: มันเริ่มต้นยาก พื้นที่โฉนดชุมชนมีอีกฝั่งหนึ่งคือในฝั่งพุทธมณฑล เขาจะเริ่มต้นจากแปลงผัก แต่ว่าเรื่องนามันมาติดนโยบายจำนำข้าว ข้าวมันมีมูลค่า ชาวนาก็ไม่อยากมาทำข้าวอินทรีย์ ข้าวปลอดสาร เราเข้าใจได้ว่าทำนาตรงนี้ ต้นทุนน้อย แต่ค่อนข้างยุ่งยาก ขั้นตอนมันเยอะ ถ้าเป็นนาเคมี เขาก็โทรสั่งแล้ว จ้างคนหว่านข้าว หว่านปุ๋ย จ้างคนฉีดยา จ้างคนเกี่ยว เขาอยู่ได้เพราะมีนโยบายจำนำข้าว
แต่ปัจจุบันนี้นโยบายจำนำข้าวเริ่มไม่มั่นคง มีปัญหามากขึ้น เกษตรกรก็หันมามองกลุ่มเราเหมือนกัน อยากจะเข้ากลุ่มเรา แต่ทีนี้ศักยภาพกลุ่มเรา เราเริ่มต้นจากศูนย์ ไม่มีเงินทุนจากใคร เราลงทุนเอง ผลิตเอง ขายเอง การที่เราจะรับเกษตรกรรายใด เราต้องคุยกันก่อนว่าเราไม่มีเงินทุน เพราะเวลาเกษตรกรเขาเอาข้าวไปขายโรงสีหรือจำนำกับรัฐบาล เขาก็จะได้เงินก้อนกลับมา แต่ถ้ามาขายกับเรา เราไม่มีเงินก้อนให้เขาแน่ๆ ในกลุ่มเราคุยกันว่า เราจะขายไป จ่ายไป แต่ก็ไม่ใช่เบี้ยหัวแตก เราจะรวบรวมเงินให้ได้ก้อนหนึ่งถึงค่อยให้ ตรงนี้เกษตรกรในกลุ่มต้องเข้าใจวิธีบริหารจัดการของเรา กลุ่มไม่ได้อะไร โรงสีไม่ได้อะไร เราให้เกษตรกรทั้งหมด กลุ่มมีแค่ค่าบริหารจัดการ ค่าไฟ ค่าบรรจุภัณฑ์เท่านั้น ส่วนค่าแรง เรายังถือว่าขาดทุน เพราะเกษตรกรเจ้าของที่จะเป็นคนรับภาระ เราทำกันเอง ใช้วิธีเอาแรงในกลุ่ม ช่วยกันแพ็ค
TCIJ: หมายความว่าเกษตรกรในพื้นที่โฉนดชุมชนนี้มีวิสาหกิจชุมชนฯ กลุ่มเดียวที่ปลูกข้าวปลอดสาร
นันทา: ใช่ค่ะ
ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง
TCIJ: แสดงว่าความมั่นคงด้านการถือครองที่ดินที่เกิดจากโฉนดชุมชนก็ไม่ได้สามารถดึงชาวนาเข้าสู่วิถีเกษตรแบบนี้ได้?
