การมีโอกาสบริโภคสินค้าปลอดภัยที่มีราคาแพงขึ้น ก็ย่อมดีว่าการบริโภคสารเคมีตกค้างราคาถูก
แต่ไหนแต่ไรมาเด็กไทยถูกสอนให้ภูมิใจว่า ประเทศไทยเราเป็นอู่ข้าวอู่น้ำให้โลกมาอย่างยาวนาน ในความภาคภูมิใจแบบผิวเผินนั้น ซ่อนความเป็นจริงที่เจ็บปวดไว้คือ คุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยนั้นย่ำแย่เหลือเกิน ไม่ว่าจะเทียบด้วยมาตรฐานใดก็ตาม เกษตรกรไทยใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับการจน เจ็บ และกู้
สิ่งที่เป็นจริงคือ เราส่งออกสินค้าชั้นปฐมเท่านั้น เวลาเราขายข้าว เราขายเป็นหน่วยเมตริกตัน ส่งออกกันเป็นกระสอบ เป็นลำเรือ เราขายยาง ขายมัน ก็เข้าอีหรอบเดียวกัน คือขายกันเป็นตัน กำไรต่อหน่วยน้อย จำต้องอาศัยขายในปริมาณที่มากเป็นหลัก
เปรียบไปก็คือ การค้าแบบใช้แรงงานเข้าแลกเป็นหลัก ซึ่งมักจะขาดทุนในระยะยาว มากกว่าที่จะได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ
ตรงกันข้าม กลุ่มประเทศที่เราคิดว่า ไม่น่าทำการเกษตรได้อย่างยุโรป เพราะเป็นเมืองหนาว ปลูกอะไรก็ไม่น่าจะดี สู้เมืองร้อนฝนชุกดินดีอย่างบ้านเราไม่ได้
ความจริงคือ สหภาพยุโรปกลายเป็นกลุ่มประเทศที่ขึ้นอันดับหนึ่งของโลกในการส่งออก ผลิตภัณฑ์อาหารและสินค้าเกษตรไปแล้วตั้งแต่ปี 2556 แซงหน้าสหรัฐอเมริกาที่ครองอันดับหนึ่งในการส่งออกสินค้าเกษตรมาอย่างยาวนาน หลายปี
ก่อนอื่นเราทำความเข้าใจก่อนว่า เขาจัดอันดับกันที่มูลค่าในการส่งออก ซึ่งขึ้นอยู่กับสองปัจจัยคือ ราคาและปริมาณ ประเทศเราเล็กนิดเดียวเมื่อเทียบกับสหรัฐและยุโรป ดังนั้น หากเอาแต่ฟังความข้างเดียวบ่อยๆ เราอาจจะเผลอนึกไปว่า ไทยเป็นประเทศที่ปลูกข้าวเลี้ยงคนทั้งโลก เพราะในความเป็นจริงแล้วสหรัฐอเมริกาก็ปลูกข้าวเลี้ยงชาวโลกเช่นเดียวกัน
นอกจากนั้นแล้ว พืชหลายอย่างเราไม่มีในบ้านเรา หรือมีก็ไม่เพียงพอ จำเป็นต้องนำเข้าในปริมาณมหาศาลทุกปี โดยเฉพาะถั่วเหลืองและกากถั่วเหลือง ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับการเกษตร เนื่องจากเราใช้กากถั่วเหลืองเป็นแหล่งโปรตีนให้กับสัตว์
สินค้าเกษตรโดยเฉพาะจำพวกเส้นใยอย่างฝ้าย เราก็ไม่ได้มีเยอะ แม้เราจะมีฝ้ายทอมือและงานหัตถกรรมขึ้นชื่ออย่างผ้าไหมที่ดังไปทั่วโลกก็ตาม ปัญหาสำคัญคือ เราไม่ได้มีปริมาณมากพอที่จะส่งออกเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ได้
ส่วนที่เราส่งออกสินค้าเกษตรอย่างจริงจังนั้น เคยมีคำกล่าวเล่นๆ ว่าคือ “ข้าวมันไก่” เพราะประกอบด้วย ข้าว มันสำปะหลัง และไก่สดแช่แข็ง ซึ่งเป็นการส่งในลักษณะแบบวัตถุดิบค่อนข้างมาก
นอกจากนี้แล้ว เรายังจะเผชิญกับปัญหาสำคัญชนิดคอขาดบาดตายในอีกไม่ช้าคือ การขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร เราต้องไม่ลืมว่า เกษตรบ้านเราวันนี้ไม่ได้มีลูกกันทีแปดเก้าคนเหมือนในอดีต มิหนำซ้ำบุตรหลานในวันนี้ต่างมีการศึกษาที่สูงกว่ารุ่นพ่อรุ่นแม่ทั้งสิ้น เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่อยากให้ลูกลำบากเหมือนตัว ที่ส่งลูกเรียนสูงๆ ก็เพื่อให้ได้งานที่มีรายได้ที่ดีกว่าทำ
ดังนั้น ลูกหลานก็ไม่ค่อยกลับมาทำเกษตรกันแล้ว เผลอๆ อาจขายที่ทำกินมาซื้อบ้านในเมืองเสียด้วยซ้ำไป
อีกยี่สิบปีข้างหน้า ไม่แน่ว่า เราอาจเสียแชมป์ส่งออกสินค้าเกษตรไปอีกหลายรายการ แย่ที่สุดคือ อาจต้องนำเข้าสิ่งที่เราเคยส่งออกก็เป็นไปได้
