เรื่องปากท้องถือเป็นปัญหาสำคัญ อย่างกลุ่มเกษตรกรที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มผู้ไร้ที่ทำกิน” ได้เดินหน้าเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยเหลือจัดสรรที่ดินทำกินมาอย่างต่อเนื่อง แต่รัฐบาลผ่านไปหลายยุคหลายสมัยก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน
กระทั่งราษฎรกลุ่มนี้เข้าไปจับจองพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ แปลงที่ดินที่บริษัทเอกชนหมดสัญญาสัมปทาน เพื่อปลูกที่อยู่อาศัยและทำกิน ขณะที่ภาครัฐเองพยายามผลักดันออก เพื่อปกป้องผืนป่าแห่งนี้ไว้ให้เป็นป่าต้นน้ำและแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า จนกลายเป็นปัญหายืดเยื้อเรื้อรังมานานกว่า 10 ปี จนถึงทุกวันนี้
หลังจากบริษัทเอกชนหมดสัญญาสัมปทานในการปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ยูคาลิปตัส ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่เมื่อปี 2546 รวมจำนวน 9 แปลง เนื้อที่ประมาณ 23,700 ไร่ ได้มีราษฎรอ้างว่าไม่มีที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง ทั้งที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ อ.โนนดินแดง และอำเภอต่างๆ ในเขตพื้นที่จังหวัด ทยอยเข้าไปบุกรุกจับจองพื้นที่ป่าดงใหญ่ ปลูกสร้างที่อยู่อาศัยและแผ้วถางป่าปรับพื้นที่ปลูกพืชผลการเกษตร เช่น ข้าว มันสำปะหลัง และยางพาราทันที โดยช่วงแรกมีชาวบ้านเข้าไปอยู่อาศัยและทำกินประมาณ 100 ครอบครัว ต่อมาทยอยเข้าไปจับจองทำกินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมกว่า 1,000 ครัวเรือน
ชาวบ้านที่เข้าไปทำกินนั้น ได้ปักหลักทำกินอยู่ในพื้นที่ป่าดังกล่าวนับแต่นั้นเป็นต้นมา อีกทั้งได้จัดสรรพื้นที่ทำกินกันเอง โดยไม่รอหน่วยงานภาครัฐเข้าไปดำเนินการ นอกจากนั้นชาวบ้านยังแบ่งกลุ่มก่อตั้งหมู่บ้านกันอย่างชัดเจน โดยแบ่งเป็นทั้งหมด 6 กลุ่ม คือ กลุ่มเสียงสวรรค์, กลุ่มเก้าบาตร, กลุ่มคลองหินใหม่, กลุ่มลำนางรองใหม่, กลุ่มบ้านตลาดควาย และกลุ่มป่ายางป่ามะม่วง
ในขณะที่ สมส่วน รักสัตย์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ระบุว่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติทับลาน และอุทยานแห่งชาติตาพระยา ครอบคลุมพื้นที่กว่า 3,845,000 ไร่ หรือ 6,152 ตารางกิโลเมตร ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ จากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก เมื่อปี 2548 เนื่องจากยังคงมีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และมีสัตว์ป่าที่สำคัญอาศัยอยู่ชุกชุม เช่น ช้างป่า กระทิง วัวแดง เก้ง กวาง หมี เสือโคร่ง เลียงผา และอื่นอีกหลายชนิด
แต่ปัจจุบันมีชาวบ้านเข้าไปบุกรุกจับจองปลูกสร้างที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าดงใหญ่ เนื้อที่กว่า 18,800 ไร่ แม้ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทหาร ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ตำรวจ พยายามเข้าไปเจรจา ขอความร่วมมือชาวบ้านที่เข้าไปบุกรุกให้ออกจากป่า เพื่อจะฟื้นฟูป่า แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน
ผลจากการบุกรุกป่ายังส่งผลให้เกิดปัญหาขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับช้างป่า เพราะที่ผ่านมามีชาวบ้านถูกช้างเหยียบตาย และมีช้างป่าถูกยิงหรือถูกทำร้ายล้มไปแล้วถึง 8 ตัว แม้ศาลจะมีคำพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากป่าที่บุกรุกแล้วก็ตาม กระทั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาควบคุมอำนาจการปกครอง จึงใช้อำนาจตามประกาศกฎอัยการศึกษาเข้าทำการผลักดันผู้บุกรุกออกจากป่า
