หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าภาคเกษตรเป็นต้นกำเนิดที่สำคัญของฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังเป็นภัยต่อสุขภาพของประชาชน โดยมี “การเผา” เป็นปัจจัยสำคัญ หลายปีที่ผ่านมารัฐบาลพยายามอย่างยิ่งที่จะลดความรุนแรงของปัญหา PM 2.5 ด้วยการควบคุมการเผาในภาคเกษตร ทั้งด้วยการ “สั่ง” และ “ส่งเสริม” ให้หยุดเผา แต่นโยบายเหล่านั้นไม่อาจส่งผลในทางปฏิบัติ ตราบที่รัฐมองไม่เห็นว่า “การเผา” ในภาคเกษตรเป็นปัญหาโครงสร้าง ที่เชื่อมโยงไปถึงหนี้สินเกษตรกร ไม่ใช่ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะแก้ไขได้ด้วยมาตรการเฉพาะหน้า
ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ซึ่งใช้ดาวเทียมในการตรวจวัดจุดความร้อน พบว่าปี 2566 ซึ่งเป็นปีที่สถานการณ์มลพิษทางอากาศของประเทศไทยรุนแรงสุดในรอบ 5 ปี โดยเฉพาะ 4 เดือนแรก ที่ชาวไทยมีจำนวนวันที่อากาศสะอาดให้สูดลมหายใจกันลึกๆ ได้น้อยมาก เป็นปีที่มีจำนวนจุดความร้อนในภาคเกษตรสูงกว่าปีที่ผ่านมา โดยเมื่อจำแนกร้อยละของจุดความร้อนตามพื้นที่เกษตรก็พบว่าพบมากสุดในพื้นที่นาข้าว ทั้งข้าวนาปีและนาปรัง รองลงมาคือในไร่ข้าวโพด และไร่อ้อย สอดคล้องกับข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่พบว่าข้าว ข้าวโพด และ อ้อย เป็นพื้นที่เพาะปลูกที่มีการเผามากที่สุด
สิ่งที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พยายามทำเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่มีต้นกำเนิดจากภาคการเกษตรคือ การรณรงค์ให้ลดและเลิกการเผา เช่น กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร โดยเน้นการอบรมเกษตรกรและสร้างเครือข่ายเกษตรปลอดการเผา กรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินการส่งเสริมการไถกลบและผลิตปุ๋ยอินทรีย์ กรมการข้าว ลดการเผาตอซังข้าว สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมดำเนินโครงการส่งเสริมระบบวนเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน การเฝ้าระวังการเผาซากวัชพืช และวัสดุทางการเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน กรมปศุสัตว์ ส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ให้นำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาสร้างมูลค่าเพิ่มทดแทนการเผาทิ้ง แต่การเผาในพื้นที่การเกษตรก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะมาตรการลดการเผาที่กล่าวมานั้นไม่สามารถแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของการเผาได้
การจะลดการเผาในภาคเกษตรให้ได้ผล ต้องเข้าใจหลักการและเหตุผลที่เกษตรกรต้องทำการเผาในพื้นที่เกษตรของตนเองก่อน
การเผาเป็นกิจกรรมทางการเกษตรที่เกษตรมักทำในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว อาจจะก่อนหรือหลังการเก็บเกี่ยว ขึ้นอยู่กับว่าเป็นการปลูกพืชชนิดใด พื้นที่นาข้าว ชาวนาจะเผาตอซังฟางข้าว ก่อนไถเตรียมดิน เพื่อความสะดวกในการไถเตรียมดิน สำหรับการเพาะปลูกข้าวในฤดูต่อไป ไร่อ้อย จะมีทั้งการเผาก่อนและหลังเก็บเกี่ยว การเผาก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อความสะดวกในการตัดอ้อยและลดต้นทุนค่าจ้างตัด ส่วนการเผาหลังเก็บเกี่ยวจะทำเพื่อเผาใบอ้อยที่อยู่ในไร่ เพื่อป้องกันไฟไหม้ในช่วงอ้อยแตกหน่อใหม่ หรือเพื่อความสะดวกในการไถเตรียมดิน ในกรณีจะรื้อตออ้อยเพื่อปลูกอ้อยรอบใหม่ ส่วนไร่ข้าวโพด เกษตรกรจะเผาต้นและใบข้าวโพดในแปลงหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อความสะดวกในการไถเตรียมดิน
แล้วทำไมถึงต้องเผา ทั้งที่ปัจจุบันมีเครื่องจักรและเทคโนโลยีทางการเกษตรให้ใช้มากมาย คำตอบคือเพราะการเผาใช้ต้นทุนถูกกว่ามากทั้งต้นทุนด้านการเงินและแรงงาน เมื่อเทียบกับเทคโนโลยี ทั้งรถไถกลบ ทั้งแทรกเตอร์ที่ช่วยเตรียมดินได้ดี ทั้งรถเกี่ยวผลผลิต การเผายังสะดวก และทำให้ร่นระยะเวลาในการทำการเกษตรได้ ฐานะการเงินของเกษตรกรไทยที่ยังวนเวียนติดกับดักภาระหนี้สินอย่างชนิดที่หาทางออกไม่ได้ สิ่งไหนที่ลดต้นทุนการผลิตได้สิ่งนั้นย่อมเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด
ตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าปี 2556-2564 เกษตรกรไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 20,000-23,000 บาท ขณะที่รายจ่ายต่อเดือนซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและการใช้ชีวิตประจำวันอยู่ที่ประมาณ 15,000-17,000 บาทต่อเดือน ยังไม่รวมการชำระหนี้สินที่แบกอยู่เต็ม 2 บ่า ปี 2556-2564 หนี้สินเฉลี่ยของครัวเรือนเกษตรกรไทยอยู่ที่ 168,119-311,098 บาท โดยมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเป็นเจ้าหนี้หลัก
การจะลดหรือเลิกการเผาพื้นที่จึงเป็นเรื่องยาก เพราะมันหมายถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น
การจะทำให้เกษตรกรลดหรือเลิกเผาจะเกิดขึ้นได้จริงต่อเมื่อมีมาตรการจูงใจที่ส่งผลบวกต่อการลดหนี้สินหรือเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ไม่ใช่เพียงการรณรงค์ด้วยมาตรการของกระทรวงเกษตรฯ ดังกล่าวมาข้างต้น ซึ่งประเด็นนี้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ได้ลุกขึ้นมาทำให้ดูเป็นตัวอย่างแล้ว โดยใช้ปัจจัยทางการเงินมาสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรไร่อ้อยเลิกเผาอ้อยก่อนเก็บเกี่ยว มาตรการที่สำคัญคือมาตรการราคาที่มีการกำหนดให้ค่าส่วนต่างระหว่างอ้อยสดกับอ้อยเผาใบหรือบางครั้งเรียกว่าอ้อยไฟไหม้แตกต่างกันอย่างชัดเจน นอกจากจะกำหนดราคาโดยวัดค่าความหวาน (CCS) ซึ่งอ้อยสดจะมีค่าความหวานสูงกว่าอ้อยเผาใบทำให้โรงงานซื้อในราคาสูงกว่าแล้ว เกษตรกรที่ตัดอ้อยสดยังได้รับการสนับสนุนเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ 120 บาท ต่อตันอ้อยอีกด้วย นอกจากนี้อุตสาหกรรมน้ำตาลยังมีมาตรการจูงใจอื่นๆ ให้กับเกษตรกร เช่น โรงงานน้ำตาลมิตรผลรับซื้อใบอ้อยอัดก้อนจากเกษตรกรในราคาตันละ 1,000 บาท เพื่อนำไปใช้ผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล เปลี่ยนใบอ้อยที่เคยถูกเกษตรกรเผาทิ้งให้กลายเป็นแหล่งรายได้เสริม แน่นอนว่าทำให้การเผาในไร่อ้อยลดปริมาณลง
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมไร่อ้อยและน้ำตาล เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าเกษตรกรเองก็พร้อมที่จะลดและเลิกการเผา หากมันช่วยลดต้นทุนการผลิตและทำให้พวกเขามีรายได้มากขึ้น
ปัจจุบันการทำไร่อ้อยแบบปลอดการเผายังคงเกิดขึ้นในพื้นที่จำกัด ซึ่งเกษตรกรไร่อ้อยเองเคยออกมาบอกว่าการทำไร่อ้อยแบบปลอดการเผาจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น หากได้รับการสนับสนุนงบประมาณสำหรับการเช่าซื้อเครื่องจักร เช่นรถตัดอ้อยสด หรือรถไถขนาดใหญ่ รวมถึงเครื่องสับใบอ้อย ไปจนถึงการสนับสนุนพันธุ์อ้อยที่กาบใบหลุดร่วงง่าย
ในส่วนของไร่ข้าวโพดและนาข้าว ยังไม่พบว่ามีการเชื่อมโยงปัญหารายได้และหนี้สินเกษตรกรเข้ากับปัญหาการเผา ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของ PM 2.5 อย่างเป็นระบบ มีเพียงบริษัท SCG ที่ดำเนินโครงการรับซื้อฟางข้าวจากชาวนาเพื่อลดปัญหาการเผาฟางข้าว โดยจะนำฟางไปใช้เป็นพลังงานทดแทนในโรงงานปูนซีเมนต์ ซึ่งพบว่ามีการทำโครงการร่วมกับชาวนาบางกลุ่ม นอกจากนี้ยังมีเกษตรกรบางส่วนนำฟางข้าวมาเพาะเห็ดฟาง สร้างรายได้เสริม แต่กิจกรรมเหล่านี้ก็ยังไม่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐในฐานะส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา PM 2.5 จากภาคเกษตรอย่างเป็นระบบ
ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งที่แสดงเห็นว่าการขับเคลื่อนของภาครัฐเพื่อแก้ปัญหา PM 2.5 ควรต้องเริ่มจากการเปลี่ยนทัศนคติในการมองปัญหาฝุ่นจากการเผาไหม้ในภาคเกษตร จากปัญหาสิ่งแวดล้อม ให้เป็นปัญหาโครงสร้างของภาคเกษตร ซึ่งเกี่ยวโยงกับปัญหานี้สินเกษตรกรก่อนจึงจะสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด
ที่มา : ประชาไท วันที่ 8 มี.ค. 2567
ผู้เขียน : เพ็ญนภา หงษ์ทอง
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.