ถามว่ามันจะเลวร้ายมากนักหรือ? ก็ไม่แน่นัก ถ้าหากประเทศสามารถหารายได้ทางอื่นทดแทนได้ เมื่อนั้นเราจะใช้เงินไปซื้อของจากประเทศอื่นก็ย่อมไม่เสียหายอะไร ตราบใดที่รายได้มากกว่ารายจ่าย และเรายังมีความมั่นคงด้านอาหารในภาพรวม
แต่ที่แน่ๆ คือ ภาพอนาคตของการเกษตรไทย ไม่น่าจะเหมือนเดิม หรือไม่น่าจะคงสภาพเดิมไว้ได้อีกนานนัก ทั้งโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลง ขนาดของฟาร์มที่เล็กและแบ่งย่อย การขาดการเอาใจใส่ในแง่วิชาการที่เพียงพอ และการมีโครงสร้างการผลิตที่ผิดเพี้ยน เกษตรกรไทยจึงวนเวียนอยู่กับการใช้ปุ๋ยใช้ยาฆ่าแมลง ยาปราบศัตรูพืชกันอย่างมโหฬาร พอกพูนทั้งโรคภัยไข้เจ็บและหนี้สิน
ผมคิดมานานแล้วว่า นวัตกรรมเกษตรอินทรีย์น่าจะเป็นทางออกที่ดี แต่ก็ไม่ใช่ทางออกที่ง่าย และเหมาะสมกับทุกคน เพราะช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านมันยาวนานหลายปี เกษตรกรจะต้องอดทนอย่างมาก ทรมานกับความยากจน ล้มเหลว ขาดรายได้ และไม่มั่นคง
ที่เป็นอย่างนั้น เพราะเรายังไม่มีกลไกขนาดใหญ่ใดที่จะมาส่งเสริมอย่างเป็นระบบ - ผมหมายความเฉพาะถึง กลไกทางการเงิน ที่จะมาช่วยเหลืออุ้มชูเกษตรกรให้รอดในช่วงระยะเวลาเฉลี่ยๆ ประมาณ 4-5 ปีแรกของการหันมาทำเกษตรอินทรีย์
แน่นอนว่า เงินลงทุนคงจะมโหฬารตามไปด้วย จึงน่าที่จะกำหนดวงลงมาให้แคบเข้าไปหน่อย ด้วยการกำหนดโซนนิ่งหรือชุมชนต้นแบบที่จะเริ่มต้น ลองผิดลองถูกได้บ้างสักปีสองปี เพื่อหาโมเดลของกลไกที่เหมาะสมที่สุด
ที่ผมคิดว่า น่าจะเป็นแนวคิดที่พอเป็นไปได้ในสเกลขนาดใหญ่คือ สินเชื่อเพื่อการเกษตรอินทรีย์ โดยต้องมีลักษณะเป็นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือปลอดดอกเบี้ยในช่วงปีแรกๆ หรือยกเว้นการจ่ายชำระคืนเงินกู้ในช่วงสองสามปีแรกของการกู้ ฯลฯ เพื่อให้เกษตรกรมีเงินใช้จ่ายหมุนเวียนมากพอที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตจาก แบบเดิม ไปสู่เกษตรอินทรีย์
แน่นอนครับว่า เงินงบประมาณจำนวนมโหฬารต้องเตรียมไว้เพื่อการนี้
และแน่นอนว่า จะต้องเกิดการสูญเสียของหนี้ มิพักต้องกล่าวถึงโอกาสสวยงามของการคอรัปชั่นที่มักจะมาคู่กับโปรเจกต์ใหญ่
แต่หากสำเร็จ นี่จะเป็นการเปลี่ยนวิถีการเกษตรของคนไทย จากนี้ไป เกษตรกรจะมีสุขภาพทั้งกาย ใจ และการเงินที่ดีขึ้น ผู้บริโภคคนไทยก็จะห่างไกลจากสารพิษตกค้าง จริงอยู่ว่า สินค้าอินทรีย์นั้นมีราคาแพง เกินเอื้อมของผู้บริโภค แต่หากเราสามารถผลิตเพื่อจำหน่ายได้มากพอ ราคาต่อหน่วยก็น่าจะลดลงมาจนถึงจุดสมดุลของความต้องการได้ อาจใช้เวลานานและอาจต้องการปัจจัยอื่นมาเกี่ยวข้องอีกด้วย เช่น การปรับโครงสร้างค่าแรงงาน การควบคุมราคาสินค้าข้างเคียง ฯลฯ เพื่อไม่ให้เป็นภาระผู้บริโภคมากเกินไป
จะอย่างไรก็ตาม การมีโอกาสบริโภคสินค้าปลอดภัยที่มีราคาแพงขึ้น ก็ย่อมดีว่า การบริโภคสารเคมีตกค้างราคาถูก
หากเราทำได้จริง คงเป็นเวลาที่เราจะบอกลาเกษตรไทยในแบบเดิมๆ และหันมาบอกกับชาวโลกกับลูกหลานอย่างเต็มปากเต็มคำว่า เราผลิตแต่อาหารปลอดภัยเลี้ยงชาวโลก สร้างรายได้และความมั่นคงในชีวิตให้แก่เกษตรกรไทย
ข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่ 10 กรกฎาคม 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.