วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 เป็นวันแรกที่ชาวนาจะได้ลงทะเบียนกับภาครัฐเพื่อเข้าร่วมโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง โครงการล่าสุดของรัฐบาลในการสนับสนุนภาคการเกษตรของประเทศ บนความคาดหวังของรัฐบาลเองว่าจะสามารถช่วยชาวนาลดต้นทุนการผลิต อันจะนำสู่การเพิ่มรายได้ให้ชาวนา และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคการเกษตรของประเทศไทยในเวทีโลก
คำถามคือนโยบายที่ภาครัฐจะสมทบค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์ให้ชาวนาครึ่งหนึ่ง ตามราคาปุ๋ยที่จ่ายจริงโดยต้องไม่เกินราคาไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ จะทำให้ชาวนาที่เป็นเป้าหมายของโครงการ คือชาวนาที่ปลูกข้าวในปีการผลิต 2567/2568 ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือน สามารถลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้จริงหรือไม่
“ไม่ได้อย่างแน่นอน” คือคำตอบที่ชัดถ้อยชัดคำจาก วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย คร่ำหวอดกับการต่อสู้เพื่อสิทธิชาวนา และขับเคลื่อนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหารมานานกว่า 30 ปี
รัฐบาลอาจมาถูกทางที่วิเคราะห์ว่าปัญหาสำคัญของชาวนาไทยคือการมีต้นทุนการผลิตที่สูง ทำให้ความสามารถทางการแข่งขันต่ำ เพราะต้องขายผลผลิตในราคาสูง แต่การแก้ปัญหาด้วยการช่วยออกค่าปุ๋ยให้ชาวนาครึ่งหนึ่งหรือไร่ละ 500 บาท ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่เหมาะสม ตรงจุด หรือเดินถูกทางในสายตาของวิฑูรย์ โดยมีเหตุผลสนับสนุน 3-4 ข้อ คือ
1. ปุ๋ยคนละครึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบเดิม ด้วยการเติมเงินอุดหนุนที่รัฐบางทำสืบเนื่องมานานกว่า 20 ปี แต่ภาคเกษตรกรไทยยังคงแบกต้นทุนการผลิตที่สูง เพราะการให้เงินอุดหนุนไม่ว่าจะรูปแบบใด ไม่ได้เป็นการก้ปัญหาที่รากของปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ซึ่งปัจจัยสำคัญเกิดจากการที่ชาวนาและเกษตรกรไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง การแก้ปัญหาต้นทุนการผลิตสุงที่จะได้ผลดีที่สุดจึงต้องทำด้วยการกระจายการถือครองที่ดิน ควบคู่กับการพัฒนาระบบชลประทาน ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญของภาคเกษตรไทย
2. หากไม่นับต้นทุนเชิงโครงสร้างคือการถือครองที่ดินและน้ำแล้ว รายจ่ายค่าปุ๋ยถือเป็นต้นทุนการผลิตที่สูงจริง แต่การแก้ไขไม่ใช่การอุดหนุนค่าปุ๋ย แต่ควรทำด้วยการลดการใช้ปุ๋ยในภาคการเกษตรลง โดยวิฑูรย์ มีตัวเลขอ้างอิงว่าปัจจุบันชาวนาไทยใช้ปุ๋ยมากกว่าความจำเป็นถึง 35% หากลดการใช้ปุ๋ยในส่วนนี้ได้ ต้นทุนการผลิตจะลดลงโดยไม่จำเป็นต้องมีการอุดหนุนจากภาครัฐ
3. การสมทบค่าปุ๋ยคนละครึ่ง เป็นการเดินนโยบายภาคเกษตรตามแนวทางเดิมๆ ด้วยการเติมเงินอุดหนุนลงไป ซึ่งตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมา รัฐใช้เงินอุดหนุนภาคการเกษตรในรูปแบบต่างๆ รวมแล้วกว่า 1.5 แสนล้านบาท แต่ชาวนาและเกษตรกรไทยยังคงจมอยู่กับหนี้สิน แสดงให้เห็นว่าการอุดหนุนที่ผ่านมาไม่ได้ส่งผลต่อภาคการเกษตรโดยเฉพาะตัวชาวนาและเกษตรกรในระยะยาว
4. การสมทบค่าปุ๋ย เป็นเพียงการลดต้นทุนของตัวชาวนา ไม่ใช่การลดต้นทุนการผลิตของภาคการเกษตร เพราะต้นทุนการผลิตของภาคการเกษตรเท่าเดิม เพียงแต่แบ่งเบาภาระต้นทุนจากกระเป๋าของชาวนามาอยู่ที่กระเป๋าของรัฐบาลที่มาจากเงินภาษีประชาชน
สำหรับวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ นโยบายปุ๋ยคนละครึ่ง จึงเป็นอีกหนึ่งนโยบายเพื่อภาคการเกษตรที่ไม่ค่อยมีวิสัยทัศน์สักเท่าไรนัก แล้ววิสัยทัศน์ในการพัฒนาภาคการเกษตรของไทย เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกอยู่ที่ไหน คำตอบของวิฑูรย์คือ “ให้ดูที่ประเทศเวียดนาม” ประเทศปลูกข้าวที่เคยโดนปรามาสว่า “ไม่มีทางสู้ไทยได้” กลับกลายมาเป็นคู่แข่งที่สำคัญในการส่งออกข้าว จนน่าจะแซงประเทศไทยได้ในเวลาอันสั้น
ก่อนหน้านี้ รศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์ อดีตนักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ เคยศึกษานโยบายการพัฒนาข้าวและตลาดข้าวของเวียดนามไว้และพบว่า หัวใจสำคัญซึ่งแสดงให้เห้นถึงวิสัยทัศน์ของรัฐบาลเวียดนามในการพัฒนาภาคการเกษตรโดยเฉพาะชาวนาของตนเองคือนโยบายที่เรียกว่า “3 ลด 3 เพิ่ม” ลดค่าปุ๋ย ลดค่ายา ลดต้นทุน และ เพิ่มคุณภาพ เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มกำไร รูปธรรมคือ การลดการใช้ปุ๋ย ลดการใช้ยา นำสู่การลดต้นทุน ผนวกกับการเร่งพัฒนาสายพันธุ์ข้าวและปรับวิธีการผลิตทำให้สามารถเพิ่มคุณภาพ เพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มกำไรได้
นอกจากนี้รัฐบาลเวียดนามกำลังเร่งเพิ่มพื้นที่การผลิตข้าวอินทรีย์ ให้ครอบคลุมพื้นที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งแผนนี้สอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการข้าวอินทรีย์ของตลาดยุโรป
“วิสัยทัศน์รัฐบาลเวียดนามชัดเจนมาก การลดการใช้ปุ๋ย ใช้ยา ลดต้นทุนการผลิตได้จริง และการประเมินความต้องการอาหารอินทรีย์ของยุโรป แล้วนำมากำหนดเป็นนโยบาย เป็นการเตรียมความพร้อม และเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันของตนเอง แต่ของไทยยังคงใช้การให้เงินอุดหนุนเหมือนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โดยไม่ได้เอาความเคลื่อนไหวหรือแนวโน้มของโลกมาใช้ในการกำหนดนโยบาย”
ประสบการณ์กว่า 30 ปี ในการทำงานกับเกษตรกร ทำให้วิฑูรย์อดที่จะตั้งคำถามไม่ได้ว่า สุดท้ายแล้ว นโยบายปุ๋ยคนละครึ่ง ประโยชน์จะตกอยู่กับใคร
“เกษตรกรที่ต้องการรับเงินอุดหนุนส่วนนี้ ต้องซื้อปุ๋ยมาใช้เท่านั้น ยิ่งอยากได้เงินอุดหนุนมาก ก็ยิ่งต้องซื้อปุ๋ยมาก โดยที่ไม่มีสิ่งใดการันตีว่าจะทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ขณะที่บริษัทขายปุ๋ยขายยาได้อย่างแน่นอน” วิฑูรย์กล่าว
ก่อนที่จะเปิดให้ชาวนาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ รัฐบาลโดยกรมการข้าวเปิดให้ผู้ประกอบกิจการปุ๋ยและชีวภัณฑ์ ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการไปก่อนแล้ว โดยเมื่อปิดรับลงทะเบียนในวันที่ 10 กรกฎาคม พบว่ามีผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว 135 ราย ระยะสั้นเรามารอดูกันว่าจะมีชาวนาเข้าร่วมโครงการกี่ราย และระยะยาวรอดูกันต่อไปว่านโยบายนี้จะทำให้ภาคการเกษตรนาข้าวของประเทศไทยลดต้นทุนการผลิตได้จริงหรือไม่
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 16 ก.ค. 2567
ผู้เขียน : เพ็ญนภา หงษ์ทอง
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.