ภาวะโลกร้อนที่ปัจจุบันขยับตัวกลายเป็นภาวะโลกรวน กระทบกับภาคการเกษตรของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ร้อน แล้ง ฝนมาก น้ำท่วม กลายเป็นภัยธรรมชาติที่เกษตรกรต้องประสบรุนแรงขึ้นทุกปี ท่ามกลางความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมานานกว่า 2 ทศวรรษ สวนลุงโหนกนานาพรรณ พื้นที่แปลงเกษตรขนาด 8 ไร่ กลับเกิดขึ้นและเติบโตอย่างอุดมสมบูรณ์ในจังหวัดมหาสารคาม พื้นที่ที่ได้ชื่อว่าปลูกอะไรก็ไม่ค่อยขึ้นเพราะแล้งและดินเค็ม
เจ้าของสวนลุงโหนกนานาพรรณ คือ ดร.จตุพร เทียรมา อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่แม้จะเป็นลูกชาวนาภาคกลาง แต่ก็ไม่เคยลงมือทำนา เพราะวัยเด็กครอบครัวพยายามผลักดันให้ไปแสวงหาความรู้ ความก้าวหน้า นอกภาคเกษตรที่พ่อและแม่เคยทำให้ทุกตารางนิ้วบนพื้นที่ 200 ไร่ เต็มไปด้วยต้นข้าวมาหลายปี แต่สุดท้ายชีวิตก็จมอยู่กับหนี้
“นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมไม่ปลูกพืชชนิดเดียวในแปลงเกษตรของผม” จตุพรกล่าว
มองเผินๆ สวนลุงโหนกนานาพรรณ อาจไม่ต่างจากพื้นที่เกษตรผสมผสานที่พบได้ในหลายพื้นที่ แต่เมื่อมองลึกลงไปถึงแนวคิดในการออกแบบที่จตุพรวางแผนและบรรจงสร้างมาอย่างดี สามารถกล่าวได้ว่านี่คือแปลงเกษตรต้นแบบที่จะสามารถรับมือกับภาวะโลกร้อนและโลกรวนได้
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งน้ำฝนและอุณหภูมิ ไม่ใช่เรื่องเพิ่งเกิด มันเกิดขึ้นตลอดเวลา ธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลงตลอด มันเป็นเรื่องของระบบธรรมชาติ การจะรับมือกับระบบธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลง เราก็ต้องปรับตัวอย่างเป็นระบบเช่นกัน”
นั่นคือแนวคิดหลักที่จตุพรใช้ในการออกแบบสวนลุงโหนกนานาพรรณ เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว
สิ่งแรกที่จตุพรทำ ในการวางแผนทำสวนลุงโหนกนานาพรรณคือการศึกษาปริมาณน้ำฝนที่จะตกในพื้นที่ 8 ไร่ ของตนเอง เขาไปขอสถิติปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในพื้นที่มาจากสำนักอุตุนิยมวิทยาในพื้นที่ของตนเอง และเริ่มลงมือวัดปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ตนเองทุกปี จนพบว่าพื้นที่ 8 ไร่ของตัวเอง แต่ละปีจะมีน้ำฝนตกลงมาเฉลี่ย 6,000 ลบ.ม. เมื่อคำนวณการซึมลงดิน และอัตราการระเหยแล้ว จะมีน้ำผิวดินเหลือให้ใช้สำหรับการเกษตรประมาณปีละ 3,000 ลบ.ม.
