รรมชาติไม่ใช่เรื่องสมมติ ธรรมชาตินี่สิคือของจริง มันอยู่ตรงนั้น อยู่มาก่อนเรา และจะยังคงอยู่หลังเราตายไปจากโลกนี้แล้ว..."
นี่คือมุมมองจากคนรุ่นใหม่ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล พิธีกรรายการ "พื้นที่ชีวิต" ทางไทยพีบีเอส ที่ได้มาพูดคุยในหัวข้อ "พื้นที่ชีวิต พื้นที่ธรรมชาติ" ในงานวันรำลึก 22 ปี สืบ นาคะเสถียร จัดโดยมูลนิธีสืบนาคะเสถียร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน ที่ผ่านมาเป็นมุมมองที่แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจองค์รวมของสรรพสิ่งธรรมชาติที่สัมพันธ์กัน ซึ่งหมายถึง มนุษย์ สัตว์ ป่า แผ่นดิน น้ำ ฟ้า อากาศ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ทุกสิ่งที่มนุษย์ไม่ได้สร้างขึ้น
โดยที่เจ้าตัวก็ยอมรับเองว่า นี่คือมุมมองจากคนเมือง ที่มีวิถีชีวิตห่างไกลจากความเป็นชนบทหรือ "ป่า" โดยสิ้นเชิง
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่ก็คือวิถีชีวิตของเรา คนส่วนใหญ่ค่อนประเทศ ที่ไม่ได้มีวิถีชีวิตแบบชนบทที่ต้องพึ่งพิงอาศัย "ป่า" โดยตรงอีกต่อไปแล้วมิใช่หรือ?
แต่คนอย่างเรานี่แหละ ผู้ที่ไม่ได้สร้างสิ่งใดขึ้นมาเลย แต่กลับทำลายธรรมชาติ ให้เหลือน้อยลงไปทุกที เป้าหมายไม่ใช่อะไรอื่น ก็เพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อความอยู่รอดอย่างสุขสบาย จนเกินไป?
จนน่าเป็นห่วง...ว่าสักวันเราคงอยู่ไม่รอด ถ้าป่าไม้ – รูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดของธรรมชาติได้หมดสิ้นไป
"ศศิน เฉลิมลาภ" เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป็นอีกคนที่มาฉายภาพความจริงของสถานการณ์ป่าไม้ในประเทศไทยให้เห็นชัดมากขึ้นว่าปัจจุบันพื้นที่ป่าประเทศไทยเหลืออยู่ประมาณร้อยละ 33 ของพื้นที่ที่ดินทั้งประเทศ ซึ่งเมื่อเทียบกับเนื้อที่ป่าเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา เนื้อที่ป่าได้ลดลงไปถึงร้อยละ 50 ของที่เคยมี
ซึ่งเมื่อดูจากแผนที่ป่าที่เหลืออยู่ปัจจุบัน จะเห็นพื้นที่สีเขียวของไทยเหลืออยู่เพียงขอบชายแดนตะวันตกของประเทศ และพื้นที่ภาคเหนือตอนบน
ในขณะที่เมื่อมองข้ามฝั่งไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกัน ช่างดูแตกต่างกับเราไม่น้อย...
