เสียงสะท้อนของชาวนาในจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มูลนิธิชีวิตไท (Local Act) ได้ทำงานเพื่อพัฒนาศักยภาพให้สามารถพึ่งพาตนเองได้นั้น ได้สะท้อนให้เห็นถึงต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นมากจาก 5,310 บาทต่อไร่ในช่วงสิ้นเดือนพฤษจิกายน 2564 เป็น 6,710 บาทต่อไร่ในช่วงสิ้นเดือนเมษายน 2565 ในขณะที่ผลผลิตต่อไร่ยังคงต่ำกว่า 1,000 กิโลกรัม ซึ่งหากข้าวเปลือกราคา 7,000 บาทต่อตัน จะทำให้การขายข้าวของชาวนาในปีนี้ต้องประสบกับภาวะขาดทุนทันที สอดคล้องกับผลการศึกษาจาก KKP Research ของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัคร ที่พบว่า ผลผลิตข้าวต่อไร่ของชาวนาไทยต่ำกว่าผลผลิตของชาวนาในเอเซียในช่วง 10 ปี ถึง 32% นั่นหมายความว่า ถึงแม้จะลงทุนสูงก็ไม่ได้ส่งผลให้เกิดกำไรมาก และยิ่งในสถานการณ์ที่ต้นทุนการผลิตที่สูง ชาวนาไทยอาจไปถึงจุดที่ขาดทุนสูง ทำให้เกิดภาระหนี้สินสะสม เพราะไม่สามารถชำระหนี้สินคืนได้ในฤดูกาลผลิตนี้
ผลการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมศักยภาพเกษตรกรของมูลนิธิชีวิตไท (Local Act) ยังพบอีกว่า ชาวนาไทยอยู่คู่กับการเป็นหนี้สินสะสม จนแยกไม่ออกว่าเงินต้นเท่าไร ดอกเบี้ยเท่าไร โดยเริ่มต้นจากการกู้ยืมมาเพื่อการลงทุนทางการเกษตร พอนานวันเงินกู้เพื่อการลงทุนทางการเกษตรก็ถูกนำมาใช้ในการหล่อเลี้ยงทุกชีวิตในครอบครัว หมุนเวียนเป็นเสมือนวัฎจักรหรือกับดักหนี้ที่ยากจะหลุดพ้นจากวงจรหนี้สินได้โดยง่าย
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act) ได้ดำเนินงานเพื่อส่งเสริมศักยภาพเกษตรกร/ชาวนาไทยให้สามารถพึ่งพาตนเองได้โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เร่งให้เกิดความยากลำบากเช่นนี้ ทั้งจากการปรับตัวเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน ลดต้นทุนการผลิตด้วยการปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นเกษตรอินทรีย์ หรือเพิ่มรายได้ด้วยการประกอบอาชีพเสริมที่ต่อยอดจากอาชีพเดิม การขยายตลาดพืชผลทางการเกษตร เป็นต้น
แต่ถึงกระนั้นก็ตามการปรับตัวของชาวนาเพียงฝ่ายเดียว อาจไม่เพียงพอต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร/ชาวนาไทยได้ หากขาดการสนับสนุนในเชิงนโยบายเพื่อช่วยเหลือชาวนาในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่ากันและต้องเร่งดำเนินการ “นโยบายพิเศษเกี่ยวกับราคาข้าว” เป็นนโยบายที่สามารถดำเนินการได้โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มสูงกว่าหรือสูงใกล้เคียงกับราคาขายอย่างเช่นในปัจจุบัน (สุบรรณ เอี่ยมวิจารณ์, 2557) ภายใต้การยึดหลักให้เกิดความเป็นธรรม (Equity) และการทำให้สังคมมีประสิทธิภาพ (Efficiency) เช่นเดียวกับแนวคิดของประทีป วีระพัฒนิรันดร์ นักพัฒนาชุมชน ได้กล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์ของวารสารเคหการเกษตรเมื่อปี 2556 ว่า ผลสัมฤทธิ์ด้านคุณภาพชีวิตของเกษตรกร เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาการเกษตร (ประทีป วีระพัฒนิรันดร์, 2556) และการที่รัฐบาลในหลายประเทศยังคงใช้นโยบายในการแทรกแซงราคา ก็ด้วยเหตุผลหลายประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสินค้าทางการเกษตรยังคงเป็นสินค้าหลักในการส่งออกโดยเฉพาะข้าวและหากยังปล่อยให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ลำบากและมีรายได้ตกต่ำยิ่งเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ควรนิ่งเฉย
แต่อย่างไรก็ตาม นโยบายด้านราคาควรเป็นนโยบายระยะสั้น และสำคัญยิ่งกว่านั้นต้องมีการดำเนินการควบคู่กับการกำหนดนโยบายที่ไม่ใช่ราคา ที่ต้องมีการดำเนินการควบคู่กันไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนา โดยเฉพาะนโยบายที่จะพัฒนาศักยภาพชาวนาไทยได้อย่างยั่งยืน ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพข้าวให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งตลาดในประเทศและตลาดการส่งออก เพื่อสร้างมูลค่าและรายได้ให้กับเกษตรกรให้ได้มากที่สุด ซึ่งคุณภาพของข้าวจะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญในการสร้างความยั่งยืนในการแข่งขัน และสร้างโอกาสในการกลับมาเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ได้อีกครั้ง
นอกจากนี้ในวิกฤติที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอย่างที่ควบคุมไม่ได้นี้ กลับถือเป็นโอกาสอันดีในการเร่งพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพของภาคการเกษตรโดยเฉพาะในเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยทางอาหาร เพื่อลดต้นทุนการผลิตที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งมูลนิธิชีวิตไท (Local Act) มีการดำเนินงานในประเด็นนี้มาอย่างต่อเนื่องแล้ว นอกจากนี้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องมีการสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีในการผลิตที่ทันสมัย เพื่อช่วยลดต้นทุนด้านแรงงานให้กับเกษตรกรที่มีแนวโน้มเป็นผู้สูงอายุมากขึ้น สอดคล้องกับการที่ประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปีนี้
นอกจากนี้ต้องพัฒนาศักยภาพชาวนาให้เป็นชาวนามืออาชีพ มีความรอบรู้ รู้เท่ากันการเปลี่ยนแปลงของโลก และสามารถปรับตัวได้แม้ในสถานการณ์วิกฤติ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาศักยภาพชาวไทยที่มูลนิธิชีวิตไท (Local Act) ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมให้เกษตรกร/ชาวนามีศักยภาพในการพึ่งพาตนเองได้นั้น ไม่เพียงแต่การส่งเสริมเพียงตัวเกษตรกรและครอบครัวเท่านั้น นโยบายที่สนับสนุนหรือเปรียบเสมือนอาหารเสริมหรือบางครั้งเปรียบเสมือนยารักษาโรคที่จะทำให้เกษตรกรไทยมีร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง สามารถต่อสู้กับสภาวะการณ์ไม่ปกติได้อย่างเข้มแข็ง จึงมีความสำคัญควบคู่กันไป เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร/ชาวนาไทยอย่างครบวงจรและนำไปสู่ความยั่งยืนได้ในที่สุด
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 28 ต.ค. 2565
ผู้เขียน : รุ้งทอง ครามานนท์
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.