ในขณะที่ภาคีสมาชิกของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change - UNFCCC) ประชุมกันที่กรุงเทพฯ เพื่อเจรจากันต่อเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีไม่กี่คนที่ทราบว่าในช่วงที่ผ่านมารัฐไทยอยู่ในกระบวนการชี้เป้าหาตัว “อาชญากรโลกร้อน” เป็นประเทศแรก นั่นคือการฟ้อง “คดีโลกร้อน” กับประชาชนในหลายพื้นที่ของประเทศ
โดยทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ เป็นผู้กล่าวหาในการฟ้องร้องชาวบ้าน 34 คดีว่าทำให้เกิดความเสียหายเนื่องจาก “อุณหภูมิที่ร้อนขึ้น” และเรียกร้องค่าเสียหายจากชาวบ้านเหล่านั้นเป็นเงินหลายล้านบาท
ความเสียหายตามข้อกล่าวหาถูกคำนวณโดยสูตรซึ่งจำแนกความเสียหายจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้น้ำสูญเสียไปจากพื้นที่จากการแผดเผาของดวงอาทิตย์ การทำให้ฝนตกน้อยลง การทำให้ดินไม่ดูดซับน้ำฝน การทำให้ดินสูญหาย และการสูญหายของธาตุอาหารในดิน รวมทั้งมูลค่าความเสียหายอื่นๆที่มีต่อป่าไม้ประเภทต่างๆ (ป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง) สูตรการคำนวณนี้ยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงของเจ้าหน้าที่เพื่อให้ครอบคลุมถึงความเสียหายอันเนื่องมาจาก “การลดลงของความสามารถในการเก็บกักคาร์บอน” อีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น ตรรกะในการตีมูลค่าความเสียหายจากสูตรดังกล่าว ดูจะลักลั่นกับความจริง กล่าวคือ คำนวณความเสียหายจากอุณหภูมิอากาศที่ร้อนขึ้น แล้วนำมาเทียบกับต้นทุนของกระแสไฟฟ้าที่สมมติว่าต้องใช้ในการเดินเครื่องปรับอากาศขนาดยักษ์เพื่อลดอุณหภูมิในพื้นที่นั้นๆ ลงให้อยู่ในระดับ “ก่อนที่ป่าจะถูกทำลาย” หรือเป็นอุณหภูมิฐาน ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ไปตรวจวัดอุณหภูมิในช่วงกลางวันตามยอดไม้ในสถานีวิจัย 16 แห่งทั่วประเทศในช่วงสามปีที่ผ่านมา และนำมาใช้เป็นตัวแทนอุณหภูมิฐานสำหรับป่าในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง
สิ่งที่เป็นปัญหาอย่างมากของคดีโลกร้อนก็คือ ผู้ที่ตกเป็นจำเลยทั้ง 34 คนเป็นเกษตรกรรายย่อย ซึ่งอ้างว่าพวกเขาเพียงแต่ทำกินในที่ดินของตนเอง และทางการได้ปฏิเสธสิทธิในการทำกินของพวกเขาอย่างไม่เป็นธรรม ในตอนนี้พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้กลับเข้าไปในที่ดินของตน ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่พวกเขาเลี้ยงชีพตนเองได้ นอกจากนี้ยังจะต้องจ่ายค่าปรับโดยเฉลี่ยเป็นเงินจำนวน 360,000 บาท ซึ่งถ้าคิดตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน พวกเขาจะต้องทำงานทุกวันเป็นเวลาสามปีครึ่ง เพื่อหาเงินมาจ่ายค่าปรับดังกล่าว
การฟ้องคดีโลกร้อนในประเทศไทยนี้ ดูเหมือนจะเป็นกรณีสุดโต่งของการจับ “อาชญาการโลกร้อน” แบบผิดฝาผิดตัว
รากเหง้าของปัญหานี้อย่างหนึ่งคือ การประกาศเขตอุทยานเกิดขึ้นโดยไม่มีส่วนร่วมของประชาชน ในปัจจุบันมีการประกาศให้พื้นที่ 64.88 ล้านไร่เป็นพื้นที่อนุรักษ์ แต่ตัวเลขของกรมป่าไม้ในปี 2541 แสดงให้เห็นว่ามีประชาชนเกือบครึ่งล้านครัวเรือน หรือราว 1.38 ล้านคนอาศัยและทำกินอยู่ในพื้นที่เหล่านั้น แม้ชาวบ้านในหลายพื้นที่จะรวมตัวกันเป็นเครือข่ายป่าชุมชนและเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเพื่อเจรจากับรัฐ และยืนยันสิทธิที่พวกเขาอยู่ในป่ามาก่อน แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้รับโอกาสให้กันพื้นที่ทำกินดั้งเดิมของตนเองออกจากพื้นที่อนุรักษ์ที่ประกาศใหม่ แม้จะผ่านไปกว่าสองทศวรรษ ก็ยังไม่มีทางออกให้กับความขัดแย้งนี้
