ปัญหาไม่มีที่ดินทำกิน ความเหลื่อมล้ำในเมืองโคราช
รายงานโดย... สุมาลี สุวรรณกร
ปัญหาความยากจนอีกอย่างหนึ่งของเกษตรกรชาว จ.นครราชสีมา คือปัญหาเรื่อง "ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง" เกษตรกรทั่วประเทศที่เข้าร่วมกับเครือข่ายสภาประชาชน 4 ภาค ที่มีกว่า 8 แสนคน โดยแต่ละคนไม่มีที่ดินทำกินแม้แต่ตารางนิ้วเดียว
ที่ผ่านมาต้องใช้ชีวิตเป็นเกษตรกรทำนาบนที่ดินคนอื่น มีที่ดินสร้างบ้านเรือนพอแค่ซุกหัวนอน พอทุนนิยมเข้ามาทำให้ความอยากมีอยากได้เหมือนเพื่อนบ้าน ผลักให้พวกเขาสู่วังวนของการเป็น "หนี้" และหนี้ที่หยิบยืมและได้เงินมาง่ายโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันคือ "หนี้เงินกู้นอกระบบ"
นานวันเข้าเงินกู้จากหลักหมื่น พอกพูนถึงหลักแสน จนกระทั่งไม่มีจ่ายและลุกลามบานปลายต้องยึดทรัพย์สิน ยึดบ้าน ยึดที่ดิน หลายแสนครอบครัวไม่มีบ้านอยู่ ไม่มีที่ดินซุกหัวนอน ต้องออกมาเร่ร่อนและอยู่ในกระต๊อบสองข้างทางที่เครือข่ายพาไปอาศัย โดยเฉพาะการเข้ายึดที่ดินของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ หรือ บสท. ซึ่งปรากฏภาพให้ได้เห็นในช่วงของรัฐบาล "ประชาธิปัตย์" ที่ผ่านมา
จนถึงวันนี้แม้ไม่มีรัฐบาลแล้ว กลุ่มคนเหล่านี้ยังยากจนเหมือนเดิม บางรายถูกรุกไล่ด้วยการเผาไล่ที่ต้องออกจากกระต๊อบที่ไปจับจองข้างทางไปอยู่กันที่ศูนย์อพยพคนไทยไร้แผ่นดินที่ ต.นากลาง อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา และถูกไล่ต่อจนต้องอพยพกันไปอยู่บนที่ดิน 600 ไร่ที่เครือข่ายเรียกร้องกับรัฐจนได้มาเป็นที่ดินทำกินของสมาชิกซึ่งรัฐแบ่งให้ครอบครัวละ 15 ไร่ เพื่อทำกิน แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่เฉพาะคนที่ได้กรรมสิทธิ์เท่านั้นที่ไปครอบครองทำกิน แต่มีเพื่อนคนจนคนอื่นๆ มาอาศัยทำกินด้วย เพราะไม่มีที่ไปรวมแล้วกว่า 1,000 ครอบครัว
ซึ่งที่ผ่านมาจากการรวมตัวเรียกร้องในนามเครือข่ายสภาประชาชน 4 ภาค มีสมาชิกเข้าร่วมกว่า 8 แสนคน ปัจจุบันพวกเขาได้รับการแก้ปัญหา โดยสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) หาที่ดินทำกินให้คนที่ยากไร้จริงๆ คนละ 15 ไร่ ได้จำนวน 400 ครอบครัว โดยที่ดินทั้งหมดให้ทำกินอย่างเดียว ห้ามซื้อขายแลกเปลี่ยน
แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมสมาชิกส่วนใหญ่ทำให้ "ประภาส โงกสูงเนิน" ในนามประธานเครือข่ายสภาประชาชน 4 ภาค ออกมาเรียกร้องเพื่อให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช.แก้ปัญหาปากท้อง ลดความเหลื่อมล้ำด้วยการหาที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรที่ยังเหลืออยู่
"ตอนนี้ที่ดินใน จ.นครราชสีมา กระจุกตัวอยู่กับนายทุนและนักการเมืองไม่กี่คน ครอบครองคนละเป็นหมื่นไร่ ขณะที่เกษตรกรชาวโคราชบางครอบครัวไม่มีที่ดินทำกิน ตรงนี้คสช.ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน ด้วยการหาที่ดินทำกินให้เกษตรกรกลุ่มนี้ ทำอย่างไรจะดึงที่ดินที่ไปกระจุกตัวอยู่ออกมากระจายให้คนยากจน ที่ผ่านมาคนรวยกับคนจนเสียภาษีอัตราเดียวกัน คนถือใบ ภบท.5 ก็เสียภาษีไร่ละ 5 บาท คนถือฉโนดที่ดินก็เสียภาษีไร่ละ 5 บาท ขณะที่คนรวยครอบครองที่ดินหมื่นไร่ก็เสียภาษีไร่ละ 5 บาทเหมือนกัน ซึ่งไม่เป็นธรรม" ประภาสบอก
พร้อมเสนอวิธีแก้ว่า วิธีการคือการจัดเก็บอัตราภาษีก้าวหน้าและภาษีมรดก ใครมีที่ดินเยอะจ่ายภาษีเยอะ ใครมีที่ดินน้อยจ่ายภาษีน้อย เพื่อจะได้ไม่เป็นปัญหา พอแก้ตรงนี้ได้จะลดบทบาทเรื่องการจับสมาชิกของเครือข่ายเกษตรกรเอาไว้ได้ เพราะเกษตรกรที่ถูกจับคือคนที่เข้าไปอยู่ในที่ของนายทุนเหล่านี้เพื่อทำกิน พอนายทุนไปแจ้งตำรวจเกษตรกรก็ถูกจับ โดยที่ความเป็นจริงแล้วคนเหล่านี้ไปพัฒนาที่ดินให้นายทุนแท้ๆ
นอกจากนั้นยังรวมไปถึงโครงการรับจำนำข้าว เกษตรกรไปเช่าที่ดินของนายทุนทำนา แต่พอจ่ายค่าข้าวออกมา คนที่เป็นเจ้าของฉโนดได้เงิน แต่คนทำนาไม่ได้เงิน บางรายไม่แบ่งเงินให้คนทำนา ทั้งที่ไปเช่าที่นาเขา การเช่าที่นาก็ต้องจ่ายเงินก่อนค่อยมาทำกินด้วยซ้ำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมที่ยังมีความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยอยู่
