สารคดีไทยรัฐออนไลน์สัปดาห์นี้ ว่ากันด้วยเรื่องป่าที่ไม่ธรรมดา เพราะว่าป่าฝนผืน
นี้มีไว้เพื่อขาย...
อันเดรส ลิงก์ นักไพรเมตวิทยา (primatologist) ประจำมหาวิทยาลัยลอสอันเดส ในเปรู
เดินฝ่าอากาศหนาวเย็นและชื้นแฉะของยามเช้า ฟ้าเพิ่งจะสาง แต่ราวป่ากลับระงมไปด้วย
สรรพสำเนียงของสัตว์นานาชนิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ลิงก์ได้ยินได้ฟังในยามเช้าของทุกวัน ขณะ
เดินท่องผืนป่า ซึ่งอาจเรียกได้ว่า มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก
ต้นนุ่นยักษ์และมะเดื่อ ที่มีรากค้ำยันแผ่กว้างเหนือพื้นดินยืนต้นตระหง่านราวเสาหินโรมันพุ่ง
ขึ้นสู่เรือนยอดไม้ กิ่งก้านสาขาที่ปกคลุมไปด้วยกล้วยไม้และพืชจำพวกบรอมีเลียด หรือ
สับปะรดสี ช่วยหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต ทั้งแมลง สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก นก และสัตว์เลี้ยง
ลูกด้วยนม ขณะที่รากอากาศของต้นไทรพันเลื้อยกระหวัดรัดรอบลำต้นอย่างแน่นหนา
เราเลี้ยวลงทางลาดชันเข้าสู่ผืนป่าที่มีต้นปาล์มหน้าตาประหลาด ชื่อว่า ปาล์มโซคราเทีย
(Socratea exorrhiza) ขึ้นอยู่ทั่วไป ปาล์มชนิดนี้มีรากลอยสูงเหนือพื้นดินขึ้นมาหนึ่งเมตร
ซึ่งเอื้อให้พวกมันสามารถขยับตำแหน่งได้เล็กน้อย เพื่อหาแสงสว่างและธาตุอาหาร นี่เป็น
เพียงหนึ่งในเรื่องราวที่ไม่ค่อยมีใครได้รับรู้หลายล้านเรื่องว่าด้วยการปรับตัวเชิงวิวัฒนาการ
ที่เกิดขึ้นรอบๆ สถานีศึกษา ความหลากหลายทางชีวภาพตีปูตีนี หรือทีบีเอส (Tiputini
Biodiversity Station: TBS) ภายใต้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโกเดกี
โต ซึ่งครอบคลุมผืนป่าบริสุทธิ์เนื้อที่ 6.5 ตารางกิโลเมตร ตรงบริเวณชายขอบอุทยาน
แห่งชาติยาซูนี (Yasuní National Park) อุทยานแห่งนี้ ครอบคลุมพื้นที่ป่าดิบชื้นเกือบ
9,800 ตารางกิโลเมตร ทางตะวันออกของเอกวาดอร์
ทำเลที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติยาซูนี ช่วยโอบอุ้มความรุ่มรวยเหล่านี้เอาไว้ โดยตั้งอยู่ตรง
จุดตัดระหว่างเทือกเขาแอนดีส เส้นศูนย์สูตร และภูมิภาคลุ่มน้ำอะเมซอน อันเป็นทำเลทอง
ทางนิเวศวิทยา ที่ซึ่งพืชพรรณ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมใน
แถบอเมริกาใต้ มากระจุกกันอยู่อย่างมากมาย ฝนตกหนักเกือบทุกวันตลอดทั้งปี และมี
สัญญาณบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงฤดูกาลน้อยมาก แสงแดด ความอบอุ่น และความชุ่ม
ชื้นเป็นปัจจัยอยู่คู่กับผืนป่าชั่วนาตาปี
พื้นที่แถบนี้ของลุ่มน้ำอะเมซอน ยังเป็นบ้านของชนพื้นเมืองสองกลุ่ม ได้แก่ ชนเผ่าคิชวา
และชนเผ่าเวารานี ซึ่งตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายตลอดแนวถนนและแม่น้ำสายต่างๆ การ
