กลุ่มชาวนาถือเป็นฐานเสียงสำคัญในทุกสมัยการเลือกตั้ง เพราะมีถึง 4.5 ล้านครัวเรือน แต่ที่ผ่านมาทุกคำสัญญาและนโยบายของพรรคการเมืองต่าง ๆ ยังไม่สามารถทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาดีขึ้น ทุกวันนี้พบว่าชาวนาส่วนใหญ่ยังคงเป็นหนี้ ขาดความเข้มแข็งและเปราะบาง แก่นกลางของปัญหาอาจเกิดจากผู้แก้ปัญหาไม่ใช่ผู้มีปัญหาโดยตรง แนวทางแก้จึงยังไม่ตรงจุด รวมถึงการมีเจตนารมย์และความจริงใจในการแก้ปัญหา บทความนี้เป็นการถอดบทเรียนความพยายามของกลุ่มชาวนาจำนวนหนึ่งที่เราได้เข้าไปพูดคุยถึงแนวทางแก้หนี้และวิธีการแก้หนี้ที่ชาวนาทำได้สำเร็จ เขาทำอย่างไรกันและทำสำเร็จได้จริง โดยมีทัศนคติชัดเจนว่า “อย่าให้หนี้เพิ่ม อะไรเป็นเหตุของการเป็นหนี้ อะไรเป็นสาเหตุความยากจน…แก้ที่ต้นเหตุ”
กลุ่มชาวนามีแนวคิดและความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาหนี้สิน และต้องการให้ชาวนาด้วยกันหลุดพ้นจากหนี้ด้วยการให้ข้อมูลแลกเปลี่ยนให้กันและกัน ขณะเดียวกันการปรับตัวและเปลี่ยนทัศนคติในการทำนาจะต้องเปลี่ยนไปจากเดิม ที่สำคัญคือความตั้งใจในการปลดหนี้
ความสำเร็จในการแก้ปัญหาหนี้สินของชาวนาเริ่มต้นที่ความตั้งใจและกำลังใจที่จะหลุดพ้นจากหนี้สิน สิ่งที่ต้องเริ่มคิดวิเคราะห์คือสาเหตุของหนี้ และวิธีการในการแก้ปัญหาหนี้สิน ซึ่งได้ข้อสรุปที่ไม่ต่างกันมากนัก เริ่มต้นตั้งแต่ต้นทุนในการกู้เงินมาเพื่อใช้ในการลงทุนและการบริหารเงินในการทำนาเพื่อใช้หนี้ ขณะเดียวกันเราจะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติและความคิดให้ได้ โดยการทิ้งวิธีการทำนาแบบเดิม ๆ ที่ผ่านมา
ถ้าเป็นไปได้ควรเริ่มต้นด้วยเงินลงทุนที่ได้มาจากการสะสม ไม่ใช้เงินจากการกู้ แต่ถ้ากู้ก็ต้องรู้ว่าจะแก้ปัญหาหนี้ก้อนนั้นอย่างไร อีกอย่างต้องคิดว่า ชาวนาไม่ใช่แค่ทำนาอย่างเดียว ควรเปลี่ยนความคิดใหม่ว่า ต้องทำเกษตรผสมผสานด้วย เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนและลดค่าใช้จ่าย เพื่อให้เหลือเงินเก็บให้สามารถนำไปซื้อปุ๋ยและปัจจัยการผลิต ซึ่งมีช่วงเวลาพอที่จะได้เงินจากส่วนอื่นมาลงทุนได้ อาจจะมากหรือน้อยก็ได้ พอเก็บเกี่ยวข้าวเราก็จะพอมีเงินก้อนในการนำไปชำระหนี้ได้มากขึ้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีในการบริหารหนี้แบบยั่งยืน ดังนั้นอาชีพเสริมของเกษตรกรจึงเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน
นอกจากนี้วิธีการทำนาแบบใหม่จะมีการคำนวณพื้นที่ในการใช้ปัจจัยการผลิต ตามสภาพความจำเป็น จะไม่ใช้ทั้งแปลงเหมือนเช่นแต่ก่อน ก็จะช่วยลดต้นทุนในส่วนนี้ และการออกแบบการใช้ที่ดินก็สำคัญมากที่ช่วยให้เราสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งมีแนวคิดวิธีการทำนาแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 1) แปลงนาลดต้นทุน 10-20 ไร่ 2) แปลงนา 2 ไร่ทำกิน ด้วยกระบวนการชีวภาพ 3) แปลง 3 ไร่ ปลูกพืชผัก หรือจะเป็นไม้ป่าเพื่อเอาไม้มาทำถ่าน ฯลฯ
