นโยบายพักชำระหนี้เกษตรกรถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายสวัสดิการสังคมของรัฐบาล ดำเนินการผ่านกลไกธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เจ้าหนี้รายใหญ่ของเกษตรกรไทย เริ่มประกาศใช้นโยบายครั้งแรกในปี 2558 จนถึงปัจจุบัน มีการพักชำระหนี้เกษตรกรไปแล้วรวม 14 ครั้ง ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 หมดเขตวันที่ 31 มกราคม 2567 ที่น่าแปลกใจคืองานวิจัยชี้ชัดว่า นโยบายการพักชำระหนี้เป็นระยะเวลากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา เกษตรกรไทยกลับมีมูลค่าหนี้เพิ่มสูงขึ้น บทความนี้ชวนทุกคนหาคำตอบว่าอะไรที่ซ่อนอยู่ในนโยบายพักชำระหนี้ของรัฐบาล
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับการพักชำระหนี้ก่อน
การพักการชำระหนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วนคือ การปรับโครงสร้างหนี้ทั่วไป และการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา หมายถึงหนี้ที่ลูกหนี้เริ่มไม่สามารถผ่อนชำระได้ตามปกติ นโยบายพักการชำระหนี้ที่เคยเกิดขึ้นที่ผ่านมามีหลากหลายรูปแบบทั้งการพักการชำระหนี้เฉพาะเงินต้น การพักชำระเงินต้นและลดอัตราดอกเบี้ย การพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย แล้วแต่ละแบบต่างกันอย่างไร
เพื่อทำความเข้าใจการพักการชำระหนี้กับผลกระทบต่อเกษตรกร มาทำความเข้าใจกับโครงสร้างหนี้และการผ่อนชำระหนี้กันก่อน ปกติค่างวดที่เกษตรกรต้องจ่ายให้กับเจ้าหนี้จะประกอบด้วยส่วนของเงินต้นกับดอกเบี้ย การพักการชำระเงินต้นเพียงอย่างเดียว จึงหมายถึงการอนุญาตให้เกษตรกรหยุดการชำระเงินต้น แต่ดอกเบี้ยไม่หยุดเดินหน้าหากจะสะสมเพิ่มพูนขึ้น การพักการชำระหนี้แบบนี้จึงทำให้เงินต้นไม่ลดลง แต่ดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น การพักการชำระเงินต้นและลดดอกเบี้ย จะทำให้ดอกเบี้ยลดลงด้วย ส่วนการพักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย คือการที่ในช่วงของการหยุดชำระหนี้นั้นเงินต้นจะไม่ลด และดอกเบี้ยจะไม่เพิ่ม
การศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่าเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ในช่วงปี 2558 -2564 มีหนี้สินเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 3-4% ต่อปี สอดคล้องกับผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่พบว่าการพักชำระหนี้ 13 ครั้งที่ผ่านมา (ไม่นับครั้งล่าสุดในปีที่แล้ว) กลายเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ยอดหนี้คงค้างของเกษตรกรสูงขึ้น โดยมีเหตุผล 2 ประการ
การพักการชำระหนี้จึงไม่ต่างจากกับดักทางการเงินที่ทำให้เกษตรกรวนเวียนอยู่ในวัฏจักรหนี้ ซึ่งการศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า ปัจจุบันครัวเรือนเกษตรกรกว่า 90% มีหนี้คงค้างเฉลี่ยสูงถึง 432,932 บาท และกว่า 30% ของครัวเรือนเกษตรกรมีหนี้สูงกว่า 5 แสนบาท มูลค่าหนี้ทั้งหมดนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหากเทียบกับมูลค่าของสินทรัพย์แล้วจะพบว่าครัวเรือนเกษตรกรไทยโดยเฉลี่ยมีหนี้คิดเป็นมูลค่าถึง 70% ของสินทรัพย์เลยทีเดียว
