รุกป่ายึดที่ดิน สัญญาณร้ายภาคใต้ หมดแล้ว หมดเลย
โดย ทีมข่าวมติชน
หมายเหตุ - "มติชน" นำเสนอปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าที่ลุกลามอย่างหนักทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละพื้นที่มีกระบวนการ และรูปแบบที่แตกต่างกัน
ครั้งหนึ่ง "รตยา จันทรเทียร"ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร บอกว่า เมื่อปี 2532 เคยนั่งเฮลิคอปเตอร์ขึ้นไปสำรวจพื้นที่ป่าในอุทยานแห่งชาติเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช มองลงมา เห็นต้นไม้รกทึบ รุงรังเต็มไปหมด แต่ล่าสุด 2 ปีก่อน บินขึ้นไปดูบนเขาหลวงอีกที ยังเห็นความเขียวขจี แต่ความเขียวขจีนั้น เป็นทิว เป็นแถว เป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น
"ดำรงค์ พิเดช" อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช บอกว่า ป่าที่เห็นครั้งล่าสุดนั้น คือ "ป่ายางพารา" ที่นายทุนได้ว่าจ้างชาวบ้านเข้าไปบุกรุกนั่นเอง
ทุกวันนี้ พื้นที่ป่าทั่วประเทศ ทั้งอุทยานแห่งชาติ และป่าสงวนแห่งชาติ ถูกบุกรุกเข้าไปทำสวนยางพาราและสวนปาล์ม 2.8 ล้านไร่ ในจำนวนนี้ อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ถึง 2.6 ล้านไร่ เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 8 แสนไร่ ที่เหลือ คือ ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ที่ถูกรุกหนักสุด ป่าธรรมชาติหายไปมากที่สุด คือ จ.นครศรีธรรมราช ราว 6 แสนไร่ ทั้งในอุทยานแห่งชาติ และพื้นที่ป่าสงวนฯ
จึงไม่แปลก ที่ช่วง 4-5 ปี ภาคใต้มักจะประสบภัยพิบัติ ทั้งน้ำท่วม ดินถล่ม เป็นประจำทุกปี
ดำรงค์ บอกว่า การรุกป่าเพื่อเอาไม้ออกไปขายนั้น แม้ถือเป็นปัญหาหนัก แต่ปัญหาที่หนักกว่า คือ การรุกป่าเพื่อเอาที่ดินของกลุ่มนายทุน เพราะนั่นจะหมายถึง ประเทศชาติจะสูญเสียทั้งทรัพย์สมบัติส่วนรวม และความหลากหลายทางชีวภาพ จากที่เคยเป็นป่าธรรมชาติ จะถูกแทนที่ด้วยพืชเชิงเดี่ยวอย่างยางพารา และต้นปาล์ม
จ.นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง และ จ.สงขลา มีปัญหามาก เรื่องรุกป่าเอาที่เพื่อปลูกยางพารา และปาล์ม เห็นชัดที่สุดคือ อุทยานแห่งชาติเขาหลวงใน จ.นครศรีธรรมราช และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากรมหลวงชุมพร ที่ถือเป็นป่าไข่แดงของภาคใต้ ขณะที่ 3 จังหวัดชายแดน คือ จ.ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และบางส่วนของ จ.สงขลา ก็มีปัญหา ในเรื่องรุกป่าเพื่อเอาไม้ โดยอาศัยเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ทำให้ทั้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และเจ้าหน้าที่อุทยานดูแลพื้นที่ได้ไม่ทั่วถึง
เหล่านี้คือ ข้อเท็จจริงที่ได้รับการบอกเล่าจากอดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ
ตัวการหลักที่ทำให้ป่าภาคใต้หายไป คือ "นายทุน" ซึ่งมีทั้ง ผู้มีอิทธิพล นักการเมือง (อาจจะเป็นคนคนเดียวกัน) วิธีการเข้าไปยึดที่ดินภาคใต้นั้น ค่อนข้างจะ "เนียน" มากกว่าพื้นที่อื่น
เริ่มจาก นายทุนจะว่าจ้าง "แรงงานต่างด้าว" ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น "กลุ่มโรฮิงญา" เข้าไปแฝงตัวในพื้นที่ พร้อมเสบียงอาหาร ราว 2 สัปดาห์ พวกนี้จะเข้าไปสร้างเพิงพัก เพื่อทำงาน คือ ขุดหลุม สำหรับเตรียมปลูกยาง หลุมดังกล่าวจะอยู่เป็นแนว กว้าง 1x1 เมตร ห่างกันราว 4 เมตร ในป่า
งานนี้ คนไทยไม่นิยมทำ เพราะค่อนข้างลำบาก ขุดหลุมจากจุดนี้เสร็จ รับค่าจ้าง 5,000-10,000 บาท แล้วแต่ปริมาณหลุมที่ขุดได้ แล้วไปรับงานที่จุดอื่นต่อ
หลุมที่ขุดทิ้งไว้ จะมีอีกทีมที่ทำหน้าที่ขนกล้าต้นยางเข้าไปปลูก จะปลูกทิ้งไว้ประมาณ 3 ปี ระหว่างนี้ ยังไม่มีการตัดไม้ หรือทำอะไรทั้งสิ้น นอกเหนือจากการแวะเข้ามาดูเป็นระยะๆ ว่า กล้ายางอยู่ในสภาพเรียบร้อยหรือไม่ เมื่อผ่านไป 3 ปี ยางเริ่มต้องการแสง เพื่อการเจริญเติบโตมากขึ้น ก็จะมีอีกทีมเข้าไปตัด ต้นไม้ที่อยู่รอบๆ ต้นยาง เพื่อแหวกป่าให้เกิดแสง เรียกว่า "การตัดเพื่อล้างท้อง" ขั้นตอนนี้เอง ไม้ธรรมชาติจะเริ่มหายไป พื้นที่ป่าธรรมชาติจะกลายเป็นป่ายางแทนในที่สุด
หากมีเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ นายทุนก็จะใช้วิธีการว่าจ้างให้ชาวบ้านที่มารับจ้างกรีดยาง ออกรับว่าเป็นที่ดินทำกินกันมานานแล้วตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ แต่ต่อมา กรมอุทยานแห่งชาติฯ หรือกรมป่าไม้ ประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ หรือพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทับ ผู้ครอบครองพื้นที่ดังกล่าวมาก่อนสามารถอยู่อาศัย หรือใช้ประโยชน์ได้ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 30 มิถุนายน 2541
ระหว่างการพิสูจน์ ทั้งพิกัด แผนที่ และภาพถ่ายทางอากาศว่า พื้นที่นั้นๆ เข้าข่ายพื้นที่ตามมติ ครม.หรือไม่ ก็สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้อยู่
จึงไม่น่าแปลกใจว่า 10 ปีที่ผ่านมา ป่าอนุรักษ์ 3 ล้านไร่ จะหายไปจากพื้นที่ภาคใต้อย่างรวดเร็ว
จะว่าไปแล้ว เมื่อเปรียบเทียบระหว่างพื้นที่ ถึงสถานการณ์การบุกรุกทำลายป่าแล้ว ภาคกลาง กับภาคตะวันตก ดูจะมีน้อยกว่าพื้นที่อื่นๆ แต่ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีการบุกรุก ลักลอบตัดไม้หรือไม่มีปัญหาใดๆ เลย
สำหรับภาคกลาง ภาคตะวันตก มีพื้นที่ป่าหลักๆ คือ ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ฝั่งตะวันออกและตะวันตก ตั้งแต่ จ.กาญจนบุรี ถึง จ.ตาก อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี แม้จะมีภาคประชาชน และเครือข่ายประชาชนในการดูแลป่าเข้ามาช่วยดูแลกันค่อนข้างเข้มแข็งเป็นเวลานานกว่า 20 ปี ในพื้นที่ป่าตะวันตก แถบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรทั้ง 2 ฝั่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แต่เรื่องของการลักลอบเข้ามาตัดไม้มีค่าก็ยังเห็นอยู่ โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณขอบป่าด้านนอก คดีลักลอบตัดไม้มีค่าอย่าง ไม้แดง ไม้มะค่า ไม้รัง ไม้ประดู่ มีไม่เคยขาด แต่ตัวเลขไม่พุ่งกระฉูดเหมือนการลักลอบตัดไม้พะยูงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และไม้ชิงชันในภาคเหนือเท่านั้น
จุดแข็งอย่างหนึ่งของ ป่ากลุ่มนี้ คือ มีพื้นที่ติดชายแดนซึ่งเป็นป่าของประเทศเพื่อนบ้าน โดยป่าของประเทศเพื่อนบ้านนั้นเป็น "ป่ารกชัฏ" ยากลำบากต่อการเดินเข้า-ออก และขนของไป-มา การบุกรุกจึงมีน้อย
อย่างไรก็ตาม แม้สถิติการลักลอบตัดไม้มีน้อยสำหรับพื้นที่ภาคกลาง แต่เรื่องการบุกรุกที่ป่า ภาคกลางก็ไม่ได้น้อยหน้าพื้นที่อื่น เพราะป่าภาคกลางเป็นป่าที่อยู่ใกล้เมือง สะดวกในการเดินทางจากเมืองหลวง การบุกรุกพื้นที่ จุดประสงค์จะต่างกับภาคใต้ที่รุกเพื่อปลูกยางพารา ปลูกปาล์ม แต่ที่นี่ รุกเพื่อทำรีสอร์ต สร้างบ้านพักตากอากาศ โดยเฉพาะ แถบ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
การสำรวจพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทย ที่ทำโดยกรมป่าไม้ ร่วมกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ล่าสุดเมื่อต้นปี 2557 พบว่า ประเทศไทย ทั้งประเทศเหลือพื้นที่ป่าอยู่ร้อยละ 31.57 หรือ 102.19 ล้านไร่ จากปี 2516 ที่เคยมีถึง 138 ล้านไร่ ระยะเวลา 40 ปี ป่าหายไปถึง 36 ล้านไร่ โดยในรอบ 5-10 ปีที่ผ่านมา อัตราการสูญเสียพื้นที่ป่าเป็นไปอย่างค่อนข้างรวดเร็ว
5 ปีก่อนหน้านี้ เราสูญเสียเนื้อที่ป่าไปถึง 5 ล้านไร่ และมีแนวโน้มว่าป่าจะหายไปอีก จากการบุกรุกเพื่อการการเกษตร และเป็นที่อยู่อาศัยเราจึงปล่อยวางและละสายตาไม่ได้เลย กับปัญหาหนักและยิ่งใหญ่ปัญหานี้
ที่มา : หน้า 10 มติชนรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.