ผศ.ดร.ประภาส: ก็ต้องเข้าใจว่า เรื่องแบบนี้ต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนระบบการผลิต หนึ่งคือในแง่ของตลาดที่รองรับเราก็ยังทำได้ไม่มาก ยังทดลองทำกันไป ล้มลุกคลุกคลาน แรกๆ มีแค่สามบ้านด้วยซ้ำ ช่วงหลังขยายขึ้นนิดหนึ่ง หลังๆ มีนโยบายจำนำข้าวที่ราคาแทบจะไม่ต่างกัน เรื่องแบบนี้จึงต้องทำงานด้านความคิดด้วย เพราะต้องเข้าใจว่าถ้ามันไม่ตอบโจทย์เรื่องรายได้ที่ดีกว่า ถ้าไม่เปลี่ยนจากความคิด ชาวนาก็ต้องเลือกปลูกที่มันง่ายและได้รายได้เท่าเดิมหรือดีกว่า แทนที่จะมาปลูกให้มันยุ่งยากซับซ้อน
ผมกำลังจะบอกว่าในเชิงพัฒนาการ ว่าไปแล้วตอนนี้โตกว่าช่วงต้นที่เราเริ่มกันแค่สองสามครอบครัวด้วยซ้ำ แต่เรื่องแบบนี้ต้องค่อยๆ เรียนรู้กันไป ส่วนคนที่เข้ามาก่อนอาจจะคุยกันในเรื่องของความคิดก่อนว่า ในระยะยาว แบบนี้น่าจะมั่นคงยั่งยืนกว่า แต่มันต้องมีคนกล้าลองก่อน ซึ่งมันก็เป็นแบบนี้เสมอ
TCIJ: แล้วเกษตรกรทำอะไรกับพื้นที่โฉนดชุมชนที่เหลืออีกตั้งเกือบ 1,700 ไร่
นันทา: เขาก็ยังทำเคมีอยู่ ปลูกเหมือนเดิม คือเดิมชาวบ้านเขาก็อยู่ของเขา โฉนดชุมชนแค่เป็นตัวครอบมา การทำกินก็ยังอยู่เหมือนเดิม ดีตรงที่ว่ามีระเบียบว่าห้ามสร้างสิ่งปลูกสร้าง ให้ทำแค่เกษตรอย่างเดียว ห้ามซื้อ ห้ามขาย เราถือว่าเป็นข้อดี ก่อนมีโฉนดชุมชนเราก็ยังทำเกษตร พอมีโฉนดชุมชนเราก็ยังทำเกษตรเหมือนเดิม เราไม่ได้เปลี่ยนวิถี เพียงแต่เราเริ่มรณรงค์ที่จะทำเกษตรอินทรีย์
อาจารย์ถึงเริ่มรณรงค์ว่า ข้าวที่ปลูกทั่วไป ต้นทุนประมาณไร่ละ 5,000 บาท แต่ถ้าทำข้าวปลอดสาร ข้าวอินทรีย์ ต้นทุนอยู่ที่ไร่ประมาณ 2,000 บาท ตอนนี้ราคาตลาดข้าวตันละประมาณ 6,000 บาท ถ้าเขาปลูกข้าวเคมีส่วนต่างอยู่ที่ประมาณ 1,000 บาท ยังไม่รวมค่าแรงตัวเขาเอง เขาแทบจะไม่ได้อะไร แต่ถ้าเขาทำนาแบบลดต้นทุน ต่อให้ขายในราคาท้องตลาด เขาก็ยังอยู่ได้ แต่เพราะนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาล ความหอมหวนของเงิน ถ้าเขาทำนาเคมีต้นทุน 5,000 บาท แต่ขายได้ตันละ 13,000 บาท มันมีส่วนต่างเยอะ ใครจะมาทำกับเรา
TCIJ: แล้วทำไมกลุ่มคุณไม่เข้าโครงการ ต้นทุนแค่ 2,000 บาทอย่างที่ว่า พวกคุณจะได้ส่วนต่างมากกว่าอีก
นันทา: เพราะความยุ่งยากด้านเอกสาร มันน่ารำคาญ จะต้องไปประชาคม ไปทำนั่นทำนี่ เยอะน่ะ อย่างพี่ชายก็รำคาญ พอมาทำตรงนี้เขาก็ได้หลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเรื่องสุขภาพ ความเป็นพี่น้อง ความเป็นกลุ่ม แล้วเราได้ข้าวกิน ปลูกเองกินเอง ไม่ต้องซื้อข้าวกิน ปลอดภัย
TCIJ: เอาเข้าจริงๆ แล้ว ชาวนาอย่างพวกคุณคิดอย่างไรกับนโยบายจำนำข้าว
นันทา: ชาวนาก็ชอบ แฮปปี้ ได้เงินมาก ส่วนคนในกลุ่มเราถอนตัวออกมาตั้งแต่ปี 2555 ตอนนั้นเขาคิดอย่างไร เขาคิดว่ามันไม่ยั่งยืน เราดูข่าว นันก็จะพูดว่ามันไม่ยืดหรอก ลองดูเถอะ รัฐบาลกู้จนเป็นเงินพอกหางหมูแล้ว เดี๋ยวเราก็ตาย เพราะบางรายที่เข้ามาทำกับเราตอนหลังยังไม่ได้เงินล็อตล่าสุดนะ บอกอย่าไปทำกับเขาเลย ถ้ายังไม่รีบกลับมาหาเรา ล็อตสุดท้ายคุณจะไม่ได้ตังค์ แล้วก็จริงๆ เป็นแสน ถ้าคนที่พอมีก็ไม่เป็นไร แต่คนที่ต้องกู้จาก ธกส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์) เขาก็ต้องไปกู้นอกระบบเพื่อเอามาโปะ ธกส.
