ประเทศไทยเข้าสู่บรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง เกษตรกรยังคงเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของทุกพรรคการเมืองที่ต่างต้องมีนโยบายมาดึงดูดคะแนนเสียงให้ได้มากที่สุด แต่เมื่อพิจารณาแล้วกลับพบว่านโยบายหาเสียงส่วนใหญ่ยังแก้ไม่ตรงประเด็นปัญหาของเกษตรกร
หากจำแนกปัญหาหลักๆ ของเกษตรกรไทยในปัจจุบันจะพบว่ามี 4 ปัญหาหลัก คือ ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ปัญหาการไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ปัญหาการเข้าไม่ถึงปัจจัยการผลิต และการไม่ได้รับการสนับสนุนในการทำการเกษตรในรูปแบบต่างๆ เมื่อวิเคราะห์นโยบายด้านการเกษตรของพรรคการเมืองต่างๆ ที่เริ่มมีการเผยแพร่ผ่านสื่อแล้วพบว่า ก้าวไกลเป็นเพียงพรรคเดียวที่มีนโยบายครอบคลุมทุกปัญหา ส่วนพรรคพลังประชารัฐและพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่มีนโยบายที่จะตอบสนองปัญหาสำคัญและเร่งด่วนอย่างปัญหาหนี้สินการเกษตรกรและการไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ประชาธิปัตย์เป็นพรรคเดียวที่มีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรประมง สามารถวิเคราะห์นโยบายหาเสียงตามประเด็นปัญหาของเกษตรกรจะได้ดังนี้
ปัญหาหนี้สิน
ปัญหาหนี้สินที่ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของภาคการเกษตรมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน แต่พบว่ามีเพียง 2 พรรคการเมืองที่มีนโยบายรูปธรรมเกี่ยวกับการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร คือพรรคเพื่อไทย ที่เสนอนโยบาย “พักหนี้ทันทีทั้งต้นทั้งดอก” และพรรคก้าวไกล ที่มาพร้อมนโยบาย “ลดเงินต้นก่อนลดดอกเบี้ย” และการมุ่ง “ปลดหนี้ให้เกษตรกรสูงวัย เกษตรกรจ่ายครึ่งหนึ่ง รัฐจ่ายครึ่งหนึ่ง”
หากเปรียบเทียบระหว่าง 2 พรรคการเมืองแล้วดูเหมือนว่า ก้าวไกลจะเข้าใจโครงสร้างปัญหาหนี้สินของเกษตรกรดีกว่าเพื่อไทย ทั้งนี้สาเหตุหลักประการหนึ่งที่เกษตรกรไทยไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรหนี้ได้ มาจากเงื่อนไขในสัญญาเงินกู้ของสถาบันการเงินเจ้าหนี้ต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ยอดเงินที่ชำระถูกนำไปจ่ายเป็นค่าดอกเบี้ยก่อน ทำให้ยอดเงินต้นแทบไม่ลด การลดต้นก่อนลดดอกเบี้ยหากทำได้จริงน่าจะสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้ระดับหนึ่ง เช่นเดียวกับการปลดหนี้ให้เกษตรกรสูงวัย ข้อมูลจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีเกษตรกรลูกหนี้อายุมากกว่า 60 ปีถึงเกือบ 1.4 ล้านราย ในจำนวนนี้อายุมากกว่า 70 ปีถึง 414,576 ราย ซึ่งเกษตรกรวัยนี้ไม่น่าจะสามารถก่อให้เกิดรายได้แล้ว การให้ภาครัฐเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระหนี้ของเกษตรกรกลุ่มนี้ครึ่งหนึ่ง น่าจะสามารถปลดเปลื้องภาระได้ แต่ในระยะยาว ปัญหานี้ก็จะปะทุขึ้นมาอีก ตราบที่เจ้าหนี้สถาบันการเงินโดยเฉพาะ ธ.ก.ส. ยังคงอนุมัติสินเชื่อให้เกษตรกรสูงอายุ
ส่วนนโยบายพักหนี้ทันทีทั้งต้นทั้งดอกของพรรคเพื่อไทย น่าจะเป็นความพยายามปิดช่องโหว่ของนโยบายพักชำระหนี้ในปัจจุบัน ซึ่งไม่ต้องส่งเงินต้น แต่ดอกเบี้ยยังคงเดินหน้าต่อทำให้สุดท้ายการพักชำระหนี้แบบไม่หยุดดอกเบี้ยทำให้ยอดเงินกู้ของเกษตรกรเติบโตงอกงามขึ้น แต่การพักทั้งต้นทั้งดอกเบี้ย สุดท้ายก็จะเป็นเพียงการให้เกษตรกรได้พัก หยุดหายใจ ชั่วคราว แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้ระยะยาวได้
ปัญหาที่ดินทำกิน
มีเพียงพรรคประชาธิปัตย์และก้าวไกลที่มีนโยบายเกี่ยวข้องกับปัญหาที่ดินทำกิน โดยพรรคประชาธิปัตย์มาพร้อมกับนโยบายการออกโฉนดที่ดินให้ได้ 1 ล้านแปลง ภายในเวลา 4 ปี โดยไม่มีการพูดถึงปัญหาการกระจายการถือครองที่ดิน ซึ่งน่าจะเป็นรากของปัญหาการที่เกษตรกรไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ในขณะที่ก้าวไกลประกาศให้ที่ดิน ส.ป.ก.และที่ดินนิคมสหกรณ์ สามารถนำมาออกโฉนดได้ ขณะเดียวกันก็จะมีการตั้งกองทุนเพื่อตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินและการออกเอกสารสิทธิ์ โดยตั้งงบประมาณกองทุนสูงถึง 10,000 ล้านบาท และยังจะพยายามให้มีการกระจายการถือครองที่ดินด้วยการจัดตั้งธนาคารที่ดินและเปลี่ยนระบบภาษีที่ดิน