ในช่วงปี 2504 – 2525 พื้นที่ป่าหายไปมากที่สุด หลังจากเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่มุ่งเน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อการพาณิชย์ และการสัมปทานป่าไม้ที่ไม่มีการป้องกันการบุกรุกตามมา พื้นที่ป่ายังลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2549 ที่เชื่อได้ว่า เนื้อที่ป่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 3%
แต่เมื่อพิจารณาในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ พบว่า กว่า 21 จังหวัดที่ยังมีเนื้อที่ป่าลดลงมากเกิน 5% ของเนื้อที่จังหวัดนั้น ๆ โดยเฉพาะกำแพงเพชร สกลนคร และชุมพรที่มีการเสียป่าไม้รุนแรงมาก เหลือจังหวัดที่มีป่าไม้ปกคลุมมากกว่า 70% อยู่เพียง 5 จังหวัดเท่านั้นเอง
นั่นคือภาพรวมหยาบ ๆ คร่าว ๆ พอให้เราได้นึกภาพออกว่า ประเทศไทยเหลือพื้นที่ป่าไม้อยู่เท่าไร
อย่างไรก็ตามในรายละเอียด ป่าไม้ไทยยังต้องเผชิญกับชะตากรรมต่าง ๆ หลายรูปแบบ เพื่อให้คนทั่วไปให้เห็นสถานการณ์ป่าไม้ชัดขึ้น เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ ได้รวมรวมสรุปข่าวเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับป่าในรอบปีที่ผ่านมาไว้อย่างน่าสนใจ โดยแบ่งเป็น 6 ด้าน ได้แก่
1.ปัญหาการล่าสัตว์ป่า เท่าที่มีข่าวพบช้างป่าถูกฆ่าตายหลายตัว ทั้งที่กุยบุรี ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระอุทยาน และที่แห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ทำให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ไปตรวจสอบปางช้างทั่วประเทศก็พบปัญหาการสวมตั๋วรูปพรรณช้าง เอาช้างป่ามาสวมเป็นช้างบ้าน รวมถึงขบวนการล่าสัตว์ป่าอื่น เช่น การล่าเสือในพื้นที่ป่าตะวันตกที่มีเสือชุกชมเพื่อส่งขายต่างประเทศ
และนโยบายการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คุกคามความอยู่รอดของประชากรเสือเช่นกัน
2.ปัญหาการลักลอบตัดไม้และบุกรุกป่า โดยเฉพาะไม้พะยูงเป็นไม้ที่ขึ้นอยู่ทั่วไปในภาคอีสาน ซึ่งหลายครั้งเจ้าหน้าที่ต้องปะทะกับขบวนการลักลอบตัดไม้ แต่ปัญหานี้ก็ยังไม่หมดไปเสียที และข่าวที่มีตลอดปีก็คือการบุกรุกป่าเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยวต่าง ๆ เช่นปาล์ม ยาง ในทั้งพื้นที่ภาคเหนือ และจังหวัดเช่นกาญจนบุรี กระบี่ ตรัง พัทลุง ซึ่งป่าไม้ก็บอกว่าบุกรุก ส่วนชาวบ้านก็ออกมาเรียกร้องสิทธิบอกว่าอยู่มาก่อน ทำให้เกิดความขัดแย้งกับแนวทางการอนุรักษ์กลายเป็นการที่ป่าไม้รังแกชาวบ้าน พืชเช่นยางพาราไม่มีศักยภาพในการป้องกันการกัดเซาะพังทลายของหน้าดิน ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดดินถล่มได้ง่าย
นอกจากนี้ การปลูกพืชเชิงเดี่ยวเช่นข้าวโพดที่เพิ่มขึ้น ยังเกี่ยวโยงกับการที่บริษัทธุรกิจทางการเกษตรขนาดใหญ่เข้าไปโฆษณา และส่งเสริมการปลูกเพื่อจะขายเมล็ดพันธุ์และปุ๋ยบำรุงแก่ชาวบ้านอยู่ตลอดเวลา ทำให้ไร่ข้าวโพดรุกขึ้นถึงพื้นที่ป่าต้นน้ำมากขึ้นเรื่อย ๆ