TCIJ: อยากฟังจากปากชาวนาว่า นโยบายจำนำข้าวช่วยชาวนาได้แค่ไหน
นันทา: มันช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่รัฐบาลไม่ควรช่วยยาว ชาวนาที่ยากจนเขาได้ประโยชน์ แต่ที่เป็นเศรษฐีชาวนามันมี มันก็มีว่าบางบ้านมีที่ดินร้อยไร่ แต่รัฐบาลจำกัดให้แค่ 20 ไร่ พวกนี้ก็ฉลาด ไปซอยให้ลูกๆ ทำไม่ทำ ไม่รู้ แต่เอาชื่อมาลง อย่างนี้รัฐบาลเสียมั้ย มันไม่ได้ช่วยเหลือเขาจริง เงินช่วยเหลือคนจน ไม่ถึงคนจน แต่ไปถึงคนรวย คือมันได้แค่เศษเสี้ยว เหมือนคนจนเข้าไม่ถึงนโยบาย
ผศ.ดร.ประภาส: ถ้ามองจากด้านชาวนายังไงมันก็ดีแน่ๆ ตอนที่เริ่มจำนำใหม่ ข้าวในตลาดราคาหมื่นเดียว แต่รัฐบาลซื้อหมื่นห้า ถามว่ามันดีกว่ามั้ยในแง่ที่ชาวนาได้มากกว่าราคาตลาดห้าพันบาท ดีแน่ๆ ยิ่งตอนนี้รัฐบาลซื้อหมื่นห้า แต่ข้าวในตลาดเหลือแค่ห้าพันหกพัน แพงกว่าในตลาดหมื่นบาท มันโคตรดี มันจึงเป็นเรื่องปกติ
แต่ทีนี้มันก็ต้องประเมินในเชิงภาพใหญ่ด้วยว่า การอุดหนุนชาวนาแบบนี้สมควรทำหรือไม่ การหนุนเสริมชาวนาคงต้องทำ แต่วิธีไหนที่จะทำให้มันยั่งยืน มีประสิทธิภาพ ประหยัดต้นทุน อย่างไหนจะดีกว่ากัน มันต้องคิดถึงภาพรวม เมื่อมองแบบนี้ก็ต้องดูว่านโยบายจำนำตอบสนองในเรื่องรายได้มากขึ้นก็จริง แต่มันล้มเหลวไม่เป็นท่า เสียเงินจำนวนมหาศาล คำนวณง่ายๆ ว่าเอาเงินมาแจกชาวนาดีกว่า
และมันยังกระทบกับคุณภาพข้าวแน่ๆ การรับจำนำจะเป็นข้าวอะไรก็ได้ เขาเอาหอมนครชัยศรีกับพิษณุโลก 2 ไปจำนำ ซึ่งอายุการปลูกต่างกันครึ่งหนึ่ง ถามว่าใครจะเลือกปลูกข้าวอายุยาวและได้ผลผลิตน้อยกว่า แต่ข้าวพวกนี้เป็นข้าวคุณภาพต่ำ ขายก็สู้ในตลาดโลกไม่ได้ มันก็ไม่มีทางไปส่งเสริมคนปลูกข้าวดีๆ
TCIJ: ควรออกแบบนโยบายอย่างไรให้สามารถยกระดับราคาข้าวและมีความยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน
ผศ.ดร.ประภาส: ผมว่ามันอาจจะไม่มีนโยบายเดียวที่ใช้ได้หมด บางทีอาจจะต้องดูภาพรวมทั้งหมด สังคมไทยตอนนี้ปลูกข้าวได้ประมาณ 30 ล้านตันข้าวเปลือก เราบริโภคประมาณ 10 ล้านตัน อีก 20 ล้านตันเราส่งออก นั่นหมายความว่า 10 ล้านตันถ้าเราจะปลูกกินกันเอง เป็นข้าวคุณภาพดีสำหรับตลาดภายใน แต่ที่เหลืออีก 20 ล้านตันเราก็ต้องมีนโยบายที่จะส่งเสริมการส่งออก ตรงนี้ต้องจำแนก
