โดย ชาติชาย ศิริพัฒน์
ได้ข้อสรุปออกมาแล้ว สำหรับการสัมมนา “Road Map เพื่อการพัฒนาการเกษตรและแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน : กรณีอนาคตข้าวไทย” เพื่อนำเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ไม่เพียงแต่จะเป็น Road Map ช่วยแก้ปัญหาชาวนาเท่านั้น ยังสามารถแก้ปัญหาเรื้อรังให้กับเกษตรกรไทยได้ทั้งระบบ...ถ้าผู้บริหารประเทศมีความมุ่งมั่นทำให้เป็นจริง
เพราะได้ชี้ให้เห็นถึงแก่นของปัญหาแบบองค์รวม ในแบบที่คนไทยทั่วไปได้ยินได้ฟังเป็นต้องสะอึก ในสิ่งที่คนในบ้านเมืองนี้กระทำกับเกษตรกรมาตลอด
รากเหง้าของปัญหาแรก...ประเทศไทยมีพื้นที่ถือครองทางการเกษตรทั้งหมด 131 ล้านไร่ มีพื้นที่ชลประทาน 29.58 ล้านไร่ หรือ 25.15% ของพื้นที่การเกษตร แต่เมื่อ ถึงฤดูแล้งเกษตรกรจะต้องพึ่งพาน้ำจากระบบชลประทาน กลับมีน้ำจ่ายให้แก่พื้นที่เกษตรได้เพียง 11.69 ล้านไร่ หรือ 15.31% ของพื้นที่การเกษตร
นี่เป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า ในขณะที่บ้านเมืองไทยเจริญรุดหน้าไปถึงไหนต่อไหน คนไทยทันสมัยมีทั้งทีวีดิจิตอล และจะได้ใช้ 4G อยู่มะรอมมะร่อ...แต่ภาคการเกษตรของไทยยังคงอาศัยน้ำฝน พึ่งพา เทวดาและธรรมชาติเป็นหลัก
เลยทำให้มีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพการผลิตต่ำ การเพิ่มผลผลิตต่อไร่เพื่อลดต้นทุน จึงยากจะเป็นได้จริงในทางปฏิบัติ
รากเหง้าปัญหาถัดมา เกษตรกรรายย่อยไม่มีที่ทำกินเป็นของตัวเอง ประมาณ 17.5% ของ 5.7 ล้านครอบครัวเกษตรกร เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา การลงทุน และประสิทธิภาพการผลิต...เพราะส่งผลให้เจ้าของที่ดินไม่ได้ดูแลรักษาดินให้มีคุณภาพดี เกษตรกรคนเช่าที่ดินก็ไม่คิดจะทำ เพราะไม่รู้จะลงทุนไปทำไม ในเมื่อไม่ใช่ที่ดินของตัวเอง เลยส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูง เพราะต้องใช้ปุ๋ยเคมีมากขึ้นโดยไม่จำเป็น
ซ้ำร้ายการจัดที่ดินให้เกษตรกร ที่ดำเนินการโดย ส.ป.ก.มาตั้งแต่ปี 2518 จัดสรรที่ดินไปแล้ว 2.7 ล้านครอบครัว เป็นพื้นที่ 35 ล้านไร่ แต่ที่ดินส่วนหนึ่งถูกเปลี่ยนมือไปสู่นายทุน เกษตรกรกลายเป็นผู้เช่าที่ดินของตนเอง...วันนี้จึงยังมีเกษตรกรไม่มีที่ดินเป็นของตนเองอีก 1 ล้านครอบครัว
และที่บาดใจ ในขณะที่รัฐบาล ผู้คนในสังคมต่างท่องสโลแกน “เกษตรกรคือกระดูกสันหลังของชาติ” แต่การช่วยเหลือภาคเกษตรกลับไม่เป็นอย่างเสียงพร่ำพรรณนาโวหาร โดยเฉพาะเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ของเกษตรกร เมื่อเทียบกับการปล่อยกู้ในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ...ดอกเบี้ยปล่อยกู้ในภาคเกษตรกรรมสูงมากอยู่ในอัตรา 7.5-12%
เมื่อหันไปดูดอกเบี้ยในประเทศที่พัฒนาแล้วจนกลายเป็นชาติอุตสาหกรรม ไม่ว่าสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ไต้หวัน กลับมีอัตราดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรแค่เพียง 3-5% เท่านั้นเอง
นอกจากนั้น การเก็บภาษีนำเข้าปัจจัยการผลิต เครื่องจักรกลการเกษตร วัสดุสนับสนุนการผลิต ระบบน้ำ พลาสติกสำหรับโรงเรือน สแลน เครื่องพ่นยา เครื่องสูบน้ำ ปุ๋ยเคมี สารกำจัดป้องกันศัตรูพืช เมล็ดพันธุ์ กิ่งพันธุ์ บ้านเราเก็บในอัตราที่สูง ยิ่งทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวส่วนหนึ่งของความจริงที่บาดใจ...ยังมีสิ่งบาดใจมากกว่านี้ ที่เราๆท่านๆ คาดไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้นมาบนแผ่นดินที่ยกย่องเชิดชูเกษตรกรแห่งนี้ได้...ติดตามพรุ่งนี้
ที่มา ไทยรัฐ วันที่ 23 ก.ค. 2557