3.ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของรีสอร์ตท่องเที่ยว กล่าวได้ว่า ปีนี้เป็นปีของวังน้ำเขียว เรื่องที่ฮอตที่สุดคือการทุบรีสอร์ตที่บุกรุกนำโดยอธิบดีกรมอุทยานฯ เป็นเรื่องที่ถกเถียงว่า นายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทำถูกหรือผิด ซึ่งมีทั้งผู้สนับสนุนและต่อต้าน
จากนั้นมีการขยายผลไปสู่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ และที่ดินที่เกาะเสม็ด ซึ่งล่าสุดนายดำรงค์ ก็ไปมีปัญหาขัดแย้งกับผู้ว่าราชการจังหวัดระยองเรื่องท่าเรือของอบจ.ระยอง กับอีกปัญหาเรื่องคลิปสนทนาระหว่างหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลมกับ ส.ส.เพื่อไทยคนหนึ่ง ที่ถูกปล่อยออกมาเพื่อเล่นงานอธิบดีท่านนี้
"รีสอร์ตที่วังน้ำเขียว 90% ไม่ได้รุกป่า เพราะไปซื้อที่มือเปล่าชาวบ้านที่เตียนอยู่แล้ว แล้วอ้างว่าไม่รู้ แล้วมาทำรีสอร์ต ซึ่งในเชิงกฎหมายถือว่ารีสอร์ตพวกนั้นขาดเจตนา แต่ผิดกฎหมายอุทยานเนื่องจากยึดถือครอบครองในที่ดิน แต่ชาวบ้านไม่ผิด เพราะอยู่ตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิ.ย. 2541 ถูกควบคุมไว้ว่า ห้ามซื้อขายเปลี่ยนมือ ปัญหาของที่วังน้ำเขียวคือที่ดิน สปก. กว่า 30% ไม่ถูกใช้เพื่อการเกษตร แต่ไปทำรีสอร์ต ซึ่งผิดระเบียบ" เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรกล่าว
4.ปัญหาหมอกควันไฟป่าในภาคเหนือและภาคตะวันตก พบว่าส่วนใหญ่ มาจากการเผาไร่ ในขณะที่ภาคใต้ต้องเผชิญกับควันไฟป่าที่มาจากต่างประเทศ แนวโน้มปัญหามลพิษที่เราจะเจอก็คือ เดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมจะเจอหมอกควันไฟป่า พอเดือนสิงหาคมก็จะเจอหมอกควันไฟป่าจากอินโดนีเซีย
ส่วนปัญหาล่าสุดคือการลักลอบจุดไฟเผาป่าพรุควนเคร็งให้เสื่อมโทรมเพื่อเอาที่มาปลูกปาล์ม เพราะพื้นที่ป่าพรุที่ยังชุ่มน้ำจะออกเอกสารสิทธิไม่ได้
นอกจากนี้ยังมีโครงการที่เป็นกิจกรรมของรัฐที่มีผลต่อพื้นที่ป่าคุ้มครองอีกหลายโครงการ เช่น โครงการกระเช้าภูกระดึง ที่มูลนิธิสืบฯร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ศึกษาอย่างรอบคอบแล้วเห็นควรว่า ไม่ควรสร้าง เพราะผลดีที่อ้างเช่นว่า เสียพื้นที่ป่านิดเดียว และช่วยในระบบการจัดการนักท่องเที่ยวหรือขยะ ให้เหมาะกับศักยภาพที่ภูกระดึงจะรองรับได้ เมื่อเทียบผลประโยชน์ระยะยาวที่ว่า เส้นทางขึ้นภูกระดึงเป็นเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติที่ดีที่สุดในประเทศไทย ที่จะส่งผลให้คนรู้สึกรักและซาบซึ้งต่อธรรมชาติในเชิงลึก
รวมทั้งโครงการเขื่อนแม่วงก์ เขื่อนวังชมพู เขื่อนแก่งเสือเต้น
"โครงการทั้งหมดเหล่านี้ที่ฟื้นขึ้นมา ล้วนมากับน้ำปี 2554 เพราะเป็นโครงการที่ กยน. กยอ. ต่าง ๆ ถือโอกาสอนุมัติ ว่าจะมีโครงการอ่างเก็บน้ำต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ พูดออกมาว่าระบบระบายน้ำ เขื่อนพวกนี้จึงถูกระบุเข้าไปด้วย ซึ่งเขื่อนทั้งสามมีผลกระทบโดยตรงต่อป่า" ศศินกล่าว
