ชาวนา อาชีพสำคัญที่สร้างผลผลิตหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของประเทศมาตั้งแต่การทำสนธิสัญญาเบาว์ริงในปี พ.ศ. 2398 มาจนถึงปัจจุบัน ที่รายได้จากการส่งออกข้าวยังมีสัดส่วนอย่างสำคัญต่อ GDP ของประเทศ แต่อาชีพที่เก่าแก่ และมีความสำคัญอย่างมากนี้กำลังเผชิญกับความท้าทายหลากหลายประการ ทั้งราคาข้าวที่ตกลง ทั้งปัญหาหนี้สิน ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอื่นๆ จนเกิดคำถามสำคัญว่าอาชีพชาวนาจะคงอยู่คู่สังคมไทยไปได้อีกนานแค่ไหน
สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตกแต่ง (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา) ได้ทำการศึกษาการปรับตัวของชาวนาไทยยุคหลังนโยบายจำนำข้าวปี 2557 นโยบายจำนำข้าวถูกนำมาเป็นหมุดหมายในการวิจัยเนื่องจากเป็นนโยบายที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการผลิตข้าวของประเทศไทย โดยเฉพาะการทำให้ไทยสูญเสียตลาดข้าวในเวทีโลก เพราะการประกันราคาข้าว “ทุกเมล็ด” ที่ราคาตันละ 15,000 บาท สูงกว่าตลาดในขณะนั้นถึง 50% ทำให้ราคาข้าวไทยในตลาดโลกสูงกว่าราคาข้าวของประเทศคู่แข่งอย่างมาก จนยอดส่งออกข้าวในปีนั้นลดลงเหลือเพียงปีละ 3.45 ล้านตัน ลดจากปีก่อนหน้าถึงเกือบครึ่งหนึ่ง ข้อค้นพบของงานวิจัยชิ้นนี้มีหลายประการ และควรถูกนำมาถ่ายทอดต่อ
งานวิจัยชื่อว่า “โฉมหน้าชาวนาไทย” ซึ่งเผยแพร่เมื่อไม่นาน พบว่าโครงสร้างทางประชากรของชาวนามีการเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก โดยพบว่าสังคมชาวนาในปัจจุบันเป็นสังคมของผู้สูงอายุ ชาวนาส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงานตอนปลายหรืออายุมากกว่า 50 ปี มากกว่าร้อยละ 70 ขณะที่ครัวเรือนชาวนาไทยมีขนาดเล็กลง โดยเฉลี่ยมีสมาชิกเพียงประมาณ 5 คน สมาชิกวัยแรงงานส่วนใหญ่ออกไปทำงานต่างถิ่น ครัวเรือนชาวนาส่วนใหญ่จึงต้องจ้างแรงงานจากภายนอกทำงานในนา นอกจากนี้ยังพบว่าสมาชิกรุ่นใหม่ของครอบครัวชาวนาส่วนใหญ่มีการศึกษาดีกว่าคนรุ่นพ่อแม่ หรือปู่ย่า โอกาสที่จะสืบทอดการทำนาก็ลดน้อยลง ซึ่งพ่อแม่ที่เป็นชาวนาเองก็ยินดีที่จะให้ลูกหลานออกไปใช้ชีวิตนอกระบบเศรษฐกิจชาวนาด้วย ซึ่งคาดการณ์ว่าชาวนาที่ยังประกอบอาชีพทำนาอยู่ในปัจจุบันจะทำอาชีพชาวนาต่อไป เพราะเป็นอาชีพที่ยังสามารถเลี้ยงตัวได้ ไม่มีการเกษียณอายุ การเกษียณอายุของชาวนาจะเกิดขึ้น 2 ประการคือ สุขภาพไม่เอื้อ และลูกหลานขอให้เลิก
เมื่อมองในมิติด้านการผลิต รศ.ดร.ประภาส และคณะพบว่าชาวนาส่วนใหญ่ยังคงเป็นเกษตรกรรายย่อย ทำนาในพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่ กลุ่มที่ทำนาเกิน 100 ไร่ มีเพียงไม่ถึงร้อยละ 1 ของชาวนาทั้งหมด นอกจากนี้ยังพบว่ามีการขยายตัวของการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน ที่นาจำนวนมากถูกเปลี่ยนแปลงเป็นการเกษตรประเภทอื่น เช่น การทำสวน ทำไร่ เพื่อสร้างรายได้หล่อเลี้ยงครอบครัวให้มากขึ้น
การปรับตัวของชาวนา
