ปัญหาครัวเรือนเกษตรกรไทยติด “กับดักหนี้” และมีหนี้สินล้นพ้นตัว ถือเป็นหนึ่งในปัญหาเชิงโครงสร้างสำคัญที่ต้องแก้ไข กับดักหนี้ (Debt Trap) หมายถึง ภาวะหนี้ท่วม ร้อยละ 57 ของครัวเรือนเกษตรมีหนี้สินเกินศักยภาพในการชำระ มีรายได้ไม่เพียงพอ รายได้ไม่สม่ำเสมอ และรายได้ไม่แน่นอน ดังนั้นการจะหลุดออกจากกับดักหนี้สินของเกษตรกรจึงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากไม่สามารถหารายได้ได้เพียงพอกับการจ่ายหนี้ ทำให้ต้องยืดหนี้ออกไปเรื่อยๆ และก่อให้เกิดวงจรหมุนหนี้ ดังนั้นการจัดการปัญหาหนี้สินเพื่อช่วยให้เกษตรกรหลุดออกจาก “กับดักหนี้” และเดินไปได้อย่างยั่งยืน ต้องเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจปัญหาครัวเรือนเกษตรกร
เข้าใจปัญหาครัวเรือนเกษตรกรไทย
เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี ในงาน “BOT Symposium 2022 ก้าวสู่ยุคใหม่เศรษฐกิจการเงินไทย” หนึ่งในหัวข้อสำคัญการสัมมนาครั้งนี้ คือ “กับดักหนี้กับการพัฒนาเศรษฐกิจการเงินครัวเรือนฐานราก” นำเสนอโดย ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ และคณะ จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญส่งผลให้เกิด “กับดักหนี้” และขัดขวางการพัฒนาครัวเรือนเกษตรให้เดินไปอย่างยั่งยืน ดังนี้
ประการแรก ปัญหาเศรษฐกิจการเงินครัวเรือนเกษตร ได้แก่ 1) รายได้ไม่เพียงพอ พบว่า ร้อยละ 27 ของเกษตรกรมีรายได้ไม่พอใช้จ่ายจำเป็น ร้อยละ 41 ของเกษตรกรมีรายได้เหลือไม่พอชำระหนี้ 2) รายได้ไม่สม่ำเสมอ รายได้เกษตรเข้ามาเป็นฤดูกาล พบว่า ร้อยละ 82 มีปัญหาสภาพคล่อง และเฉลี่ย 3 เดือนต่อปีจะมีรายได้เข้ามาน้อยกว่ารายจ่าย และ 3) รายได้ไม่แน่นอน เกษตรกรเผชิญความเสี่ยงด้านภัยธรรมชาติและการตลาด พบว่า 1 ใน 3 ปี เกษตรกรจะมีปัญหารายได้ตกต่ำจากผลผลิตหรือตลาด ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายอย่างมากของเกษตรกรในการบริหารจัดการการเงินอยู่ตลอดเวลา เมื่อเกิดปัญหาสภาพคล่อง เช่น การมีรายได้มากเพียงพอในปีนี้เพื่อเกลี่ยไปใช้จ่ายในปีหน้า การมีทักษะการบริหารจัดการการเงินเมื่อมีภาระค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่เกิดขึ้น เป็นต้น
นอกจากนี้ ครัวเรือนเกษตรมีปัญหาที่หลากหลาย แตกต่าง สามารถแยกครัวเรือนเกษตรตามประเภทลักษณะพฤติกรรมทางการเงิน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มยากจน รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายในแต่ละเดือน ร้อยละ 18 2) กลุ่มเปราะบาง มีปัญหาสภาพคล่อง กลุ่มใหญ่ที่สุด รายได้ไม่เพียงพอบางเดือน ร้อยละ 67 3) กลุ่มสภาพคล่องดี รายได้เพียงพอกับรายจ่ายทุกเดือน ร้อยละ 15
