ในอดีตที่ผ่านมา การไร้ที่ดินทำกินของเกษตรกรในเขตชนบทของประเทศไทยถือเป็นปัญหาที่สำคัญระดับชาติเรื่องหนึ่ง
การที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีอาชีพพื้นฐานด้านเกษตรกรรม ที่ดินทำกินจึงเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ภาครัฐเองก็พยายามหามาตรการในการจัดที่ทำกินให้แก่ประชาชนเหล่านั้น เช่น การจัดที่ดินเพื่อการครองชีพหรือการจัดที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม เป็นต้น แต่ปัญหาที่ดินทำกินถูกเปลี่ยนมือหรือการสูญเสียที่ดินทำกินให้แก่บุคคลอื่น ยังคงมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น นอกจากส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ผลิตโดยตรงแล้ว ยังทำให้เกิดปัญหาการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติเช่น ป่าไม้ สัตว์ป่า อันเนื่องมาจากการบุกรุกเขตป่าเพื่อแสวงหาที่ดินทำกินแห่งใหม่อีกด้วย
รัฐบาลชุดที่แล้วได้นำเอาแนวความคิดในการจัดการที่ดินของชุมชน เช่น การให้สิทธิในการบริหารจัดการที่ทำกินเพื่อการอนุรักษ์ หรือการอนุญาตให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินของรัฐได้โดยไม่ต้องมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ด้วยการมีหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ชัดเจน เพื่อให้สมาชิกของชุมชนปฏิบัติแปรเป็นรูปธรรม เพื่อให้ชุมชนมีความมั่นคงในการใช้ประโยชน์จากที่ดินของรัฐ โดยไม่ถูกขับไล่หรือจับกุมเหมือนที่ผ่านมา และยังสามารถ ตกทอดถึงลูกหลานของคนในชุมชนได้
รูปธรรมอย่างหนึ่งของการจัดการที่ดินตามแนวคิดดังกล่าวก็คือ โฉนดชุมชน หรือ โฉนดที่ดินชุมชน ซึ่งถือเป็นการสรุปบทเรียนการแก้ไขปัญหาที่ทำกินของเกษตรกรไทยที่ผ่านมา และทำให้รัฐมีความคล่องตัวในการแก้ไขปัญหาในหลายพื้นที่ที่มีความแตกต่างกันในทางภูมิประเทศ ตลอดจนสังคมและวัฒนธรรมได้มากยิ่งขึ้น
การจัดทำโฉนดชุมชนจะก่อให้เกิดการร่วมมือกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติของคนทั้งชุมชน โดยมีกติกาที่ชัดเจนและจะต้องถูกกำกับโดยชุมชนซึ่งมีหลักการสำคัญคือ เป็นการดำเนินการในพื้นที่ของรัฐที่มีความขัดแย้งในการถือสิทธิครอบครอง ชุมชนที่จะได้รับโฉนดชุมชนควรเป็นชุมชนที่มีอยู่ก่อนไม่น้อยกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด การให้การรับรองในสิทธิทำกิน โดยคุ้มครองให้ทำเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยที่เรียกว่า"โฉนดชุมชนทั้งผืน" โดยมอบให้ชุมชนเก็บรักษา แต่จะไม่ให้สิทธิดังกล่าวกับปัจเจกหรือเฉพาะบุคคล นอกจากนี้ชุมชนที่ได้สิทธิในที่ดินต้องร่วมกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยไม่ให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มเติม หากมีสมาชิกของชุมชนดำเนินการผิดระเบียบและเงื่อนไขการใช้ประโยชน์ หน่วยงานกำกับดูแลอาจดำเนินการเพิกถอนได้
ข้อดีหรือประโยชน์ที่คาดจะได้รับจากโฉนดชุมชนก็คือประชาชนที่ถือครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ จะได้รับการรับรองให้มีความมั่นคงในการอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินภายใต้กำกับของรัฐ ทำให้เกิดแรงจูงใจในการพัฒนาพื้นที่และการผลิตที่ยั่งยืน แทนที่จะรีบใช้ทรัพยากรให้มากที่สุดจากความไม่มั่นคงในการถือครองที่ดิน ภาครัฐจะได้เปลี่ยนบทบาทจากการจัดการดูแลประชาชนมาเป็นผู้คอยกำกับดูแลชุมชนให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด โดยมอบภาระหน้าที่การจัดการดูแลให้เป็นของชุมชน นอกจากนี้ชุมชนที่ได้โฉนดชุมชนยังมีความชอบธรรมที่จะใช้สิทธิปกป้องทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ข้างเคียง เช่น ป่าต้นน้ำ หรือป่าชุมชน เพราะอาจมีผลกระทบกับการใช้ที่ดินของตนเองได้
การแก้ปัญหาเกษตรกรไร้ที่ทำกินหรือรับรองสิทธิที่ดินของชุมชน เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน รัฐบาลจึงควรเร่งรัดให้มีความชัดเจน และมอบหมายว่าจะดำเนินการไปในทิศทางใด การดำเนินการเรื่องโฉนดชุมชน ถือได้ว่ารัฐได้ให้การยอมรับความมีอยู่ของสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 66 และมาตรา 85 เรื่องแนวนโยบายด้านที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่กำหนดให้รัฐต้องกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและดำเนินการให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในที่ดินเพื่อประกอบการเกษตรกรรมอย่างทั่วถึง โดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีการอื่น อีกทั้งยังสอดคล้องกับแนวคิดการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอีกด้วย
การทำให้นโยบายโฉนดชุมชนเกิดขึ้นได้จริงอย่างสมบูรณ์แบบ จะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่นอกจากจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ทำกินของเกษตรกรไทยแล้วยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ทำให้ชุมชนท้องถิ่นชนบทสามารถยืนอยู่บนขาของตนเองได้ และต้านทานมิให้ชุมชนสูญเสียวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงาม อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังสร้างความรู้สึกให้ชุมชนรู้สึกหวงแหนทรัพยากรของประเทศ เพื่อปกป้องการรุกล้ำทรัพยากรของนายทุนทั้งในประเทศและนอกประเทศ
แม้นโยบายและการดำเนินการบางส่วนที่เกี่ยวกับโฉนดชุมชนจะได้เกิดขึ้นในรัฐบาล ชุดที่แล้ว แต่หากรัฐบาลปัจจุบันพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ ย่อมถือเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลปัจจุบันจะนำนโยบายดีๆที่กล่าวมาข้างต้น ไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมและครบถ้วนสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เพื่อประโยชน์แก่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่เพื่อประโยชน์โดยรวมของประเทศ
โดย รุจิระ บุนนาค
คอลัมน์ กฏ กติกา ธุรกิจ นสพ.แนวหน้า
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.