ในวันที่ 27 เดือนกันยายน พ.ศ.2554 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลพระพุทธ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา มีสาระสำคัญคือ กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เพื่อที่จะสร้างทางหลวงชนบท ตามโครงการก่อสร้างอุโมงค์ลอดทางรถไฟบริเวณจุดตัดกับทางหลวงชนบท นม.3024 เพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่งอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค
การดำเนินงานการก่อสร้างอุโมงค์ลอดทางรถไฟนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องกับ พ.ร.บ. เงินกู้ 2 ล้านล้าน ที่มีโครงการออกแบบมาตรฐานอุโมงค์ลอดทางรถไฟ จุดตัดทางรถไฟกับถนน นม.3024 แยก ทล. 226–บ.โนนม่วง จ.นครราชสีมา สิ่งที่จะตามมาก็คืออุโมงค์ลอดทางรถไฟสำหรับยานพานะทั้งหลายที่วิ่งบนท้องถนน ซึ่งการดำเนินงานส่วนนี้เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบทที่จะต้องเข้ามาเวนคืนที่ดินทั้งสองฟากถนน
จากการสอบถามชาวบ้านในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบเพราะมีที่ดินอยู่ในพื้นที่ที่จะถูกเวนคืน มีชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก และอีกส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าพวกแรก ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก มักจะไม่มีที่ดินต่อขยายไปยังพื้นที่ด้านหลัง เมื่อโดนปักหมุดแนวเขตเวนคืนก็จะโดนที่ดินทั้งแปลง ไม่ก็เหลือที่ดินเพียงเล็กน้อยใช้ทำประโยชน์อะไรไม่ได้ ก็จะต้องย้ายไปอยู่ที่อื่นที่ไม่ติดถนนใหญ่ อย่างในบริเวณทุ่งนา ซึ่งบางพื้นที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง แต่ก็ยังไม่มีชาวบ้านในท้องที่คนไหนที่ได้รับผลกระทบถึงขั้นต้องย้ายออกนอกพื้นที่ไปต่างจังหวัด นอกจากชาวบ้านจากที่อื่นที่มาเช่าบ้านอยู่ในพื้นที่ที่ถูกเวนคืน ซึ่งเป็นคนต่างจังหวัดเสียส่วนใหญ่ ส่วนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบน้อยมักจะมีที่ดินต่อขยายไปยังพื้นที่ด้านหลัง สามารถที่จะขยับบ้านทั้งหลัง (ที่เป็นบ้านโครงไม้) ย้ายไปยังพื้นที่ด้านหลังให้เลยแนวเขตที่ดินจะถูกเวนคืนได้ ซึ่งชาวบ้านก็ไม่ได้คัดค้านหรืออุทธรณ์อะไร เพราะพอใจกับค่าทดแทนที่ได้รับ
รัฐบาลจะมีค่าทดแทนให้สำหรับคนที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดิน ซึ่งค่าทดแทนนี้มีทั้ง ค่าทดแทนที่ดิน ค่าทดแทนอาคาร และค่าทดแทนต้นไม้ยืนต้นและพืชผล (รวมค่ารื้อถอนด้วย) บ้านหลังไหนได้รับค่าทดแทนแล้ว (ซึ่งจะมีหนังสือแจ้งมาให้ไปรับเช็ค แล้วให้ไปขึ้นเงินที่ธนาคาร) จะต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายใน 120 วัน (ก่อนการรื้อถอนก็จะต้องมีการถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน) ซึ่งการประเมินค่าทดแทนของกรมทางหลวง ทำให้ชาวบ้านบางคนไม่พอใจกับราคาประเมินที่ได้รับ ก็จะสามารถอุทธรณ์ได้ภายใน 60 วัน จากนั้นกรมทางหลวงดำเนินการส่งคนมาประเมินใหม่ แล้วก็รอผลที่อุทธรณ์ว่าจะได้รับค่าชดเชยเพิ่มหรือไม่ ซึ่งการดำเนินงานในส่วนนี้ยังช้าอยู่ ชาวบ้านที่อุทธรณ์ไปยังไม่ได้รับผลการอุทธรณ์ ส่วนเรื่องค่าทดแทนนั้นรัฐบาลจะจ่ายให้ก่อน 75% จากนั้นจะจ่ายส่วนที่เหลืออีก 25% เมื่อชาวบ้านรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในที่ดินเสร็จสิ้นแล้ว
นอกจากนั้นในด้านการแจ้งให้ชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรับรู้ อบต.ก็ได้จัดให้มีการประชุมมาประมาณปีหรือสองปีมาแล้ว (ซึ่งจะจัดการประชุมเรื่อยๆ มีการประชุมใหญ่ประมาณ 3 ครั้ง) ส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนก็จะไปเข้าร่วมการประชุมชาวบ้านบางคนเข้าประชุมทุกครั้งที่มีการประชุม บางคนไม่ว่างไปก็จะส่งตัวแทนให้เข้าไปร่วมการประชุม (การประชุมครั้งล่าสุด เป็นการทำสัญญาระหว่างรัฐกับชาวบ้าน มีหนังสือมาแจ้งบอกกล่าวไว้ล่วงหน้า เมื่อทำสัญญาเสร็จสิ้น ก็ให้ไปยังกรมที่ดิน เพื่อทำโฉนดที่ดินใหม่) ซึ่งในการประชุม อบต.ไม่ได้มีการพูดหรือชี้แจ้งให้ชาวบ้านรับฟังเกี่ยวกับเรื่อง พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน จะชี้แจ้งก็แต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน้างานที่จะทำการเวนคืนที่ดินเพื่อที่จะทำอุโมงค์ลอดผ่านเท่านั้น ตอนประชุมก็มีการให้ชาวบ้านร่วมแสดงความคิดเห็นว่าชาวบ้านจะเอาสะพานข้ามทางรถไฟหรืออุโมงค์ลอดทางรถไฟ ซึ่งผลปรากฏว่าเสียงส่วนใหญ่เลือกที่จะให้สร้างอุโมงค์
พลกฤษณ์ พลรักษ์
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.