ปัญหาการเข้าไม่ถึงปัจจัยการผลิต
เกือบทุกพรรคยกเว้นเพื่อไทยและภูมิใจไทย มีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาด้านนี้ ประชาธิปัตย์และชาติไทยพัฒนายึดแนวการแจก โดยชาติไทยพัฒนาจะแจกพันธุ์ข้าวให้เกษตรกรฟรี 60 ล้านไร่ ส่วนประชาธิปัตย์จะให้เงินอุดหนุนชาวนาปลูกข้าวครอบครัวละ 30,000 บาท และให้เงินอุดหนุนกลุ่มเกษตรกรผู้ประกอบอาชีพประมงกลุ่มละ 100,000 บาท/ ปี ซึ่งประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองพรรคเดียวที่มีนโยบายเกี่ยวข้องกับกลุ่มเกษตรกรผู้ทำการประมงอย่างชัดเจน นอกจากการให้เงินอุดหนุนกลุ่มเกษตรกรชาวประมงซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกรรายย่อยแล้ว ยังมีนโยบายช่วยเหลือกลุ่มประมงพาณิชย์ โดยมีนโยบายที่จะมุ่งแก้ปัญหาการติด Blacklist ของสหภาพยุโรป เนื่องจาก IUU หรือการเป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมายประมง ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม นอกจากนี้ประชาธิปัตย์ยังมีนโยบายให้เงินอุดหนุนธนาคารหมู่บ้านและธนาคารชุมชนอีกแห่งละ 2 ล้านบาท คาดว่าเพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงปัจจัยด้านการเงินให้เกษตรกร
ส่วนก้าวไกลมาพร้อมนโยบายเป็นแพกเก็จ ตั้งแต่การจะให้เกษตรกรสามารถซื้อปุ๋ยราคาถูกได้โดยผ่านสหกรณ์, กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน และสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ย 0% ให้เกษตรกรนำไปซื้อเครื่องจักรทางการเกษตร เช่น รถไถ รถดำนา ส่วนพลังประชารัฐเน้นไปที่การดูแลต้นทุนด้านทรัพยากรน้ำ โดยจะจัดให้มีการบริหารจัดการน้ำต้นทุน การเก็บกักน้ำ และการเพิ่มแหล่งน้ำสำรอง
การส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบต่างๆ
พรรคภูมิใจไทย ประกาศชัดเจนสนับสนุนการทำ contract farming โดยให้รัฐเป็นผู้ทำสัญญากับเกษตรกรแทนเอกชน ซึ่งในปัจจุบันพบว่าเกษตรกรที่ทำ contract farming กับภาคเอกชนจำนวนมาก ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบและจมอยู่กับวงจรหนี้ เพราะเอกชนสามารถควบคุมทุกอย่างได้ ภูมิใจไทยประกาศชัดว่าการทำ contract farming กับรัฐจะสามารถช่วยแก้ปัญหาหนี้สินให้เกษตรกรได้ โดยจะนำร่องที่พืชเศรษฐกิจหลัก 4 อย่างก่อนคือ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน
พรรคเพื่อไทย เป็นพรรคเดียวที่พร้อมจะยกระดับภาคการเกษตรไทยทันความเคลื่อนไหวของสังคมโลก ด้วยการประกาศนำแนวคิด agritech หรือการใช้เทคโนโลยีมาใช้ในภาคการเกษตรเพื่อยกระดับสินค้าเกษตร และจะนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้กับสินค้าเกษตร รวมทั้งการใช้ตลาดเป็นตัวนำกำหนดแนวทางให้ภาคการผลิตเพื่อให้ผลผลิตมีตลาดที่ชัดเจนก่อนที่จะเริ่มผลิต พรรคก้าวไกลมีนโยบายเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเช่นกัน แต่แนวทางของก้าวไกลจะเน้นไปที่การเรียนรู้ของเกษตรกร โดยจะจ้างให้เกษตรกรรุ่นใหม่สอนให้เกษตรกรรุ่นเก่ารู้จักการใช้เทคโนโลยี ซึ่ง ณ ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าเทคโนโลยีที่ก้าวไกลจะนำไปสอนคือเทคโนโลยีอะไร
ชาติไทยพัฒนา เป็นพรรคเดียวที่เชื่อมโยงภาคเกษตรกับปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยประกาศจะทำให้ภาคเกษตรของไทยสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการรีวิวนโยบายด้านการเกษตรของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ไม่ได้เป็นการแสดงจุดยืนสนับสนุนหรือคัดค้านนโยบายของพรรคการเมืองใดๆ
ผู้เขียน : เพ็ญนภา หงษ์ทอง
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.