ติดต่อสัมพันธ์ครั้งแรกระหว่างชาวเวารานีกับกลุ่มหมอสอนศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์
เกิดขึ้นอย่างสันติในช่วงปลายทศวรรษ 1950 ทุกวันนี้ ชุมชนชาวเวารานีส่วนใหญ่มีส่วน
ร่วมในการค้า และแม้กระทั่งกิจกรรมการท่องเที่ยวกับโลกภายนอก ไม่ต่างจากชาวคิชวา
ซึ่งเป็นอดีตชนเผ่าคู่อาฆาต กระนั้นชนเผ่าเวารานีสองกลุ่มได้หันหลังให้การติดต่อกับโลก
ภายนอก และเลือกที่จะเร่ร่อนอยู่ในพื้นที่ป่าสูงขึ้นไป ที่เรียกกันว่า โซนาอินตันคีเบล
(Zona Intangible) หรือเขตหวงห้ามที่รัฐบาลกำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองคนเหล่านี้ แต่โชค
ร้ายที่บริเวณนี้ ซึ่งทับซ้อนกับพื้นที่ทางตอนใต้ของอุทยานแห่งชาติยาซูนี ไม่ได้ครอบคลุม
ถิ่นหากินดั้งเดิมทั้งหมดของพวกเขา ส่งผลให้นักรบของสองกลุ่มเข้าทำร้ายและขับไล่ผู้ที่
เข้ามาตั้งรกรากและตัดไม้ ทั้งภายในและภายนอกเขตหวงห้าม
อย่างไรก็ตาม ลึกลงไปใต้พื้นดินอุทยานแห่งชาติยาซูนี ยังมีขุมทรัพย์อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็น
ความท้าทายอย่างเร่งด่วนสำหรับสายใยชีวิตอันล้ำค่าบนผิวดิน นั่นคือน้ำมันดิบแห่งอะเม
ซอน ปริมาณหลายร้อยล้านบาร์เรลที่ยังไม่ถูกขุดเจาะขึ้นมาใช้ ในช่วงหลายปีมานี้ รัฐบาล
และบริษัทน้ำมันร่วมกันกำหนดเขตสัมปทานน้ำมันทับพื้นที่อุทยาน ขณะที่ผลประโยชน์
ทางเศรษฐกิจมีชัยเหนือการอนุรักษ์ในการต่อสู้เพื่อกำหนดชะตากรรมของอุทยานแห่งนี้ มี
แปลงสัมปทานอย่างน้อยห้าแปลงครอบคลุมพื้นที่ทางเหนือของอุทยาน สำหรับประเทศ
ยากจนอย่างเอกวาดอร์ แรงกดดันให้ขุดเจาะน้ำมันนั้น แทบจะเรียกได้ว่าต้านทานไม่ไหว
เลยทีเดียว รายได้จากการส่งออกครึ่งหนึ่งของเอกวาดอร์มาจากน้ำมันอยู่แล้ว โดยเกือบ
ทั้งหมดมาจากจังหวัดทางตะวันออกในลุ่มน้ำอะเมซอน
ในข้อเสนอที่มีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาครั้งแรกเมื่อปี 2007 ประธานาธิบดีราฟาเอล กอร์
เรอา เสนอที่จะไม่แตะต้องแหล่งน้ำมันดิบราว 850 ล้านบาร์เรล ในพื้นที่ทางตะวันออก
เฉียงเหนือของอุทยานแห่งชาติยาซูนี โดยไม่มีกำหนด พื้นที่แถบนี้รู้จักกันในชื่อ แปลง
ไอทีที (ITT Block) ซึ่งตั้งชื่อตามแหล่งน้ำมันสามแห่ง ได้แก่ อิชปินโก (Ishpingo) ตัม
โบโกชา (Tambococha) และตีปูตีนี (Tiputini) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการอนุรักษ์
ธรรมชาติและป้องกันการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเชื้อเพลิงฟอสซิล ราว 410
ล้านตันขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ประธานาธิบดีกอร์เรอาจึงเรียกร้องเงินชดเชยมูลค่า 3,600
ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เอกวาดอร์ต้องสูญเสียไป เขาย้ำว่าเม็ดเงินดังกล่าวจะนำไปใช้