ข้อมูลที่ชวนให้วิตกยิ่งประการหนึ่งคือ การที่เกษตรกรอายุเกินกว่า 60 ปี ซึ่งไม่ใช่วัยทำงานแล้ว แต่ยังมีภาระหนี้สินที่ต้องแบกรับไว้อยู่มากถึง 1.4 ล้านคน ในจำนวนนี้ 1.8 แสนคน ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเกษตรกรสูงวัยที่มีศักยภาพในการชำระหนี้ต่ำ
อย่างไรก็ดีนโยบายพักการชำระหนี้ครั้งล่าสุดของ ธ.ก.ส. ที่ประกาศใช้ในช่วงปลายปี 2566 นั้นได้แสดงให้เห็นว่า ธ.ก.ส. น่าจะได้ยินเสียงของนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานในประเด็นหนี้สินเกษตรกรอยู่บ้าง เพราะนโยบายพักการชำระหนี้รอบล่าสุดนี้ นอกจากการพักชำระเงินต้นแล้ว รัฐบาลจะจ่ายดอกเบี้ยระหว่างการพักการชำระหนี้ให้แทนเกษตรกรด้วย (แต่ไม่รวมดอกเบี้ยค้างชำระ) โดยมูลค่าดอกเบี้ยที่รัฐบาลจะชำระให้เกษตรกรตามนโยบายการพักการชำระหนี้รอบล่าสุดนี้ คิดเป็นมูลค่ารวมถึงกว่า 54,000 ล้านบาท แต่มีเงื่อนไขว่าเกษตรกรที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการพักการชำระหนี้ ที่รัฐบาลช่วยจ่ายดอกเบี้ยแทนนี้ต้องมีหนี้คงค้างไม่เกิน 3 แสนบาท ต่อราย และสามารถกู้เงินเพิ่มได้ไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งประการหลังนี้จะทำให้เกษตรกรมีความจำเป็นต้องกู้เงินนอกระบบน้อยลง นอกจากนี้ระหว่างที่อยู่ในช่วงของการพักการชำระหนี้ ธ.ก.ส. มีมาตรการพิเศษสำหรับลูกหนี้ที่ดี ให้สามารถนำเงินมาชำระเงินต้นได้โดยคิดเงินต้นได้ในอัตรา 50% ตลอดช่วงระยะเวลาของการพักการชำระหนี้ ทำให้เมื่อพ้นช่วงของการชำระหนี้มูลหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยของเกษตรกรจะลดลง ซึ่งมาตรการทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้ถูกมองว่าเป็นการพักการชำระหนี้ที่น่าจะเป็นมิตรและมีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระหนี้สินของเกษตรได้จริง
อย่างไรก็ตามภาระหนี้สินของเกษตรกรไม่ได้ผูกพันอยู่กับเจ้าหนี้ ธ.ก.ส. รายเดียว การศึกษาของมูลนิธิชีวิตไท พบว่าครอบครัวเกษตรกร 1 ครัวเรือน มีหนี้เฉลี่ย 3.8 ก้อน เจ้าหนี้สำคัญนอกจาก ธ.ก.ส. แล้วยังมี สถาบันการเงินอื่น สถาบันการเงินชุมชน เช่น กองทุนหมู่บ้าน และสถาบันการเงินเอกชน เช่น บริษัทเช่าซื้อ รวมถึงสินเชื่อนอกระบบ โดยสาเหตุของการเป็นหนี้ส่วนใหญ่เกิดจากความจำเป็นทางเศรษฐกิจ รายรับไม่พอรายจ่าย การประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ราคาผลผลิตตกต่ำ เป็นหนี้เพราะคนใกล้ชิด เช่น การค้ำประกันให้เพื่อน หรือญาติพี่น้อง และการเป็นหนี้เพราะนโยบายของรัฐ ดังนั้นการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรของภาครัฐ นอกจากจะคำนึงถึงการลดลงของยอดหนี้ของ ธ.ก.ส. แล้ว ยังควรต้องพิจารณาถึงปัจจัยอื่นที่จะไม่สร้างมูลหนี้เพิ่มในหนี้ยอดอื่นด้วย
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 12 มี.ค. 2567
ผู้เขียน : เพ็ญนภา หงษ์ทอง
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.