ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ เมื่อดูข้อมูลย้อนหลัง 9 ปี ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ จะพบว่า ในปี 2555 มีอัตราการเกิด 818,901 คน อัตราการตาย 423,213 คน ปี 2564 มีอัตราการเกิด 544,570 คน อัตราการตาย 563,650 คน จะเห็นได้ว่าในระยะเวลา 9 ปี มีอัตราการเกิดลดลงเกือบ 3 แสนคน และในปี 2564 มีอัตราการตายมากกว่าการเกิด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปัญหาการขาดแคลนแรงงานรุ่นใหม่มาทดแทนอย่างเพียงพอ รวมถึงภาคเกษตรกรรม จากสถานการณ์โรคระบาดโควิค-19 อาจเป็นวิกฤตที่ก่อให้เกิดโอกาสทำให้แรงงานบางส่วนตัดสินใจกลับบ้านทำอาชีพภาคเกษตร อย่างไรก็ตามเมื่อวิกฤตคลายตัวแรงงานเหล่านี้ก็เลือกกลับไปทำงานเป็นลูกจ้างนายทุนเช่นเดิม ในเวทีแลกเปลี่ยนของเครือข่ายภาคเกษตรจึงเกิดคำถามว่าจะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่สนใจภาคการเกษตรและเข้ามาสืบทอดอาชีพได้อย่างมั่นคง
เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 ผู้เขียนและทีมงานมูลนิธิชีวิตไทได้มีโอกาสเข้าร่วมเวทีนำเสนอผลงานวิจัยและถอดบทเรียนการรับมือผลกระทบในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และการพัฒนาพื้นที่นำร่องในการสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน กรณีศึกษากลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา จัดขึ้นโดย สมาคมเกษตรกรรมทางเลือกฉะเชิงเทรา และเครือข่ายเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต ได้มีการพูดถึงประเด็น “แนวทางการสืบทอดอาชีพของเกษตรกรรุ่นใหม่” การแลกเปลี่ยนบทเรียนกันในเวทีได้เสนอว่า การสืบทอดอาชีพภาคเกษตรควรแยกเป็น 2 ประเด็น คือ การส่งเสริมคนรุ่นใหม่สืบทอดอาชีพภาคเกษตร และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้คนรุ่นใหม่เข้าสู่ภาคเกษตรด้วยตนเอง
การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเข้าสู่ภาคเกษตรของคนรุ่นใหม่
การที่คนรุ่นใหม่หันออกจากภาคเกษตรนั้นส่วนหนึ่งมาจากวิธีคิดของพ่อแม่ที่มาจากประสบการณ์ความลำบากของตนเอง ไม่อยากให้ลูกลำบากเหมือนตนเอง จึงได้สร้างแนวคิดและสังคมใหม่ให้ลูก ผู้เข้าร่วมในเวทีได้แลกเปลี่ยนบทเรียนกัน ดังนี้
“ในสมัยเด็กๆ เราเติบโตมาในสังคมการเกษตร หลักคิดโบราณเมื่อพ่อแม่เป็นเกษตรกรแล้วเราช่วยงานในแปลงของพ่อแม่ ต้องมีลูกเยอะเพื่อเป็นแรงงาน แต่คนสมัยนี้พอตนทำไร่ทำนาแล้วลำบากก็เลยเลี้ยงลูกให้เป็นเจ้าคนนายคน ไม่ใช้ลูกเลย เด็กสมัยนี้เราก็จะเห็นว่าลูกหลานเราจะไปเรียนและเล่นเกมเท่านั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีความบังเอิญเกิดขึ้น ลูกเล่นเกมไปเล่นเกมมา แล้วคิดว่ามาทำเกษตรดีกว่า เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เราควรสร้างสังคมเกษตรกรแบบดั้งเดิม”
ผู้เข้าร่วมอีกท่านหนึ่งมีความเห็นสอดคล้องว่า “อนาคตจะไม่เหลือคนทำเกษตรต่อ เพราะคนรุ่นหลังไม่ค่อยสนใจการเกษตร วิถีวัฒนธรรมยุคใหม่ แม้กระทั่งพ่อแม่ปู่ย่าตายายทั้งหลายก็ไม่ส่งเสริม เพราะอาชีพเกษตรกรทำรายได้น้อย การส่งเสริมยุคก่อนมีค่านิยมให้ลูกเป็นข้าราชการ เพราะมีสวัสดิการมีความมั่นคงในชีวิต”
ผู้เข้าร่วมท่านหนึ่งแชร์ประสบการณ์ของตนเองว่า “การสืบทอดอาชีพเกษตรของคนรุ่นใหม่ อาจต้องรอเวลา ไม่ควรไปบังคับ อาจจะหลังเกษียณหรือลาออกงานประจำเพื่อมาทำเกษตร เชื่อว่าวันหนึ่งเขาต้องถูกผลักให้เข้าสู่ภาคเกษตร อย่างไรก็จะมีคนรุ่นใหม่มาสืบทอดภาคเกษตรแน่นอน”