ในส่วนของการบริโภคเอง ที่เรากำลังทำนี่คือการทำตลาดภายใน ทั้งในชุมชนและตลาดที่เชื่อมต่อกับคนในเมือง ตรงนี้มันพัฒนาได้ ข้าวพันธุ์ดีต่างๆ พาคนมาชิม เหมือนหาที่กินไวน์ เพราะข้าวมันมีรสที่ต่างกันไปตามภูมินิเวศต่างๆ อย่างนี้เราควรส่งเสริม อีกด้านหนึ่งก็ต้องสนับสนุนการลดต้นทุน การเชื่อมกับตลาด การแปรรูป แทนที่จะยกระดับราคาอย่างเดียว นั่นคิดแต่เรื่องส่งออก โดยเหมารวมว่าเป็นข้าวอะไรก็ได้จะได้ส่งออกไปข้างนอก แบบนี้มันเจ๊งไม่เป็นท่า ผมคิดว่ามันต้องมีนโยบายแบบนี้
ในส่วนที่ส่งออก เราก็ต้องยอมรับสภาพด้วย ไม่ว่าเราจะจัดโซนนิ่งกันอย่างไร แต่ข้าวอายุสั้นเราก็ต้องทำ ข้าวที่ส่งออกและขายได้ดีก็ต้องทำ ที่สำคัญตอนนี้เราก็รู้ดีว่าการผลิตโดยใช้สารเคมี ต้นทุนมันสูง ยิ่งถ้าจะปรับมาสู่การผลิตข้าวคุณภาพดี มันต้องปรับวิธีคิดเรื่องการผลิตด้วย การสนับสนุนเรื่องการรับจำนำอาจต้องปรับเป็นการรับจำนำข้าวอินทรีย์ทุกเม็ด แบบนี้ผมคิดว่าจะเป็นการหนุนเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิต
TCIJ: ตอนนี้วิสาหกิจชุมชนข้าวคลองโยงมีสมาชิกกี่คน
นันทา: มีอยู่ 25 ครอบครัว แต่เข้ามาผลิตประมาณ 10 ครัวเรือน ที่เหลือเวลามีกิจกรรมเขาก็เข้ามาทำงาน แต่ว่าเรื่องข้าวเขายังไม่เข้ามาทำ คือถ้าเกษตรกรต้องการเอาข้าวมาขายโรงสีและผลิตข้าวกับเรา เราก็ต้องพิจารณาคนที่ทำงานกับเราก่อน เราเข้าใจได้ถึงภาวะเศรษฐกิจต่างๆ เขาก็ยังต้องไปอิงตรงนั้นเพื่อความอยู่รอดของครอบครัว แต่ถ้าถึงวันที่เขาต้องการเข้ามาร่วมกับเรา เราก็ต้องพิจารณาคนที่ทำงานกับเราก่อน
ตอนนี้ คนนอกกลุ่มมีเข้ามาเยอะหลังจากที่นโยบายจำนำข้าวมีปัญหา มีหลายคนเข้ามา แต่เราก็บอกว่าเรายินดีถ้าจะมาจ้างเราสี แต่ตลาดเราก็ยังไม่มีนะ เพราะเราเคยประสบปัญหาว่าเราให้ชาวนาผลิต แต่เราไม่มีตลาด เราเคยแป็กอยู่ช่วงหนึ่งนานเหมือนกัน ข้าวเราออกไม่ได้ ตอนนี้เราจึงต้องหาตลาดก่อน ถ้ามีตลาดเราถึงจะผลิต เพราะข้าวเรากำหนดได้ ถ้าเราได้ตลาดแล้ว เราคุยกับตลาดว่าถ้ารอได้ อีกสี่เดือนเรามีผลผลิตออก แต่เราจะไม่บอกให้ผู้ผลิตผลิตก่อน แล้วค่อยไปหาตลาด เพราะเราประสบความล้มเหลวมาแล้ว
ถึงตอนนี้ถือว่าเรามาเร็วพอสมควร ช่วงหลังเรามีหน่วยงานราชการเข้ามาช่วยเรื่องตลาดบ้าง เช่น ให้เราไปเสนอกับทางโรงงานต่างๆ ว่าโรงงานไหนที่มีข้าวเป็นสวัสดิการให้พนักงาน ตอนนี้เราก็ได้รับการตอบรับมาหนึ่งโรงงาน ตกเดือนประมาณละ 600 กิโลกรัม กับรีสอร์ตแห่งหนึ่งที่สามพรามก็รับซื้อข้าวสารเราให้พนักงานของเขาเดือนละ 1 ตัน พอมีออร์เดอร์แน่นอนแบบนี้ เราก็สามารถมาจัดการผลิตได้ว่า ตลาดต้องการพันธุ์ข้าวอะไร เดือนละเท่าไหร่
TCIJ: การหาสมาชิกเพิ่มทำอย่างไร
