มรดกหนี้เป็นปัญหาหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับชาวนาและเกษตรกรไทย โดยพบว่าจำนวนลูกหนี้ กว่า 1 ใน 4 จาก 5 ล้านราย ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มีความเสี่ยงที่จะส่งต่อหนี้เสียนี้ไปสู่รุ่นลูกหลาน ปัญหาหนี้สินชาวนาจึงเป็นปัญหาใหญ่ที่จำเป็นต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทางออกการแก้หนี้เชิงระบบและโครงสร้างเป็นสิ่งจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ให้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากการแก้หนี้เกษตรกรจำเป็นต้องได้รับการผลักดันให้อยู่ในนโยบายภาครัฐ การปรับแก้ระบบและโครงสร้างให้เกิดความเสมอภาคและเป็นธรรม รวมทั้งจำเป็นที่จะได้รับการส่งเสริม การพัฒนาศักยภาพเกษตรกรในหลายมิติที่จะนำไปสู่การสร้างอำนาจในการต่อรอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกลไกทางการตลาด ราคาที่เป็นธรรม ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุน ประกอบการเสริมศักยภาพชาวนาให้มีความรู้มากขึ้นเพื่อพัฒนาการผลิตและการแปรรูปให้มีทางเลือกมากขึ้น ไม่ใช่แค่ทำนาเพียงอย่างเดียว ดังนั้นมิติการแก้ปัญหาหนี้สินชาวนาและเกษตรกรจำเป็นต้องมองให้รอบด้าน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาจะนำไปสู่แนวคิดที่หลากหลายมากขึ้นที่สามารถนำไปสู่การผลักดันนโยบายที่เป็นไปได้จริง
ด้วยเหตุนี้ ทางมูลนิธิชีวิตไทและองค์กรร่วมจัด ได้แก่ มูลนิธิสัมมาชีพ สภาเกษตรกรแห่งชาติ และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดเวทีสาธารณะ “หนี้ชาวนา มรดกหนี้ที่ไม่อยากส่งต่อ” ข้อเสนอทางออกว่าด้วยความเสมอภาค ความเป็นธรรมและความรับผิดชอบร่วม เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนองานการศึกษาวิจัยสู่สาธารณะ ผลงานการศึกษาวิจัยใน 5 ประเด็นได้แก่
ความเป็นธรรมด้านกลไกราคาและกลไกการเงิน เพื่อให้เกษตรกรไม่ต้องประสบกับปัญหาการเงินและเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนา สิ่งสำคัญก็คือนโยบายของรัฐควรสนับสนุนให้ชาวนามีความเข้มแข็ง พัฒนาชาวนาให้เป็นชาวนามืออาชีพ ต้องมีความรู้ในสิ่งที่ทำ จำเป็นต้องให้ความรู้ด้านการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิต
ความเป็นธรรมด้านการสื่อสารและเปิดเผยข้อมูลสัญญาสินเชื่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ข้อเสนอในงานวิจัยคือ 1)ปรับปรุงการให้ข้อมูลเปรียบเทียบสินเชื่อแต่ละประเภทและจัดทำสื่อเป็นแผนภาพที่เข้าใจง่ายเพื่อสื่อสารกับเกษตรกร 2) ควรให้เกษตรกรได้มีเวลาพิจารณาสัญญาอย่างครบถ้วน 3) ธ.ก.ส.ควรเปิดเวทีรับฟังข้อเสนอและความคิดเห็นต่อการปรับปรุงสัญญาสินเชื่อเกษตรกรให้กับกลุ่มเกษตรกรและสภาเกษตรกรแห่งชาติ 4) จัดให้มีองค์กรหรือบุคคลให้คำปรึกษาเกษตรกรในการทำสัญญาเงินกู้ รวมทั้งการให้ความรู้ด้านสินเชื่อ
ความเป็นธรรมด้านระบบสินเชื่อและการเงินฐานราก สถาบันการเงินจำเป็นต้องรู้ศักยภาพที่แท้จริงของเกษตรกรเพื่อให้การปล่อยกู้มีประสิทธิภาพและไม่นำไปสู่วงจรการหมุนหนี้ นอกจากนี้ข้อเสนอการเงินที่ดีต้องอยู่บนฐานความเข้าใจของเกษตรกรคือ 1) ต้องสร้างและใช้ข้อมูลเพื่อสะท้อนศักยภาพและพฤติกรรมเกษตรกรได้ดีขึ้น 2) กลไกการบังคับหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ตรงกับศักยภาพเกษตรกร ให้ข้อมูลที่เหมาะสมและต้องสร้างแรงจูงใจในการชำระหนี้ 3) สร้างภูมิคุ้มกันให้เหมาะสม 4) พัฒนาศักยภาพและรายได้ให้กับเกษตรกร
ความเป็นธรรมด้านการจัดการปัญหาหนี้สินของชาวนา จากการวิจัยได้มีการนำเสนอรูปแบบแก้หนี้สินเกษตรกรโดยเกษตรกร ซึ่งได้แก่ การปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรกรรม การลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ การออมเงินและการสร้างวินัยในการใช้หนี้ ซึ่งสามารถนำแนวคิดในการแก้หนี้ไปใช้และปฏิบัติได้เลย สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้คือ การลงมือปฏิบัติ เรียนรู้ แก้ไข ปรับปรุงด้วยตัวเอง โดยที่เกษตรกรจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพทั้งในด้านการผลิต การประกอบอาชีพและการปรับเปลี่ยนวิธีคิด
ความเป็นธรรมด้านการตลาดของชาวนาที่มีหนี้สิน การพัฒนาตลาดสีเขียวถือเป็นหนึ่งเครื่องมือในการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ซึ่งช่วยให้เกษตรกรสามารถกำหนดราคาเองได้และเป็นการสร้างช่องทางจำหน่ายอาหารปลอดภัยสู่ผู้บริโภค แต่ยังมีอุปสรรคจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐในเรื่องการสนับสนุนพื้นที่อาหารปลอดภัยในชุมชนและการพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการของชาวนา เพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจในกลุ่มเกษตรกรเอง
ความเป็นธรรมด้านการยกระดับชาวนาสู่ผู้ประกอบการ จากการวิจัยพบว่า การส่งเสริมและพัฒนากลุ่มวิสาหกิจหรือธุรกิจแบบชุมชนเพื่อความเข้มแข็ง จำเป็นต้องมีปัจจัยสำคัญคือ ทุนภายใน ทุนความรู้และการสร้างสรรค์ ทุนสนับสนุนจากภายนอก เช่น ความรู้ การเงิน และทรัพยากรอื่น ๆ ในการประกอบกิจการและอาชีพ
บทสรุปที่ได้จากผลการวิจัยที่ครอบคลุมมิติการแก้ปัญหาหนี้สินชาวนาและเกษตรกรอย่างรอบด้านและหลากหลายประเด็น เราหวังข้อมูลวิจัยจากเวทีสาธารณะครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานรัฐ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ปฏิบัติการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะสามารถนำข้อมูลไปพิจารณาและปรับใช้สู่การแก้ไขปัญหาหนี้ชาวนาและเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร ภายใต้ความคาดหวังว่าปลายทางการพัฒนาจะช่วยให้ชาวนาและเกษตรกรมีความเข้มแข็ง เป็นอาชีพที่สามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถปลดเปลื้องภาระหนี้สิน และส่งต่อมรดกอาชีพที่ปลอดจากภาระหนี้สู่ลูกหลานได้ในอนาคต
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 11 เม.ย. 2566
ผู้เขียน : นุศจี ทวีวงศ์
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.