“ตอนนั้นอาจารย์ถามว่าทำนากันมาทุกคน มีใครรู้บ้างว่าต้นข้าว 1 ต้นมีใบกี่ใบ มีใครรู้บ้างว่าจำนวนใบข้าวเกี่ยวข้องกับผลผลิตข้าวอย่างไร ทุกคนในห้องแม้จะเป็นชาวนาทั้งหมด แต่ไม่มีใครตอบคำถามได้เลย ผมเลยมาคิดแล้วว่าที่ปลูกข้าวกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย จริงๆ แล้วเราไม่รู้จักข้าวเลย” สุนทร มณฑา อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ตำบลห้วยกรด อำเภอสรรคบุรี ชัยนาท เล่าให้ฟังถึงบรรยากาศวันแรกที่ถูกบังคับให้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตรในปี 2558
แม้จะเป็นลูกชาวนา และช่วยที่บ้านทำนามาตลอด สุนทรในวัย 43 ปี ณ วันนั้น กลับพบว่าตนเองและชาวนาส่วนใหญ่ทำนากันโดยที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการทำนาเลย ทั้งความรู้เกี่ยวกับต้นข้าว เกี่ยวกับดิน เกี่ยวกับอาหารของต้นข้าว รวมไปถึงความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวกับการทำนา ซึ่งจากการเป็นนักเรียนเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตรในวันนั้นทำให้เขาตระหนักว่าความรู้ทั้งปวงเหล่านั้นจะช่วยทำให้ชาวนาสามารถทำนาได้อย่างยั่งยืนและเอาตัวรอดจากภาวะหนี้สินได้
“ก่อนหน้านี้พอมีปัญหาอะไร ข้าวให้ผลผลิตน้อย โดนแมลงกิน หรืออะไรก็ตามเราจะวิ่งไปร้านปุ๋ยร้านยา เขาจะแนะนำยาสูตรนั้น ปุ๋ยสูตรนี้ เราก็เอามาใส่ในนาตามที่เขาบอก โดยที่ไม่รู้ว่ามันทำให้ต้นทุนการปลูกข้าวของเราเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ คนที่ได้ประโยชน์คือร้านปุ๋ยร้านยา แต่ชาวนาอย่างเรามีรายจ่ายเพิ่มมากขึ้น แล้วก็ตามมาด้วยภาวะหนี้สิน”
หลังการอบรมซึ่งกินเวลารวม 16 วัน สุนทรลุกขึ้นมา “ปฏิวัติ” การทำนาของตัวเอง ด้วยการเลิกใช้สารเคมีฆ่าแมลงทุกชนิด ใช้เพียงปุ๋ยเคมีบางชนิดเพื่อบำรุงดินให้สมบูรณ์ โดยใช้เท่าที่จำเป็น เขาเลือกปุ๋ยเองตามความรู้ที่ได้รับมาจากห้องเรียนเกษตรกร เมื่อไรควรต้องเติมไนโตรเจน เมื่อไรควรต้องเติมฟอสฟอรัส หรือโปแตสเซียม ในปริมาณเท่าไร ใช้สารสกัดจากต้นไม้ต่างๆ รวมถึงการใช้แมลงด้วยกันเองจัดการกับปัญหาแมลงศัตรูพืช ปุ๋ยสูตรสำเร็จรูปและสารเคมีฆ่าแมลงที่ร้านปุ๋ยร้านยาเคยแนะนำ ไม่ใช่ปัจจัยการผลิตที่จำเป็นอีก นอกจากนี้เขายังตัดสินใจปรับลดจำนวนเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ใช้ในนาลงจากเดิมเคยต้องใช้เมล็ดพันธุ์มากถึง 30 กิโลกรัมต่อไร่ ลดลงมาเหลือเพียงไม่ถึง 10 กิโลกรัมต่อไร่
“ชาวนาเรามีความเข้าใจผิดมาตลอดว่าหากอยากได้ผลผลิตเยอะ ๆ ต้องใช้เมล็ดพันธุ์เยอะๆ แต่ครูที่สอนซึ่งเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดลบอกว่า เราควรต้องทำให้ข้าวในนาเหมือนข้าวนอกนา คือข้าวที่มันขึ้นตามคันนา ซึ่งมักจะมีต้นใหญ่ ให้รวงมาก และรวงสมบูรณ์ ให้เมล็ดข้าวเยอะ”
ผู้ใหญ่สุนทรยอมรับว่าเพิ่งรู้ตอนนั้นเองว่าการใช้เมล็ดพันธุ์ปลูกจำนวนมาก ทำให้ต้นข้าวขึ้นเบียดเสียดกัน แย่งอาหารกัน หากลดปริมาณเมล็ดพันธุ์ลงเป็นการลดต้นทุนโดยไม่ทำให้ได้ผลผลิตน้อยลง เพราะข้าวสามารถเติบโตได้งอกงามกว่าเดิม บางครั้งอาจได้ผลผลิตที่มากขึ้นอีกด้วย
