จากตอนที่ 1 ที่เล่าถึง “วงจรถดถอย” ได้แสดงให้เห็นว่าหัวใจของปัญหาอยู่ที่โมเดลธุรกิจ การทำเกษตรแบบเดิม ย่อมได้ผลลัพธ์เดิม การช่วยเหลือปัญหาทางการเงินโดยเฉพาะการอุดหนุนรายได้เป็นเพียงการบรรเทาอาการเท่านั้น
การแก้ไขให้เกิดความยั่งยืนได้นั้นจำเป็นต้องปรับแก้โมเดลธุรกิจ เพื่อสามารถเปลี่ยนชีวิตเกษตรกร ออกจากวงจรถดถอย “โมเดลผลิตไม่ดี-ขาดทุนบ่อย-หนี้สูง-ปรับตัวไม่ได้-ผลิตภาพต่ำ” สู่วงจรโอกาส “โมเดลผลิตดี-สร้างกำไรสม่ำเสมอ-มีเงินสะสม-ลงทุนพัฒนา-ผลิตภาพสูงขึ้น”
เกษตรกรมีหลายทางเลือกการพัฒนาที่อยู่ในวิสัยที่ทำได้
จากการลงพื้นที่พูดคุยกับเกษตรกรหลายแห่งทั่วประเทศของ ธปท. พบว่า ประเทศไทยมีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่สามารถปรับตัวพัฒนาโมเดลธุรกิจจนสามารถปลดหนี้ หลุดพ้นจากวงจรถดถอยได้ และพัฒนาธุรกิจก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ เกิดเป็นโมเดลต้นแบบมากมายที่แบ่งปันให้ผู้อื่นได้เรียนรู้และเจริญรอยตาม
ในความหลากหลายของโมเดลต้นแบบสามารถถอดบทเรียนได้เป็น 5 ชุดการพัฒนา ดังนี้
1. เกษตรแปลงใหญ่ การรวมแปลงเกษตรช่วยลดต้นทุนจากการประหยัดจากขนาด (Economy of scale) เนื่องจากแปลงเกษตรที่ใหญ่เอื้อให้สามารถนำเครื่องจักรประเภทต่าง ๆ มาใช้หว่าน ใส่ปุ๋ย และเก็บเกี่ยวได้ แล้วก็คุ้มค่ากว่าการใช้เครื่องจักรกับหลายแปลงเล็ก
เช่น ชาวไร่อ้อยบ้านหนองแซง จ.ชัยภูมิ ที่รวมกลุ่มกันจัดสรรผืนไร่ของสมาชิกให้เหมาะแก่การนำรถเข้าไปเกี่ยวอ้อย แล้วแบ่งกันใช้เครื่องจักร ปัจจุบันกลุ่มนี้มีรถตัดอ้อย 4 คัน มาใช้แทนการจ้างคนงานตัดอ้อยสด ซึ่งช่วยลดต้นทุนตัดอ้อยสดต่อไร่เหลือน้อยกว่าครึ่ง
2. เกษตรกรผสมผสาน การทำเกษตรปลูกพืชที่หลากหลายขึ้น โดยแบ่งพื้นที่ไปเพาะปลูกพืช อื่น ๆ มักได้รับผลตอบแทนมากกว่าการทำเกษตรเชิงเดี่ยวหากวัดที่ระดับความเสี่ยงเดียวกัน และหากทำการเกษตรผสมผสานที่มีการสร้างสมดุลของระบบนิเวศด้วย
เช่น โมเดลโคกหนองนาตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ที่มีการจัดสรรแปลงสำหรับขุดบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ทำนา ปลูกพืชไร่ ทำสวนผัก และสวนไม้ผล สร้างเป็นระบบนิเวศหมุนเวียน ทำให้มีต้นทุนต่ำ มีภูมิคุ้มกันต่อภัยแล้ง และมีกินมีใช้พึ่งพาตัวเองได้ตลอดปี
3. เกษตรประณีต จากการทดสอบของ บจม.เบทาโกรกับเกษตรกร 219 ราย2 พบว่า การเพาะปลูกพืชตามหลักวิชาการทำให้ผลผลิตทุกพื้นที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 30-50 โดยการตรวจดินและใช้ปุ๋ยในสูตร ปริมาณ และเวลาที่เหมาะสมช่วยให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นร้อยละ 17
และการให้น้ำที่ถูกต้องช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ร้อยละ 20 นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถทำการเกษตรแม่นยำขึ้นได้อีกโดยนำเทคโนโลยีมาใช้ได้ตลอดทั้งกระบวนการผลิต
เช่น Smart farmer ต.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ ซึ่งใช้โดรนเพื่อสำรวจดูทิศทางน้ำไหลก่อนตีแปลงเพาะปลูก และใช้เซนเซอร์ระยะไกลเพื่อติดตามการเจริญเติบโตและสุขภาพของพืช ซึ่งเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดความเสี่ยง และประหยัดแรงงาน
4. การต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำได้หลายวิธี วิธีการหนึ่งคือการทำเกษตรปลอดสารพิษ และการจัดการข้อมูลทั้งกระบวนการผลิตตั้งแต่การเริ่มต้นเพาะปลูก การใช้สารเคมี การเก็บเกี่ยว การเก็บรักษา ไปจนถึงการขนส่ง
เพื่อสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าสินค้าเป็นมิตรต่อผู้บริโภค ชุมชน และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ สามารถทำผลิตภัณฑ์ต่อยอดได้อีก เช่น แปลงนาสะอาด จ.กำแพงเพชร ใช้ข้าวผลิตน้ำมันรำข้าว ซึ่งสร้างรายได้มากกว่าขายข้าวเปลือกกว่า 8 เท่า และยังนำเศษวัสดุที่เหลือไปใช้จนหมด โดยนำแกลบไปเผาเพื่อผลิตไฟฟ้า แล้วนำขี้เถ้าแกลบไปผสมดิน