ยิ่งไปกว่านั้น การจับกุมผู้อาศัยอยู่ในป่าชุมชนดูจะเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เอ็นจีโอซึ่งทำงานในภาคอีสานประมาณว่า มีการจับกุมชาวบ้านในข้อหาบุกรุกพื้นที่อนุรักษ์โดยเฉลี่ย 20 กรณีต่อวัน ในบางกรณี ชาวบ้านเข้าไปทำกินในพื้นที่อนุรักษ์ในลักษณะที่เป็นวนเกษตร อย่างเช่นที่เทือกเขาบรรทัด จังหวัดตรัง ซึ่งเกษตรกรรายย่อยถูกจับกุมเมื่อพวกเขาโค่นต้นยางอายุ 30 ปีของตนเองเพื่อปลูกใหม่ การโค่นต้นเก่าเพื่อปลูกใหม่เป็นวิถีเกษตรทั่วไป และมักมีการโค่นต้นยางเมื่อไม่สามารถให้น้ำยางได้แล้ว ทำให้เกษตรกรได้เงินจากการขายไม้ และสามารถนำเงินที่ได้มาลงทุนปลูกยางรอบใหม่ ซึ่งจะต้องใช้เวลาเจ็ดปีกว่าที่จะโตพอให้กรีดยางได้เป็นครั้งแรก
เจ้าหน้าที่มองดูแผนที่หรือภาพถ่ายทางอากาศจากในสำนักงานซึ่งห่างไกลจากพื้นที่จริง จึงไม่น่าประหลาดใจที่พวกเขาจะตีเส้นแนวเขตพื้นที่อุทยานทับพื้นที่สวนยางเหล่านี้ด้วย เนื่องจากชาวบ้านทำการเกษตรแบบดั้งเดิมที่เรียกกันว่า “สวนสมรม” ซึ่งในระบบเช่นนี้ จะมีการปลูกต้นยางห่าง ๆ และปลูกพืชชนิดอื่น ๆ แทรกไปด้วย (ส่วนใหญ่จะเป็นไม้ผลและไม้ท้องถิ่นอื่นๆ อย่างเช่น ทุเรียน มังคุด สะตอ ต้นหมาก และพืชผักกินได้อย่างเช่น ใบชา ข่า) แม้ว่าผู้ทำสวนสมรมจะได้น้ำยางน้อยกว่าคนที่ทำสวนยางเชิงเดี่ยวซึ่งได้รับการส่งเสริมจากรัฐ แต่สวนวนเกษตรของพวกเขาก็ให้อาหารอย่างอื่นเป็นรายได้เสริม และยังทำให้ระบบนิเวศมีความหลากหลายทางชีวภาพ
ในหลายประเทศ วิถีเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ได้รับการส่งเสริมอย่างเต็มที่ แต่ในประเทศไทย กรมป่าไม้กำลังโค่นต้นยางและต้นมะพร้าวเล็กๆ ที่ชาวบ้านนำมาปลูกในพื้นที่พิพาท เจ้าหน้าที่ใช้ทั้งเลื่อยยนต์และใช้สารเคมีราดทำลายที่ตอไม้เพื่อไม่ให้งอกขึ้นมาได้อีก โดยอ้างว่าทำเพื่ออนุรักษ์ป่า
กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว ภาคป่าไม้ของไทยไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันที่จริงในรายงานของประเทศไทยที่ส่งให้กับสหประชาชาติตามอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ระบุว่านับแต่ปี 2543 การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและป่าไม้เป็นตัวดูดซับคาร์บอนสุทธิไว้เสียด้วยซ้ำ ในขณะที่ภาคพลังงานปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่ของไทย (70%) โดยประมาณสองในสามของการใช้พลังงานเกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมและการขนส่ง
ไทยไม่ได้เป็นประเทศแรกที่เอาผิดทางอาญากับเกษตรกรรายย่อยที่อาศัยอยู่ในป่า ในประเทศอินโดนีเซียและส่วนอื่น ๆ ของโลกก็มีการตั้งข้อหา “บุกรุกพื้นที่อนุรักษ์” เช่นเดียวกัน แต่อย่างน้อยไทยก็น่าจะเป็นประเทศเดียวที่เจาะจงกล่าวหาว่าเกษตรกรที่มีรายได้น้อยและตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม เป็นอาชญากรโลกร้อน
ในเวลาเดียวกัน นักค้าไม้รายใหญ่ เจ้าของสวนป่าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ หรือบรรดาโรงงานอุตสาหกรรม อาคารขนาดใหญ่ หรือหน่วยงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเข้มข้นอื่น ๆ กลับไม่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีให้ต้องรับผิดชอบต่อการปล่อยคาร์บอนหรือการทำลายสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด
คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม (Thai Working Group for Climate Justice)
กันยายน 2555
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.