เขียนโดย...พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์
ทำไมชาวนาไทยถึงยากจน ทั้งที่ข้าวเป็นสินค้าขายดี ส่งออกได้มาก และคนไทยเราต้องกินข้าวกันทุกวัน ขัดกันอย่างสิ้นเชิงกับฐานะทางเศรษฐกิจของชาวนาที่ยากจน มีหนี้สิน และต้องสูญเสียที่ดินทำกินมากขึ้นเรื่อยๆ นี่เป็นเหตุผลเริ่มต้นที่ทำให้เกิดงานศึกษาภาวะหนี้สินชาวนากับการสูญเสียที่ดิน ที่ต้องการอธิบายถึงวิถีชีวิตของชาวนาภาคกลางและความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น เป็นคำถามของ “พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์” กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน ที่ปรากฏในบทนำหนังสือ “ฉากหลังชีวิตชาวนา ..ภาระหนี้สินและผืนดินที่กำลังหายไป ชาวนา ชีวิตปริ่มน้ำ”
หนังสือเล่มนี้ รวบรวมกลุ่มตัวอย่าง 10 กรณีศึกษาชาวนาภาคกลาง และการศึกษาจากแบบสอบถามอีก 235 ตัวอย่าง จากชาวนาในจังหวัดอยุธยาและเพชรบุรี โดยศึกษาถึงวิถีการผลิต การลงทุนทำนา รายได้ การขายผลผลิต การบริโภค ความมั่นคงด้านอาหาร ภาวะหนี้สิน และการสูญเสียที่ดินซึ่งเป็นสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วไป โดยงานศึกษาชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน (กลุ่มโลโคลแอค) และสภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย (สค.ปท.) เครือข่ายชาวนาที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง
ที่น่าสนใจคือ บทสัมภาษณ์ของ “ลุงเชาว์” ชาวนาอำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท วัย 72 ปี สะท้อนว่า เมื่อก่อนทำนาหว่านไม่ต้องลงทุนมาก มีข้าวให้ลูกกินแน่ๆ ทำนาหว่าน พอน้ำมาข้าวโตออกรวงเอง มีเวลาก่อนเกี่ยวข้าว มีเวลาไปนวดข้าว มีฟางเหลือให้วัวกิน มีข้าวเข้ายุ้ง ถ้ามีงานบุญก็ไปควักข้าวมาใช้ก่อน มาสีใช้เครื่องหมุน ใต้ถุนบ้าน มีแกลบเอาไว้เผาถ่าน มีรำไว้เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู ได้ประโยชน์หมดเลย แต่พอเปลี่ยนวิถีชาวนามาทำนาเช่นปัจจุบัน ต้องทำนาเร่งรีบ ใช้รถไถ รถเกี่ยวข้าว ข้าวที่ได้จากรถเกี่ยวข้าวก็ขายออกหมด ปลายข้าว รำข้าวแกลบแทบไม่มีเหลือเลย ที่สำคัญคือไม่มีข้าวสารเหลือไว้ในชาวนากินด้วย ยุ้งข้าวก็โดนรื้อหมด เพราะไม่มีข้าวจะให้เก็บอีกต่อไป
นอกจากวิถีทำนาเปลี่ยน ศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจของอาชีพชาวนาก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ชาวนาในยุคปัจจุบันจึงเป็นชาวนาที่ปลูกข้าวเพื่อขายทั้งหมด และซื้อข้าวสารมากินเช่นคนในเมือง ต่อมาก็มีหนี้สินเงินกู้ ธ.ก.ส. ตัดสินใจเอาโฉนดที่ดิน 87 ตารางวาของบ้านไปเป็นหลักทรัพย์กู้เงิน 80,000 บาท มาลงทุนเลี้ยงปลาในกระชังสุดท้ายกระชังปลาแตก นาข้าวถูกเพลี้ยกระโดดกินข้าวหมด สุดท้ายลุงเชาว์ก็ตัดสินใจเลิกทำนานในปี 2552 และดำรงชีพด้วยเงินเบี้ยยังชีพผู้พิการของภรรยาเบี้ยยังชีพคนชรารวมเดือนละ 2,400 บาท