ด้าน พล.ต.เสริมศักดิ์ นิยะโมสถ ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกบุรีรัมย์ บอกว่า ขณะนี้ทหารได้ร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าไปชี้แจงทำความเข้าใจ และประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านที่เข้าไปบุกรุกเขตป่าดงใหญ่รับทราบถึงประกาศของ คสช. ฉบับที่ 64/2557 เรื่องการเร่งปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดที่ลักลอบตัดไม้ทำลายป่า และฉบับที่ 66/2557 เรื่องการปราบปรามหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่เข้าใจ ยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และขนย้ายข้าวของออกจากป่า เดินทางกลับภูมิลำเนา แต่บางส่วนยังอาศัยอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ชั่วคราว เพื่อรอการคัดกรองคุณสมบัติจากหน่วยงานภาครัฐและรอการช่วยเหลือในการจัดสรรที่ดินทำกินตามที่ได้เรียกร้องมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีชาวบ้าน “กลุ่มเก้าบาตร” 27 ครัวเรือน และกลุ่มเสียงสวรรค์อีก 12 ครัวเรือน รวม 39 ครัวเรือน ไม่ยอมจากป่า อ้างว่าไม่มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ซึ่งกลุ่มดังกล่าวเจ้าหน้าที่ยังคงเดินหน้าทำความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง แต่หากยังไม่ยอมออกจากป่าเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องใช้มาตรการทางกฎหมาย ซึ่งหลังจากผลักดันกลุ่มผู้บุกรุกออกจากป่าทั้งหมดแล้ว ทหารจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสกัดกั้นไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปบุกรุกป่าซ้ำอีก จากนั้นก็จะผนวกเข้าเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พร้อมเร่งฟื้นฟูให้เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า และป่าต้นน้ำต่อไป
แต่ขณะที่ตัวแทนชาวบ้านที่เดือดร้อนอย่าง สังเกตุ ญาตินิยม อายุ 68 ปี หนึ่งในชาวบ้านกลุ่มบ้านตลาดควาย ที่สมัครใจยอมออกจากป่าดงใหญ่ บอกว่า สาเหตุที่ยอมออกจากป่า เพราะเกรงจะถูกดำเนินคดี ทั้งเข้าใจถึงมาตรการของหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการจะปกป้องผืนป่า เพราะชาวบ้านเองไม่ต้องการที่จะเข้าไปบุกรุกป่า แต่ด้วยฐานะยากจน ไม่มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินเป็นของตัวเอง จึงเข้าไปจับจองพื้นที่ปลูกสร้างที่อยู่อาศัย และทำกินในเขตป่าดงใหญ่ เพราะพื้นที่ที่เข้าไปจับจองเป็นป่าที่บริษัทเอกชนหมดสัญญาสัมปทานแล้ว จึงอยากเรียกร้องให้ คสช.หรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเห็นใจถึงความเดือดร้อนของชาวบ้าน โดยการจัดสรรที่ทำกินที่ถูกต้องให้แก่ชาวบ้านที่ไม่มีที่ทำกิน
ส่วนกรณีที่ทางราชการจะทำการคัดกรองชาวบ้านนั้น ชาวบ้านพร้อมจะเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง เพราะยืนยันว่า มีฐานะยากจน และไม่มีที่ทำกินเป็นของตัวเองจริง พร้อมให้ตรวจสอบ ส่วนเงื่อนไขที่จะต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ อ.โนนดินแดง นั้น ชาวบ้านอยากให้ทบทวนเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ดังกล่าว เพราะบางส่วนมีภูมิลำเนาอยู่อำเภอใกล้เคียง หากจะผลักดันกลับอำเภอตามภูมิลำเนาก็ต้องหามาตรการรองรับช่วยเหลือด้วยเช่นกัน
นี่คือเสียงทั้งจากภาครัฐและภาคประชาชน ที่ฝ่ายหนึ่งถือกฎหมาย แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็มีความเดือดร้อนโดยตรง เนื่องจากไม่มีที่ทำกิน จึงจำเป็นต้องขอเข้าไปใช้ที่ดินของรัฐ เพื่อทำกินประทังชีวิตไปวันๆ ซึ่งทั้งสองฝ่ายควรร่วมกันหาทางออกในแนวทางที่ถูกต้องยั่งยืน และที่สำคัญ ควรอยู่บนพื้นฐานของมนุษยธรรม น่าจะสวยที่สุด
ที่มา คมชัดลึก วันที่ 22 ก.ค. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.