ซ้ายมือของท่าน คือ แบบจำลองโครงการก่อสร้าง วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน ของมหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งตอนนี้ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว
ส่วนภาพด้านขวามือ คือ สภาพปัจจุบันของที่ดินแปลงเดียวกันซึ่งชาวบ้านประมาณ ๑๓๐ ครอบครัวใช้เป็นที่ทำนา ปลูกผัก ปาล์ม ยางพารา รวมทั้งใช้เป็นที่เลี้ยงวัวมานานกว่า ๗๐ ปี ... เกิดอะไรขึ้นบนทุ่งกว้างอันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้ ทำไมคนสองสามชุมชนที่อาศัยอยู่ที่นี่จึงต้องลุกขึ้นมาคัดค้านสถาบันการศึกษา และเหตุใดมหาวิทยาลัยจึงต้องมาทะเลาะขัดแย้งกับชุมชนนับสิบปีเพียงเพื่อจะเอาที่ดินมาสร้าง “วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน” ทั้งที่หากดูจากชื่อวิทยาลัยก็น่าจะมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนกันและการมีมหาวิทยาลัยอยู่ใกล้บ้านก็น่าจะเป็นผลดีกับคนที่นี่ไม่ใช่หรือ ?
ที่สาธารณประโยชน์ทุ่งสระ ซึ่งถูกกำหนดเป็นที่ตั้งโครงการนี้มีสภาพเป็นผืนนาติดต่อกันหลายร้อยไร่ ที่นี่สมบูรณ์มากเนื่องจากอยู่ติดกับป่าพรุริมทะเลน้อยแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดพัทลุง ชาวบ้านหลายหมู่บ้านของตำบลพนางตุง ทำกินและอาศัยอยู่ที่นี่มาหลายสิบปี โดยแต่ละครอบครัวซึ่งมี ๘ ไร่บ้าง ๕ ไร่บ้าง ๓ ไร่บ้างได้ใช้ที่ดินผืนนี้ทำนา ๕ เดือนต่อปี หลังจากนั้นก็ใช้เป็นที่เลี้ยงวัว ปลูกพริกขี้หนู ปลูกผักสลับกันไป แม้ชาวบ้านที่นี่จะมีหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ ( ภบท. ๕ ) มาตั้งแต่ก่อน พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งเป็นเอกสารราชการที่ยืนยันว่าเขาอยู่ที่นี่มานานแล้วก็ตาม แต่เมื่อทางการประกาศให้ที่ดินผืนนี้เป็นที่สาธารณประโยชน์ ชาวบ้านก็ต้องตกเป็นผู้ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ไม่มีโฉนด ไม่มี นส. ๓ อย่างไรก็ตามทุกครอบครัวก็ได้พึ่งพาดูแลที่ดินผืนนี้มาโดยตลอดไม่เคยมีหน่วยงานราชการใดเข้ามายุ่งเกี่ยว
ต้นปี ๒๕๓๗ ดินแปลงนี้ถูกกำหนดเป็นที่ตั้งโครงการก่อสร้างมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ( ภาคใต้ ) สภาองค์การบริหารส่วนตำบลในขณะนั้นได้ประชุมและมีมติอนุมัติให้ใช้พื้นที่จำนวน ๑,๕๐๐ ไร่ เพื่อก่อสร้างมหาวิทยาลัย ในขณะชาวบ้านที่เพิ่งมาทราบรายละเอียดในภายหลัง หลายคนเริ่มส่งเสียงคัดค้านเพราะที่ตั้งมหาวิทยาลัยไปทับซ้อนกับที่บ้าน ที่นา แต่อีกหลายคนเช่นกันที่รู้สึกยินดีเพราะต้องการเห็นมหาวิทยาลัยเข้ามาตั้งอยู่ริมรั้วบ้านแม้จะมีเสียงคัดค้านอยู่บ้างแต่การก่อสร้างก็เริ่มขึ้น สิ่งที่มหาวิทยาลัยทำเป็นอันดับแรก คือ การทำรั้วคอนกรีตสูงเกือบ ๓ เมตร พร้อมทั้งขุดคูขนาดใหญ่แสดงเขตกั้นระหว่างตัวหมู่บ้านกับมหาวิทยาลัย รวมทั้งสร้างอาคารขึ้นมา ๒ หลัง ทว่าไม่มีการดำเนินการอะไรต่อจากนั้น เวลาผ่านไปเป็นปีก็ไม่มีวี่แววว่ามหาวิทยาลัยจะเปิดทำการ ในขณะที่ผลกระทบเริ่มเกิดขึ้นแล้ว คูน้ำขนาดเท่าคูเมืองส่งผลต่อทิศทางน้ำและเริ่มทำให้มีน้ำไม่เพียงพอที่จะทำนา