รวมถึงการจัดหาระบบชลประทานให้ด้วย เพื่อจะได้ทำกินได้ แล้วแบบนี้ก็ไม่มีปัญหายากจน พอมีที่ดินทำกินได้ ไม่ต้องเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม ไม่ต้องทิ้งครอบครัวไปขายแรงงาน ครอบครัวอยู่ด้วยกันอบอุ่น สิ่งเหล่านี้จะกลับมา ไม่ต้องทิ้งลูกให้เป็นภาระของสังคมเหมือนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
และที่สำคัญที่สุดคือ ปัญหาหนี้นอกระบบที่เป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องเผชิญหน้ามาตลอด 10-20 ปี ที่ยังแก้ไม่ได้เสียที นายทุนเงินกู้ที่เก็บเงินดอกสูงกว่าที่เป็นอยู่ พอไม่มีเงินจ่ายก็ยึดทรัพย์สิน จนหลายครอบครัวหนีปัญหาด้วยการทำร้ายตัวเอง ทำร้ายครอบครัว หนีปัญหาด้วยการ "ฆ่าตัวตาย"
นอกจากนั้นควรจะยกเลิการให้สัมปทานที่ดินกับนายทุน เพื่อปลูกป่าและไล่จับเกษตรกรที่ทำกินในป่า ควรจัดสรรที่ดินป่าเสื่อมโทรมให้เกษตรกรทำกินได้ เพราะเกษตรกรกับป่าอยู่ด้วยกันอยู่แล้ว เป็นไปไม่ได้ที่เกษตรกรจะไปบุกรุกป่าโดยไม่มีพ่อค้า ข้าราชการหนุนหลัง ปัญหารุกป่าทุกที่มีข้าราชการ พ่อค้า หนุนหลังอยู่ทั้งสิ้น
และข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมที่สุดที่เครือข่ายได้นำเสนอคือการผลักดันให้เกิดกฎหมายที่ดิน 4 ฉบับที่เคยนำเสนอมายาวนาน แต่ไม่ได้รับการเหลียวแลเคยเสนอยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ แต่พอพรรคเพื่อไทยมาเป็นรัฐบาลกลับไม่ยอมสานต่อ ทำให้ไม่มีคณะทำงาน ชาวบ้านก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือ หาก คสช.กล้าที่จะแก้ปัญหาที่ดินทำกินอย่างเป็นรูปแบบและจริงจัง อยากให้มองและพิจารณากฎหมาย 4 ฉบับนี้ด้วย
โดยกฎหมายที่ดิน 4 ฉบับที่ว่า ประกอบด้วย 1.พ.ร.บ.อัตราภาษีก้าวหน้าเป็นกฎหมายที่ทำให้เกิดการแบ่งปันและกระจายความมั่งคั่งจากผู้ถือครองที่ดินมากไปสู่คนยากจนและผู้ด้อยโอกาส 2.พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน ทำหน้าที่เป็นกลไกสนับสนุนให้เกษตรกรและคนยากจนมีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยโดยให้เกษตรกรหรือคนยากจนกู้ยืมเพื่อซื้อที่ดินไถ่ถอน ที่ดินปรับปรุงพัฒนาที่ดิน ฯลฯ 3.พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรเป็นกฎหมายที่ส่งเสริมและเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมและกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรที่เคยรวมศูนย์ ผูกขาดอยู่ที่หน่วยงานภาครัฐมาสู่ชุมชนท้องถิ่น
และ 4.พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรมเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมในการช่วยเหลือ เยียวยาและสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ยากไร้ จำเลยและผู้เสียหาย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เช่น ค่าประกันตัว ค่าทนายความ ค่าธรรมเนียมศาลและอื่นๆ เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม
"ซึ่งหลักการและแนวทางของกฎหมายดังกล่าวสอดคล้องและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ว่าด้วยสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรแห่งชาติว่าด้วยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ (ม.66 ม.67) การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม 85 (2) และแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐว่าด้วยการถึงกระบวนการยุติธรรมการผลักดันขับเคลื่อนกฎหมาย 4 ฉบับ จึงเป็นการแปลงสาระหลักการตามรัฐธรรมนูญไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม" ประภาส เสนอหาทางออกอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งต้องรอดูว่าจะได้รับการตอบรับหรือไม่
ที่มา คมชัดลึก วันที่ 24 มิ.ย. 2557