ยังคงอยู่กับปัญหาเรื่องการเผาในภาคการเกษตรอยู่อีกเช่นเดิม วันก่อนดิฉันมีโอกาสได้สัมภาษณ์คุณประเสริฐ ภู่เงิน ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวแขวงโคกแฝด เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร สำหรับเผยแพร่ในรายการ Farmers Talk ทางช่องยูทูบ landactionthai ของมูลนิธิชีวิตไท ทำให้พบว่าในกระบวนการผลิตข้าวของชาวนากรุงเทพฯ เต็มไปด้วยความท้าทายและแรงกดดัน การเผาหรือไม่เผาในนาข้าว ล้วนเป็นผลกระทบที่ชาวนาต้องแบกรับอันเกิดจากแรงผลักทางอ้อมของสังคมไทยโดยเฉพาะของนโยบายรัฐ จึงขอนำมาเขียนถึงในที่นี้
กลุ่มแปลงใหญ่ข้าวแขวงโคกแฝด เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร
เป็นการรวมกลุ่มกันของเกษตรกรนาข้าวในพื้นที่เขตหนองจอก ซึ่งเป็นเขตที่มีพื้นที่นาข้าวใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ กลุ่มแปลงใหญ่ข้าวฯ จดทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ปัจจุบันมีสมาชิก 32 ครอบครัว พื้นที่นารวมประมาณ 500 ไร่ เพื่อร่วมกันจัดการแปลงนาข้าวของตนเองให้มีประสิทธิภาพที่สุด ได้รับความสนับสนุนจากหลายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
จุดเริ่มต้นการเผาในนาข้าว
จากการบอกเล่าของคุณประเสริฐ พื้นที่นาข้าวในเขตหนองจอก เดิมไม่เคยมีการเผาฟางในนา เพราะในอดีตชาวนาที่นี่ (เช่นเดียวกับที่อื่น) ทำนาเพียงปีละ 1 ครั้ง ฟางข้าวที่เกิดหลังฤดูการเก็บเกี่ยวจะถูกกองไว้บนนา ให้ย่อยสลายเองซึ่งกว่าจะถึงฤดูการผลิตใหม่ฟางข้าวก็ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยในนาหมด แต่เมื่อมีการพัฒนาระบบชลประทาน มีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่เพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้มากขึ้นแล้วนำมาสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ ปัจจัยสนับสนุนทั้งหมดที่เกิดขึ้นทำให้ชาวนาสามารถปลูกข้าวได้ปีละ 2-3 ครั้ง เมื่อผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ราคาข้าวเริ่มลดลง บีบให้ชาวนาต้องเร่งผลิตให้มากขึ้น เพื่อให้ได้ผลผลิตมากขึ้น มีรายได้มากขึ้น ปัจจุบันสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวฯ บางคนสามารถผลิตข้าวได้ถึง 4 ครั้ง
ปัญหาที่ตามมา คือ ระบบการทำนาข้าวได้ผลิตฟางข้าวจำนวนมหาศาล มากกว่าการผลิตในอดีตหลายเท่า ขณะที่ชาวนาไม่สามารถกองฟางข้าวในนาได้เหมือนอดีต เพราะต้องใช้พื้นที่สำหรับการเริ่มกระบวนการผลิตรอบใหม่
การเผาในนาข้าวจึงเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ประมาณ ปี 2519-2520 ภาพการเผาในนาข้าวจึงเป็นภาพที่คุ้นชินของคุณประเสริฐ ซึ่งเกิดในครอบครัวชาวนาหนองจอกในปี 2513
เปลี่ยนฟางเป็นอาหารสัตว์ จุดเริ่มต้นความพยายามเลิกเผา
ชาวนาหนองจอกขยันทำนาแต่รายได้กลับไม่เพิ่มขึ้น เมื่อผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น ราคาข้าวก็ตกลงตามกลไกตลาด จึงเริ่มมองหาการลดต้นทุนการผลิต ในการทำนาข้าวแบบใช้สารเคมี ต้นทุนที่สูงที่สุดหนีไม่พ้นค่าปุ๋ยค่ายา ความคิดในการเปลี่ยนฟางข้าวที่ถูกเผาทุกรอบการผลิตเป็นปุ๋ย เพื่อลดต้นทุนจึงเกิดขึ้น
