มูลนิธิชีวิตไท ชวนเกษตรกรอินทรีย์มือใหม่จาก ชัยนาท - สุพรรณบุรี – กาญจนบุรี ร่วมศึกษาดูงาน “การบริหารจัดการตลาดเขียวและตลาดสินค้าเกษตรปลอดภัย” เจาะลึกประสบการณ์ผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ จากที่ดินรกร้างเป็นเกษตรอินทรีย์แปลงใหญ่ เชื่อมโยงสู่กับผู้บริโภค สร้างสรรค์กลยุทธการตลาดหลากหลาย มุ่งเป้าสร้างการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพให้เกษตรกรก้าวสู่ผู้ประกอบการเกษตร “ผลิตเป็น ขายเป็น” มีเป้าหมายปรับเปลี่ยนการผลิตจากเคมีมาสู่อินทรีย์ จะ “ผลิตเป็น” ว่ายากแล้ว การ “ขายเป็น” ยิ่งดูห่างไกล การมาศึกษาเรียนรู้จากเครือข่ายที่ประสบความสำเร็จแล้ว จึงถือเป็นทางลัดของการเรียนรู้
จุดเชื่อมโยง (ตลาด) เกษตรแบ่งปัน “ทำโดยชาวบ้าน แต่ไม่ได้ทำแบบบ้านๆ”
คณะดูงานฯ ได้มีโอกาสเยี่ยมชมจุดเชื่อมโยง หรือ ตลาดเขียว 3 แห่ง 3 อำเภอ ในจ.ราชบุรี จุดแรก คือ ตลาดเขียวโรงพยาบาลบางแพ จ.ราชบุรี ในรูปแบบ “รถโมบายเกษตรแบ่งปัน” รถที่เคยใช้ในการจัดส่ง พัฒนาสู่การจัดจำหน่ายพร้อมเผยแพร่ความรู้ เคลื่อนที่ไปตามจุดนัดพบผู้บริโภค จุดที่สอง การนำผลผลิตสู่จุดนัดพบในโรงอาหาร ตลาดเขียวในโรงเรียนดรุณาราชบุรีวิเทศศึกษา อ.เมือง จ.ราชบุรี และ จุดที่สาม การออกร้าน ณ มุมสุขภาพ โรงพยาบาลสวนผึ้ง จ.ราชบุรี
ผู้เข้าร่วมได้เดินตลาดจริง เห็นรูปแบบและลักษณะการจัดการตลาด ไม่ว่าจะเป็นการจัดวางสินค้า ประเภทของสินค้า ผักผลไม้ถูกจัดประเภทรองรับด้วยตะกร้า ส่วนแพ็กย่อยขายปลีกห่อด้วยใบตองมัดด้วยเชือกกก สื่อถึงแนวคิดแบบตลาดเขียวที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาหารและขนมพร้อมรับประทานมีป้ายบอกข้อมูลคุณค่าทางอาหาร มีการจัดวางโลโก้และใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ Organic Thailand เพื่อสร้างความเชื่อมั่นไปอีกขั้น นอกจากนี้ชนิดสินค้ายังตอบสนองกับลูกค้าเป้าหมายในแต่ละตลาดเป็นอย่างดี
สู่ต้นธารวิถีเกษตรแบ่งปัน ต้นแบบชุมชนอาหารเพื่อสุขภาวะ น.อักแนส เกษตรอินทรีย์
บาทหลวง ผศ.ดร. วุฒิชัย อ่องนาวา หรือคุณพ่อวุฒิชัย ผู้ริเริ่มโครงการ น.อักแนส เกษตรอินทรีย์ ได้แบ่งปันความรู้และประสบการณ์จากการส่งเสริมการผลิตพืชผักผลไม้เกษตรอินทรีย์ นับจากปี 2557 ทางวัดมีที่ดินรกร้างเกือบ 200 ไร่ คุณพ่อซึ่งได้รับมอบหมายให้มาดูแลที่นี่ จึงชักชวนชาวบ้านในพื้นที่มาทดลองทำเกษตรอินทรีย์เพื่อสุขภาพของตนเอง