หรือโครงการท่าเรือปากบารา ที่ผ่านการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว (EIA) แต่เมื่อสร้างก็จะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลของไทยแน่นอน ซึ่งถือว่าระบบนิเวศทางทะเลก็เป็นกลุ่มป่าที่สำคัญเช่นเดียวกัน
5. ปัญหาการบริหารจัดการองค์กร มีปัญหาความขัดแย้งเรื่องคดีโลกร้อน เรื่องนี้จะเป็นปัญหาใหญ่ในทางเทคนิคไปอีกยาวนาน
อีกเรื่องหนึ่งในเชิงนโยบายคือการยุบรวมกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชเข้ากับกรมป่าไม้ ซึ่งล่าสุดสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบหลักการ สมควรรวมกรมทั้งสองเข้าด้วยกัน หลายฝ่ายก็เห็นด้วยว่า การควบรวมจะทำให้กลไกการป้องกันรักษาป่าสงวนดีขึ้น
ไม่เว้นแม้แต่เรื่องเล็ก เช่น
-การขึ้นค่าธรรมเนียมการเข้าชมอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมูลนิธิสืบฯไม่เห็นด้วยและคัดค้าน เพราะเห็นว่า การเข้าชมอุทยานแห่งชาติในราคาที่ไม่สูงเกินไป จะทำให้คนซึมซับการอนุรักษ์ธรรมชาติ การขึ้นราคาจะเป็นการกันคนท้องถิ่นไม่ให้เข้าไปศึกษาซึมซับธรรมชาติ
และ 6.ปรากฏการณ์ดำรงค์ พิเดช ถือเป็นปรากฎการณ์ตัวบุคคลผู้บังคับใช้กฎหมายการอนุรักษ์ป่าที่โด่งดังที่สุดในรอบปี ทำให้มีทั้งคนชอบและคนชัง ดำรงค์ พิเดช ในตำแหน่งอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้สั่งการย้ายหัวเขตอุทยานที่มีความบกพร่องในหน้าที่มากมาย มีผลงานปราบปราม ยึด ทุบ โหดมัน ฮา ทำให้เกิดสีสันในหลายรูปแบบ ทั้งรบกับชาวบ้าน ทั้งได้ใจนักอนุรักษ์ชนชั้นกลาง ทั้งบุคลิกภาพ ผลงานที่ชัดเจนคือกรณีวังน้ำเขียว
"ดำรงค์ พิเดช ทำให้หัวหน้าเขตอุทยาน ข้าราชการที่มีหน้าที่โดยตรงในการอนุรักษ์ ที่เคยอ่อนล้าได้คึกคักขึ้นมา ข้าราชการรู้สึกว่าเขาได้ทำงานและได้ขวัญกำลังใจ"
นี่คือ 6 สถานการณ์เด่นเกี่ยวกับป่าไม้ในรอบปี 2555 ที่เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้รวบรวมมาให้เห็น จะเห็นว่า ต้นตอปัญหาทุกอย่างอยู่ที่ความต้องการที่ "เกินพอดี" ของคนทั้งสิ้น หนทางที่ควรจะเป็นคือคนต้องสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ ได้อย่างยั่งยืน
จุดสมดุลระหว่างคนกับป่าจะอยู่ตรงไหน เมื่อประชากรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และความต้องการที่ดินเพื่อการเกษตร นำมาซึ่งปัญหาการทับซ้อนของการใช้พื้นที่เพื่อทำกินของประชาชนและนโยบายการอนุรักษ์ รวมถึงโครงการพัฒนาและการท่องเที่ยวต่าง ๆ ยังเป็นการคุกคามการอยู่รอดของพื้นที่ป่าประเทศไทย ซึ่งนับเป็นโจทย์ใหญ่ของสังคมไทยที่ต้องร่วมกันคิดว่าเราจะรักษาป่าที่เหลืออยู่นี้ไว้ได้อย่างไร
สังคมเราอาจจะยังขึ้นแย้งกันเรื่องแนวคิดทางการเมือง ซึ่งการเมืองก็คือระบบในการจัดสรรทรัพยากร แต่ควรระลึกเสมอว่า การเมืองจะเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยไปในทันที เมื่อถึงวันที่เราไม่เหลือทรัพยากรให้แย่งชิงกันอีกต่อไป
ไม่มีคน ป่าอยู่ได้ และป่าจะยิ่งอุดมสมบูรณ์ แต่ถ้าไม่มีป่า คนอยู่ไม่ได้!!!
วันที่ 17 กันยายน 2555 เขียนโดย เสกสรร โรจนเมธากุล สำนักข่าวอิศรา
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.