อีกคนหนึ่ง คือ สุรพงศ์ ชูแก้ว อดีตครูวัยเกษียณ อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตอนนี้เป็นทั้งชาวนา และชาวสวนเกษตรอินทรีย์บอกเล่าถึงที่ดินของแม่ตัวเองซึ่งขณะนี้ที่ดินโดยรอบถูกบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งกว้านซื้อไปหมดแล้วในราคาไร่ละ 250,000 บาท
“เขาซื้อหมดทั้งทุ่งเลยนะที่ดินเป็นร้อยๆไร่ พอเขาซื้อไปหมดแล้วที่ดินตรงนั้นของแม่เราก็จะเป็นไข่แดง ถ้าบริษัทเขาล้อมรั้วเมื่อไหร่ ที่ของเราก็เป็นบ่อเมื่อนั้น แล้วจะเข้าออกตรงไหน”
“สุรพงศ์”ทำนาไม่ไหวก็เลยให้คนเช่าทำนาแทน ปัจจุบันเขามีหนี้สินกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 700,000 บาท โดยใช้โฉนดที่ดินค้ำประกันและไม่ได้ส่งดอกเบี้ยเงินกู้มานับสิบปี และหากไม่มีทางเลือกอาจต้องตัดสินใจขายที่ดินของแม่ให้แก่บริษัทยักษ์ที่เข้ามากว้านซื้อเพื่อปลดหนี้
และกรณี ยายหยัด อนุศาสนันท์ ชาวนาอำเภอสรรคบุรี จ.ชัยนาท วัย 83 ปี เคยมีนา 3 ไร่ ก่อนตัดสินใจขายให้เพื่อนบ้านไร่ละ 10,000 บาทเศษ ใช้หนี้ ธ.ก.ส. อยู่กับลูกสาวซึ่งเป็นหนี้ ธ.ก.ส.เหมือนกัน ปัจจุบันดำรงชีพด้วยเบี้ยยังชีพคนชราเดือนละ 800 บาท และเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร อยู่ระหว่างรอให้กองทุนฟื้นฟูฯซื้อหนี้จาก ธ.ก.ส.
ไม่รู้ว่าสุดท้ายจะมีชะตากรรมอย่างไร?
“พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์” กล่าวไว้ในบทนำว่า การเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิต และวิถีชีวิตของชาวนาภาคกลาง เกิดขึ้นมาแล้วหลายทศวรรษ นับแต่มีการเปลี่ยนแปลงระบบกรรมสิทธิ์ที่ดิน และการเปลี่ยนพื้นที่ภาคกลางให้เป็นพื้นที่ทำนาเพื่อส่งออก แต่ที่มีการเปลี่ยนแปลงมากจนนำไปสู่ภาวะหนี้สิน และความเปราะบางทางเศรษฐกิจของชาวนา เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อสี่ทศวรรษมานี้เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เกิดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส) และการนำเครื่องจักรกลการเกษตร รถแทรกเตอร์ไถนา และรถเกี่ยวข้าว เข้ามาใช้ในพื้นที่ภาคกลาง
ไม่เพียงวิถีการผลิตเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลง แต่เพราะการทำนาคือชีวิต เมื่อวิถีการผลิตเปลี่ยน ชีวิตของชาวนาก็เปลี่ยนไปด้วย ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือความสามารถในการพึ่งตนเองของชาวนาภาคกลางลดลง ทั้งวิถีการผลิตที่ต้องพึ่งแรงงานรับจ้างและเครื่องจักรกลการเกษตรมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้เงินสดในการว่าจ้างแรงงานและเครื่องจักรกลเหล่านั้น รวมไปถึงวิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพาแหล่งอาหารจากตลาด รายได้ที่เป็นตัวเงิน และแหล่งเงินกู้นอกระบบดอกเบี้ยสูงอย่างไม่มีทางเลือก