จากการนำร่องทดลองทำแปลงผักอินทรีย์ในพื้นที่วัด จาก 1 ร่อง ขยับขยายมาเป็น 1 ไร่ 10 ไร่ 100 ไร่ จนได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ Organic Thailand ในปี 2559 ขอบเขตพื้นที่ 160 ไร่ ปัจจุบัน ได้รับการรับรองผลผลิตมากกว่า 34 ชนิด เน้นหลากหลายของพืชพันธุ์พื้นถิ่น เพื่อให้ชาวบ้านสามารถนำไปปลูกเองได้ ทั้งผักบ้าน ๆ และผักสลัดที่เป็นที่ต้องการของตลาด เก็บผลผลิตอินทรีย์จากแปลงใหญ่ ควบคู่ไปกับการรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่
นอกจากนี้ยังขยับขยายไปสู่การต่อยอดแปรรูปเป็นน้ำ ขนม และอาหาร เสาะหารวบรวมของดีจากท้องถิ่น สร้างรายได้ให้กับชุมชน และยังมีการเชื่อมโยงกับสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ผ่านการทำวิจัยด้านเกษตรอินทรีย์และการสร้างจุดเชื่อมโยงผลผลิตสู่ผู้บริโภคผ่านรูปตลาดเขียว ภายใต้ชื่อ สถานีเกษตรแบ่งปัน ซึ่งคุณพ่อวุฒิชัยอธิบายถึงแนวคิดเกี่ยวกับตลาดเขียวว่า
“แต่แรกเราไม่ได้คิดเรื่องการทำตลาด เราคิดแต่เรื่องการพัฒนาต้นแบบผลิตออร์แกนิก แต่เมื่อผลิตแล้ว ก็พบปัญหา คือ ทำแล้วจะไปขาย เราก็มีหลายทางเลือกนะเชื่อมโยงกับบริษัทก็มี แต่บริษัทที่รับซื้อส่วนใหญ่ส่งออกนอกหมด คนไต้หวันได้กิน สิงคโปร์ได้กินผักอินทรีย์ แต่คนราชบุรีได้แต่มอง เราจึงมีการทำจุดเชื่อมโยง หรือ ตลาดเขียวขึ้นมา
ตลาดเขียวยิ่งทำให้ทางกลุ่มฯ รู้จักเครือข่ายมากขึ้น ศึกษาข้อมูลผู้บริโภคต้องการกินอะไร โรงเรียนต้องการอะไร โรงพยาบาลต้องการอะไร ทางกลุ่มมีอะไร ไม่มีอะไร ก็ต้องกลับมาสู่พื้นที่ของเรา คือของดีในชุมชนในพื้นที่ในจังหวัดเรามีเยอะ แต่ว่ามันอยู่ที่ไหนล่ะเราก็ต้องไปเสาะหา เกิดเป็นทีมงาน ปลูก จัดเก็บ แปรรูป ดูแลบรรจุภัณฑ์ การแปรรูป ขนส่ง จัดขายจัดตลาด นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายนักวิชาการ ที่ร่วมกันทำงานวิจัย
ผลิตเป็น แล้วต้องขายเป็น แต่...กำไรอาจจะไม่ใช่แค่ตัวเงิน
คุณพ่อวุฒิชัยได้พูดคุยแลกเปลี่ยน และตอบข้อซักถามจากการดูงาน เรื่องของการ “ผลิตเป็น” ซึ่งต้องอาศัยทั้งความรู้เกษตรอินทรีย์ การบริหารงานกลุ่ม การทำงานแบบมีส่วนร่วม ลึกไปจนถึงการดูแลใจกันและกันของทีมงาน ขยับไปสู่การ “ขายเป็น” จากประสบการณ์กว่า 10 ปี จนกลายเป็นต้นแบบของราชบุรีโมเดล คุณพ่อวุฒิชัยเล่าความหลังสมัยตั้งแผงผักริมถนนว่า