“ตอนนั้นเริ่มนึกถึงการทำปุ๋ยด้วยฟางข้าว แต่เราต้องใช้พื้นที่ในการทำนา จึงหันมามองเรื่องตัวทำลายฟางโดยไม่ต้องเผา และสร้างรายได้เพิ่ม จึงเริ่มเกิดการเลี้ยงวัวควาย” คุณประเสริฐเล่า
ในช่วงต้น ชาวนาเขตหนองจอกหาวัวควายมาเลี้ยงกันเองภายในครอบครัว ซึ่งมีไม่กี่ครอบครัวที่สามารถทำได้ จึงเริ่มมีการรวมกลุ่มกันอย่างไม่เป็นทางการ จนขยับสู่การตั้งกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวฯ ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหลายหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ การบริหารจัดการฟางข้าวอย่างเป็นระบบเริ่มเกิดขึ้น
ขั้นตอนคือ มีการเลี้ยงวัวควายของกลุ่ม หมุนวนไปกินฟางในนาสมาชิก ฟางที่วัวกินไม่หมด แบ่งส่วนหนึ่งไปทำปุ๋ยหมัก โดยกระทรวงเกษตรฯ สนับสนุนจุลินทรีย์เพื่อช่วยให้ย่อยสลายได้เร็วขึ้น แต่เกิดปัญหาการผลิตก๊าซมีเทนขึ้นมาแทน เริ่มมีการอัดฟางเป็นก้อน เพื่อเก็บให้วัวกินนอกฤดูเก็บเกี่ยว และส่งขายให้ฟาร์มวัว ในเขต กทม. โดยกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวฯ ได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยี ทั้งรถเกี่ยวข้าวที่แยกฟางและเมล็ดข้าวได้อัตโนมัติ รถตัดฟางข้าวให้สั้นเพื่อย่อยสลายง่ายและอัดก้อนง่าย รถอัดก้อนฟาง
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นก่อนที่ปัญหา PM2.5 จะเป็นประเด็นที่โลกและสังคมไทยให้ความสำคัญ
“เราเผาและเลิกเผาก่อนที่ทุกคนจะตื่นตัวเรื่อง PM2.5 และมองว่าการเผาในภาคเกษตรเป็นปัญหาเสียอีก”
อย่างไรก็ดี คุณประเสริฐยอมรับว่าการเผายังคงมีอยู่บ้างในพื้นที่หนองจอก เพราะระบบการบริหารจัดการฟางยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะตอบสนองพื้นที่นามหาศาลของเขตหนองจอก ทุกวันนี้แม้จะมีรถอัดฟางจากภายนอกมารับจ้างอัดฟางในพื้นที่ก็ยังไม่สามารถตอบสนองได้เพียงพอกับความต้องการ
เมื่อรัฐบังคับให้เลิกเผา
เมื่อปัญหา PM2.5 ปะทุขึ้น การเผาในภาคเกษตร เป็นจำเลยที่พุ่งเป้าหาเกษตรกร กรุงเทพมหานครประกาศห้ามเผาอย่างเด็ดขาด ตามมาด้วยการจับและปรับจริง
“ทีนี้แย่เลย ระบบที่เราวางไว้รวน เพราะเมื่อบังคับห้ามเผาอย่างเด็ดขาด รถรับจ้างอัดฟางก็เล่นตัว ไม่เข้ามารับอัดฟาง ซึ่งเดิมชาวนาเคยมีรายได้จากการขายฟาง กลายเป็นต้องยกฟางให้รถอัดไปฟรีๆ เพื่อให้เขาเร่งมาจัดการกับฟางให้”
บทเรียนว่าด้วยการเผา - ไม่เผา ในนาข้าว จากกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวฯ
1. การเผาในนา เป็นผลจากระบบการส่งเสริมการทำนาข้าวของภาครัฐ ที่สนับสนุนให้เกษตรกรทำการผลิตเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่มีการออกแบบการจัดการฟางข้าวให้ 2. ชาวนาไม่ได้อยากเผา เพราะต่างต้องการฟาง ให้เป็นรายได้ 3. การสื่อสารกับชาวนาเรื่องการหยุดเผา ควรสื่อสารด้วยประเด็นที่ทำให้เห็นผลกระทบด้านบวกต่อตัวชาวนาเอง ไม่ใช่ด้วยเหตุผลที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น 4.รัฐบาลควรวางแผนการจัดการฟางอย่างเป็นระบบ และสนับสนุนเงินทุนและเทคโนโลยีในการจัดการฟางให้กับชาวนา
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 28 พ.ค. 2567
ผู้เขียน : เพ็ญนภา หงษ์ทอง
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.