การเปลี่ยนแปลงในวิถีการผลิตอีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการนำความรู้ในห้องเรียนเกษตรกรมาใช้คือ การเลิกเผาฟาง ผู้ใหญ่สุนทรได้เรียนรู้ว่าฟางข้าวคือปุ๋ยชั้นดีที่ราคาถูกที่สุดสำหรับนาข้าว เพียงแค่ใช้น้ำหมัก โดยใช้จุลินทรีย์ช่วยย่อยสลาย โดยใช้พื้นที่นาเป็นที่หมักปุ๋ย ผู้ใหญ่บอกว่าชาวนาบางส่วนอาจรู้คุณประโยชน์ของฟางข้าวอยู่แล้ว แต่ยังคงเผาฟางทิ้งเพราะอาจมองว่าต้องรีบเตรียมพื้นที่นาเพื่อปลูกข้าวรอบใหม่ ซึ่งจริงๆ แล้ว ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการบริหารจัดการพื้นที่ใหม่ โดยในช่วงก่อนเกี่ยวข้าวชาวนาควรต้องเตรียมน้ำหมักให้พร้อมใช้ก่อน เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จสามารถนำน้ำหมักเทให้ทั่วพื้นที่ที่จะทำการหมักฟางได้เลย และระหว่างหมักควรมีการเติมจุลินทรีย์ตามหลักวิชาการตลอด วิธีนี้จะทำให้สามารถหมักฟางเพื่อทำปุ๋ยได้ในเวลาเพียง 7 วัน ซึ่งระหว่าง 7 วันนี้ชาวนาก็สามารถเตรียมตัวด้านอื่น เพื่อปลูกข้าวรอบต่อไปได้เลย ทำให้ไม่มีการต้องเสียพื้นที่นาหรือเสียเวลาปลูกข้าวเพื่อรอปุ๋ยหมักแต่อย่างใด
ความรู้ที่ได้เรียนจากโรงเรียนเกษตรกร และประสบการณ์จากการลงมือทำจริง ทำให้ผู้ใหญ่สุนทรตระหนักว่าชาวนาเองจำเป็นต้องได้รับความรู้ชุดใหม่ๆ ในการทำนาด้วย ไม่ใช่เพียงความรู้และทักษะการทำนาที่ส่งต่อกันมาตั้งแต่ปู่ยาตายาย ซึ่งเป็นความรู้ที่มีร้านปุ๋ยร้านยาเป็นตัวละครหลักอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่ผู้ใหญ่กำลังทำในปัจจุบันคือการสานต่อแนวคิดโรงเรียนเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร ด้วยการตั้งโรงเรียนชาวนาของตัวเองขึ้นมา ชักชวนชาวนาในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงมาร่วมเรียน เพื่อหาประสบการณ์และความรู้ใหม่ โดยใช้แปลงนาตัวเองเป็นห้องเรียนสาธิต ปัจจุบันมีชาวนามากกว่า 20 คน เข้าร่วมเป็นนักเรียน และปลูกข้าวตามแนวทางใหม่ที่ใช้ปุ๋ยเคมีเท่าที่จำเป็น ใช้เมล็ดพันธุ์น้อย และไม่เผาฟาง ผลที่เกิดขึ้น นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อตัวชาวนาเอง ที่สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ ทำให้ “รายเหลือ” หรือ เงินเหลือเก็บจากการขายข้าวหลังจากเก็บส่วนหนึ่งไว้กินเองแล้ว ยังส่งผลต่อสภาพแวดล้อมโดยรวม
“ตอนนี้เท่าที่คำนวณได้มีพื้นที่นาที่ไม่มีการเผาฟางแล้วรวมประมาณ 300 ไร่ ซึ่งเมื่อเทียบกับพื้นที่ปลูกข้าวในทุ่งสรรคบุรีแล้วยังถือว่าน้อย อาจยังไม่เห็นผลในภาพกว้าง แต่หากสามารถขยายแนวคิด และความรู้ในการทำนาปลูกข้าวแบบนี้ไปให้ชาวนาได้ในวงกว้างขึ้น ผมว่าเราน่าจะเห็นผลด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น” ผู้ใหญ่สุนทรกล่าว
เมื่อถามว่าหากชาวนาคนใดสนใจอยากเป็นชาวนาที่มี “รายเหลือ” และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างที่ผู้ใหญ่สุนทร และเพื่อนๆ ในโรงเรียนชาวนากำลังทำอยู่ ควรต้องเริ่มต้นอย่างไร
“คำตอบคือ เปิดใจ ผมว่าสิ่งสำคัญและเป็นอุปสรรคที่ทำให้ชาวนาไทยไม่สามารถหลุดจากวงจรการผลิตแบบเดิม ๆ ได้ คือ เราไม่ค่อยเปิดใจเรียนรู้จากคนอื่น เรามักคิดว่าเราเป็นชาวนา ทำนามาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย คนนอกจะมารู้จักการทำนาดีกว่าเรา จะมาสอนเราได้อย่างไร แต่เราไม่เคยถามตัวเองว่ารู้จักนารู้จักข้าว เราทำนาเป็นจริง แล้วทำไมเรายังมีหนี้มากมาย เพราะฉะนั้น ชาวนาควรต้องเปิดใจให้พร้อมก่อน แล้วมาเรียนรู้ด้วยกัน”
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 15 ต.ค. 2567
ผู้เขียน : เพ็ญนภา หงษ์ทอง
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.