การปรับเปลี่ยนที่ดินเช่นนี้จะช่วยให้ชาวนาสามารถมีรายได้ทุกวันช่วยให้รายจ่ายในแต่ละวันลดลง รายได้และรายจ่ายของชาวนาจำเป็นต้องทำบัญชีครัวเรือนควบคู่ไปด้วย จะทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงการเงินได้ชัดเจนและมีกำลังใจในการปลดหนี้ของตัวเองได้ แนวทางนี้เป็นหนึ่งในวิธีแก้หนี้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ พออยู่พอกิน มีคุณธรรม ทำทีละอย่าง ค่อยเป็นค่อยไป ทำอะไรก็ต้องศึกษาหาข้อมูล ทดลอง เรียนรู้ก่อน เป็นต้น
เมื่อเราเริ่มเปลี่ยนความคิดในเรื่องการทำการเกษตร ปรับเปลี่ยนระบบการผลิตแล้ว บริหารการจัดการหนี้ก็ต้องควบคู่ไปด้วย เพื่อให้มีความตั้งใจในการแก้หนี้อย่างจริงจัง โดยใช้หลักคิดการแก้หนี้ที่ทำให้หลุดพ้นได้จริงคือ หนี้ไม่ลด แต่ไม่เพิ่ม และหาวิธีหรือหนทางอื่นไปผ่อนหนี้ ซึ่งชาวนาต้องมีความมุ่งมั่นว่าถ้ารู้จักใช้หนี้ หนี้ก็ต้องหมด
หลังจากการพูดคุยกับชาวนากลุ่มนี้ เราได้บทสรุปในการทำเกษตรแก้หนี้สรุปสั้นๆ คือ 1) การทำนาได้เงินเป็นก้อนก็ช่วยลดหนี้ได้ 2) ช่วงไม่มีรายได้เข้ามาก็ไปหารายได้จากทางอื่น 3) หมุนเงินบางส่วนมาใช้จ่ายในครัวเรือน 4) รายได้ไม่เยอะสามารถลดหนี้ได้ ทยอยใช้หนี้ 5) หาวิธีการต่อรองกับเจ้าหนี้ ขอจ่ายเงินต้นเท่าที่ได้
เมื่อวิเคราะห์ปัญหาหนี้สิน กระบวนการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตเพื่อแก้ปัญหาหนี้แล้ว ไม่เพียงแค่ปรับวิถีการผลิต แต่สิ่งสำคัญคือ การปรับเปลี่ยนและการพัฒนากรอบและวิธีคิดสู่การพึ่งพาตนเองของชาวนา ได้แก่ 1) ให้มีองค์ความรู้ สามารถเชื่อมโยงเรื่องอื่น ๆ ได้มากขึ้น 2) การลงมือทำ ทดลอง วิเคราะห์ 3) ต้องสร้างอำนาจต่อรอง ให้สินค้าเป็นที่ต้องการ สินค้ามีคุณภาพ 4) เลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมตรงกับฤดูกาล 5) ตรวจสภาพดินให้เหมาะสม วิเคราะห์ดินในแปลง 6) จำเป็นต้องพึ่งพากัน แลกเปลี่ยนความรู้ 7) เปลี่ยนทัศนคติในการทำนาแบบเดิม ๆ 8) ปรับเปลี่ยนการผลิต ผสมผสาน เพื่อลดต้นทุน
เราเชื่อว่า ความตั้งใจจริงในการแก้หนี้สินของชาวนาเป็นหัวใจสำคัญที่สุดและเป็นทางเลือกของความคิดใหม่ในการแก้ปัญหาหนี้สินให้กับชาวนารายอื่นได้ หากเราอยากหลุดจากวงจรหนี้ แนวคิดนี้ก็จะเป็นอีกประสบการณ์ตรงจากชาวนาสู่ชาวนา ให้ได้เรียนรู้ร่วมกัน แลกเปลี่ยนเป็นองค์ความรู้ในกระบวนการทำเกษตรกรรมเพื่อปลดหนี้ ความสำเร็จนี้จะช่วยให้ชาวนามีกำลังใจในการปลดแอกชีวิตตัวเองให้ได้ในสักวัน...
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 21 ก.พ. 2566
ผู้เขียน : นุศจี ทวีวงศ์
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.