ปัญหาหนี้สินเกษตรเกิดขึ้นและดำรงอยู่คู่กับภาคการเกษตรของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน มีวิวัฒนาการของปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหามาตามลำดับ แต่การแก้ปัญหาหลายอย่างกลับทำให้หนี้สินเกษตรเพิ่มขึ้น
นิพนธ์ พัวพงศกร และคณะ เคยทำการวิจัยและพบว่าในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา ตลาดสินเชื่อชนบทมีความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน จากเดิมที่เคยถูกครอบงำด้วยสินเชื่อนอกระบบที่อัตราดอกเบี้ยสูงมาก มาเป็นแหล่งสินเชื่อในระบบดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งมีการสร้างนวัตกรรมที่ทำให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ผ่านระบบการค้ำประกันด้วยบุคคล ทำให้เกษตรกรเข้าถึงหนี้สินได้ง่ายขึ้น รูปธรรมชัดเจนในประเด็นนี้คือ การที่มูลค่ารวมยอดหนี้ของเกษตรกรไทยเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะใน 20 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนหนี้สินของครัวเรือนเกษตรกรเพิ่มสูงขึ้นอย่างเด่นชัด
การเพิ่มขึ้นของหนี้สินภาคเกษตรยังพบว่าบางส่วนเกิดจากความพยายามปรับโครงสร้างหนี้ของเจ้าหนี้เองโดยเฉพาะเจ้าหนี้สถาบัน วิธีการปรับโครงสร้างมักทำโดยการนำหนี้เดิมที่ค้างอยู่มารวมกับดอกเบี้ยค้างชำระ แล้วปรับให้เป็นยอดเงินกู้ใหม่ เริ่มนับระยะเวลาในการกู้ใหม่ หรือมาตรการพักชำระหนี้ ซึ่งหลายต่อหลายครั้งพบว่าเป็นการพักการชำระเฉพาะเงินต้น ขณะที่ดอกเบี้ยยังคงเดินหน้า ยิ่งเงินต้นถูกพักชำระสะสม ดอกเบี้ยยิ่งท่วมท้น สุดท้ายเกษตรกรยังคงติดอยู่ในกับดักหนี้สินเดิม ๆ เพิ่มเติมคือหนี้ก้อนใหญ่ขึ้น
กวิน มุสิกา แห่งสาขาวิชาการจัดการสาธารณะ วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยทำการศึกษาเรื่องการจัดการบริหารหนี้สินเกษตรกรไทย เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของตนเอง และมีข้อเสนอที่น่าสนใจหลายประการ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้ของเจ้าหนี้ที่เป็นธนาคารพาณิชย์ กวินมีข้อเสนอแนะว่า การปรับโครงสร้างหนี้ควรมุ่งที่การปรับโครงสร้างของลูกหนี้มากกว่าการปรับโครงสร้างทางการเงิน คือการมุ่งให้เกษตรกรสามารถชำระหนี้ได้ แทนการมุ่งรักษายอดหนี้ของเจ้าหนี้
นอกจากนี้กวินยังมองว่าในการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้เกษตรกรสามารถหนี้ได้นั้น เจ้าหนี้อาจต้องยอมยกเว้น ปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงหลักการบางข้อเพื่อเอื้อให้เกิดความสามารถในการชำระหนี้ของภาคเกษตรกรมากที่สุด
กวินมองว่า การปรับโครงสร้างหนี้ที่มีประสิทธิภาพ ต้องฟื้นฟูแก้ไขหนี้เชิงโครงสร้างให้เกษตรกรสามารถชำระหนี้ได้ก่อน ซึ่งอาจจำเป็นต้องมีคนกลางที่มาจากตัวแทนทั้งสองฝ่ายเข้ามาทำหน้าที่ในส่วนนี้ ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้จำเป็นต้องมีแผนการฟื้นฟูเกษตรกรควบรวมอยู่ด้วย
ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การปรับโครงสร้างหนี้ได้ผล นอกจากฝั่งเจ้าหนี้ต้องปรับทัศนคติว่าทำเพื่อให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้คืนได้แล้ว กวินมองว่าฝั่งเกษตรกรลูกหนี้ก็ต้องปรับพฤติกรรมตัวเองด้วย เริ่มตั้งแต่ ต้องบอกข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวกับภาระหนี้สิน รวมถึงสินทรัพย์ และศักยภาพในการผลิตของตนเองให้กับทุกฝ่ายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างหนี้ด้วย เพื่อให้การวางแผนปรับโครงสร้างหนี้และการฟื้นฟูถูกออกแบบมาให้สอดคล้องกับสถานการณ์และข้อเท็จจริงของเกษตรกร
ซึ่งประเด็นนี้สอดคล้องกับสิ่งที่โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย เคยเสนอไว้หลายปีแล้วแต่ไม่มีใครตอบรับ นั่นคือ การปรับโครงสร้างหนี้ควรต้องออกแบบเฉพาะบุคคลให้ตรงกับเงื่อนไขและศักยภาพของเกษตรกรแต่ละคน ไม่ใช่การกำหนดนโยบายแบบเสื้อโหลที่ออกแบบมาแล้วนำไปปรับใช้กับเกษตรกรทุกคน อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ข้อเสนอของกวินในการเรียกร้องให้เกษตรกรต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับหนี้และความสามารถในการจัดการหนี้ของเกษตรกรมีความสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ทั้งนี้จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนทำงานเกี่ยวกับปัญหาหนี้สินเกษตรกรมาระยะหนึ่ง พบว่าหลายครั้งที่เกษตรกรไม่เปิดเผยข้อมูลหนี้ก้อนอื่นๆ ของตนเองเช่น การปิดบังหนี้นอกระบบ หนี้ไฟแนนซ์รถ และหนี้อื่นๆ ที่ตนเองแบกรับภาระอยู่ ไม่เปิดเผยให้เจ้าหนี้สถาบันหรือผู้ที่เข้ามาช่วยวางแผนการจัดการหนี้สินรับรู้ ทำให้การจัดการหนี้นอกจากจะไม่ได้ผลแล้วยังทำให้เกษตรกรมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
นอกเหนือจากการบริหารจัดการหนี้ที่เป็นอยู่แล้ว การบริหารหนี้สินเกษตรกรที่สำคัญยังต้องไม่ทำให้เกษตรกรเป็นหนี้เพิ่มมากขึ้น ดังกล่าวในตอนต้นว่าในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรไทยสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น สะดวกมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแข่งขันกันเพื่อปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งเป็นกลไกที่ถูกนำมาใช้เพื่อเร่งให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจภาคครัวเรือน รวมถึงขยายฐานลูกค้าของตนเอง ในภาวะที่หนี้สินเกษตรกรกลายเป็นกับดักที่ผูกมัดตัวเองจนดิ้นไม่หลุด สถาบันการเงินต่างๆ จำเป็นต้องตระหนักถึงปัจจัยนี้ คือต้องไม่ทำให้การเข้าถึงหนี้ของเกษตรกรโดยเฉพาะการเข้าถึงในฐานะบุคคลทำได้ง่ายดายเช่นในปัจจุบัน กวินเสนอว่า สถาบันการเงินต่างๆ ควรต้องหันมาให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่อให้กับเกษตรกรแบบกลุ่ม โดยมีเงื่อนไขการรวมกลุ่มกันของเกษตรกรให้มากขึ้น และการให้สินเชื่อต้องคำนึงถึงการสนับสนุนกิจกรรมด้านการลงทุน การผลิต การจ้างงานของภาคเกษตรให้มากขึ้น
อย่าลืมว่าหนี้สินเกษตรกรไม่ใช่แค่เรื่องของเกษตรกร แต่เป็นเรื่องของสังคมและสถาบันการเงิน การบริหารจัดการหนี้สินเกษตรกรให้ได้ผล ทุกฝ่ายจึงควรต้องร่วมมือกัน บนเป้าหมายร่วมกันคือ ทำให้เกษตรกรสามารถชำระหนี้ได้
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 30 เมษายน 2567
ผู้เขียน : เพ็ญนภา หงษ์ทอง
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.