ดังที่เห็นว่าชาวนาภาคกลางในสมัยปัจจุบัน ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์เกือบทั้งหมด จากในอดีตที่เคยเก็บเมล็ดพันธุ์ได้เอง ต้องจ้างรถไถนา จากที่เคยมีควายไว้ใช้ในครอบครัว ต้องจ้างแรงงานหว่านข้าว เกี่ยวข้าวและจ้างงานอื่นๆ ในไร่นาเพราะแรงงานหนุ่มสาวในครอบครัวอพยพไปทำงานโรงงานกันหมด ต้องใช้ปุ๋ยเคมี ฮอร์โมน และยาปราบศัตรูพืช เพราะทำนาปีละหลายครั้ง ไม่มีเวลาพักดิน สภาพแวดล้อมและผืนนาจึงเสื่อมโทรม ต้องการการบำรุงทุกครั้งจึงจะให้ผลผลิตได้
แตกต่างจากการผลิตในอดีต ที่ชาวนาเคยมีวิถีชีวิตที่เนิบช้า อิสระและเชื่อมร้อยกับวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิด ทั้งการเลี้ยงสัตว์ควบคู่ไปกับการทำนา ใช้มูลสัตว์บำรุงดิน ใช้แรงงานในครอบครัวหรือญาติพี่น้อง หว่านข้าว ดำนา และเกี่ยวข้าวเอง มีผลพลอยได้จากการทำนาและการสีข้าว ทั้งพืชผักอาหารในนา รำข้าว และแกลบ รวมทั้งมีข้าวเก็บไว้ในยุ้ง ในยามเจ็บไข้ได้ป่วยหรือมีงานบุญประเพณีก็นำข้าวออกมาขายได้
ที่สำคัญชาวนาภาคกลางไม่สามารถพึ่งตนเองด้านเงินลงทุนทำการผลิต หรือแม้แต่เงินหมุนเวียนใช้จ่ายในครอบครัว ทั้งสองส่วนนี้ชาวนาภาคกลางต้องพึ่งจากแหล่งเงินกู้ที่มีดอกเบี้ย ทั้งสถาบันการเงินของรัฐและเอกชน รวมถึงเงินกู้นอกระบบที่มีอยู่ในชนบททั่วไป โดยเฉพาะนายทุนเจ้าของร้านขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืช ที่ชาวนาสามารถนำผลิตภัณฑ์การเกษตรรวมถึงเงินใช้สอยในครัวเรือนมาใช้ได้ก่อน และผ่อนคืนทีหลังพร้อมดอกเบี้ย
กล่าวได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของวิถีการผลิต และวิถีชีวิตของชาวนาภาคกลางได้นำไปสู่ความอ่อนแอและความเปราะบางทางเศรษฐกิจของชีวิตชาวนา เพราะชาวนาไม่สามารถพึ่งตนเองได้ ทั้งค่าใช้จ่ายลงทุนการผลิตและการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ต้องกล่าวถึงเงินสะสมหรือเงินออมสำหรับอาชีพชาวนาซึ่งไม่มี เพราะการทำนาในยุคสมัยปัจจุบัน ได้กลายเป็นการทำนาที่ยืมมาก่อน ผ่อนใช้ที่หลัง หรือชีวิตที่ติดลบและเป็นหนี้สินตั้งแต่เริ่มฤดูการผลิต
เหตุที่ชาวนาจำนวนมากในชนบทภาคกลางมีระบบเศรษฐกิจที่เปราะบาง และไม่สามารถพึ่งตนเองได้ ไม่ใช่เหตุผลเชิงปัจเจกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่เช่นนั้นความเปลี่ยนแปลงนี้คงเกิดขึ้นกับบางครอบครัว ไม่แผ่ขยายเป็นกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วทั้งภาคกลางดังที่เป็นอยู่ปัจจุบัน
ความเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกระแสความเปลี่ยนแปลงของระบบการผลิต และระบบการค้าอาหารโลก ที่แผ่ขยายไปทั่วทุกภูมิภาคไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย การขยายตัวของทุนขนาดใหญ่ที่สร้างผลกำไร จากการควบคุมกลไกระบบการผลิต การแปรรูป การกระจายผลผลิต และการตลาด มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อนโยบายภาคการเกษตร ที่ผลักดันประเทศไทยให้กลายเป็นครัวโลก
ประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณาคือชาวนาไทย อยู่ในฟันเฟืองตำแหน่งใดของระบบการผลิตและการค้าอาหารโลกที่เป็นอยู่ หากทุนขนาดใหญ่ ทั้งทุนระดับชาติและทุนข้ามชาติ คือผู้ที่สร้างผลกำไร เพราะเป็นผู้ควบคุมกลไกระบบการผลิต ทั้งปริมาณและราคาปัจจัยการผลิต ควบคุมอุตสาหกรรมการแปรรูปข้าว และการส่งออกข้าวสู่ตลาดโลก
ในขณะที่ชาวนาที่เป็นผู้ผลิตข้าว แบกรับความเสี่ยงจากการลงทุนการผลิต จากภัยธรรมชาติ โรคและแมลงระบาด ระบบนิเวศและผืนดินที่เสื่อมความอุดมสมบูรณ์ลง แต่ไม่สามารถสร้างผลกำไรจากการผลิตได้ เพราะทำการผลิตภายใต้ระบบการค้าการลงทุน แต่ไม่สามารถควบคุมปริมาณและราคาของปัจจัยการผลิต ดังที่ต้องซื้อทั้งเมล็ดพันธุ์ เช่าที่นา จ่ายค่าปุ๋ยเคมี ค่าสารเคมีการเกษตร ค่าจ้างเครื่องจักรกล ค่าจ้างแรงงาน และสุดท้ายต้องตกเป็นเบี้ยล่างยอมจำนนให้โรงสีเป็นผู้กำหนดราคาผลผลิตข้าวที่มาจากการลงทุนและความเสี่ยงของตนเอง
ภายใต้ระบบการค้าข้าวที่เป็นอยู่ ชาวนาจึงเป็นเพียงฟันเฟืองผู้ใช้แรงงานในภาคการผลิต ที่เป็นผู้แบกรับความเสี่ยงจากการลงทุน เพื่อป้อนวัตถุดิบข้าวให้กับอุตสาหกรรมโรงสีและอุตสาหกรรมการค้าข้าวระดับโลกเท่านั้น ดังที่มีคำกล่าวที่ว่า ชาวนาจะยังไม่ตาย และจะไม่หายไปจากสังคมไทยเพราะชาวนายังจำเป็นสำหรับการผลิตอาหารและการค้าข้าวระดับโลก ในฐานะผู้ใช้แรงงาน และผู้แบกรับความเสี่ยงจากการลงทุนนั่นเอง
“พงษ์ทิพย์” สรุปว่า งานวิจัยภาวะหนี้สินชาวนากับการสูญเสียที่ดินในหนังสือเล่มนี้ ชี้ให้เห็นว่าแม้ชาวนาจะยังไม่ตาย แต่พวกเขาหายใจอยู่อย่างลำบาก เหมือนชีวิตปริ่มน้ำ ที่ยังไม่เห็นอนาคต และไม่สามารถคาดเดาได้ว่าคนรุ่นต่อไปจะยังสานต่ออาชีพชาวนาของพวกเขาหรือไม่
และทิ้งท้ายว่า การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระบบการค้าและอาหารโลก ในฐานะผู้ผลิตและผู้แบกรับความเสี่ยงจากการลงทุนที่เป็นอยู่ ทำให้สถานะของชาวนาไร้อิสรภาพ ถูกพันธนาการด้วยระบบการค้าการลงทุน มีภาระหนี้สินและไร้อำนาจต่อรอง แม้จะได้รับการเยียวยาบรรเทาปัญหาจากโครงการช่วยเหลือของรัฐด้วยงบประมาณจำนวนมาก ทั้งการประกันราคาและการรับจำนำข้าว แต่นั่นจะไม่ช่วยให้ชาวนามีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมดีขึ้นเลย ภายใต้ภาวะการกดทับของโครงสร้าง กลไกการผลิตและการค้า เช่นที่เป็นอยู่ปัจจุบัน
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 25 ก.ค. 57
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.