ประการที่สอง พฤติกรรมทางการเงินของครัวเรือนเกษตร พบว่า 1) ครัวเรือนเกษตรส่วนใหญ่ขาดความตระหนักรู้ทางการเงิน โดยเฉพาะเรื่องผลิตภัณฑ์การออม และการจัดการหนี้สินในบางด้าน แต่มีทัศนคติทางการเงินที่ดีต่อการออม การก่อหนี้ การชำระหนี้ และการวางแผนทางการเงิน 2) พฤติกรรมการออมและการประกันของครัวเรือนเกษตร ยังไม่ช่วยสะสมความมั่งคั่ง และยังไม่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะต่อรายได้ที่ผันผวนสูงของเกษตรกรได้ 3) เกษตรกรใช้สินเชื่อเป็นเครื่องมือหลักในการจัดการเงิน ส่งผลทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่มีหนี้เป็นวงกว้างและมีหนี้มาก 4) หนี้ของครัวเรือนเกษตรส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นทุกปี จนเกินศักยภาพในการชำระ และส่งผลต่อความสามารถในการกู้ใหม่ โดยหนี้ที่เพิ่มขึ้นทุกปี มาจากหนี้เดิมที่ชำระไม่ได้ (รายได้ไม่พอ รายได้ไม่แน่นอน) และหนี้ใหม่ที่ก่อเพิ่มทุกปี ทบกันจนกลายเป็นวงจรหนี้
ประการที่สาม ปัญหาเศรษฐศาสตร์ตลาดการเงินฐานราก ปัจจุบันสถาบันการเงินยังทำงานไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังนี้ 1) ความไม่สมมาตรของข้อมูล (Information asymmetry) ทำให้สถาบันการเงินไม่รู้ศักยภาพที่แท้จริงของเกษตรกร ทำให้ตลาดไม่สามารถปล่อยสินเชื่ออย่างทั่วถึง ตอบโจทย์ทุกกลุ่มได้ และความไม่สมมาตรของข้อมูล ทำให้สถาบันการเงินไม่มีข้อมูลของเกษตรกรและระหว่างกันเอง ทำให้อาจปล่อยกู้รวมกันเกินศักยภาพและความเสี่ยง และก่อให้เกิดวงจรหมุนหนี้ 2) การออกแบบสัญญาสินเชื่อ (Contract design problem) ไม่ได้ตั้งอยู่บนความเข้าใจปัญหาเกษตรกร สัญญาชำระหนี้ไม่ได้อยู่ในวิสัยที่จูงใจและจ่ายได้ พบว่า ครัวเรือนเกษตรกรต้องการสัญญาชำระหนี้ที่สอดคล้องกับช่วงรายได้ที่เข้ามา ค่างวดที่จ่ายไม่สูง มีความยืดหยุ่น สามารถช่วยสร้างภาระผูกพันในการชำระคืนได้ 3) การบังคับให้จ่ายหนี้ (Enforcement problem) ทำให้สถาบันการเงินบางแห่งยังไม่สามารถสร้างความกระตือรือร้นในการชำระหนี้ของครัวเรือนได้ดีนัก และ สินเชื่อค้ำประกันกลุ่ม อาจไม่ใช่กลไกบังคับการจ่ายหนี้ของเกษตรกรได้ดีเหมือนเช่นในอดีต ในขณะที่สถาบันการเงินชุมชนเป็นกลไกที่ทำหน้าที่ด้านนี้ได้ดีกว่า
กับดักหนี้ กับดักแห่งการพัฒนา และทางออก
จะเห็นได้ว่ามิติด้านเศรษฐกิจครัวเรือน พฤติกรรมการเงิน และระบบสินเชื่อภาคเกษตร คือสามปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เกิด “กับดักหนี้” และ “กับดักแห่งการพัฒนา” โดยมีข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินและปัญหาเศรษฐกิจของครัวเรือนเกษตรกรอย่างยั่งยืน ดังนี้ การแก้ปัญหาของตลาดการเงินฐานรากอย่างรอบด้าน เพื่อแก้หนี้เดิม และเติมเงินใหม่ให้ทั่วถึง ตอบโจทย์ และยั่งยืน การแก้ปัญหาการเงินเกษตรกร ด้วยเครื่องมือทางการเงินที่ตอบโจทย์ตามศักยภาพ และที่สำคัญคือนโยบายที่สร้างแรงจูงใจที่ถูกต้อง เน้นช่วยให้ครัวเรือนเกษตรกรช่วยตัวเองได้ ผ่านเครื่องมือและตลาดการเงินที่เหมาะสม จะสามารถช่วยนำพาครัวเรือนเกษตรกรไทยออกจาก “กับดักหนี้” และ “กับดักการพัฒนา” นี้ได้
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 28 ต.ค. 2565
ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.