ในปี 2570 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า กระทรวงเกษตรฯ ดันไทยเป็นผู้นำเกษตรอินทรีย์อาเซียน ตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 2 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 1.34 ของพื้นที่ทางการเกษตรประเทศ 149 ล้านไร่ มีเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 1.3 แสนราย และมีสินค้าเกษตรอินทรีย์มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี โดยได้นำเสนอผลสำเร็จการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560 - 2564) สามารถเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 1,515,132 ไร่ เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 1.3 ล้านไร่ มีเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ 95,752 ราย (พื้นที่เฉลี่ย 15.82 ไร่ต่อราย) สร้างมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้รวม 5,345.33 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 1,069 ล้านบาท ทั้งนี้ ในปี 2565 กระทรวงเกษตรฯ ได้รับจัดสรรงบประมาณ 851.10 ล้านบาท ดำเนินการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ รวม 94 โครงการ
เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) เป็นเจ้าภาพจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2566-2570 โดยมีผู้เข้าร่วมจากภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา และภาคเกษตรกร ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ร่างแผนปฏิบัติการฯ ระยะ 5 ปีฉบับนี้ มีวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำภูมิภาคอาเซียนในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์สร้างมูลค่าบนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน มุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรในระบบการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมการผลิตเกษตรอินทรีย์ให้ได้มาตรฐานในระดับชุมชน ระดับประเทศ และระดับสากล
แนวทางการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ตามร่างแผนปฏิบัติการฯ แบ่งออกเป็น 4 ด้านคือ 1) ด้านส่งเสริมการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และฐานข้อมูลเกษตรอินทรีย์ มีตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย คือ จำนวนงานวิจัยและนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ถูกนำไปใช้ประโยชน์ไม่น้อยกว่า 10 เรื่องต่อปี และ ฐานข้อมูลสินค้าเกษตรอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน 1 ระบบ ในปี 2570 2) ด้านการพัฒนาศักยภาพการผลิต และการบริหารจัดการตลอดโซ่อุปทานเกษตรอินทรีย์ การแปรรูป การผลิตโครงสร้างพื้นฐาน และระบบโลจิสติกส์ มีตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย คือ เกษตรกรที่เข้าสู่กระบวนการเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 10,000 คนต่อปี จำนวนศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ครบวงจรใน 18 กลุ่มจังหวัด อย่างน้อยกลุ่มจังหวัดละ 1 แห่ง ภายในปี 2570 และ จำนวนสถาบันเกษตรกรที่ทำหน้าที่รวบรวมและแปรรูปสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี
3) ด้านการพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ โดยมีตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย คือ มาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองด้านเกษตรอินทรีย์ของไทยเท่าเทียมกับมาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ของอาเซียน ภายในปี 2570 จำนวนหน่วยตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองระบบงานตามระบบสากล เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5 แห่ง ในปี 2570 และ จำนวนหน่วยตรวจสอบรับรองของไทยขึ้นทะเบียนอยู่ในรายชื่อหน่วยตรวจสอบรับรองด้านเกษตรอินทรีย์กับประเทศคู่ค้าหลักอย่างน้อย 2 แห่ง 4) ด้านการพัฒนาการตลาดและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ โดยมีตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย คือ มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ต่อปี และ จำนวนกลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชนที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์เข้าสู่ระบบตลาดออนไลน์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี
ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมสัมมนามีความเห็นในประเด็นที่สำคัญประกอบด้วย 1) ด้านวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม ควรเน้นการส่งเสริมวิจัยแบบมีส่วนร่วม พัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ และสนับสนุนแหล่งเงินทุนสำหรับการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเกษตรอินทรีย์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงส่งเสริมหลักสูตรการจัดการเกษตรอินทรีย์และนวัตกรรม และควรเพิ่มช่องทางประชาสัมพันธ์งานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์ รวมถึงสร้างกลไกและกระบวนการที่สามารถนำความรู้หรืองานวิจัยที่มีอยู่ไปสู่การปฏิบัติ และต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ 2) ด้านการผลิต ควรให้ความสำคัญเรื่องการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ ผ่านระบบออนไลน์ และสนับสนุนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้เข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ รวมถึงการส่งเสริมเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ และ Start up มุ่งสู่ธุรกิจการแปรรูปสร้างมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรอินทรีย์ และควรเพิ่มแนวการลด/สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการขอขึ้นทะเบียนปุ๋ยและสารชีวภัณฑ์เพื่อลดต้นทุนการผลิต 3) ด้านมาตรฐาน ควรเพิ่มแนวทางการส่งเสริมการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) เพื่อเป็นเครื่องมือในการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มเกษตรกร โดยอ้างอิงมาตรฐาน Organic Thailand หรือมาตรฐานสากล เพื่อพัฒนาและยกระดับการผลิตเข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในระดับที่สูงขึ้นต่อไป และ 4) ด้านตลาด ควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริม การเชื่อมโยงตลาดชุมชนกับตลาดออนไลน์ เพื่อนำเสนอสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้กับผู้บริโภคโดยตรง รวมถึงการเชื่อมโยงสินค้าเกษตรอินทรีย์เข้าสู่ภาคบริการในส่วนของการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม หรือร้านอาหาร เน้นการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้กับผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว รวมถึงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ผ่านทุกช่องทางของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้น ภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตด้านอาหารที่กำลังเกิดขึ้น การผลักดันเกษตรอินทรีย์เพื่อสร้างมูลค่าและคุณค่าบนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน อาจเป็นทางเลือกและความหวังหนึ่งในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้เกษตรอินทรีย์ที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยอาหารของทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับกระแสโลกในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามปัจจัยท้าทายสำคัญในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ คือ การสร้างกลไกและสภาพแวดล้อมที่เอื้อเชิงนโยบายให้เกษตรกรสามารถเข้าสู่เกษตรอินทรีย์ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ประสบปัญหาหนี้สิน จึงควรมีแนวทางส่งเสริมให้เกษตรกรเกิดความเชื่อมั่นและแรงจูงใจในการปรับระบบการผลิตจากเคมีสู่อินทรีย์มากขึ้น
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 19 ก.ค. 2565
ผู้เขียน : อารีวรรณ คูสันเทียะ
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.