บ่อน้ำขนาดที่เหมาะสมสำหรับการเก็บน้ำ 3,000 ลบ.ม. จึงถูกขุดขึ้น จตุพรวางแผนว่าน้ำในบ่อจะถูกใช้สำหรับพืชเศรษฐกิจหลัก คือส้มโอ เท่านั้น เพื่อให้ได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงสุด
“ผมวางแผนไว้แล้วว่าต้องปลูกส้มโอเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก เพราะดินเค็มเหมาะกับส้มโอมาก ปริมาณน้ำ 3,000 ลบ.ม. เมื่อนำมาคำนวณสามารถเลี้ยงส้มโอในหน้าแล้งได้แค่ 80 ต้น ผมก็ปลูกแค่นั้น เพราะถ้ามากกว่านี้มันจะเสี่ยงกับปริมาณน้ำไม่พอในหน้าแล้ง”
หลักการสำคัญของสวนลุงโหนกนานาพรรณคือต้องเป็นแปลงเกษตรที่ไม่แบกรับความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ และทำให้เขาและครอบครัวมีการกินดี อยู่ดี (wellbeing)
เมื่อน้ำทุกหยดที่ตกมาจากฟ้าต้องเก็บไว้ให้ส้มโอ พืชเศรษฐกิจรองจึงต้องเป็นพืชที่มีความสามารถในการหาน้ำใต้ดินกินเอง เช่น มะม่วง ชมพู่ ขนุน ที่จตุพรบอกว่าไม่จำเป็นต้องให้น้ำเป็นเรื่องเป็นราว เก็บผลผลิตได้บ้าง ไม่ได้บ้างไม่เป็นไร เพราะไม่ใช่พืชหลักที่เขาวางแผนว่าต้องสร้างรายได้ให้ครอบครัวปีละอย่างน้อย 9 แสนบาท
พื้นที่ประมาณ 3 งาน หรือ 300 ตารางวา ถูกกำหนดให้เป็นนาข้าว ที่ปลูกเฉพาะหน้าฝน เพื่อไม่ต้องไปรบกวนน้ำในบ่อที่ทุกหยดต้องใช้กับส้มโอเท่านั้น “เราปลูกข้าวแค่ 3 งาน เพราะผมคำนวณแล้วว่าผลผลิตจะพอกับความต้องการของครอบครัวผมที่อยู่กัน 3 คน” คือสาเหตุที่พื้นที่ 8 ไร่ของสวนลุงโหนกนานาพรรณ มีเพียง 3 งานเท่านั้นที่ปลูกข้าว
นอกเหนือจากพืชเศรษฐกิจหลัก พืชเศรษฐกิจรอง ที่มีหน้าที่สร้างรายได้ นาข้าวที่มีหน้าที่เป็นแหล่งอาหารของครอบครัวแล้ว สวนลุงโหนกนานาพรรณยังมีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่อย่างมะค่า และอื่นๆ ทำหน้าที่ผลิตออกซิเจน และรักษาอุณหภูมิไม่ให้สูงเกินไป และพืชน้ำอย่างผักตบชวาทำหน้าที่คลุมน้ำกันน้ำระเหย และเป็นปุ๋ยให้กับแปลงนา
สวนลุงโหนกนานาพรรณ ไม่มีการใช้สารเคมี ไม่มีการใช้เทคโนโลยีซับซ้อน เครื่องจักรขนาดใหญ่มีเพียงรถไถ 1 คัน ที่จตุพรใช้ทุ่นแรงตัวเอง
ด้วยแนวคิดการออกแบบสวนลุงโหนกนานาพรรณที่อยู่บนแนวคิดหลักการทำเกษตรที่สอดคล้องกับระบบทรัพยากรทั้งดินและน้ำของพื้นที่ ทำให้ชีวิตการเป็นเกษตรกรของจตุพรไม่มีความเสี่ยง แม้โรคจะร้อนและรวนมากกว่านี้ เขาก็มั่นใจว่าสวนของเขาจะไม่กระทบ
จตุพรเชื่อว่าเกษตรกรคนอื่นจะสามารถทำการเกษตรโดยที่ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงจากความแปรปรวนของธรรมชาติได้เช่นเดียวกับเขา ขอเพียงแค่ออกแบบแปลงเกษตรอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่ดำเนินไปอย่างเป็นระบบ และที่สำคัญต้องไม่ลืมเงื่อนไขสำคัญว่าต้องเลือกพืชที่จะปลูกให้สอดคล้องกับดินและน้ำของพื้นที่ ไม่ใช่ทำให้ดินและน้ำของพื้นที่สอดคล้องกับพืชที่อยากปลูก เพราะต้องใช้สารเคมีมหาศาลและเทคโนโลยีราคาสูง ซึ่งนั่นหมายถึงการมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยไม่สามารถคาดการณ์ผลผลิต
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 18 มิ.ย. 2567
ผู้เขียน : เพ็ญนภา หงษ์ทอง
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.