“ปีแรกก็อาศัยความใจกล้า เราก็มาตั้งหลักกันและพยายามทำให้เกิดความต่อเนื่อง เดิมคิดว่าของเราดีมันน่าจะขายได้ แต่มันไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด ครั้งแรกเราจัดแผงผักข้างทางถนน มีผักเยอะด้วยนะ คะน้าสวย ๆ เป้งๆ เพราะอะไรถึงขายไม่ค่อยได้ ไปวิเคราะห์สาเหตุ เราจัดถูกที่มั้ย จัดเสร็จแล้วมีประชาสัมพันธ์มั้ย แพ็กกิ้งพัฒนามั้ย เป็นโอกาสให้เราได้พัฒนาสินค้า ตอนแรกขายอยู่เป็นปีนะ ก็มีคนชวนไปออกร้านขายที่รีสอร์ต ได้ประสบการณ์ ได้ข้อมูล ได้พบผู้บริโภคในวงกว้างมากขึ้น นำข้อมูลมาพัฒนา
ขอให้ทำใจนะ ปีแรกยอดขายอาจจะไม่ได้อย่างที่เราอยากได้ แต่สิ่งที่จำเป็นคือเราได้ข้อมูล เพื่อจะได้พัฒนาของ ๆ เรา นอกจากดูทำเลที่ตั้งและปัจจัยการตลาดต่าง ๆ แล้ว อยากให้เรามองด้วยว่า กำไรอาจจะไม่ใช่แค่ตัวเงิน แต่เป็นเรื่องการพัฒนาสินค้าของเรา ในขณะเดียวกันเราก็ต้องเพิ่มช่องทางต่าง ๆ หลากหลาย ส่งผักโรงพยาบาลดีไหม หาตลาดที่มีกำลังซื้อมากขึ้น”
ในการศึกษาดูงานครั้งนี้ยังมีเวิร์คช็อป การออกแบบตลาดสีเขียว เพื่อเป็นแนวทางได้นำกลับไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเอง ก่อนที่แต่ละกลุ่มจะออกมานำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดและขอคำแนะนำจากคุณพ่อวุฒิชัยและทีมงาน
“ตลาดเขียว มันไม่ใช่แค่การขายของ แต่เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคมาเจอกัน สร้างการกระจายรายได้ให้กับเศรษฐกิจอาหารชุมชน อย่างที่ทางมูลนิธิชีวิตไทบอกว่า เราขับเคลื่อนชุมชนอาหารเพื่อสุขภาวะ พัฒนาระบบเศรษฐกิจอาหารชุมชน เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร อย่าให้เราทิ้ง Concept นี้ ไม่ว่าเราจะผลิตหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์อะไรก็แล้วแต่
ที่สำคัญอย่ามองข้ามกลไกกำกับติดตาม อย่าทิ้งการคุยกัน อย่าทิ้งการเก็บข้อมูล ให้รู้ว่าตลาดเขียว คือ ผักออร์แกนิก อาหารสุขภาพ จะเริ่มจากเขียวอ่อน เขียวกลาง เขียวเข้ม ตามบริบทพื้นที่เลย แยกโซนกันดีๆ แล้วเดี๋ยวมันจะไปได้ ตอนนี้เราอยู่ในช่วงเริ่มต้นมันอาจจะไม่ได้สวยงาม แต่เราได้ประสบการณ์ และทางมูลนิธิก็พร้อมเป็นพี่เลี้ยง เราก็เป็นภาคี สสส.เราไม่ทิ้งกัน ถือว่าเป็นกิจเป็นธุระ เรายินดีที่จะหนุนเสริม เพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีกับพวกเรา” คุณพ่อวุฒิชัยกล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 1 ต.ค. 2567
ผู้เขียน : น้ำผึ้ง หัสถีธรรม
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.