รั้วคอนกรีตขนาดใหญ่ก็ทำให้คนเลี้ยงวัวต้องเดินอ้อมเป็นกิโลเพื่อนำวัวไปเลี้ยงริมป่าพรุ ไม่นานต่อจากนั้นชาวบ้านก็ทราบข่าวว่ามหาวิทยาลัยไปได้ที่ดินแห่งใหม่ในอีกอำเภอหนึ่งซึ่งมีพื้นที่กว่า ๓,๐๐๐ ไร่ และอยู่ติดถนนเอเชีย เขาเปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ที่ดินแปลงนี้จึงไม่ได้รับการพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยและชาวบ้านก็ได้เข้าทำกินกันตามปกติ
เรื่องราวไม่ได้ยุติลงแค่นั้น ปัญหาใหญ่กลับมาสู่ชุมชนนี้อีกครั้งหลังเวลาผ่านไปกว่า ๑๐ ปี ต้นปี ๒๕๕๑ มหาวิทยาลัยทักษิณกลับมาขอใช้พื้นที่แปลงนี้อีก ภายใต้โครงการก่อสร้างวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน เที่ยวนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ลุกขึ้นคัดค้านเนื่องจากเห็นว่ามหาวิทยาลัยมิได้มีความจริงใจและที่ดินแห่งใหม่ก็เพียงพอที่จะใช้ก่อสร้างแล้ว อีกทั้งการดำเนินการที่ผ่านมาก็ได้สร้างผลกระทบแก่ชุมชนในทุกด้าน มหาวิทยาลัยยังคงใช้วิธีการเช่นเดิม คือ ไม่เข้ามาสอบถามความเห็นหรืออธิบายโครงการต่อชาวบ้าน แต่เลือกเข้าหากลไกในระดับจังหวัดเพื่อพิจารณาให้ตนใช้ที่ดินแปลงนี้ กระทั่งคณะกรรมการในระดับจังหวัดซึ่งมีข้าราชการเพียงไม่กี่คนและส่วนใหญ่ไม่เคยลงมาดูพื้นที่ มีความเห็นว่าควรให้มหาวิทยาลัยใช้ที่ดินจำนวน ๖๓๕ ไร่ เพื่อก่อสร้างวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน ปรากฏว่าในขณะรอการขออนุมัติจากกระทรวงมหาดไทย มหาวิทยาลัยกลับเร่งก่อสร้างอาคารทั้งที่ยังไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง การคัดค้านจากชาวบ้านจึงเข้มข้นขึ้น ไล่ตั้งแต่การยื่นหนังสือร้องเรียนต่อเทศบาล อำเภอ จังหวัด คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมทั้งแจ้งความดำเนินคดีมหาวิทยาลัยในข้อหาบุกรุกที่สาธารณประโยชน์ แต่ก็ไม่มีการดำเนินการใด ๆ จากเจ้าหน้าที่ เทศบาลในฐานะหน่วยงานดูแลพื้นที่โดยตรงก็เพียงทำหนังสือคัดค้านการก่อสร้าง มีรายงานการตรวจสอบและการประชุมของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติระบุชัดเจนว่าการเข้าก่อสร้างอาคารของมหาวิทยาลัยเป็นการกระทำที่ยังไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย แต่ทั้งหมดก็ไม่สามารถหยุดการดำเนินการของวิทยาลัยได้ กลุ่มอาคารรูปทรงแปลกหลายหลังถูกสร้างขึ้นบนที่นาของชาวบ้านหลายคน หลายคนถูกแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาทำให้เสียทรัพย์จากการรวมตัวคัดค้านเข้ารื้อถอนผังไม้และเสาคอนกรีต เมื่อมหาวิทยาลัยยังคงเดินหน้าก่อสร้างอาคารทั้งที่มีหนังสือสั่งการของเทศบาลให้ชะลอไว้ก่อน ปฏิบัติการของกลุ่มชาวบ้านเกิดขึ้นหลังจากเรียกร้องให้เทศบาลและตำรวจเข้าแก้ไขปัญหาแต่ไม่เป็นผล นับจากนั้นกฎหมายและการฟ้องคดีได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่มหาวิทยาลัยเลือกใช้เพื่อสกัดกั้นการรวมตัวคัดค้านของกลุ่มชาวบ้าน แต่ดูเหมือนว่าวิธีการแบบนี้อาจใช้ไม่ได้ผลนักกับคนที่นี่ เพราะแม้จะถูกยื่นฟ้องต่อศาลแต่ทุกคนยังยืนยันที่จะเข้าต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมเพื่อบอกเจตนากับผู้พิพากษาว่าพวกเขาเพียงต้องการปกป้องที่ดินทำกินและมีแนวทางในการจัดการที่ดินร่วมกันในรูปแบบโฉนดชุมชน ชาวบ้าน ๒๓ รายถูกมหาวิทยาลัยทักษิณแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาทำให้เสียทรัพย์และบุกรุกที่สาธารณประโยชน์ คดีอยู่ในชั้นพนักงานอัยการและการพิจารณาของศาลและปัจจุบันในพื้นที่ก็ยังมีเหตุขัดแย้งระหว่างวิทยาลัยกับชุมชนกันอยู่เป็นระยะ
ขอกลับมาที่คำถามเดิมครับ เหตุใดมหาวิทยาลัยจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ที่ดินซึ่งทราบดีว่าเป็นที่ทำกินของชาวบ้าน ด้วยเหตุผลเพียงจะนำมาสร้างวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน ? หากจะแปลกันตามตัวอักษร ภูมิปัญญา คือ องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากผืนดิน นั่นก็หมายความว่า ภูมิปัญญาชุมชน จะเกิดขึ้นไม่ได้หากคนในชุมชนไร้ซึ่งที่ดินทำกิน เช่นนั้นแล้ว “ภูมิปัญญาชุมชน” ในสายตามหาวิทยาลัย เป็นแบบไหนเล่า ? คือกลุ่มอาคารขนาดใหญ่ ออกแบบตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมท้องถิ่นอันงดงาม หรือคือห้องจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้โบราณที่หาดูได้ยากยิ่ง หรือคือสถานที่ที่จัดให้ปราชญ์ชาวบ้านมาสาธิตการทำสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุพื้นบ้าน หรือคือห้องจำลองวิถีชีวิตผู้คนในอดีต หรือคือสถานที่จัดรวบรวมพันธุ์ไม้หายากในภาคใต้หรือคือเพียงสถานที่เปิดให้บริการจัดประชุมสัมมนาของบุคคลทั่วไป
ผมคิดว่ามันเป็นคำถามที่สำคัญนะครับว่าเรามอง ภูมิปัญญาชุมชน ในความหมายแบบไหนเพราะหากเราเห็นมันเป็นเพียงของเก่าที่มีคุณค่าแต่รอวันล่มสลาย เราก็จะทำทุกวิถีทางเพียงเพื่อจะสร้างที่เก็บมันไว้ในอาคารและห้องกระจกแล้วทำเป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชม แต่หากเราเห็นมันในฐานะคุณค่าที่ดำรงอยู่และต้องพัฒนาต่อไป มหาวิทยาลัยก็จะมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาศึกษาวิจัยเพื่อสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นที่ล้วนกำลังประสบปัญหารุมเร้าอยู่ในทุกด้าน ธุรกิจการท่องเที่ยวที่เริ่มเข้ามาพร้อมข้อเสนอให้ราคาที่ดินสูงลิ่วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน สภาพภูมิอากาศ ระบบนิเวศน์ ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ไม่เอื้อให้พวกเขาพึ่งพาการทำเกษตรเพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป ยังไม่ต้องนับรวมถึงแผนพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ที่จะส่งผลกระทบต่อทั้งคนที่นี่และคนภาคใต้ทั้งหมด ดังนั้นแล้วการร่วมกับชุมชนศึกษาองค์ความรู้ท้องถิ่นแล้วนำมาผสานกับหลักวิชาการสมัยใหม่เพื่อใช้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นน่าจะเป็นภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยมากกว่าการตั้งหน้าเข้าแย่งยึดที่ดินมาสร้างอาคารสถานที่ มิใช่หรือ ?