ผลการสำรวจสถานะและรูปแบบการปรับตัวของชาวนา ชาวนาไทยในปัจจุบันมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดหลากหลายประเด็น วิธีที่นิยมทำมากที่สุดคือการลดต้นทุนการทำนา เช่น ลดการซื้อปุ๋ย เปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยคอก หรือการลดการจ้างงานแรงงานหันมาใช้เครื่องจักร รวมไปถึงเริ่มมีการเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อปลูกในฤดูกาลถัดไปเพิ่มมากขึ้น
การปรับตัวที่ได้รับความนิยมรองลงมาคือ การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่นา โดยมีการปลูกพืชชนิดอื่นเพิ่มขึ้น สร้างทางเลือกด้านรายได้มากขึ้น ซึ่งประเด็นนี้ผู้เขียนเคยคุยกับชาวนาในภาคกลางหลายคนบอกว่าไม่อยากทำนาแล้ว เพราะผลตอบแทนไม่เอื้อให้ดำรงชีพได้ แต่ที่พวกเขายังคงรักษาที่นา รักษาสถานภาพการเป็นชาวนาไว้ เพราะในบรรดาอาชีพด้านการเกษตรทั้งหมด ชาวนาผู้ปลูกข้าวเป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลผ่านโครงการต่างๆ มากที่สุด
การปรับตัวอีกรูปแบบหนึ่งที่ผลการวิจัยค้นพบคือ การปรับตัวสู่การผลิตที่ยั่งยืน หรือการทำนา/ เกษตรอินทรีย์ โดยมีการรวมกลุ่มกัน หาตลาด และสร้างการพึ่งพิงตนเอง ซึ่งยังเป็นรูปแบบการทำนาข้าวที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐค่อนข้างน้อย
โฉมหน้าของชาวนาในปัจจุบันที่งานวิจัยชุดนี้ค้นพบ นำสู่การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายให้กับภาครัฐ เพื่อรักษาความมั่นคงของสังคมชาวนาให้มากกว่าการธำรงสถานภาพชาวนาเพื่อรับความช่วยเหลือต่างๆ จากภาครัฐ เช่น รัฐบาลควรสนับสนุนการปรับตัวเพื่อการปลูกข้าวที่ยั่งยืน เช่น การช่วยขยายช่องทางการตลาด หนุนเสริมให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างชาวนากับผู้บริโภคโดยตรง โดยนโยบายการสนับสนุนและส่งเสริมนาข้าวอินทรีย์ ควรเป็นไปอย่างยั่งยืนไม่ใช่ลักษณะของการสนับสนุนเฉพาะหน้า รวมไปถึงการสร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง ทั้งการถือครองที่ดิน ทั้งการสนับสนุนระบบการผลิตที่พึ่งพิงฐานทรัพยากรอย่างยั่งยืน ไปจนถึงการคุ้มครองสิทธิของชาวนาอินทรีย์ การสนับสนุนการสร้างอำนาจต่อรอง การเอาจริงเอาจังกับการเกษตรที่ใช้สารเคมีอย่างผิดๆ จนเกิดปัญหาสารเคมีตกค้าง เป็นต้น
อาชีพชาวนา ก็ไม่ต่างจากอาชีพอื่นๆ ที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงตามเวลา เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงของอาชีพชาวนาเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ตัวชาวนามีอำนาจตัดสินใจเพื่อกำหนดรูปแบบการเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองได้ค่อนข้างน้อย เพราะยังคงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของนโยบายภาครัฐ โฉมหน้าชาวไทยในปัจจุบันจึงไม่ได้เป็นตัวบ่งสะท้อนว่านี่คือชีวิตที่พวกเขาปรารถนา โฉมหน้าชาวนาไทยที่งานวิจัยนี้ค้นพบ ไม่ได้เป็นผลมาจากนโยบายใด นโยบายหนึ่ง หากเป็นผลกระทบที่เกิดสะสมสืบเนื่องกันมา งานวิจัยนี้น่าจะเป็นอนุสติให้รัฐบาลในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับชาวนา ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดโฉมหน้าชาวนาไทยในอนาคตต่อไป
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 27 ส.ค. 2567
ผู้เขียน : เพ็ญนภา หงษ์ทอง
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.