สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 เป็นปัญหาเรื้อรัง และมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงต้นปีและปลายปีของทุกปี ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชน โดยแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองที่สำคัญ ได้แก่ การเผาในที่โล่ง การจราจรขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม การเผาในภาคเกษตรกรรมเป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM2.5 ที่สำคัญ ที่ผ่านมารัฐบาลมีมาตรการแก้ปัญหาการเผาในภาคการเกษตร เพื่อลดปริมาณฝุ่น PM2.5 หลายมาตรการ ได้แก่ มาตรการป้องกันการเผา มาตรการส่งเสริมการหยุดเผา แต่ในทางปฏิบัติยังไม่ได้ผลตามเป้าหมายนัก เนื่องจากปัญหาสำคัญคือการสื่อสารทางเลือกและต้นทุน-ผลตอบแทนการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุการเกษตรกับกลุ่มชาวนาและเกษตรกรยังมีอยู่น้อย ชาวนาและเกษตรกรไม่มั่นใจ หากต้องจ่ายเพิ่มหรือลงทุนเพื่อนำเศษวัสดุการเกษตรไปใช้ประโยชน์แล้วจะได้ผลตอบแทนกลับมาคุ้มทุนหรือไม่ และการแก้ปัญหาการเผาในภาคเกษตรเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่เรื่องง่ายในการแก้ไขโดยชาวนาและเกษตรกรเพียงลำพัง
“การเผาตอซังฟางข้าว” อยู่ในข่ายของสาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 ที่ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นสำคัญในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในขณะที่รัฐบาลมีความพยายามจัดทำนโยบายเพื่อส่งเสริมหยุดการเผาตอซังฟางข้าวมาอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ซึ่งใช้ดาวเทียมในการตรวจวัดจุดความร้อน พบว่าปี 2566 พบจุดความร้อนในพื้นที่เกษตรเกิดขึ้นจำนวน 22,177 จุด หรือคิดเป็นร้อยละ 13.6 ของจุดความร้อน ซึ่งเป็นปีที่สถานการณ์มลพิษทางอากาศของประเทศไทยรุนแรงสุดในรอบ 5 ปี โดยเฉพาะ 4 เดือนแรกของปี ม.ค.-เม.ย. ที่มีจำนวนจุดความร้อนในภาคเกษตรสูงกว่าปีที่ผ่านมา โดยเมื่อจำแนกร้อยละของจุดความร้อนตามพื้นที่เกษตรพบมากสุดในพื้นที่นาข้าว ทั้งข้าวนาปีและนาปรัง รองลงมาคือในไร่ข้าวโพด และไร่อ้อย โดยเป็นการเผาในช่วงหลังการเก็บเกี่ยวและเตรียมพื้นที่ปลูก
มูลนิธิชีวิตไท ได้ดำเนินโครงการเกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตจากเกษตรเคมีเป็นเกษตรอินทรีย์ เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกรมาอย่างต่อเนื่องนับสิบปี ทำให้แง่มุมและวิธีคิดของเกษตรกรต่อการเผาตอซังฟางข้าวที่ต้องเก็บมาขบคิด ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การเป็นหนี้สินมาอย่างต่อเนื่องยาวนานของการประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่พึ่งพาสารเคมีในระบบการผลิตที่นับวันจะเป็นต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่มีวันลดลง เชื่อมโยงสู่ปัญหาปากท้องของสมาชิกในครอบครัว หรือปัญหาการศึกษาของบุตรหลาน ข้อมูลหนี้สินของชาวนาเกษตรกรในพื้นที่ภาคกลางเป็นหนี้สินระยะยาว มีหนี้เฉลี่ย 11 ปี (มูลนิธิชีวิตไท, 2565) นอกจากนี้ยังพบ ปัญหาการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ที่เกษตรกรควบคุมไม่ได้ หากเพาะปลูกล่าช้ากว่านาข้างเคียงจะเกิดความเสียหายทั้งในแง่ของไม่มีน้ำในการเพาะปลูก หรือต้องใช้ต้นทุนในการสูบน้ำเข้านาสูงกว่าปกติ หรือแม้กระทั่งการปฏิเสธการไถนาที่ไม่ได้เผาของเจ้าของรถไถรับจ้าง ซึ่งสถานการณ์ปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่เกษตรกรไม่สามารถควบคุมและพึ่งพาตนเองได้ ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกเท่านั้น รวมถึงสถานการณ์ความรู้และความเชื่อในการเพาะปลูกข้าวของเกษตรกร ซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันเลย
ข้อมูลจากการจัดเวทีเพื่อรับฟังความเห็นประเด็นนี้ของชาวนาเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายในพื้นที่จังหวัดชัยนาท และจากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลดการเผาตอซังฟางข้าว พบ 2 ทางเลือกแนวทางแก้ไขปัญหา ได้แก่ ทางเลือกแรก คือ การเก็บตอซังฟางข้าวไว้ในผืนนาด้วยการหมักให้เกิดการย่อยสลาย เพื่อเพิ่มธาตุอาหารอินทรียวัตถุให้กับดิน ทำหน้าที่ในการปรับปรุงบำรุงดิน การหมักตอซังฟางข้าวพื้นที่ 1 ไร่ มีปริมาณเฉลี่ย 650 กก. สามารถลดรายจ่ายต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี 1 กระสอบ คิดเป็นเงิน 1,000 บาทต่อไร่ และในระยะยาวเป็นการเพิ่มปริมาณและคุณภาพให้กับผลผลิต อย่างไรก็ตามทางเลือกนี้ต้องแลกด้วยระยะเวลาการพักนาอย่างน้อย 15-30 วันเพื่อหมักฟางข้าว และปริมาณน้ำต้องมีเพียงพอ โดยทางเลือกแรกสามารถดำเนินการโดยชาวนาเอง ทางเลือกที่สอง คือ การอัดฟางในนา ซึ่งทางเลือกนี้ต้องพึ่งพารถอัดฟางของภาคเอกชนที่มีจำนวนน้อยในพื้นที่ ไม่เพียงพอต่อความต้องการของชาวนา เป็นการลงทุนที่สูง และชาวนาได้รับค่าตอบแทนจากการขายก้อนฟางในราคาที่ต่ำ จากเสียงสะท้อนของชาวนา อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท
“รถอัดฟางเขาจ่ายให้เราไร่ละ 50-70 บาท แล้วแต่กรณี โดยประเมินจากความหนาแน่นของฟางข้าว”
หรือบางครั้งชาวนาต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับรถอัดฟาง แต่ทางเลือกที่สองนี้ต้องอาศัยกลไกภายนอก แต่กลับไม่ถูกให้ความสำคัญทั้งในเชิงนโยบายและต้องการความมั่นใจในความคุ้มค่ากับตัวชาวนาและเกษตรกรเอง ชาวนาจึงเลือกจัดการด้วยวิธีการเผาเหมือนเดิม
จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้เห็นว่า “ชาวนาและเกษตรกร” ยังคงเป็นอาชีพที่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกมากกว่าการพึ่งพาตนเอง ดังนั้นนโยบายเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพให้กับชาวนาเกษตรกรอย่างจริงจัง ยังคงเป็นนโยบายที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองได้ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดการลดต้นทุนการผลิต หรือการผลิตแบบครบวงจรที่ครอบคลุมการแปรรูปและจำหน่าย รวมทั้งนโยบายลดการเผาตอซังฟางข้าวที่ต้องประกอบด้วยแนวทางเพื่อให้เกิดการส่งเสริม/สนับสนุน การสร้างแรงจูงใจ และมาตรการ/ข้อบังคับ เพื่อให้เกษตรกรไม่ต้องแก้ปัญหานี้โดยลำพัง
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 10 ก.ย. 2567
ผู้เขียน : สุริยาพร จันทร์เจริญ
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.