นันทา: เราใช้วิธีบอกต่อปากต่อปาก บางทีเรามีกิจกรรมก็ชวนข้างนอกเข้ามาร่วม ไม่ได้ชวนแต่กลุ่มเรานะ เราเชิญพี่น้องที่สนใจจากนอกกลุ่มด้วย อยากทำนาแบบลดต้นทุน อยากมีความรู้ตรงนี้มั้ย เข้ามา ชาวนาที่เข้ามาอาจจะยังไม่อยากทำนาแบบเรา แต่เขาก็อยากทำนาแบบลดต้นทุน เท่านี้ก็โอเคแล้วนะ อย่างน้อยข้าวตรงนี้ที่จะเอาไปทำแป้ง ทำเส้นก๋วยเตี๋ยวก็ยังดีกว่าข้าวเคมีแหละ และเราก็ไม่ได้จำกัดแค่เป็นโฉนดชุมชน ใครก็ได้ที่สนใจจะทำกับเราจริงๆ แต่เราต้องเห็นความจริงใจของคุณก่อน เพราะว่าตอนนี้คนที่เข้ามาหาเราต้องการเพียงแค่มูลค่า แต่คุณทำอินทรีย์จริงหรือเปล่า เราไม่เห็น เพราะที่มันกว้าง เราไม่มียามไปเฝ้าดูว่าวันนี้คุณจะใส่สารเคมีหรือเปล่า มันขึ้นอยู่กับความซื่อสัตย์
TCIJ: มีแนวคิดจะขยับขยายเป็นสหกรณ์หรือบริษัทบ้างหรือเปล่า
นันทา: คิดไว้ในอนาคต แต่ตอนนี้เรายังไม่มองถึงขั้นนั้น เพราะชาวนาชาวสวนอะไรที่ดูเป็นระบบระเบียบแบบนี้ เขาจะกลัว อะไรที่เข้ามาทำด้วยใจ เขาจะมาโดยที่ไม่เกร็ง ตอนนี้เราต้องทำในรูปวิสาหกิจชุมชนก่อน ถ้าเป็นสหกรณ์มันจะเข้มขึ้น มันจะสร้างความยุ่งยาก แล้วเกษตรกรจะเริ่มเบื่อ เราจึงต้องทำแบบนี้ให้เขาเริ่มชินก่อน ถ้าเริ่มชินแล้ว อยู่ตัวแล้ว เราก็จะยังไม่ใช้ระบบสหกรณ์ แต่จะเป็นการลงหุ้นในรูปวิสาหกิจแบบนี้ก่อน
ตอนนี้เราพยายามทำแล้ว คือเอากำไรไปซื้อปุ๋ยชีวภาพบางตัวที่เรายังทำไม่ได้ให้เกษตรกรใช้ในราคาถูก อีกส่วนคือหน่วยงานราชการสมทบปุ๋ยชีวภาพมาให้ เราจะไม่แจก แต่จะขายให้เกษตรกรในราคาต่ำกว่าท้องตลาด ซึ่งเราก็จะมีเงินเพิ่มขึ้นมาอีกก้อนที่ต้องบริหารจัดการ เราคุยกันว่าถ้ามีหน่วยงานอะไรเอาของมาให้ เราจะใช้ระบบนี้แล้วนะ เราจะไม่แจกฟรี เพราะของฟรีมันไม่ต่อยอด เราคิดว่าของที่เขาให้มามันเป็นทุน เราจะทำยังไงให้มันต่อยอด
ส่วนการขยายกลุ่มออกไป คิดว่าถ้าไม่มีนโยบายรับจำนำข้าว ตรงนี้จะเป็นไปได้ มันต้องไม่มีนะ ถ้ามีปุ๊บ เขาก็ไม่ทำ ทำทำไม เหนื่อยก็เหนื่อย สู้อยู่บ้านเป็นชาวนามือถือ นอนอยู่บ้านก็ได้ส่วนต่างห้าหกพัน มาทำแบบพวกเราเขาว่าพวกเราบ้า เราก็บอกว่าทำแบบนี้ ถ้าไม่บ้า ทำไม่ได้ (หัวเราะ) ถ้าเกิดไม่มีนโยบายจำนำข้าว บอกได้เลยว่ามีโอกาส เพราะชาวนาต้องคิดช่วยเหลือตัวเองด้วยการทำนาแบบลดต้นทุน เขาจะบ้ากว่าเรา ถ้าเขาทำนาเคมี ต้นทุนห้าพัน ขายหกพัน เขาต้องคิดแล้วว่าจะทำอย่างไร ปัจจุบันนี้หลายบ้านก็ไถนาเอง จากปกติที่จ้างเขาไถ การที่ไถเองเป็นการปรับพื้นดินได้ดีที่สุด เขาก็ไม่เผาฟาง หันมาหมัก ไม่ต้องรีบทำให้ตรงกับวงรอบ
