"ภาวะหนี้กับภาวะความยากจนเป็นคนละเรื่องเดียวกัน” เมื่อสำรวจข้อมูลภาพรวมระดับประเทศพบว่า สถานการณ์ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ในระดับที่น่ากังวลอย่างยิ่ง สถิติหนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นไปถึง 14.58 ล้านล้านบาทในปี 2564 คิดเป็นร้อยละ 91 ต่อ GDP และประเทศไทยมีระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงเป็นอันดับที่ 12 จาก 70 ประเทศทั่วโลก และสูงเป็นอันดับที่ 2 ในเอเชียรองจากประเทศเกาหลีใต้ (ที่มา: ธปท.) ในขณะที่สถานการณ์ความยากจนในปี 2564 แม้ว่าเชิงตัวเลขความยากจนของคนไทยจะปรับตัวดีขึ้น จากตัวเลขคนจนทั้งสิ้น 4.4 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนคนจนร้อยละ 6.32 ลดลงจากปีก่อน แต่เมื่อพิจารณาหนี้ครัวเรือนพบกว่า 5.9 แสนคนหรือร้อยละ 48 ของครัวเรือนยากจนทั้งหมดเพิ่มขึ้นจากปี 2562 มีหนี้เฉลี่ยมากถึง 1 แสน 2 หมื่นบาท (ที่มา: สศช.)
ทั้งนี้ปัญหาหนี้สินส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ มาตรฐานการครองชีพ และเกิดปัญหาความรุนแรงด้วยมิติต่าง ๆ ตามมาคือ ความเครียด ปัญหาครอบครัว เกิดอาชญากรรมการฆ่าตัวตาย ฯลฯ ผลการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลโดยคณะทำงานศึกษาวิจัย เรื่องแนวทางแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายจากปัญหาหนี้สิน โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พบว่าตั้งแต่ปี 2560 – ส.ค. 2564 อัตราการฆ่าตัวตายจากปัญหาหนี้สินมีแนวโน้มสูงขึ้น ภาพรวมเฉพาะช่วงเวลาดังกล่าวเกิดเหตุฆ่าตัวตายแล้ว 50 กรณี มีผู้เสียชีวิต 60 คน ไม่เสียชีวิต 4 คน ทั้งนี้การฆ่าตัวตายจากปัญหาหนี้สินเป็นเพียงส่วนยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่เหนือน้ำมาให้เห็น แต่ส่วนที่จมอยู่คือปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เท่าเทียมทางสังคม
ต้นตอของปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น เกิดได้หลายสาเหตุ แต่ต้นตอหลักของปัญหาหนี้ครัวเรือนเกิดจากความจำเป็น เป็นหนี้เพราะมีปัญหาเศรษฐกิจการเงิน (มักมีมายาคติหรือทัศคติมองคนจนหรือคนมีหนี้เรื้อรังว่าเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ติดหนี้ ติดหวย ติดพนัน ใช้จ่ายขาดเหตุผล ขาดวินัย ลงทุนไม่เป็น ฯลฯ) แม้ว่าปัญหาหนี้จะเป็นปัญหาระดับบุคคลและครัวเรือน แต่ในที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับปัญหาเชิงนโยบายและโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม
ต้นตอของปัญหาหนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายของรัฐ จากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตลาดการค้าเสรี การปล่อยสินเชื่อให้แก่ครัวเรือน และการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ส่งผลให้ภาคครัวเรือนประสบกับปัญหาหนี้สินที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้มีงานวิจัยของ International Monetary Fund (IMF) เรื่อง Inequality, Leverage and Crises พบข้อมูลว่า ความเหลื่อมล้ำทำให้ครอบครัวชนชั้นกลาง และครอบครัวยากจน มีหนี้เพิ่มสูงขึ้น และเมื่อมีหนี้เพิ่มสูงขึ้นในภาพรวมก็ทำให้โอกาสเกิดวิกฤตเศรษฐกิจมีมากขึ้นตามไปด้วย
เนื่องจากปัญหาหนี้สินกับปัญหาความยากจนเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน เราไม่สามารถแก้หนี้ โดยไม่แก้จน ในขณะเดียวกันเราไม่สามารถแก้จนได้สำเร็จ โดยไม่แก้หนี้ การแก้หนี้อย่างยั่งยืน ต้องแก้แบบองค์รวม ทั้งระดับพฤติกรรมส่วนบุคคล การสร้างความตระหนักและตื่นรู้ได้ด้วยตนเองของลูกหนี้ การหนุนเสริมพลังให้กับลูกหนี้ตั้งเป้าหมายการแก้ปัญหาหนี้ การให้ความรู้ เครื่องมือ และทักษะการจัดการการเงินและการจัดการหนี้ การพัฒนาศักยภาพอาชีพหลัก/อาชีพเสริม ยกระดับรายได้ที่เหมาะสม การปรับตัวและสร้างภูมิคุ้มกันในระยะยาว (ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ มีเงินออม) เป็นต้น
ทั้งนี้ทางออกการแก้หนี้อย่างยั่งยืน ต้องแก้เชิงระบบและโครงสร้างความไม่เป็นธรรมทางสังคมไปพร้อมกัน การลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ โอกาส และการถือครองทรัพย์สิน (ความเหลื่อมล้ำทำให้คนจนและคนเปราะบางมีหนี้เพิ่มสูงขึ้น) การสร้างระบบสวัสดิการและระบบคุ้มครองทางสังคม ที่สำคัญคือมุมมองทัศนคติ (Mindset) กรอบคิดในระดับนโยบายไม่ควรมุ่งไปที่การแก้ปัญหาระยะสั้น เพราะปัญหาหนี้มีความรุนแรงและซับซ้อน หรือมุ่งแก้ระดับพฤติกรรมของคนจนและระดับครัวเรือนที่มีหนี้เพียงลำพัง ปัญหาหนี้ไม่ได้เกิดจากปัจจัยลูกหนี้อย่างเดียว ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากเจ้าหนี้ ปัญหานโยบาย และปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ไม่เป็นธรรม ควรปรับนโยบายสู่การแก้ปัญหาระยะยาว หลีกเลี่ยงนโยบายบิดเบือนแรงจูงใจและก่อให้เกิดภาระหนี้สะสม เช่น นโยบายพักชำระหนี้ นโยบายประกันรายได้การปลูกพืชเชิงเดี่ยว รวมถึงการแก้ไขกฎกติกาสินเชื่อที่ไม่เป็นธรรม เช่น เจ้าหนี้ต้องรับผิดชอบกับรูปแบบการปล่อยสินเชื่อที่เกินศักยภาพหรือความสามารถชำระของลูกหนี้ สิทธิของลูกหนี้ แม้ว่าลูกหนี้ต้องรับผิดชอบจ่ายหนี้ที่ตนเองก่อ แต่การจ่ายหนี้นั้นไม่ควรละเมิดสิทธิในการดำรงชีพของลูกหนี้ตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 19 ธ.ค. 2565
ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.