การเลือกตั้งใหญ่ครั้งใหม่ ใกล้จะมาถึงในเวลาไม่ช้าไม่นาน จับสัญญาณจากรอบหนึ่งถึงสองเดือนที่ผ่านมาบรรดา ส.ส. นักการเมือง ทั้งจากฝั่งพรรครัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน ต่างตบเท้ากันลงพื้นที่และจัดเวทีปราศรัยหาเสียง เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร นำเสนอผลงานและนโยบายกับพี่น้องประชาชน ชาวนา เกษตรกร ในระดับพื้นที่รูปแบบต่าง ๆ กันอย่างคึกคัก
“นโยบายการแก้ปัญหาหนี้สินชาวนาและเกษตรกร” คือหนึ่งในนโยบายประชานิยม ทั้งแนวทางปลดหนี้ ลดหนี้ แก้หนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ ที่ทุกพรรคการเมือง ต่างหยิบยกนำมาใช้เพื่อหาเสียงกับชาวนาและเกษตรกร ประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศ
โดยพบว่านโยบายหรือมาตรการส่วนใหญ่ที่พรรคการเมืองนำเสนอเพื่อแก้ปัญหาหนี้ มักมุ่งเน้นที่นโยบายระยะสั้น แก้ปัญหาปลายเหตุ “การลดหนี้เสีย” ซึ่งอาจต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการแก้ไขปัญหา ในขณะที่ปัญหาหนี้สินชาวนาและเกษตรกร เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม มีความซับซ้อน และเป็นปัญหาใหญ่ที่สะสมมายาวนาน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาเชิงรุก เช่น การปรับแก้กลไกและกติกาสินเชื่อให้มีความเป็นธรรมต่อชาวนามากขึ้น การปรับโครงสร้างหนี้อย่างจริงจัง โดยทำมากกว่ามาตรการพักหนี้และยืดหนี้ และประการสุดท้ายการสนับสนุนการลงทุนการผลิตใหม่ การฟื้นฟูทางเลือกอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนให้กับชาวนาและเกษตรกรไปพร้อมกัน
ชาวนาและเกษตรกรอยู่คู่กับปัญหาหนี้สินมาอย่างยืดเยื้อและยาวนาน และสองปีนับแต่มีโควิด (2563-2564) พบว่าชาวนาและเกษตรกรไทยมีหนี้เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 74 หรือเพิ่มจากครัวเรือนละ 150,636 บาท มาอยู่ที่ 262,317 บาท แม้รัฐบาลจะมีโครงการและมาตรการพักชำระหนี้ โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้กว่า 3.25 ล้านราย และมีมูลค่ารวมกันประมาณ 1.45 ล้านล้านบาท แต่ผลการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้จะมีแนวโน้มที่ลงทุนทางการเกษตรลดลง เนื่องจากโครงการพักชำระหนี้ที่ผ่านมามักมีข้อกำหนดเงื่อนไขไม่ให้กู้เงินเพิ่ม
อีกทั้งยังพบว่า โครงการพักชำระหนี้ชาวนาผู้ปลูกข้าวในปี 2559 ทำให้มูลหนี้สะสมและหนี้เสียของชาวนาที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับชาวนาที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ด้วยข้อจำกัดและเหตุผลประการสำคัญสุดคือ โดยพื้นฐานของชาวนาส่วนใหญ่ต้องกู้มาลงทุนและเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เนื่องจากรายได้ไม่พอรายจ่าย รายได้มาเป็นฤดูกาล แต่รายจ่ายเกิดขึ้นตลอดเวลา ทำให้ต้องกู้มาเป็นค่าใช้จ่ายครัวเรือน ขณะที่เมื่อเงินทุนจำกัด ทำให้ต้องกู้มาลงทุนเพิ่มขึ้น เป็นวงจรหนี้ไม่จบสิ้น
จากสภาพปัญหาและพื้นฐานข้อจำกัดของชาวนาดังกล่าวข้างต้น ในปี 2565 นี้ ทางมูลนิธิชีวิตไท ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานพัฒนาศักยภาพและหนุนเสริมการปรับตัวเพื่อการแก้ปัญหาหนี้ชาวนาในพื้นที่ภาคกลางมาอย่างต่อเนื่อง จากประสบการณ์จากการทำงานระดับพื้นที่ พบว่า ชาวนาที่มีหนี้มักมีสภาพจิตใจที่กดดันหลายด้าน ดังนั้นความเชื่อมั่น หลักประกันทางรายได้ เป็นเหตุผลและแรงจูงใจสำคัญในการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตเคมีสู่อินทรีย์เพื่อการแก้หนี้ของชาวนา จึงได้ริเริ่มโครงการ “ผูกปิ่นโตข้าว แก้หนี้ชาวนา” ขึ้น
โดยหัวใจหลักและแนวคิดของโครงการนี้ คือ การเชื่อมความสัมพันธ์ เชื่อมพลัง และความเกื้อกูลระหว่างชาวนาผู้มีหนี้กับผู้บริโภคที่มีจิตอาสาเข้ามามีส่วนร่วม การแก้หนี้ชาวนาโดยลำพังอาจไม่สำเร็จ ต้องอาศัยพลังของผู้บริโภค ด้วยการให้ผู้บริโภคทำความรู้จักกับชาวนาที่มีความตั้งใจปรับเปลี่ยนการผลิตจากเคมีสู่อินทรีย์ จากนั้นผู้บริโภคเลือกสนับสนุนการซื้อข้าวอินทรีย์ล่วงหน้าจากชาวนาเป็นรายปี เพื่อให้ชาวนาเหล่านี้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ เกิดความเชื่อมั่นในการทำนาอินทรีย์จากการที่มีตลาดรองรับผลผลิตของเขาอย่างแน่นอน ลดปัญหาการกู้หนี้ยืมสิน เงินที่ผู้บริโภคยินยอมจ่ายเพื่อซื้อข้าวล่วงหน้าจากชาวนาเป็นรายปี นั่นหมายถึงว่า ชาวนาจะมีเงินนำไปจัดหาและจ่ายค่าปัจจัยการผลิตที่จำเป็นในการเริ่มลงมือปรับระบบจากการทำนาเคมีสู่นาอินทรีย์ ชาวนาจะไม่ต้องกู้ยืมเงินมาลงทุน เสียดอกเบี้ยให้กับธนาคารหรือสถาบันการเงิน เป็นการช่วยตัดวงจรเป็นหนี้ของชาวนาไม่รู้จบให้หมดไป
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 9 ส.ค. 2565
ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.