TCIJ: มีแนวคิดที่จะไปให้ถึงผู้บริโภครายย่อยในเมืองหรือเปล่า
นันทา: ตอนนี้ก็มีอยู่ กลุ่มพี่ๆ ที่มีมิตรจิตมิตรใจอย่างกลุ่มผูกปิ่นโตข้าวก็ลงมาให้ความช่วยเหลือเรา เหมือนกับว่าตัดคนกลางออกไปเลย ให้ผู้บริโภคมาเจอกับเราโดยตรง แล้วเราก็ส่งให้ ถ้าส่งไกล ผู้บริโภคก็ยอมรับได้เรื่องค่าส่ง เหมือนเขามีน้ำใจที่จะสนับสนุนเรา แล้วกลุ่มผูกปิ่นโตข้าวก็เชิญชวนว่า ถ้าผู้บริโภครายใดต้องการมาดูพื้นที่ มาจับคู่กับแปลงเลย ผู้บริโภคให้เงินเกษตรกรมาก่อนเลยล่วงหน้าหนึ่งปี แล้วให้เกษตรกรทยอยส่งข้าวให้ กำลังดำเนินการอยู่ มีหลายรายที่สั่งมา
TCIJ: ปีหนึ่งผลิตข้าวได้มากน้อยแค่ไหน
นันทา: 70 ไร่ตีง่ายๆ ว่าไร่ละ 500 กิโลฯ ข้าวเปลือก
TCIJ: ได้ราคาตันละเท่าไหร่
นันทา: ตอนนี้ข้าวหอมนิลจะรับซื้อเราที่ตันละประมาณ 50,000-55,000 บาท ส่วนข้าวหอมนครชัยศรีที่เราขายอยู่เป็นข้าวสารที่เราคุยราคากับผู้ประกอบการคือตันละ 120,000 บาท
TCIJ: ราคาสูงมาก…
นันทา: ดีเลย เราพยายามเก็บบันทึกต้นทุน เพราะในอนาคตเราอยากรู้ว่าต้นทุน-กำไรมันเท่าไหร่ มีอยู่แปลงหนึ่งเป็นแปลงเล็ก เป็นข้าวหอมนิล 3 ไร่ ได้ไม่ถึงตัน แต่ว่ามูลค่าได้มากกว่าพวกที่ทำนาเคมีเป็นสิบไร่
TCIJ: แต่ตอนนี้ยังเป็นแค่ข้าวปลอดสาร ยังไม่ไปถึงระดับข้าวอินทรีย์
นันทา: คำว่าอินทรีย์เรายังไม่อยากคุย อย่างนาของอาจารย์ไม่ใช้สารเคมีเลย ถามว่ามันคือข้าวอินทรีย์มั้ย ก็เรียกได้ แต่ในหลักของ มกท. (สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์) มันเรียกไม่ได้ เพราะพื้นที่ใกล้เคียงยังเป็นนาเคมีอยู่ แล้วน้ำก็ยังใช้ร่วมกันอยู่ (ผศ.ดร.ประภาศพูดแทรกขึ้นว่า-มันต้องขังน้ำต่างหากอีก ผมไม่ทำหรอก ทำได้แค่นี้) มันเป็นเกณฑ์มาตรฐาน
เราก็บอกกับผู้บริโภคตรงๆ ว่าเราทำนาระดับไหน อย่างพวกปราชญ์ชาวบ้านที่เขาทำได้ แต่เราก็ไม่รู้ว่าปราชญ์เขากินอะไร แต่พวกเรายังต้องกิน มีครอบครัว มีลูกที่ยังต้องเรียนหนังสือ แต่พวกปราชญ์เขามีรายได้จากมูลนิธิหรือจากอะไร พวกเราไม่มีตรงนั้น พวกเราต้องทำแบบที่พวกเราอยู่ได้ ถ้าพวกเราทำตามปราชญ์ก็คงมีแปลงอาจารย์แปลงเดียวเพราะอาจารย์ประภาสมีเงินเดือน
TCIJ: อะไรคืองานที่ยากที่สุดในการขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชนฯ ให้อยู่รอด
