เป็นเวลาเกินกว่าศตวรรษแล้วที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สนับสนุนให้เกษตรกร รวมตัวกันเป็นกลุ่มเกษตรกร เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และสร้างอำนาจต่อรอง เพื่อนำสู่ความเข้มแข็งของเกษตรกร ไม่ว่าจะในรูปของสหกรณ์การเกษตร ในรูปของกลุ่มเกษตรกร หรือวิสาหกิจชุมชน ซึ่งแต่ละรูปแบบเกิดขึ้นภายใต้กฎหมายรองรับที่แตกต่างกัน ข้อมูลจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 ระบุว่า มีสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกรทุกประเภทรวมกัน เกือบ 8,00 กลุ่ม ไม่นับวิสาหกิจชุมชนของกลุ่มเกษตรกร ที่กรมส่งเสริมการเกษตรสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันตั้งอีกกว่า 1.4 แสนแห่ง (ข้อมูลปี 2566)
คำถามสำคัญคือ การรวมกลุ่มของเกษตรกรตามแนวทางของภาครัฐ เป็นคำตอบที่ใช่สำหรับเกษตรกรของไทยหรือไม่ ในเมื่อปัจจุบันจำนวนกลุ่มเกษตรกรมีมากมายแต่เกษตรกรไทยยังคงตกอยู่ในวงจรหนี้สิน บทความนี้จะพาไปรู้จักกับกลุ่มเกษตรกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันอย่างไม่เป็นทางการ เลือกที่จะไม่รวมกลุ่มตามการสนับสนุนของภาครัฐ ที่พวกเขามองว่ายังมีจุดอ่อนอยู่บางประการ กลุ่มนั้นคือ “กลุ่มบ้านมุ้งผักเกษตรอินทรีย์ชัยนาท”
“เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับการจดทะเบียนกลุ่ม หรือการรับรองกลุ่มจากภาครัฐ เพราะเราไม่ได้ต้องการเอาสถานะกลุ่มไปทำประโยชน์อะไร เราแค่ต้องการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ และทำให้เกษตรกรอยู่ได้อย่างเข็มแข็ง” ชนินทร์ ยิ้มศรี ประธานและผู้ก่อตั้งกลุ่มฯ
ชนินทร์ เริ่มต้นทำการเกษตรในปี 2549 หลังจากตัดสินใจยุติชีวิตการเป็นลูกจ้างในกรุงเทพฯ กลับบ้านมาทำนาปลูกข้าวแบบกระแสหลักคือการใช้สารเคมีเพื่อป้อนตลาดเช่นเดียวกับชาวนาคนอื่นๆ ในเขตอำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท พื้นที่ปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศ เพื่อจะพบว่าการปลูกข้าวในวิถีเดิมๆ ที่คนรุ่นพ่อแม่เคยทำ ไม่ใช่หนทางที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรได้ เขาจึงแบ่งพื้นที่การเกษตรส่วนหนึ่งมาเริ่มทำการปลูกผักแบบทางเลือก เริ่มจากการปลูกผักปลอดภัย หรือการใช้สารเคมีแบบปลอดภัยตามมาตรฐาน Good Agricultural Practices – GAP แต่ก็พบว่ามีปัญหาในการทำตลาด จึงหันมาทำเกษตรอินทรีย์เต็มตัว ปลูกผักและพืชสมุนไพร แบบกางมุ้งจนได้ใบรับรองมาตรฐาน Organic Thailand สำหรับผักอินทรีย์และใบรับรองมาตรฐานสำหรับพืชสมุนไพร หรือ มกษ.3502-2561 จากกรมวิชาการเกษตร และสามารถหาตลาดที่มั่นคงได้
ชนินทร์ และคู่ชีวิต สุนีย์ ร่วมกันตั้งกลุ่มบ้านมุ้งผัก บนแนวคิดหลักสั้นๆ ว่าต้องเลี้ยงตัวเองได้ ทั้งคู่ไม่ได้เลิกการปลูกข้าวเคมี เพราะเป็นรูปแบบการเกษตรที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมากที่สุด เพียงแต่แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งมาทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกข้าวอินทรีย์เพื่อกิน ข้าวเคมีเพื่อขาย ปลูกผักและพืชสมุนไพรเพื่อขาย สร้างรายได้ให้กับครอบครัวอย่างมั่นคง และเป็นทางเลือกของครอบครัวในการได้กินอาหารปลอดภัย แปลงผักอินทรีย์ของครอบครัวขยายใหญ่ขึ้น ดึงดูดให้เพื่อนบ้านคนอื่นเริ่มสนใจและหันมาทำตามจนเกิดการรวมกลุ่มกลายเป็น กลุ่มบ้านมุ้งผักเกษตรอินทรีย์ชัยนาท เป็นกลุ่มที่ไม่เป็นทางการ มีสมาชิก 8 คน ไม่มีการเก็บค่าสมาชิก กฎกติกาของกลุ่ม คือ