ข้อมูลจากเวปไซด์วิกิพีเดียระบุจำนวนที่ดินของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทยไว้อย่างน่าตกใจ ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นครศรีธรรมราช เนื้อที่ประมาณ ๙,๐๐๐ ไร่ , มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง เนื้อที่ประมาณ ๓,๕๐๐ ไร่ , มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง เนื้อที่ประมาณ ๑,๗๕๐ ไร่ , มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เนื้อที่ประมาณ ๕,๒๒๘ ไร่ , มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เนื้อที่ประมาณ ๑,๓๐๐ ไร่ , มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เนื้อที่ประมาณ ๔,๙๙๗ ไร่ ที่ดินเหล่านี้เดิมส่วนใหญ่เป็นที่ดินของรัฐแต่ปัจจุบันถือเป็นทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล / เอกชนซึ่งเพิ่งแปรรูปออกนอกระบบราชการกันเมื่อไม่กี่ปีที่แล้ว
เหตุผลอะไรเล่าที่สถาบันการศึกษาเหล่านี้ต้องครอบครองที่ดินจำนวนนับพันนับหมื่นไร่ ? มีที่ดินมากแล้วจะสามารถผลิตบัณฑิตได้มากอย่างนั้นหรือ ก็คิดว่าคงไม่ใช่ เพราะมหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยาเขตหัวหมาก ซึ่งมีเนื้อที่เพียง ๓๐๐ ไร่เศษ แต่เพิ่งฉลองบัณฑิตคนที่ ๑ ล้านไปเมื่อไม่กี่ปีก่อน มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องใช้ที่ดินจำนวนมากเพื่อสร้างอาคารสถานที่ให้เพียงพอกับการจัดการเรียนการสอนอย่างนั้นหรือ ก็คิดว่าคงไม่ใช่อีกเพราะเท่าที่ลองเข้าไปดูหลายที่ก็ใช้ที่ดินจริง ๆ เพียงไม่ถึงครึ่ง อาคารเรียนอยู่ห่างกันเป็นกิโลเมตร ที่หนักกว่านั้นปรากฏว่าหลายที่ปล่อยที่ดินทิ้งร้างไม่ได้เข้าไปใช้ประโยชน์อะไรเลย ถ้าอย่างนั้นแล้วเหตุใดมหาวิทยาลัยจึงครอบครองที่ดินไว้มากมายขนาดนั้น ? อันนี้ก็ขอตั้งเป็นคำถามกันไว้
ผมคิดว่าท่ามกลางความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงที่ดินอันเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยในขณะนี้ มหาวิทยาลัยน่าจะเป็นหน่วยงานหนึ่งที่จะมีบทบาทในการศึกษาวิจัยและตีแผ่ข้อมูลทางวิชาการต่าง ๆ ให้สาธารณะเห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้ โดยฐานะแล้วมหาวิทยาลัยควรเป็นพื้นที่และทำภารกิจสำคัญที่จะเข้ามาสนับสนุนการแก้ไขปัญหาของชุมชนและสังคมด้วยนอกจากจัดการเรียนการสอน เพราะหากเรายังไม่มีการทบทวนในประเด็นเหล่านี้อย่างจริงจังผมคิดว่าตัวสถาบันการศึกษาก็สุ่มเสี่ยงที่จะตกเป็นผู้กระทำละเมิดต่อชุมชนเสียเองหรือกลายเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ปัญหามีความรุนแรงมากกว่าที่เป็นอยู่ ดังที่เกิดขึ้นแล้วกับกรณีโครงการก่อสร้างวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน ของมหาวิทยาลัยทักษิณ
กฤษดา ขุนณรงค์
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.