ธ.ก.ส. หรือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ก่อตั้งในปี 2509 วัตถุประสงค์ในช่วงแรกคือเพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่ออย่างรวดเร็ว ลดบทบาทของเงินกู้นอกระบบที่ดอกเบี้ยสูงซึ่งกำลังแพร่ระบาดในหมู่เกษตรกรในช่วงนั้น หลังจากนั้นมา ธ.ก.ส. ก็เป็นแหล่งสินเชื่อหลักของเกษตรกรมาโดยตลอด แต่มีข้อที่น่าสังเกตอยู่อย่างหนึ่งว่าเมื่อเกษตรกรไทยก้าวเข้าสู่วงจรหนี้ของ ธ.ก.ส. แล้ว ยากมากที่จะก้าวออกมา เหมือนมีแรงดึงดูดให้เป็นหนี้ไปจนตายและส่งต่อมรดกลูกหนี้ต่อไปยังลูกหลาน หากถามว่าเพราะอะไร ตอบง่าย ๆ ว่า ธ.ก.ส. มีนวัตกรรมการให้สินเชื่อที่เข้าถึงง่าย และมีการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ๆ มาให้เกษตรกรตลอด ภายใต้คำอธิบายว่าเพื่อไม่ให้หนี้ของเกษตรกรกลายเป็น NPL ทำให้เกษตรกรสามารถยังชีพต่อไปได้
ลองมาดูตัวอย่างนวัตกรรมที่เป็นการหวังดีของ ธ.ก.ส. แต่เกิดผลมุมกลับทำให้เกษตรกรกลายเป็นลูกหนี้ที่ไม่สามารถหลุดจากวงจรหนี้ได้
การกู้รวมกลุ่มแบบค้ำประกัน
เป็นนวัตกรรมการกู้เงินที่ ธ.ก.ส. คิดค้นมาในช่วงทศวรรษที่ 2530 และปัจจุบันก็ยังใช้อยู่ รูปแบบคือการให้เกษตรกรรวมตัวกันเป็นกลุ่มตามที่ธนาคารกำหนด เช่น 3 คน 4 คน แล้วให้แต่ละคนกู้เงินโดยมีเพื่อนในกลุ่มลงชื่อเป็นผู้ค้ำประกันทุกคน หากจะว่ากันตามความเป็นจริง ต้องถือเป็นแนวคิดที่ดีที่ช่วยให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง สามารถเข้าถึงเงินทุนได้ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ เพราะให้เพื่อนค้ำประกันแทน การปล่อยสินเชื่อในลักษณะนี้กำลังได้รับความนิยมในหมู่สถาบันการเงิน และกลายเป็นรูปแบบที่ก่อให้เกิดหายนะกับชีวิตเกษตรกรมากพอสมควร
สินเชื่อในลักษณะนี้มีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการ ตามจำนวนสมาชิกในกลุ่มกู้ เช่น กู้ 3 คนค้ำ หรือ 4 คนค้ำ การทำงานของระบบคือทุกคนในกลุ่มนี้จะเป็นผู้กู้เงิน มีสัญญาเงินกู้เป็นลูกหนี้กับ ธ.ก.ส. คนละ 1 ฉบับ แล้วให้เพื่อนที่เหลือในกลุ่มเป็นผู้ค้ำประกัน สมมติ การกู้แบบ 4 คนค้ำ แต่ละคนจะกู้เงินมีฐานะเป็นลูกหนี้ และมีเพื่อนอีก 3 คนเป็นคนค้ำประกัน โดยในสัญญาค้ำประกันที่เพื่อนในกลุ่มทั้ง 3 คนต้องเซ็น ระบุชัดว่าหากคนกู้ผิดนัดชำระหนี้ คนค้ำจะต้องรับผิดชอบร่วมกันหรือแทนกันในการชำระหนี้ คือมีฐานะไม่ต่างจากลูกหนี้ตัวจริง แปลว่าในยอดเงินกู้บัญชีเดียว ธ.ก.ส. สามารถทวงหนี้ได้จากคนถึง 4 คน ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อมีใครคนหนึ่ง หรืออาจจะทั้งหมดในกลุ่มไม่ชำระหนี้และถูกฟ้อง ตัวผู้กู้จะเป็นจำเลยที่ 1 ตัวคนค้ำก็จะเป็นจำเลยที่ 2, 3, 4 เรียงกันไป ถ้าทั้งกลุ่มผิดชำระหนี้หมดถูกฟ้องศาลหมด ทุกคนจะมีคดีติดตัว 4 คดี คดีที่ตัวเองเป็นคนกู้ 1 คดี และคดีที่ไปค้ำประกันเพื่อน 3 คน อีกคนละคดี รวมเป็น 4 หรือ ถ้ามี 11คน ไม่จ่ายหนี้ อีก 3 คนที่เหลือจ่ายหนี้หมดแล้ว ก็ยังต้องมาถูกฟ้องฐานะคนค้ำประกันให้คนที่ไม่จ่ายหนี้ ภายใต้ความหวังดีต่อเกษตรกรที่ต้องการเปิดโอกาสให้เข้าถึงเงินกู้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ธ.ก.ส. เอาความเสี่ยงที่ตนเองฐานะคนให้กู้ควรต้องแบก มาโยนลงบ่าของเกษตรกรแทน!!!
