เกษตรกรหลายรายมักเคยมีประสบการณ์ปลูกพืชตามกระแส เพราะเห็นว่าราคาดี แห่ปลูกตามๆ กัน คิดว่าทำแล้วจะรวย เกษตรกรจำนวนมากตัดสินใจปลูกพืชตามกระแสโดยไม่มีความรู้และความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เชื่อในคำชักชวนให้ลงทุน โดยไม่คิดอย่างรอบคอบ จึงมักลงเอยด้วยการขาดทุน บางรายถูกหลอก และเกิดภาระหนี้สินตามมา เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา มูลนิธิชีวิตไท จัดเวทีเสวนา “รู้เท่าทัน...ก่อนเข้าสู่การปลูกพืชตามกระแสและเกษตรพันธสัญญา” ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลบางขุด อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากบทเรียนประสบการณ์ของเกษตรกร และเพื่อให้ความรู้และความเข้าใจกับเกษตรกรก่อนที่จะตัดสินใจเข้าสู่การปลูกพืชตามกระแสและเกษตรพันธสัญญา
ตอนแรกคิดว่ามีตลาดพร้อมรองรับ…แต่อะไรก็เปลี่ยนแปลงได้
การปลูกพืชตามกระแสของเกษตรกรในปัจจุบัน มักจะมาพร้อมกับระบบเกษตรพันธสัญญา หรือ Contract Farming เป็นระบบการทำเกษตรที่มีการทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้าระหว่างเกษตรกรกับคู่สัญญา หรือ “ผู้รับประกัน” โดยมากมักจะเป็นบริษัทเอกชนที่สัญญาว่าจะซื้อผลผลิตคืนจากอีกฝ่ายในราคาที่ตกลงกันตั้งแต่ต้น เรียกว่า “ราคาประกัน” โดยจะเปลี่ยนแปลงได้ก็ต่อเมื่อครบกำหนดสัญญา
คุณบุญชู มณีวงษ์ ประธานกลุ่มพันธมิตรการเกษตรบ้านนางบวช จ.สุพรรณบุรี บอกเล่าถึงบทเรียนการปลูกพืชตามกระแสโดยมีสัญญารับซื้อกับบริษัทว่า “จากบทเรียนการเลี้ยงด้วงสาคู ทางกลุ่มได้คุยกันว่าที่จริงแล้วพวกเราเจ็บเพราะ “ความโลภ” มองว่าการเลี้ยงด้วงมันดี ขายได้ทุก 45 วัน มีคนมาบอกวิธีการเลี้ยง พาไปดูการตลาด และรับซื้อแบบประกันราคากิโลกรัมละ 150 บาท แต่ต้องซื้อพันธุ์ด้วงสาคูกับเขา เมื่อเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด เส้นทางถูกปิด เกษตรกรมีค่าดำเนินการเพื่อจัดส่งในแต่ละครั้งที่ค่อนข้างสูง อดทนทำประมาณ 6 เดือน ก็ต้องยอมเจ็บตัวและเลิกไปในที่สุด โชคดีตอนนั้นทางกลุ่มมีการปลูกกระชายขาวด้วย ช่วงโควิดกระชายเป็นที่ต้องการของตลาด จึงช่วยให้การเจ็บในครั้งนั้นไม่หนักมาก
ตอนนี้ก็มีสมาคมมาส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ “กัญชา” ซึ่งปลูกเพียง 4 เดือนก็สามารถขายได้ ปลูก 1 ไร่ จะขายได้เกือบ 8 แสนบาท แต่เราก็ต้องศึกษาความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ทั้งค่าใช้จ่ายในการทำโรงเรือน การทำโรงเก็บ คุณภาพและมาตรฐานตามที่ผู้รับซื้อกำหนด สิ่งหนึ่งที่เกษตรกรที่มีภาระหนี้มองเห็นคือ “ความร่ำรวย” มองว่าใครทำอะไรแล้วรวยก็อยากทำตาม เหมือนมีอยู่ช่วงหนึ่งที่มะนาวแพงก็หันมาปลูกมะนาวกันหมด พอมะนาวราคาตก ขายไม่ออก แปรรูปไม่เป็น ก็ทิ้งกันเกลื่อนเจ๊งตามกันไปอีก”
ก่อนปลูกพืชตามกระแส ต้องปลูกพืชไว้กินก่อน ศึกษาข้อมูล ความเสี่ยงและไม่เพิ่มหนี้