สนับสนุนโครงการพลังงานทางเลือกและโครงการพัฒนาชุมชนต่างๆ
ความคิดริเริ่มข้างต้นที่เรียกกันว่า โครงการยาซูนีไอทีทีอินิชิเอทีฟ (Yasuní-ITT
Initiative) ได้รับความนิยมอย่างสูงในเอกวาดอร์ การสำรวจความคิดเห็นระดับชาติหลาย
ครั้งยืนยันตรงกันว่า ชาวเอกวาดอร์ตระหนักมากขึ้นว่าอุทยานแห่งชาติยาซูนีเป็นขุมทรัพย์
ทางนิเวศวิทยาที่ควรได้รับการปกปักรักษาไว้ แต่กระแสตอบรับของนานาชาติที่มีต่อ
โครงการนี้กลับไม่คึกคักเอาเสียเลย จนถึงกลางปี 2012 เอกวาดอร์ได้รับคำมั่นจาก
ประเทศผู้สนับสนุนทางการเงิน รวมแล้วเพียงแค่ราว 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ประธานาธิบดีกอร์เรอาตอบโต้ด้วยการยื่นคำขาดอย่างฉุนเฉียวหลายระลอก ขณะที่
โครงการดังกล่าวหยุดชะงักและประธานาธิบดีกอร์เรอาเตือนว่า เวลาเหลือน้อยลงทุกที
โครงการขุดเจาะน้ำมันในภาคตะวันออกของเอกวาดอร์ยังคงคืบคลานขยายวงต่อไป และ
แม้แต่รุกล้ำเข้าไปในเขตอุทยาน
ปัจจุบันบริษัทน้ำมันเปโตรอามาโซนาสของรัฐบาล กำลังเดินหน้าเต็มพิกัดในการเข้าไป
พัฒนาแปลงน้ำมัน 31 (Block 31) โดยมีการตัดถนนยาว 14.5 กิโลเมตร จากทางใต้ของ
แม่น้ำนาโปมายังแม่น้ำตีปูตีนี ไม่เพียงเท่านั้น รถแทรกเตอร์ยังได้เดินหน้าลึกเข้าไปในป่า
อีกฝั่งของแม่น้ำตีปูตีนีแล้วด้วย
การดำเนินการครั้งนี้น่าจะจุดกระแสความขัดแย้ง เพราะเป็นการบุกรุกครั้งใหม่เข้าสู่พื้นที่
อุทยาน ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์โครงการนี้เคยแย้งว่า ปริมาณน้ำมันสำรองของแปลงน้ำมัน 31
ที่รู้กันว่ามีอยู่ 45 ล้านบาร์เรลนั้นน้อยเกินไป สำหรับการลงทุนมหาศาลตามสัญญา
สัมปทาน พวกเขาชี้ว่าเหตุผลที่แท้จริงในการเข้าไปลงทุนในแปลง 31 คือการวาง
โครงสร้างพื้นฐานเตรียมไว้รองรับการเข้าสู่แปลงไอทีที ซึ่งอยู่ติดกันในท้ายที่สุด นั่น
เท่ากับเป็นการคุกคามความน่าเชื่อถือของโครงการยาซูนีไอทีทีอินิชิเอทีฟ พอๆ กับที่เป็น
ภัยคุกคามต่อสัตว์ป่าและกลุ่มชนพื้นเมืองโดดเดี่ยวที่เร่ร่อนอยู่ในพื้นที่ป่าสูงขึ้นไป
ในการมาเยือนเอกวาดอร์ครั้งนี้ ผมได้รับโอกาสให้เข้าพบเพื่อสัมภาษณ์ประธานาธิบดีกอร์
เรอา เกี่ยวกับโครงการยาซูนีไอทีทีอินิชิเอทีฟ ประธานาธิบดีกอร์เรอา วัย 49 ปี เป็นคนมี
เสน่ห์ พูดจาฉะฉาน และเฉลียวฉลาด เขาพูดตรงประเด็น ไม่อ้อมค้อม ระหว่างที่เราพูดคุย
กัน โดยบอกว่า โครงการยาซูนีไอทีทีอินิชิเอทีฟยังอยู่ระหว่างการเจรจา “เราพูดมาตลอด
ว่า ถ้าเราไม่ได้รับการสนับสนุนที่จำเป็นสำหรับโครงการนี้ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม เรา
ก็จำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากน้ำมัน ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องทำด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