ปัญหาสาหัสขึ้นเมื่อคดีเดินทางไปถึงการบังคับคดีเพราะลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา จึงต้องยึดทรัพย์เข้ากระบวนการขายทอดตลาดเพื่อให้มีเงินมาชำระหนี้ เจ้าหนี้จะสืบว่าจำเลยในกลุ่มนั้นคนใดมีทรัพย์ ซึ่งส่วนใหญ่ทรัพย์ที่มีก็คือที่ดินทำกิน เจ้าหนี้ก็จะไปยื่นขอให้ศาลยึดมา เรื่องมันเศร้าตรงที่ว่าหลายครั้งตัวคนกู้ไม่มีทรัพย์ให้ยึดแต่เพื่อนซึ่งเป็นคนค้ำและจ่ายหนี้ตัวเองหมดแล้วมีที่ดิน ก็ต้องกลายเป็นคนถูกยึดทรัพย์มา ขายทอดตลาดในราคาถูก ธ.ก.ส. หรือเจ้าหนี้รายอื่นได้รับการชำระหนี้จากเกษตรคนหนึ่งแต่ทำให้เกษตรกรอีกคนหนึ่งต้องสูญเสียที่ดินทำกิน สถานการณ์ที่เลวร้ายสุดที่ผู้เขียนเคยเห็นคือตัวเกษตรคนกู้หัวใสมีความรู้ทางกฎหมาย พอเห็นว่าตัวเองจะโดนฟ้องแน่นอน ก็รีบโอนที่ดินทั้งหมดที่มีให้สมาชิกคนอื่นในครอบครัว เพื่อตัวเองจะได้เป็นคนไม่มีทรัพย์ แล้วให้ศาลไปยึดทรัพย์ของเพื่อนที่ค้ำประกันแทน
ชำระหนี้ตามรอบการเก็บเกี่ยวผลผลิต
อันนี้ต้องถือเป็นนวัตกรรมที่ ธ.ก.ส. ตั้งใจสร้างสรรค์มาเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีเกษตรกร เป็นการอำนวยความสะดวกให้ ปกติการชำระสินเชื่อที่เราคุ้นเคยกันคือจ่ายงวดรายเดือน แต่เกษตรกรมีรายได้ตามรอบการผลิตแล้วแต่ว่าผลิตอะไร เก็บเกี่ยวได้เมื่อไร สัญญาเงินกู้ส่วนใหญ่จะทำกันต้นฤดูการผลิต และกำหนดจ่ายคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยหลังฤดูการเก็บเกี่ยว โดยจ่ายก้อนใหญ่แบบให้ปิดบัญชีไปเลย ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อการขายผลผลิตไม่ได้ราคา ขายแล้วยังไม่ได้ทุนคืน เกษตรกรก็ไม่มีเงินมาจ่ายหนี้ ธ.ก.ส. เคยมีงานวิจัยของมูลนิธิชีวิตไทพบว่าเวลามีเงินเกษตรกรจะเลือกจ่ายหนี้อื่น ๆ ก่อน เช่นหนี้ธนาคารอื่น ๆ หนี้ผ่อนมอเตอร์ไซค์ หนี้ร้านปุ๋ยร้านยา เพราะยอดชำระรายงวดน้อยกว่า และมีเงื่อนไขการชำระเป็นรายเดือน ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าเกษตรกรไม่ได้มีหนี้ก้อนเดียว และไม่ได้มีรายได้ทางเดียว หลายรายนอกจากทำการปลูกพืชที่รอบการเก็บเกี่ยวนาน ยังทำการเกษตรรอบการเก็บเกี่ยวสั้น เช่น พืชผักสวนครัว รวมถึงมีรายได้จากที่ลูกหลานที่ทำงานในเมืองส่งไปให้บ้าง จากการรับจ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ บ้าง จากการปลูกโน่น นี่นั่น ระยะสั้นบ้างด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้หนี้ก้อนใหญ่ที่กู้มาจาก ธ.ก.ส. จึงไม่ได้ถูกชำระเลย หรือชำระได้เพียงดอกเบี้ย ธ.ก.ส. ก็จะแนะนำนวัตกรรมสินเชื่อใหม่ให้เกษตรกร คือการปรับโครงสร้างหนี้
ปรับโครงสร้างหนี้ ทบต้น ทบดอก ทบค่าปรับ
โดยทั่วไปแล้ว ธ.ก.ส. จะไม่ฟ้องร้องเกษตรกรลูกหนี้ในทันทีที่ผิดสัญญาเงินกู้ แต่จะใช้วิธีปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งธนาคารมองว่าเป็นการ “ช่วยเหลือ” เกษตรกร การปรับโครงสร้างหนี้คือ การนำเงินต้นที่ค้างชำระ มารวมกับดอกเบี้ยค้างชำระ และค่าปรับ ให้กลายเป็นยอดเงินต้นใหม่นับระยะเวลาในการกู้ใหม่ ผลที่เกิดขึ้นคือเกษตรกรได้ยอดเงินกู้ใหม่ที่เงินต้นมากกว่าเดิม นอกจากนี้ยังพบว่าธนาคารจะสนับสนุนให้เกษตรกรกู้เงินเพิ่ม โดยใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันเดิม ที่การกู้ครั้งแรกอาจเป็นการกู้ที่ไม่เต็มวงเงินมูลค่าประเมินของหลักทรัพย์ เพื่อให้เกษตรกรนำเงินกู้ใหม่ไปปิดบัญชีเงินกู้เดิม และมีเงินเหลือไว้ใช้จ่ายต่อไป และเริ่มการนับวันทำสัญญาเงินกู้ใหม่ เพื่อไม่ให้ต้องเสียดอกเบี้ยค้างชำระและค่าปรับจากสัญญาเงินกู้ฉบับเดิม การเสนอชวนเชื่อทำให้เกษตรกรจำนวนมากเห็นตามและกู้เงินมาเพิ่ม ทั้งที่บางครั้งไม่ได้มีความต้องการใช้เงิน
ผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยกับเกษตรกรรายหนึ่งที่ปัจจุบันเป็นหนี้ ธ.ก.ส. จนไม่สามารถชำระหนี้ได้ เธอเล่าให้ฟังถึงเงินกู้ก้อนแรกว่าต้องการนำเงินมาลงทุนปลูกข้าวโพดจึงนำที่ดินไปกู้จดจำนองกับ ธ.ก.ส. โดยขอเงินกู้เท่าที่จำเป็นต้องใช้ในการลงทุนซึ่งต่ำกว่ามูลค่าที่ดินของเธอ แต่การปลูกข้าวโพดรอบนั้นขาดทุน ไม่มีเงินไปชำระหนี้ ธ.ก.ส. ทำให้มีดอกเบี้ยค้างชำระและค่าปรับค้างสะสม วันหนึ่งเกษตรกรรายนี้ได้รับการติดต่อจาก ธ.ก.ส. เสนอให้เธอกู้เงินเพิ่ม เพื่อนำเงินกู้ใหม่มาปิดบัญชีเงินกู้เดิม ไม่ให้ดอกเบี้ยค้างชำระและค่าปรับสูงไปกว่านี้ และทำให้เธอมีเงินไปลงทุนใหม่ เธอตัดสินใจทำตามกู้ครั้งที่ 2 เต็มวงเงินมูลค่าที่ดินของตนเอง ทำให้เธอมีเงินเหลือหลังจากปิดสัญญาเงินกู้ฉบับแรกแล้วถึงประมาณ 9 แสนบาท การมีเงินสดในมือโดยไม่มีการวางแผนการผลิตล่วงหน้า และการขาดความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการเงิน ทำให้เธอใช้เงิน 9 แสนบาท ในลักษณะของการลงทุนไปเรื่อย ๆ ขาดทุนไปเรื่อย ๆ สุดท้ายเงินหมดโดยไม่สามารถชำระหนี้ของ ธ.ก.ส. ได้ กลายเป็นภาระที่ผูกพันมานานกว่าสิบปี การปรับโครงสร้างหนี้ในลักษณะนี้จึงกลายเป็นการดึงให้เกษตรกรเข้าสู่วงจรหนี้อย่างยากที่จะถอนตัวมากขึ้น
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนวัตกรรมสินเชื่อของ ธ.ก.ส. ที่แม้จะเริ่มจากความหวังดี แต่เมื่อผนวกกับบริบทแวดล้อมและปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ทั้งหลายทั้งปวงนี้เมื่อมาผนวกกันทำให้เกษรตรกรเมื่อก้าวเข้าสู่วงจรหนี้ของ ธ.ก.ส. แล้วยากที่จะหลุดมา เพราะนวัตกรรมทั้งหายทั้งปวงมุ่งเพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงเงินกู้เป็นหลัก ไม่ได้มุ่งให้ดำเนินชีวิตในฐานะเกษตรกรได้อย่างมั่นคง
ผู้เขียน : เพ็ญนภา หงษ์ทอง มูลนิธิชีวิตไท
เพ็ญนภา หงษ์ทอง นักเขียน นักแปล อิสระ อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ The Nation และสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ เกาะติดเรื่องราวปัญหาของเกษตรกรไทยตั้งแต่ครั้งยังเป็นผู้สื่อข่าวประจำห้องข่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามสมัชชาคนจนตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง จนปัจจุบันเป็นนักวิจัยอิสระประจำมูลนิธิชีวิตไท ศึกษากระบวนการก่อหนี้และการชำระหนี้ของเกษตรกร มีความฝันอยากเห็นชาวนาไทยมีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมเหมาะสมกับสถานะผู้ผลิตอาหารหลักของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่ติดอยู่กับวงจรหนี้
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.