5. ปลูกพืชที่มีมูลค่าสูงหรือประกอบอาชีพอื่น เกษตรกร ต.ดงขี้เหล็ก จ.ปราจีนบุรี เปลี่ยนการทำนามาปลูกไม้ดอกไม้ประดับส่งจำหน่ายในกรุงเทพฯ เกษตรกรบ้านแสนตอ จ.ขอนแก่น หันมาทำฟาร์มจิ้งหรีดเพื่อผลิตโปรตีนผง ซึ่งสร้างรายได้มากกว่าหลายเท่าตัว
นอกจากนี้ เกษตรกรยังมีการรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนประกอบอาชีพอื่นนอกจากการเกษตร เช่น ผลิตน้ำพริก และเสื้อผ้าฝ้าย รวมถึงให้บริการนักท่องเที่ยว พัฒนาธุรกิจจนเป็นผู้ประกอบการ SME ที่มีรายได้ดีและมั่นคง
จากข้างต้นจะเห็นได้ว่าการพัฒนาโมเดลธุรกิจทำได้หลายรูปแบบ เกษตรกรควรนำแนวคิดมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ตน โดยเริ่มจากความถนัดหรือการแก้ปัญหาเดิมที่มีอยู่
เช่น ลดต้นทุนโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ ลดความเสี่ยงโดยการปลูกพืชที่หลากหลาย และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการพัฒนาต่อยอด เมื่อรู้แนวทางแล้วว่าสามารถพัฒนาไปทางไหนได้บ้าง คำถามสำคัญถัดมาคือเกษตรกรจะไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร
ปัจจัยสู่ความสำเร็จ
หลายโมเดลที่กล่าวมามีปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จคล้าย ๆ กัน จึงขอหยิบตัวอย่างความสำเร็จของ “ชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก” ที่พัฒนาครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำเป็นตัวแทนเล่ากระบวนการพัฒนาไปสู่วงจรโอกาส ซึ่งถอดได้เป็น 4 ปัจจัยสำเร็จ ดังนี้
1. คิดใหม่ ไม่รอคอย ตระหนักว่าต้องเปลี่ยนแปลง ความสำเร็จของเกษตรกรดงขี้เหล็กเริ่มจากก้าวแรกนี้ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่สุด กล้าเปลี่ยนจากการปลูกข้าวเดิม ๆ ไปปลูกอย่างอื่น เมื่อรู้ว่าน้ำคือปัจจัยสำคัญ ไม่มัวรอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำให้ แต่ลุกมาจัดการแหล่งน้ำของตนเอง ขุดสระน้ำลึกเพื่อกักเก็บน้ำฝน เรียกกันในชุมชนว่า “เขื่อนใต้ดิน”
2. ศึกษาฝึกฝนจนชำนาญ ใฝ่พัฒนา ศึกษาจนมีความรู้ในสิ่งที่ตัวเองทำ เช่น รู้ว่าพืชอะไรเหมาะกับพื้นที่ตน และรู้วิธีการกักเก็บและใช้น้ำที่เหมาะกับพื้นที่ตน กล้านำความรู้มาประยุกต์ใช้ ลองผิดลองถูกจนเกิดความชำนาญ เช่น ใช้เทคโนโลยีตะบันน้ำขึ้นไปพักน้ำบนที่สูง และทำระบบน้ำหยดที่ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ตลอดจนศึกษาพัฒนาช่องทางจำหน่ายสินค้าออนไลน์
3. ชุมชนเข้มแข็ง มีผู้นำที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมจากคนในชุมชนให้มุ่งพัฒนาชุมชนตนเอง และเชื่อมโยงกับภาคีต่าง ๆ ให้มาร่วมสนับสนุนการพัฒนาได้
4. หาน้ำได้ ใช้น้ำเป็น มี “ภาชนะกักเก็บน้ำของตัวเอง” และระบบจัดการน้ำดี ซึ่งสร้างโอกาสให้พื้นที่มีศักยภาพที่จะทำเกษตรได้หลากหลายชนิดและทำได้ตลอดทั้งปี
แต่ภาพจริงของเกษตรกรส่วนใหญ่ในประเทศยังไม่มีปัจจัยเพียบพร้อมทั้ง 4 ด้าน แต่ละครัวเรือน แต่ละพื้นที่ มีปัญหาที่แตกต่างกัน ดังนั้น ในการส่งเสริมเกษตรกร ภาครัฐควรศึกษาจนเข้าใจข้อจำกัดของแต่ละครัวเรือน
จากนั้นมุ่งสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาตามปัจจัยที่ขาดของครัวเรือนนั้น ๆ ผ่านการเชื่อมโยงกับผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาการและภาคเอกชน เป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้และเทคโนโลยี เชื่อมต่อตลาดกับสินค้าในพื้นที่ และให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้เพื่อพัฒนาโมเดลธุรกิจ
จึงจะสามารถขยายผลความสำเร็จของโมเดลต้นแบบ พลิกชีวิตเกษตรกรจากวงจรถดถอยสู่วงจรโอกาส ไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศได้
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 12 ต.ค. 2565
คอลัมน์ แจงสี่เบี้ย
จิรัฐ เจนพึ่งพร
ปัญจพัฒน์ ประสิทธิ์เดชสกุล
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.