และสังคมอย่างดีที่สุดครับ”
ท่านประธานาธิบดี กล่าวต่อว่า โครงการนี้นำไปสู่การตัดสินใจที่ยากลำบากอย่างแท้จริง
“เอกวาดอร์เป็นประเทศยากจน เรายังมีเด็กที่ไม่ได้ไปโรงเรียน เราต้องการระบบ
สาธารณสุขและที่อยู่อาศัยที่ดีพอ เรายังขาดอะไรอีกมากมายครับ สิ่งที่เหมาะกับ
เอกวาดอร์มากที่สุด คือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติชนิดนี้ แต่เราก็เข้าใจด้วย
ว่า เรามีส่วนรับผิดชอบในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการเผาไหม้เชื้อ
เพลิงฟอสซิล นี่แหละครับ สภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก”
เมื่อการสัมภาษณ์มาถึงบทสรุป ประธานาธิบดีกอร์เรอา ดูเหมือนคนที่ตัดสินใจแล้ว เขา
บอกว่า “ผมขอยืนยันว่าเราจะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของเรา เหมือนกับที่ทุก
ประเทศในโลกทำกัน เราไม่สามารถทำตัวเป็นยาจกนั่งทับกระสอบทองคำไว้เฉยๆได้
หรอกครับ” อย่างไรก็ตาม เขาเต็มใจจะให้ประชาชนลงมติว่าจะยอมรับสิ่งที่ชาวเอกวาดอร์
ทั่วไปเรียกกันว่าแผนสองหรือแผนบี (Plan B) นั่นคือการใช้ประโยชน์จากน้ำมันในแปลง
ไอทีทีหรือไม่
ขณะเดินลงบันไดด้านนอกทำเนียบประธานาธิบดี ผมหวนคิดถึงถนนที่กำลังสร้างอยู่ใน
แปลงน้ำมัน 31 ซึ่งเปรียบเหมือนตัวแทนของการรุกล้ำธรรมชาติ ไม่ว่าผลของโครงการยา
ซูนีไอทีทีอินิชิเอทีฟจะออกมาในรูปใด พื้นที่ขนาดใหญ่ของอุทยานแห่งชาติยาซูนีจะยังคง
อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง ผมนึกถึงคำพูดก่อนหน้านี้ของ เคลลี สะวิง ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้ง
สถานีทีบีเอส ตอนที่เรานั่งคุยกันอยู่บนดาดฟ้าสถานีวิจัย “ถ้าโครงการยาซูนีไอทีทีอินิชิเอ
ทีฟล้มเหลว เราจะพยายามหาหนทางรักษาผืนป่าบางส่วนเอาไว้ครับ” สะวิงบอกกับผม
ราวกับว่าเขาเองก็มองข้ามการตัดสินใจในเรื่องนี้ไปแล้วเช่นกัน “ประเด็นหลักที่ผมห่วงคือ
ทุกครั้งที่ประนีประนอมกับการพัฒนา เราจะลงเอยด้วยการเหลือพื้นที่ให้ธรรมชาติน้อยลง
ทุกที” เขาทิ้งท้ายด้วยการตั้งคำถามว่า “เราควรใช้ความสามารถของเราสยบธรรมชาติ
และฉวยประโยชน์จากทรัพยากรทั้งหมดเพื่อตัวเราเอง จนถึงจุดที่ธรรมชาติรับไม่ไหว
อย่างนั้นหรือ ถ้าเช่นนั้นเราคงต้องถามตัวเองแล้วล่ะว่า เราจะรู้จริงๆ หรือว่า จุดแตกหักนั้น
อยู่ตรงไหน”
เรื่อง สกอตต์ วอลเลซ ภาพถ่าย ทิม เลเมน, อีวาน คาชินสกี, การ์ลา กาเชต,
เดวิด ลิตต์ชวาเกอร์, และ สตีฟ วินเทอร์ ข้อมูลจากนิตยสารเนชั่นแนลจีโอ
กราฟฟิก ฉบับภาษาไทย
http://www.ngthai.com/ngm/1301/default.asp
ไทยรัฐ วันที่ 10 ม.ค. 56
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.