นันทา: ตลาด การผลิตพวกเราเปลี่ยนนิดเดียว เกษตรกรให้เขาทำอะไร เขาทำได้หมด เรื่องเทคนิคเก่งนักวิชาการกรมการข้าวอีก บอกมาเถอะ ทำได้หมด แต่ถามว่าพวกเราผลิตเสร็จแล้วไปกอง จะให้เราหิ้วข้าวไปนำเสนอ ตายสนิท จะให้เราบอกว่าข้าวเราดียังไง ก็ดีน่ะ กินแล้วก็อิ่ม แล้วมันดียังไง แต่คนกรุงเทพต้องการว่ามันต้านอนุมูลอิสระมั้ย มันมีสารเอนโทไซยานินมั้ย เราจะไปรู้เหรอ บางทีมีลูกค้าโทรมาถามเรา อืม เขาอยากรู้ขนาดนั้นเลยเหรอ การตลาดจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายที่สุด เรื่องคุณภาพข้าวจะให้ทำขนาดไหนเราทำได้หมด แต่การตลาดเราไปไม่ได้ ถ้าเราไม่มีคนช่วย
TCIJ: ผ่านมาแค่สองปีกว่าๆ คงบอกไม่ได้ว่าระยะยาวจะประสบความสำเร็จมากแค่ไหน แต่ก็ดูจะดำเนินไปได้ด้วยดี เลยอยากถามว่า แนวคิดแบบที่พวกคุณทำ หลายที่ก็พยายามทำ แต่ไปไม่รอด คุณคิดว่าเป็นเพราะอะไร
นันทา: ไม่รอดเพราะเรื่องการตลาด เราไปหลายๆ ที่แล้ว คือหน่วยงานราชการไปรณรงค์ หลายๆ ที่ที่เข้าไปเกิดจากหน่วยงานราชการหรือแม้กระทั่งปราชญ์อะไรก็แล้วแต่ไปรณรงค์เขาไง เอาข้าวไปให้ เอาปุ๋ยชีวภาพไปให้ พอพวกนี้ถอนตัวออกมา ชาวบ้านทำปุ๋ยเองเป็นมั้ย ชาวบ้านรู้มั้ยว่าพอเกิดหนอนจะใช้สารชีวพันธุ์อะไรมาทดแทน ตรงนี้ชาวบ้านไปไม่รอด แล้วพอจะให้ชาวบ้านหามาเอง ก็ยุ่งยาก
อย่างในกลุ่มตอนนี้ นันต้องเป็นตัวกลางหาผลิตภัณฑ์พวกนี้มาให้ใช้ เราใช้เงินกองกลางจากการขายข้าวจัดหา เวลาใครเกิดปัญหาเรื่องนา บอก เอาไปฉีดดู เราก็จะมาแชร์กันว่าตัวนี้ฉีดแล้วอยู่ มันต้องมีคนที่บริหารจัดการตรงกลางสักหนึ่งคน หรือถ้าสังเกตกลุ่มที่ไปได้จะเป็นแบบบ้านเดียวทำคนเดียว ถ้าเป็นกลุ่มรวมกันจะไปไม่ค่อยรอด ถ้าไม่มีใครเป็นคนบริหารจัดการให้สักคนหนึ่ง
TCIJ: พูดกันว่า แนวโน้มอนาคต เกษตรกรรายย่อยจะลดลง ขนาดที่ดินจะเล็กลง แต่จะกลายเป็นอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ คุณคิดว่าการอยู่ของวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็กจะอยู่รอดได้อย่างไร
นันทา: คือรุ่นๆ พวกเรา เราการันตีได้นะ แต่พอถึงรุ่นลูกๆ พวกเรา เราก็ไม่รู้ว่าลูกเราจะขายที่หรือเปล่า ที่ที่อยู่ในโฉนดชุมชนไม่มีปัญหา แต่บางพื้นที่ที่ไม่อยู่ แต่ยังไงๆๆ โฉนดชุมชนก็เป็นแค่ระเบียบ ไม่ใช่ตัวกฎหมาย