จากการแลกเปลี่ยนข้างต้นจะเห็นว่า “คนรุ่นใหม่ในภาคเกษตร” ไม่ได้หมายถึง คนหนุ่มสาวเท่านั้น แต่รวมถึงคนเกษียณอายุ คนจากภาคอาชีพอื่น ๆ ด้วย ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องให้คนรุ่นใหม่ทุกคนมีอาชีพเกษตรกรทั้งหมด แต่คนรุ่นใหม่เขามาพร้อมกับองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ บางส่วนอาจเข้ามาอยู่ในห่วงโซ่ระบบอาหารและพันธมิตรเพื่อสนับสนุนเกษตรกร เช่น การทำร้านอาหาร การทำผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ใช้ผลผลิตเกษตรกร
ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้คนรุ่นใหม่หันหลังให้กับอาชีพเกษตรกร นอกจากวิธีคิดของพ่อแม่และสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมแล้วยังมีเรื่อง การไม่มีสวัสดิการให้กับภาคเกษตร ภาคการเกษตรรายได้ต่ำ และการขาดปัจจัยการผลิตหรือทุนในการผลิต คนรุ่นใหม่บางคนไม่มีความสนใจแต่มีที่ดิน บางคนไม่มีที่ดินแต่มีความสนใจ ดังนั้นการที่จะดึงให้มีคนรุ่นใหม่เข้ามาในภาคเกษตรจึงเป็นสิ่งท้าทาย
นอกจากนี้ในเวทีมีการแลกเปลี่ยนบทเรียนมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่เข้าสู่ภาคเกษตรว่า คนรุ่นใหม่พร้อมจะปรับตัวเข้าสู่ภาคเกษตร แต่ต้องมีจุดที่มาบรรจบกันของแนวคิดของเกษตรกรรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่และคนในสังคม ทั้งเรื่องการมีสวัสดิการ การมีรายได้ที่มั่นคง มีศักดิ์ศรีทัดเทียมกับอาชีพอื่นในสังคม รวมถึงการเข้าถึงพื้นที่ทำเกษตร และต้องเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง ถ้ามีนโยบายมาสนับสนุน ก็จะเป็นทางเลือกที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ตัดสินใจเข้าสู่ภาคเกษตรได้เพิ่มขึ้น
รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช ระบุในบทความ “ตั้งหลักใหม่ภาคเกษตรไทย: เกษตรกรไทยพร้อมปรับตัวมากกว่าที่รัฐคิด” มองว่าเกษตรกรไทยพร้อมปรับตัวอยู่แล้ว และได้ยกตัวอย่างนโยบายการดึงคนรุ่นใหม่เข้าสู่ภาคการเกษตรของประเทศไต้หวันและเกาหลีใต้ไว้ว่า ประเทศเหล่านี้มีนโยบายการให้เงินทุนและสินเชื่อราคาถูกแก่นักศึกษาที่จบปวช. ปวส. หรือปริญญาตรีด้านเกษตร สามารถเข้าไปก่อร่างสร้างตัวด้วยอาชีพเกษตรกรโดยเฉพาะ นอกจากจะให้ทุนแล้ว ยังให้หลักประกันด้วย โดยมีข้อกำหนดเลยว่าหากประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว รัฐจะสนับสนุนอะไร อย่างไรบ้าง
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าแนวทางส่งเสริมการเข้าสู่ภาคเกษตรของคนรุ่นใหม่เพื่อให้ทันกับภาวะวิกฤตสังคมสูงวัยและปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ควรมีทั้งการปรับวิธีคิดและการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสนับสนุนทั้งจากสังคมภาคเกษตร การแบ่งบทบาทและจัดสรรทรัพยากรในครัวเรือนระหว่างคนรุ่นเก่า รุ่นกลาง รุ่นใหม่ นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐและการเปลี่ยนแปลงความคิดที่มีต่ออาชีพเกษตรกรของสังคมด้วย
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 21 มิ.ย. 2565
ผู้เขียน : จินดาพร เกลี้ยงเกลา
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.