1. สมาชิกต้องแบ่งพื้นที่การทำเกษตรเพื่อขายและเพื่อทำกิน มีพื้นที่กันชนตามข้อกำหนดในการทำเกษตรอินทรีย์ และพยามพัฒนาการปลูกผักและสุมนไพรอินทรีย์เพื่อให้ได้มาตรฐาน Organic Thailand และมาตรฐาน มกษ.3502-2561 ซึ่งจะทำให้มีตลาดชัดเจน 2. ไม่กู้เงินจากภายนอกมาทำเกษตร สมาชิกทุกคนต้องเริ่มจากพื้นที่ขนาดเล็กที่ตนเองมีเงินทุนก่อน หากจำเป็นต้องใช้ทุนใช้วิธีการยืมกันภายในกลุ่ม ไม่มีดอกเบี้ย เมื่อขายผลผลิตได้ให้รีบคืน (แน่นอนว่าสมาชิกมีให้ยืมกันไม่มาก แต่นี่คือวิธีบังคับให้ค่อยๆ เติบโต ตามศักยภาพของตน) 3. ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ส่งขายให้บริษัทที่รับซื้อในนามกลุ่มก่อน โดยไม่มีการหักเปอร์เซ็นต์เข้ากลุ่ม ใครขายได้เท่าไรได้เงินเท่านั้น 4. สมาชิกทุกคนต้องพยายามหาช่องทางตลาดของตนเองด้วย ไม่พึ่งพาตลาดแห่งเดียว เพื่อหากวันหนึ่งบริษัทที่รับซื้อเกิดการเปลี่ยนแปลงทุกคนจะได้สามารถอยู่ได้
จะเห็นว่าแนวคิดของกลุ่มคือเน้นการพึ่งตนเอง ชนินทร์และสุนีย์ไม่เคยออกหาสมาชิก เพราะต้องการให้กลุ่มโตอย่างมีคุณภาพ เกษตรกรที่เป็นสมาชิกคือเกษตรกรที่มองเห็นความยั่งยืนในแนวทางที่ทั้งคู่ทำ แล้วขอมาเข้าร่วมกลุ่มเอง “ต้องเริ่มที่ตัวเกษตรกรเองมีใจอยากทำ” ชนินทร์กล่าว เป้าหมายสูงสุดที่กลุ่มบ้านมุ้งผักฯ วางไว้ คือ การพยายามพัฒนาให้ได้มาตรฐาน Organic Thailand ซึ่งเป็นมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการยอมรับจากตลาดสูง มีตลาดรับซื้อที่แน่นอน ในราคาที่สมเหตุสมผลกับการลงทุนของเกษตรกร ซึ่งจะทำให้เกษตรกรเข้มแข็งจากฐานราก
“สิ่งสำคัญในการรวมกลุ่มคือการทำให้เกษตรกรเติบโต ไม่ใช่กลุ่มเติบโต กลุ่มขนาดใหญ่ที่ก่อตั้งโดยการสนับสนุนจากภาครัฐมาก่อน มักจะมุ่งเพื่อให้กลุ่มเติบโต เพื่อนำกลุ่มไปเข้าร่วมกิจกรรม หรือเพื่อรับเงินกู้หรือเงินสนับสนุนจากภาครัฐ ผมว่ามันทำให้กลุ่มโตแต่เกษตรกรไม่โต” ชนินทร์กล่าว
การสร้างกลุ่มเกษตรกรแบบมีโครงสร้าง และจดทะเบียนกับรัฐชัดเจน ทำให้กลุ่มต้องดิ้นรนเพื่อการอยู่รอด หลายกลุ่มมีการเก็บค่าสมาชิกแรกเข้า หลายกลุ่มหักเปอร์เซ็นต์การขายจากเกษตรกร โดยไม่สมเหตุสมผล
“เราต้องมองการเติบโตของกลุ่มเกษตรกรคือการเติบโตของตัวเกษตรกร กลุ่มที่ดีคือกลุ่มที่ทำให้เกษตรกรเติบโต แล้วการเติบโตของเกษตรกรจะมาสนับสนุนความเข้มแข็งของกลุ่มเอง กลุ่มเกษตรกรจำนวนมากที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเน้นการเติบโตของกลุ่มจนละเลยความเข้มแข็งของเกษตรกร”
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 30 ก.ค. 2567
ผู้เขียน : เพ็ญนภา หงษ์ทอง
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.