ผศ.ดร.ประภาส: เกษตรรายย่อยต้องลดลงแน่ พื้นที่ก็จะลดลงเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรที่เพิ่มขึ้น ผมไม่มีข้อมูลในภาพใหญ่นะ แต่ก็ยังคิดว่าถ้าเราลองดูเกษตรกรรายย่อยปัจจุบัน เขาก็ยังสามารถยืนอยู่ได้จากการผลิตบนที่ดินขนาดเล็ก ถ้าสามารถที่จะมีรายได้ที่เพียงพอ อย่างที่เราทำ มีที่นาสิบไร่ก็พออยู่ได้ ภาพที่เราเห็นอาจเป็นว่ามีคนจำนวนหนึ่งต้องออกไป แล้วคิดว่าเกษตรกรรายย่อยล่มสลาย ผมยังไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ว่า เกษตรกรรายย่อยบ้านเราลดไปมากน้อยแค่ไหน อาจจะไม่ใช่สัดส่วนที่ฮวบฮาบ การปลูกในพื้นที่ขนาดใหญ่ของบ้านเราก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างชัดเจนเหมือนในละตินอเมริกา เพราะเกษตรกรรายย่อยก็ยังมีลักษณะพิเศษ แน่นอนว่าต้องเจอวิกฤตด้านการแข่งขัน แต่มันก็มีเอกลักษณ์บางอย่าง เช่น ข้าวคลองโยงเราที่สร้างเอกลักษณขึ้น เช่น ถ้าคุณจะกินข้าวหอมนครชัยศรี คุณต้องมาซื้อที่เรา ซึ่งเราทำได้แบบนี้ ข้าวพันธุ์ที่สอดคล้องกับลักษณะภูมินิเวศแถวนี้ หรือการผลิตอาหารซึ่งเป็นอาหารที่ดี ปลอดสาร มีความเฉพาะถิ่น ผมคิดว่าเกษตรกรรายย่อยทำได้ดีกว่า และแน่นอนว่าการหนุนเสริมด้านนโยบายต่างๆ จะทำให้เกษตรกรรายย่อยยืนอยู่ได้
TCIJ: ช่วงหลังๆ มานี้มีการวิพากษ์วิจารณ์เกษตรทางเลือก เกษตรอินทรีย์ ว่าปฏิบัติจริงไม่ได้ เป็นเรื่องเพ้อฝัน โรแมนติก และถูกมองว่าเป็นความพยายามเชิงอุดมการณ์ที่ต้องการครอบงำเกษตรกรให้เชื่องเชื่อ แต่วิสาหกิจชุมชนฯ แห่งนี้ก็ดูเหมือนจะไปได้ และตัวคุณก็ลงมาทำด้วยตัวเอง คุณจะตอบคำวิจารณ์เหล่านั้นอย่างไร
ผศ.ดร.ประภาส: ผมก็ถูกกระแนะกระแหนอยู่บ่อยๆ ว่าจะเป็นปราชญ์ชาวบ้านหรือเปรตชาวบ้าน คือผมคิดว่ามันก็มีวิธีคิดแบบหนึ่งที่ต้องยอมรับตรงไปตรงมาว่า ความคิดประเภทปลูกเอง สีกินกันเอง ใช้มือสี แบบนี้ก็โรแมนติกไป แต่มันต้องตอบโจทย์พื้นฐานได้ว่า การปลูกแบบอินทรีย์หรือการปลูกแบบยั่งยืน ต้องเป็นความยั่งยืนที่อยู่บนฐานคิดที่ว่าทุนนิยมมันบุกเข้าไปในทุกอณูของชีวิตแล้ว เราจึงคิดว่า พี่น้องที่มาร่วมกับเรา ต้องทำให้รายได้เขาไม่น้อยไปกว่าที่เคยได้
TCIJ: ถ้าให้สรุปคำว่าวิสาหกิจชุมชนข้าวคลองโยง คุณจะบอกว่า...
นันทา: จุดเริ่มต้นของเรา เราหวังให้เกษตรกรในพื้นที่หันมาพึ่งพิงตนเอง ไม่ต้องพึ่งพิงนโยบายใคร อยากให้เกษตรกรอยู่ได้ ไม่ต้องรอนโยบาย ไม่ต้องรีบเร่งการผลิตให้ทันรอบนโยบาย แบบนั้นมันเหนื่อยมากๆ ถ้าเราทำในระบบนี้ได้ เกษตรกรก็ทำไปเรื่อยๆ มีรายได้เพิ่ม เพียงแต่ต้องหันมาเปลี่ยนแปลงทัศนคติบ้าง แล้วต่อไปในระยะยาวเขาจะอยู่ได้ด้วยตัวเขาเอง
ที่มา : TCIJ วันที่ 3 มิ.ย. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.