คุณสุนีย์ อ่ำทิม ประธานกลุ่มปลูกผักอินทรีย์บ้านวัดพระแก้ว จ.ชัยนาท กล่าวถึงแนวทางการเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญาของกลุ่มว่า “เกษตรกรต้องปลูกพืชที่เราต้องกินต้องใช้ก่อน ถ้าเราปลูกพืชที่เราไม่เคยกินเคยใช้เลยก็มักมีความเสี่ยง เพราะมันจะไปตามกระแส เมื่อตัดสินใจว่าจะปลูกพืชอะไรแล้ว สิ่งสำคัญต้องติดตามข่าวราคาพืชที่เราปลูกอยู่ตลอดเวลา พืชนั้นเขานำไปใช้อะไร มีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน เพราะมันมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เช่น ตอนนี้เกษตรกรบางคนได้ทำพันธสัญญาปลูกพริกทำซอส เมื่อตัดสินใจลงมือปลูกก็ต้องดูแลให้ได้ผลผลิตที่ดี และต้องมองให้เห็นโอกาสทางการตลาดที่พึ่งตนเองได้อยู่ด้วย“สิ่งสำคัญคือต้องไม่เพิ่มหนี้” ถ้าผลผลิตมีคุณภาพก็ไม่ต้องกลัวเรื่องการเอาเปรียบจากพันธสัญญา เพราะเขาต้องง้อเรา เขาต้องซื้อเรา ถึงเขาไม่ซื้อหรือทิ้งเรากลางทางเราก็สามารถเอาไปขายที่ตลาดนอกที่เขารับซื้อได้ เพราะเกษตรกรที่ปลูกพริกที่ไม่ได้อยู่ในพันธสัญญาก็ยังมีตลาดมากมายรับซื้อ”
เวลาทำสัญญาต้องรอบคอบ ไม่รีบร้อน และต้องไตร่ตรองให้ดีก่อนเสมอ
คุณนฤพนธ์ ยันสาด ทนายความอิสระ จ.ชัยนาท กล่าวถึงข้อควรรู้ของเกษตรกรก่อนเข้าสู่เกษตรพันธสัญญาว่า “การทำสัญญาต้องดูให้รอบคอบก่อนว่าสัญญานี้จะเป็นผลดีหรือผลเสียกับเราอย่างไร ดูข้อเท็จจริงว่าสัญญานี้สามารถเป็นไปได้ไหม ดูบริษัทที่เป็นคู่สัญญามีตัวตนหรือไม่ มีเงินทุนอยู่เท่าไหร่ กรรมการบริหารบริษัทมีทรัพย์สินอะไรบ้าง รวมถึงทรัพย์สินของบริษัทมีอะไร ถ้าบริษัทมีทรัพย์สินอยู่หลักแสนมาทำกิจการหลักล้านมันก็ไม่น่าคุ้ม หรือว่าบริษัทไม่มีทรัพย์สินหรือมีส่วนน้อย แต่ทรัพย์สินไปอยู่ที่กรรมการเวลาที่เกิดเรื่องฟ้องร้อง จะต้องฟ้องไปที่บริษัทไม่ได้ฟ้องไปที่กรรมการแล้วมันคุ้มที่เราจะเสี่ยงไหม
เวลาทำสัญญาจะเห็นมีการกาดอกจัน(***)เอาไว้ตามข้อต่างๆ เรามักจะไม่ได้อ่านมันเลยว่าสัญญานั้นระบุอะไรบ้าง เวลาเกิดปัญหาฟ้องร้องต่อศาลขึ้นมา สิ่งเหล่านั้นจะเป็นข้อตกลงที่เราต้องยอมรับมัน สัญญาจะเป็นธรรมกับเกษตรกรไหมขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและเจตนา สัญญานั้นอาจไม่เป็นธรรมหรือเอาเปรียบ เกษตรกรควรต้องมีคนที่รู้กฎหมายช่วยแนะนำ เวลาทำสัญญาอะไรต้องรอบคอบ ไม่รีบร้อน และต้องไตร่ตรองให้ดีก่อนเสมอ
ดังนั้นไม่ว่าเกษตรกรจะปลูกพืชชนิดใด พืชตามกระแสหรือนอกกระแส เกษตรกรควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบ การลงทุน แรงงาน การตลาด ความเสี่ยง โดยต้องไม่คิดพึ่งการตลาดแหล่งเดียว ต้องรู้จักพึ่งพาตนเองไว้ด้วย เรียนรู้การแปรรูปร่วมด้วย และรู้ถึงข้อดีข้อเสียของสัญญา รู้เท่าทันกฎหมาย เพราะการไม่รู้กฎหมายจะทำให้เกษตรกรเสียเปรียบนายทุน ถูกหลอก และเกิดภาระหนี้สินตามมาได้ในที่สุด
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 30 ส.ค. 2565
ผู้เขียน : ฐิติพรรณ มามาศ
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.